‘วิเศษ สิงห์สัจจเทศ’ รุ่นสาม Jaspal ผู้ค้นพบพลังของ Brand Collaboration

‘วิเศษ สิงห์สัจจเทศ’ รุ่นสาม Jaspal ผู้ค้นพบพลังของ Brand Collaboration

"Jaspal" ภายใต้การบริหารของ "วิเศษ สิงห์สัจจเทศ" เป็นยุคทองของการ Brand Collaboration ที่มาจากพื้นฐานความคลั่งไคล้ใน Street Art และ Designer Toy

เรียกว่าเป็นยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงของแบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่ของไทยอย่าง Jaspal ก็ว่าได้ เพราะความท้าทายในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 และสถานการณ์ของโลก ทำให้ Jaspal ในการบริหารของ วิเศษ สิงห์สัจจเทศ ไม่เหมือนที่เคยเป็นมา

หลังจากรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว แม้จะเป็นการเข้ามาบริหารในวันที่แบรนด์ “Jaspal” เติบโตและแข็งแรงดี แต่อีกมุมหนึ่ง ก็เป็นยุคที่โลกของวงการแฟชั่นเต็มไปด้วยความท้าทายและการแข่งขันสูง ทว่าไม่ใช่ปัญหา เขาเดินหน้าเต็มกำลังทั้งกับแบรนด์นี้และแบรนด์ลูกอื่นๆ จนเติบโตไปพร้อมกัน

‘วิเศษ สิงห์สัจจเทศ’ รุ่นสาม Jaspal ผู้ค้นพบพลังของ Brand Collaboration

Jaspal ในยุคก่อนกับยุคของคุณวิเศษ แตกต่างกันอย่างไร

เราเป็นแบรนด์ที่ขยับกันตามสมัยตลอด เป็นสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอดตั้งแต่รุ่นแรก แต่สิ่งที่เราพยายามรักษาไว้มากกว่านั้นคือ คุณภาพ, ความคุ้มค่า และการสวมใส่ ที่เราคุยกันเสมอว่าเราสมดุลระหว่างแฟชั่นกับการสวมใส่ได้จริง ตอบโจทย์ยุคสมัย

เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา เราจะดูไลฟ์สไตล์คนกับลูกค้าเราเป็นหลัก แน่นอนว่าเราต้องอัพเดทเพราะแบรนด์เรา 50 ปีแล้ว ต้องผ่านลูกค้ามาหลาย Generation เป็นความท้าทายของเราที่อยู่มา 50 ปี แต่จะทำอย่างไรให้ยังตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่

แต่ตอนนี้ผมว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข อายุเป็นเรื่องยากมากที่จะตัดสินว่าอะไรคือเด็ก อะไรคือแก่ เราจึงดูไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันว่าต้องการอะไร ฐานลูกค้าของเราแน่นอนว่าเราไม่ได้ขายถูกเกินไป และเราไม่ได้ขายแพงเกินไป กลุ่มเป้าหมายของเราคือกลางค่อนบน ซึ่งคนเหล่านี้ให้ความสำคัญกับสไตล์ การตัดเย็บ คุณภาพ ความคุ้มค่า พวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องสมดุลเอาไว้

ถามว่าแตกต่างไหม ผมว่าไม่ได้แตกต่างแบบหน้ามือหลังมือ เป็นการค่อยๆ อัพเดทมากกว่า

สิ่งที่ทำให้แบรนด์อยู่มาได้ถึง 50 ปี?

เราเป็นแบรนด์หนึ่งที่ทำอะไรใหม่ๆ ในวงการมาตลอด ถ้าเรามองย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 90 ในวงการแฟชั่นไทยยังไม่มีใครใช้พรีเซนเตอร์แบบ Supermodel ซึ่งเราเป็นแบรนด์หนึ่งที่สร้างกระแส ณ ตอนนั้น ที่เอา ซินดี ครอว์ฟอร์ด มา เอา ลินดา อีวานเกลิสตา และอีกหลายคนที่ตอนนั้นเป็น Supermodel Era

พอเราเริ่มปุ๊บ จึงเป็นเทรนด์ที่ทุกแบรนด์จับต้องได้ ทุกคนคิดว่ามันน่าจะมาในทางนี้ ตอนที่ผมมาทำ Jaspal ในปี 2000 ตอนนั้นเป็นยุคที่เราเลิกใช้ Supermodel แต่เรามีการจุดตรงนี้กลับมานิดหนึ่ง เพราะตอนนั้น เคท มอส กำลังดังและถือว่าเป็น Fashion Icon เลยเอา เคท มอส กลับมาใหม่

