ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ มรดกผ้าทอ 1,400 ปี สู่ชุดผ้าไหม Lisa Blackpink
เปิดบันทึกประวัติและความพิเศษ "ผ้าไหมยกดอกลำพูน" ชุดผ้าไหม Lisa BLACKPINK ในมิวสิควิดีโอ LALISA จากปากคำครูศิลป์แผ่นดิน ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ ผู้ปลุกชีวิตผ้าไหมยกดอกลำพูน
ความงดงามของงานฝีมือไทยหลายประเภทรวมทั้งงานหัตถกรรมพื้นบ้านไทย ผ้าไหมยกดอกลำพูน ปรากฏสู่สายตาผู้คนทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 220 ล้านครั้งแล้วภายในเวลา 20 วัน หลังมิวสิควิดีโอเพลงเดี่ยวเพลงแรก LALISA ของ ลิซ่า แบล็กพิงค์ (Lisa Blackpink) หรือ ลลิษา มโนบาล เด็กไทยมากความสามารถหนึ่งในสมาชิก BLACKPINK วงเกิร์ลกรุ๊ปแห่งเกาหลีใต้ ได้รับการปล่อยพร้อมกันทั่วโลกครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 11.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
เนื่องจากเครื่องแต่งกายชุดหนึ่งคล้ายการห่มสไบที่ปรากฏในมิวสิควิดีโอ เป็นผลงานการออกแบบของนักออกแบบชาวไทย หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ASAVA (อาซาว่า) ผู้เลือก ผ้าไหมยกดอกลำพูน มาตัดเย็บสำหรับโปรเจคพิเศษครั้งนี้
ชุดผ้าไหมยกดอกลำพูนในมิวสิควิดีโอ LALISA ออกแบบโดย ASAVA
เฟซบุ๊ก Asava ได้โพสต์ถึงการทำงานออกแบบเสื้อผ้าชุดพิเศษนี้ว่า
“อาซาว่าได้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางค่าย YG Entertainment อย่างละเอียดในทุกๆขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การเลือกผ้าที่ได้รับโจทย์เป็นผ้าไทย การเลือกวัสดุ ไปจนถึงขั้นตอนการตัดเย็บชิ้นงานจริง เพื่อให้ได้ชุดที่ผสมผสานระหว่างคอนเซปต์ที่ได้รับและเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างลงตัว โดยอาซาว่าเลือกที่จะถ่ายทอดกลิ่นอายของความเป็นไทยผ่านการหยิบเอาโครงชุดที่ดัดแปลงมากจากการห่มผ้าสไบ การนุ่งผ้าซิ่น และการจับจีบ มาดัดแปลงให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ผสมผสานเข้ากับซิกเนเจอร์ในแบบฉบับอาซาว่า เพื่อขับเน้นสรีระและคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นของลิซ่าโดยเฉพาะ เกิดเป็นชุดที่มีความเรียบหรูและสะท้อนถึงความเป็นไทยได้อย่างลงตัว”
อาซาว่าตัดเย็บชุดเสื้อไหล่เดี่ยวผ้าคลุมยาวระพื้น กระโปรงสั้นจับเดรป ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพานจักรพรรดิยกทอง ประดับคริสตัลสวารอฟสกี้ ปักด้วยมือทั้งตัว
ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ (ขวาสุด)
ประวัติผ้าไหมยกดอกลำพูน
ผ้าไหมยกดอกลำพูน มีประวัติความเป็นมายาวนานย้อนกลับไปได้ไม่น้อยกว่า 1,400 ปี สมัย พระนางจามเทวี สตรีซึ่งเอกสารต่างๆ ระบุว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่ง ‘อาณาจักรหริภุญชัย’ อาณาจักรโบราณในภาคเหนือของไทย ปัจจุบันคือที่ตั้งของจังหวัดลำพูน
“ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีครองเมืองลำพูน ประมาณ 1,400 กว่าปี ท่านมาจากละโว้ นำช่างฝีมือทุกประเภทมาด้วย ทั้งช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างทอผ้า มาอย่างละ 500 คน ผ้าไหมยกดอกลำพูนก็มีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วครับ” ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญและผู้อนุรักษ์การทอผ้าไหมยกดอกลำพูน ให้สัมภาษณ์กับ ‘จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ’
ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ อายุ 76 ปี ได้รับการประกาศเป็น ครูศิลป์แผ่นดิน โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เมื่อปี 2559 ด้วยความที่ครูมีประวัติการทำงานเป็นผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปลุกชีวิต ‘ผ้าไหมยกดอกลำพูน’ ด้วยจิตวิญญาณของครูผู้ให้สู่ความยั่งยืนในชุมชน หวังให้คนในชุมชนมีรายได้ และร่วมกันอนุรักษ์ผ้าไหมยกดอกลำพูนให้เป็นเอกลักษณ์คู่เมืองลำพูนเช่นในทุกวันนี้
ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ :ครูศิลป์แผ่นดิน "ผ้าไหมยกดอกลำพูน"
ครูปรีชาเกียรติเล่าว่า ผ้าไหมยกดอกลำพูนยังได้รับวัฒนธรรมส่วนหนึ่งจาก ‘ลุนตยา’ ผ้าทอพม่า ในช่วงที่อาณาจักรล้านนาทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าระยะเวลาหนึ่ง
เหตุการณ์สำคัญที่มีผลกับผ้าไหมยกดอกลำพูนเกิดขึ้นอีกครั้งในสมัย เจ้าดารารัศมี พระราชชายา หลังรัชกาลที่ห้าเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ขอเสด็จกลับเชียงใหม่ ทรงนำความรู้ที่ร่ำเรียนในราชสำนักส่วนกลางขณะประทับ ณ วังหลวงในกรุงเทพฯ มาประยุกต์ในการประดิษฐ์ลวดลายผ้าทอล้านนา
ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายกระจังตาอ้อยเชิงเทียน
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงฝึกหัดคนใน คุ้มเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย) ให้ทอ ผ้ายก โดยเพิ่มลวดลายลงในผืนผ้าไหมให้พิเศษขึ้น
คือการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็น ‘ดิ้นเงิน ดิ้นทอง’ การเก็บลายจึงต้องใช้ ‘ตะกอ’ เพื่อให้สามารถทอลวดลายที่สลับซับซ้อนประณีตงดงามได้ เรียกเทคนิคการทอนี้ว่า ยกดอก เพื่อนำผ้าทอที่มีความงดงามนี้ถวายเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในภาคกลางและทรงใช้ส่วนพระองค์
ด้วยทรงเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน จึงทรงถ่ายทอดความรู้เรื่อง การทอผ้ายก ที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาและวิจิตรบรรจงให้แก่ เจ้าหญิงส่วนบุญ พระราชชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์(เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย) และ เจ้าหญิงลำเจียก (พระธิดาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์) ทั้งสองพระองค์ได้นำความรู้การทอผ้ายกมาฝึก คนในคุ้มหลวงลำพูน ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้การทอผ้ายกจากคนในคุ้ม จนมีความชำนาญและมีการเผยแพร่ทั่วไปในชุมชนต่างๆ รวมทั้งฝึกหัดชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง จนมีความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกเป็นอย่างดี
“ช่วงนั้นคุณแม่ผม (คุณแม่บุญศรี ชูสกุล) ก็ตามไปเป็นนักเรียนในคุ้มหลวงที่ลำพูน ประมาณรัชกาลที่เจ็ด ช่วงนั้นโรงทอผ้าในลำพูนก็เป็นการทอผ้ายกดอกทั้งหมดแล้ว โดยมีลวดลายของลำพูน และลายของชาวยองที่อพยพจากเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง มาผสมกันด้วย” ครูปรีชาเกียรติ กล่าวถึงประวัติผ้าไหมยกดอกลำพูน และความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนที่ได้รับถ่ายทอดจากคุณแม่
เอกลักษณ์ผ้าไหมยกดอกลำพูน แตกต่างกับผ้าทอพื้นที่อื่นอย่างไร