แต่ที่ผมคิดว่าสิ่งที่เปลี่ยน Positioning ของ Jaspal คือเราเริ่ม Collaboration กับศิลปิน ร่วมมือกันทำคอลเลคชัน เปลี่ยนจากสมัยก่อนที่เราจ้างพรีเซนเตอร์มาใส่เสื้อผ้าเรา มาเป็นยุคหลังๆ ที่คนต้องการอะไรที่ลึกกว่านั้น จับต้องได้ เขาต้องการให้คนพวกนั้นมาอยู่ในโปรเจคจริงๆ ซึ่งทำให้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถือเป็นอะไรที่ใหม่มาก

เช่น Jaspal x Karl Lagerfeld, Jaspal x Orla Kiely, Jaspal x Hattie Stewart หรือโปรเจคเฉลิมฉลองครบรอบ 4 ทศวรรษ ด้วยคอลเลคชันพิเศษจาก “Nuj Novakhett” แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ที่ได้รับความนิยมในหมู่ดาราฮอลลีวูด, โปรเจคพิเศษ “Jaspal x Starwars Collaborative Project” ร่วมมือกับดิสนีย์ พิคเจอร์ ออกแบบคอลเลคชันสำหรับภาพยนตร์สตาร์วอร์ส

‘วิเศษ สิงห์สัจจเทศ’ รุ่นสาม Jaspal ผู้ค้นพบพลังของ Brand Collaboration

การที่เลิกใช้ Supermodel แล้วมาอะไรที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นแนวคิดของคุณวิเศษเอง?

ใช่ครับ ผมเป็นคนเริ่ม ซึ่งตอนแรกเราไม่ค่อยแน่ใจ เพราะในอดีตเราเป็นแบรนด์ที่ทำอะไรก็ทำให้อยู่ภายใต้ Jaspal Team แต่ด้วยส่วนตัวเองผมชอบงานสะสม งาน Designer Toy งานศิลปะ ผมก็เลยมาคิดว่าถ้าแบรนด์เราดี การที่เราไปร่วมกับแบรนด์อื่น 1+1 จะกลายเป็นมากกว่า 1 ที่เราเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเริ่มรู้สึกว่าทำไมเราต้องปิดตัวเอง ทำไมเราไม่ขยายลูกค้า คนที่เป็นแฟนคลับเรา เป็นแฟนคลับศิลปินที่เราร่วมงานด้วย สองกลุ่มนี้จะเป็นอะไรที่ไม่ต้องแข่งขันกัน ทั้งสองกลุ่มได้ประโยชน์ด้วย

ลูกค้าที่ไม่เคยคุ้นกับเรา แต่เป็นแฟนคลับของแบรนด์ที่เราคอลแลบด้วย เขาจะเริ่มเห็นว่า Jaspal คือใคร ลูกค้าเราก็ถือว่าได้สินค้าที่พิเศษ เพราะสินค้าพวกนี้เป็น Limited Edition

ทำไมต้องเป็น Street Artist ?

เป็นความชอบส่วนตัวของผม แต่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็น Street Artist คือเราเอาคนที่มี Sense of Style ที่น่าสนใจ ที่เอามาเชื่อมโยงบนสินค้าเราได้ เขาอาจเป็นศิลปิน Fine Art เป็นศิลปินด้านอื่น แต่ด้วยลายเส้น เราพยายามมองหาที่เข้าถึงคนกลุ่มมากได้ ใครที่ไม่ได้มาสายอาร์ตแล้วมาเห็นผลงานบนสินค้า Jaspal ก็ถือว่าเขาซื้อเพราะลายสวย

แน่นอนว่า Street Art คือสายที่คนเข้าถึงได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีสาย Illustrator สาย Contemporary Art สาย Modern Art ที่เราเห็นอยู่ว่าเอามาใช้บนสินค้าได้ นี่คือจุดที่เราเข้าไปดู

มีความสนใจเรื่องศิลปะและ Designer Toy มากๆ ?

ผมชอบมานานแล้ว แต่สมัยก่อนอาจจะไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะซื้อเท่าไร แต่ก็มาเริ่มเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมเริ่มจาก Designer Toy ที่ราคาไม่ได้สูงมาก พวกนี้เป็น Collaboration ระหว่าง Sculpture (ประติมากรรม) และ Art ที่มาสร้างสรรค์บน Sculpture อย่างที่ดังๆ ในตอนนี้ ที่คนเห็นเยอะๆ ก็พวก Bearbrick ซึ่งเป็นหนึ่งใน Designer Toy ที่ผมสะสมเมื่อปี 2018 หลังจากนั้นผมได้ศึกษา และเจอเพื่อนจนเริ่มขยายวงไปจากระดับของเล่นไปสู่ Artist Prints บ้าง ในวงการศิลปะวันนี้มีเทรนด์นี้คือคนที่ทำ Fine Art จะเอาลายตัวเองมาทำ Edition Art เพื่อเข้าถึงคนที่อาจจะเข้าถึงศิลปะแพงๆ ไม่ได้ เขาก็จะเอาผลงานพวกนี้มาใส่

ผมเริ่มสะสมตรงนี้มา 3-4 ปี คนไหนที่ผมอินๆ ก็เล็งว่าจะเอามาทำกับแบรนด์ ผมว่าสนุกดี ตอนนี้ไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันมีศิลปะ, ดนตรี, อาหาร, ท่องเที่ยว, ถ่ายรูป พวกนี้มันเชื่อมโยงกันหมด

‘วิเศษ สิงห์สัจจเทศ’ รุ่นสาม Jaspal ผู้ค้นพบพลังของ Brand Collaboration

ตอนนี้มี Bearbrick เยอะแค่ไหน

ก็เยอะเหมือนกันนะ แต่ผมไม่ได้เล่นตัวใหญ่นะครับ ผมซื้อตัว 400 แต่ก็มีเก็บอยู่หลายลายเหมือนกัน มีลายพวกศิลปินที่ผมสะสม มีพวก Star Wars, Marvel เป็นลายที่ผมโฟกัส คือถ้าผมไม่ตัดใจมันจะไปได้เยอะมาก คุมไม่อยู่จริงๆ ครับ

นอกจาก Bearbrick มีอย่างอื่นด้วยไหม

มีหลายอย่างครับ มันเป็น Edition ที่มาจากศิลปิน มันไม่ใช่แพลตฟอร์มที่นิ่งๆ อย่าง Bearbrick คือแพลตฟอร์มที่คนเอาลายไปลง และได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ถ้าเราศึกษาในแวดวงนี้จะมีพวก Edition Toy ที่เกิดมาจากศิลปินเลย หรือศิลปินมาร่วมกับประติมากรหรือบริษัทเพื่อออกลายที่เป็นของศิลปินมาเลย ซึ่งพวกนี้เป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างจะสนใจแนวนี้มากขึ้น

เรียกว่าเป็น Collector สาย Designer Toy ได้เลยไหม

ได้ครับ แต่ไม่รู้ว่าระดับไหนนะครับ อาจจะเป็น Beginner ถึง Medium แล้วกัน ผมยังไม่โปร ก็แค่สะสมมา 3-4 ปี

Jaspal ยุคนี้เป็นยุคที่มีการ Collaboration มากที่สุดเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ บังเอิญว่าเราโฟกัสด้านนี้และทำมันมาต่อเนื่อง การคอลแลบไม่ใช่แค่การดีลจบอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือพวกศิลปินที่เราคอลแลบด้วย เขามองและให้ความสำคัญคือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในช่วงแรกเราต้องวางแผนดีๆ ในเรื่องการตัดเย็บ การขนส่ง ฯลฯ ที่ในอดีตเราทำคอลเลคชันของตัวเอง เราไม่เคยมีคนภายนอกมาตรวจสอบให้เรา เราก็แฮปปี้กันเองภายใน แต่พอเราทำ Collaboration กับแบรนด์ที่เราร่วมมือด้วย แน่นอนว่าเขามีมาตรฐานของเขา เราก็ต้องบริหารจัดการให้เมื่อมาอยู่ใน Jaspal แล้ว ลูกค้าเราเข้าถึงได้

ตรงนี้ผมคิดว่าการ Collaboration ต้องมีเบื้องหลังการทำงาน มีทีมงาน ผมโชคดีที่ทีมงานเริ่มชินกับการที่จะต้องวางแผนในคอลแลบ อย่างช่วงโควิดก็มีอะไรที่สอนเราเยอะ อย่างการทำงานใหม่ๆ แบ็คอัพใหม่ๆ

การ Collaboration กับแบรนด์ระดับโลก Diane von Fürstenberg (DVF)?