ครูปรีชาเกียรติกล่าวว่า การทอผ้าของลำพูนเป็นลักษณะการทอแบบใช้ ตะกอลอย ไม่ได้ใช้ ‘ตะกอโยง’ แบบอีสานและทางภาคใต้หรือแบบมาเลย์ ช่างทอผ้าลำพูนเก็บลวดลายไว้ในตะกอลอย ซึ่งสามารถผสมผสานลวดลายหลายอย่างเข้าไปในผ้าผืนเดียวกันได้
“ลายยกดอกของลำพูนไม่เหมือนที่อื่น ตรงที่ว่าลายของเรามีความนูนเด่นขึ้นมา และ ‘เชิงผ้า’ ที่นำมาใช้ตัดเป็นซิ่นลำพูนมีเอกลักษณ์ความกว้างของเชิงซิ่นต้องไม่เกินหนึ่งในสามของผ้าทั้งผืน”
ลายพิกุลก้านแย่ง (credit photo: sacit.or.th)
ลวดลายที่เป็นลายเอกลักษณ์แต่โบราณของลำพูนคือ ลายดอกพิกุล จึงเรียก “ผ้าไหมยกดอก” หรือ “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” รวมทั้งลวดลายรูปสัตว์ เช่น ลายช้าง ลายม้า นิยมนำไปทำเป็นถุงย่ามและผ้าห่อเครื่องธรรม ผ้าห่อพระไตรปิฎก
ต่อมาได้มีการประดิษฐ์ลวดลายดอกพิกุลให้มีความหลากหลายขึ้น เช่น พิกุลกลม พิกุลสมเด็จ พิกุลใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเครือ พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง
ชุดผ้าไหมยกดอกลำพูนในมิวสิควิดีโอเพลง LALISA
รวมทั้งมีการประดิษฐ์ลวดลายใหม่ๆ โดยช่างทอรุ่นใหม่ที่ร่วมสืบสานมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน เช่น ลายพานจักรพรรดิยกทอง ที่ปรากฏในมิวสิควิดีโอเพลง LALISA ผูกลายโดยร้านคุณอู๋ไหมไทย ต.เวียงยอง ลำพูน หนึ่งในลูกศิษย์เรียนทอผ้ากับครูปรีชาเกียรติ
“จะว่าไปคนทอผ้าในลำพูนตอนนี้ก็ลูกศิษย์ผมทั้งเมือง แรกทีเดียวผ้าลำพูนซบเซาไปพักหนึ่ง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2520 เกือบจะสูญไปแล้ว เหลืออยู่โรงทอเดียวที่บ้านแม่ผม (ร้านผ่องพรรณ) มีคนแก่ทอผ้าอยู่สองคนเท่านั้นเอง คนหนุ่มสาวเข้าไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมกันหมด
ปี 2524 น้ำท่วมใหญ่ลำพูน ตอนนั้นผมยังทำงานอยู่กรุงเทพฯ ผมขึ้นไปเยี่ยมคุณแม่ที่ลำพูน โรงทอผ้าน้ำเข้าเต็มไปหมด กี่ทอผ้าตั้งอยู่เยอะแยะ แต่เหลือคนแก่ทอผ้าสองคน ผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ผ้ายกลำพูนสูญแน่ กลับถึงกรุงเทพฯ ผมลาออกจากงานเลย พาคนของคุณแม่สองคนมาเริ่มต้นทอผ้าที่กรุงเทพฯ ตั้งโรงทอผ้าที่บางขุนเทียน ชื่อ ‘เพ็ญศิริไหมไทย’ตามชื่อลูกสาวผม
ปี 2526 คนทอผ้ากลับไปลำพูนแล้วไม่ยอมกลับมา ผมจึงย้ายโรงทอผ้ากลับไปลำพูนในปี 2529ติดต่ออุตสาหกรรมจังหวัด แรงงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ขอตั้งโรงทอผ้าที่ลำพูน เพื่อพลิกฟื้นผ้าไหมยกดอกลำพูน ตอนนั้นมีลูกศิษย์ที่เข้ามาเรียน 29 คน เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าของโรงทอผ้าหมดแล้ว รวมทั้งคุณอู๋ที่ดีไซเนอร์มาซื้อผ้าไปตัดชุดให้ลิซ่า”
ครูปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ ผู้ประยุกต์กี่ทอผ้า (credit photo: sacit.or.th)
ด้วยความที่รู้กลวิธีทอผ้าไหมยกดอกลำพูนอย่างถ่องแท้ ครูปรีชาเกียรติยังเป็นผู้ปรับ รูปแบบกี่ทอผ้าโบราณให้ใช้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงได้ผ้าทอที่งดงามและมีคุณภาพดังเดิม
“เมื่อก่อนเป็นกี่หน้ายาว ผมมาพัฒนาเอาส่วนดีของกี่โบราณกับกี่จีนมาผสมผสานกัน เป็นกี่ทอผ้าที่ผมออกแบบเมื่อปี 2526 เพื่อสะดวกในการทอ เมื่อก่อนเราทอแบบ ‘เกล้าจุก’ คือมีการโยง ทำให้เส้นยืนไม่สม่ำเสมอกัน ผมเปลี่ยนเป็น ‘หัวม้วน’ ใส่เป็นหน้ากี่ ทำให้ทอได้เป็นร้อยหลา" ครูปรีชาเกียรติอธิบายและว่า เมื่อก่อนจะทอผ้าให้ได้ 20 หลา ก็ยากแล้ว ทำลำบาก แต่ด้วยกี่ทอผ้าที่ปรับรูปแบบใหม่นี้ทำให้เส้นยืนตึงสม่ำเสมอ ผ้าทอออกมาเนื้อดีกว่าเดิม แต่ลวดลายเหมือนเดิม
ถวายงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ด้วยความเชี่ยวชาญและมีความรู้ในการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน ครูปรีชาเกียรติจึงมีโอกาสถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทอผ้าลวดลายโบราณเพื่อจัดทำ ‘ฉลองพระองค์’ สำหรับทรงในการเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิต
“ท่านผู้หญิงทัดสมัย (เศวตเศรณี ข้าหลวงในพระองค์) ท่านเป็นหลานในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านสนิทกับญาติๆ ผม ไปมาหาสู่กัน ท่านก็บอกว่าเอาผ้าถวายให้สมเด็จไหม แล้วท่านก็นำไปถวาย สมเด็จก็ทรง และมีอยู่ครั้งหนึ่ง สมเด็จท่านได้ลายผ้ามาจากอินเดีย ความกว้างไม่ถึงคืบ ทรงบอกทอผ้าแบบนี้ให้ที ผมก็มาคัดลายและทำเชิงใส่ถวายให้สมเด็จ ทรงโปรดตั้งแต่นั้นมา ลายนี้อยู่ในชุดทรงหลายชุด ผมตั้งชื่อว่าลายอินเดีย เพราะสมเด็จทรงนำมาจากอินเดีย ฉลองพระองค์ของท่านที่ไม่ทรงแล้ว อยู่ที่ผม 4-5 องค์ เข้าไปดูได้ที่ ‘กรมหม่อนไหม’ ซึ่งกำลังเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ ผมทำเลียนแบบมอบไว้”
ครูปรีชาเกียรติยังถวายงานด้วยการทำหน้าที่เป็นวิทยากรเดินทางไปอบรมการทอผ้าให้กับชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ ตามโครงการศิลปาชีพ อาทิ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส, พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร,ลำปาง น่าน เชียงราย เลย อุบลราชธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น
“สอนวิธีการทอยกดอกให้มีคุณภาพดี แต่ใช้ลายผ้าท้องถิ่นของเขาเอง หรือเขาอยากออกแบบเองก็ได้ เราสอนแค่วิธีการทอ เพราะลวดลายต้องเป็นวัฒนธรรมในพื้นที่ ของใครเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เราไม่อยากให้วัฒนธรรมเลื่อนไหลมากนัก เดี๋ยวจะปนเปเสียหายหมด” ครูปรีชาเกียรติกล่าว
“ทรงรับสั่งอยู่เสมอ ให้ช่วยชาวบ้านกันนะ หาอาชีพให้เขา” ครูปรีชาเกียรติเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณใน สมเด็จพระพันปีหลวง ที่ทรงตรัสให้ได้ยินอยู่เสมอในการพยายามช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI
คุณภาพเส้นไหมที่ได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในลำพูน ลวดลายและคุณภาพผ้าทอยกดอก ประกอบกันเป็นเอกลักษณ์ของ ผ้าไหมยกดอกลำพูน อันงดงามและมีคุณภาพ จนสามารถขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาประเภท สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) เมื่อเดือนตุลาคม 2550 นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของจังหวัดลำพูน
“ผ้าทอยกดอกลำพูน เป็นผ้าทอที่เราใช้ทั้งจิตและวิญญาณไปกับการทอ ทุกคนที่ทอ..ทอด้วยใจทั้งหมด เราไม่ได้คิดเพื่อเป็นพาณิชย์ ส่วนมากเราคิดว่าเป็นงานหัตถกรรมงานฝีมือ ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรรมของเราไว้ด้วยก็จะดีถ้าเขาเอาไปใช้และตัดแบบสากลได้ เท่ากับเป็นการช่วยส่งเสริมให้ชาวต่างชาติรู้วัฒนธรรมของเราด้วย ดีไซเนอร์มีส่วนสำคัญ ถ้ารู้จักดัดแปลง ถ้าเขาออกแบบตัดผ้าดีๆ ต่อไป ผ้าของลำพูน หรือผ้าทุกภาคในเมืองไทย ก็จะโดดเด่นขึ้นมา” ครูปรีชาเกียรติให้ความเห็น
* * * * *
ขอบคุณภาพ
- เพ็ญศิริไหมไทย
- สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)
- เฟซบุ๊ก AsavaThailand