เมื่อปลายปี 2019 โควิดยังไม่น่ากังวลเท่าทุกวันนี้ เราก็เริ่มดีลกับ DVF ต่อเนื่องมาจาก Karl Lagerfeld ต่อเนื่องมาจาก Orla Kiely ตอนนั้น DVF ก็ศึกษาแบรนด์เรา แล้วเรามาตกลงกันเมื่อปลายปี 2019 ซึ่งตอนนั้นเราก็เริ่มโปรเจคกัน พอเดือน 2 โควิดมาพีคจนมีการชัตดาวน์ ระหว่างนั้นเราก็ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อการดีล เลยทำให้ใช้เวลานานกับการทำงาน แต่โชคดีที่ DVF เขาเป็น Iconic จริงๆ คอลเลคชันของเขาจึงไม่เชยหรือล้าสมัย สวมใส่เมื่อไรก็ได้

‘วิเศษ สิงห์สัจจเทศ’ รุ่นสาม Jaspal ผู้ค้นพบพลังของ Brand Collaboration

นิยามคอลเลคชัน Jaspal X Diane von Fürstenberg ?

DVF เขามีความเป็น Master of Prints เขามีความ Iconic ซึ่งจริงๆ แล้ว Jaspal เราก็ Iconic แต่การที่จะบอกว่าเป็นการเอา Iconic เจอ Iconic ก็จะหาว่าโม้ไปหน่อย แต่ว่าเขาเป็น Master ของวงการแฟชั่นอเมริกา การมาคอลแลบกับเรา ระดับคุณภาพและการนำมาผสมผสานให้เป็นสมัยใหม่ คือสิ่งที่ทำให้สองแบรนด์นี้มาจูนกันได้

คอลเลคชันนี้เป็น Limited Edition เราทำมาไม่เยอะ แต่ละแบบเราส่งให้ทุกสาขาและออนไลน์ แต่ละสาขาจึงมีสินค้าน้อยมาก และที่ผมบอกว่ามันเป็น Iconic เราใส่ไปที่ไหน คนที่เป็นแฟนคลับของ DVF หรือคนที่รู้ว่ามันคืออะไร เป็นของที่ไม่มีวันล้าสมัย

มองวงการแฟชั่นและแบรนด์เนมในไทยเป็นอย่างไร

ผมว่าเป็นข้อดีสำหรับแบรนด์ไทยที่ต้องมีความเป็นสากล คนรุ่นใหม่ที่กำลังขึ้นมา ผมว่าพวกเขามีความภาคภูมิใจในแบรนด์ท้องถิ่น แบรนด์ในประเทศของเขามากกว่าสมัยก่อน เมื่อก่อนแบรนด์นำเข้ากับแบรนด์ Local จะมีภาษีไม่เท่ากัน เคยมี Mindset ที่ว่าของนำเข้าน่าจะดีกว่าหรือเปล่า แต่ผมว่า Mindset ของเด็กรุ่นใหม่เขาจะสนใจว่า Local Brand ทำได้ดี ทันสมัย เขาจะภูมิใจที่จะซื้อ

เห็นพัฒนาการของความสนใจเรื่องแฟชั่นของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าถามว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยเบอร์หนึ่งอยู่แล้วในเรื่องไลฟ์สไตล์ รสนิยม สมัยก่อนถ้าเราถามว่าจะดูใครเป็นต้นแบบ เราอาจจะดูญี่ปุ่น ฮ่องกง แต่ถ้าเรามองในแถบนี้ คนไทยมีรสนิยมมาตลอด ในเชิงของวัฒนธรรม ในเชิงการแต่งตัว ในเชิงการกิน การเที่ยว บ้านเราไม่เคยแพ้ใครอยู่แล้ว

ในวงการแฟชั่น เวลามีการเปลี่ยน Generation ยุคหนึ่งไปยุคหนึ่ง ยิ่งมีโซเชียลมีเดียเข้ามา ทำให้มีพื้นที่ได้โชว์มากขึ้น สมัยก่อนเราแต่งตัวก็โชว์แค่ในกลุ่ม แต่ยุคสมัยนี้ทุกอย่างเข้าถึงได้เร็วมาก อย่างเราเห็นดาราคนนี้ใส่เสื้อผ้าโพสต์ลงไอจี ทุกคนก็เข้าถึงได้เยอะกว่าเมื่อก่อนที่ต้องรอเขาไปโผล่ในอีเวนท์หรือออกรายการ ตรงนี้ทำให้คนเข้าถึงวัฒนธรรม เข้าถึงแฟชั่นได้เร็ว เราเป็นแบรนด์ก็ต้องปรับตัวให้ทัน