5 ซีรีส์แจ้งเกิดด้วย Netflix นอกจาก Squid Game เรื่องไหนถูกปฏิเสธอีกไม่ถ้วน?
รู้หรือไม่ว่า “Squid Game” จาก “เกาหลีใต้” ก่อนจะดัง ก็ถูกปฏิเสธมานับไม่ถ้วน ชวนไปดูกันว่า 5 ซีรีส์ดัง ที่สามารถแจ้งเกิดเพราะได้ Netflix ชุบชีวิตมีเรื่องไหนบ้าง?
ระหว่างที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ "Squid Game (สควิดเกม เล่นลุ้นตาย)" ซีรีส์ Netflix สัญชาติเกาหลีใต้ ที่ถูกพูดถึงเรื่องความโหดของการแข่งขันมากที่สุด ณ ขณะนี้
ล่าสุดขึ้นอันดับ 1 ในท็อป 10 เรื่องที่แนะนำให้ดูบนแอคเคานต์ Netflix กว่า 90 ประเทศทั่วโลกแล้ว และได้มีการแปลซับไตเติ้ลไปกว่า 31 ภาษา เพื่อโกยความสนใจจากทุกแห่งหน
แต่กว่าจะมีวันที่ปังขนาดนี้ได้ รู้หรือไม่ Squid Game โดนปฏิเสธมาเป็นสิบๆ ครั้งนับครั้งไม่ถ้วน จนผู้กำกับเกือบถอดใจ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู 5 ซีรีส์ที่เกือบไม่เกิด แต่ดังได้เพราะ Netflix เหตุผลอะไรที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนั้นๆ เข้าตา? ตามไปดูกัน
1.สควิดเกม เล่นลุ้นตาย (Squid Game)
กว่า 10 ปีที่ซีรีส์ "Squid Game" โดนหลายค่ายสตรีมมิ่งปฏิเสธ เพราะพล็อตเรื่อง "ดูเรียลเกินไป" หรือพูดกันอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า "โลกไม่สวย"
สมัยก่อนซีรีส์ทำนองนี้อาจยังไม่เป็นที่นิยม เพราะรุนแรงและโหดร้ายเกินไปสำหรับการรับชมเพื่อความบันเทิงใจของผู้ชม แต่ ยุคสมัยนี้ หลายคนชอบเสพคอนเทนต์ทำนองนี้กันมาก และมีให้เห็นกันเกลื่อนกลาดหลายประเทศ
ฮวัง ดงฮยอก (Hwang Dong-Hyuk) ผู้กำกับและผู้เขียนบทเรื่องนี้ได้บอกไว้ว่า เริ่มแรกเดิมที ซีรีส์เรื่องนี้มีชื่อว่า "Red Light, Green Light" มาก่อน แล้วทาง Netflix ได้ปรับมาเป็น Squid Game ทีหลัง
อีกทั้งยังให้ทุนสนับสนุนจำนวน 16,000 กว่าล้านบาท (500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) โดยในปี 2562 ทาง Netflix ให้เห็นเหตุว่า ณ ช่วงเวลานั้น เห็นสมควรแล้วว่า "เป็นจังหวะที่ถูกต้อง ถูกเวลาแล้ว" เพราะพล็อตเรื่องหนักๆ ระดับ Extreme กำลังได้รับความนิยมในแวดล้อมผู้ดูสตรีมมิ่งวิดีโอคอนเทนต์
น่าจับตาดูต่อว่า คอนเทนต์ซีรีส์เกาหลีกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนและยาวนานแบบ ฮอลลีวูด หรือบอลลีวูด ได้หรือไม่
2.ทรชนคนปล้นโลก (Money Heist)
“Money Heist” ทรชนคนปล้นโลก ซีรีส์สัญชาติสเปนที่ก่อนหน้านี้มีชื่อว่า La Casa De Papel ไม่แจ้งเกิดในประเทศสเปนของตน แต่พอ Netflix ช้อนมันมา กลับทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ออกมาได้อย่างปัง
โดย Netflix ได้เทคโอเวอร์ซีรีส์ในปี 2560 รื้อและปรับโฉมเนื้อเรื่องให้มีวัฒนธรรมความป๊อปมากขึ้น ทำให้เป็นที่สนใจจากทั่วโลก จนดำเนินเรื่องมาได้อย่างต่อเนื่องถึง 5 ซีซัน แม้ว่าจะเป็น “ซีรีส์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ” แต่ทำไมถึงกวาดความสนใจจากคนทั่วโลกได้ขนาดที่มีคนดูในกว่า 62 ล้านคน?
Netflix มีวิธีการเล่าเรื่องท้องถิ่นในแต่ละประเทศด้วยการใส่ความลึกให้กับทุกดีเทล โดยผสมไปกับวัฒนธรรม เพลง และ Pop-Culture ต่างๆ ที่ทำให้คนดูไม่เบื่อ มิหนำซ้ำยังอาจเป็นการชวนเชื่อเพื่อโปรโมตประเทศตนเองไปกลายๆ ด้วยอีกทางหนึ่งอย่างแนบเนียน
ตัวอย่างซีรีส์แนวนี้จากแต่ละประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ เรื่องที่ได้รับความนิยม ก็คงไม่พ้น The Queen ที่ตีแผ่เรื่องราชวงศ์อังกฤษ/ ทางฝั่งเกาหลีใต้ก็มีเรื่องซอมบี้เป็นอีกหนึ่งจุดขาย จาก The Kingdom/ ทางสเปนเรื่องที่ Netflix สนใจลงทุนก็มักจะเป็นเรื่องชนชั้น เรื่องเงินๆ ทองๆ เช่น Money Heist หรือ Elite ที่ตีแผ่ครอบครัวคนรวย
ซีรีส์เหล่านี้ไม่ได้มีการตั้งใจโฆษณาหรือโปรโมตอย่างจริงจัง แต่กลับได้รับความนิยมด้วยตัวคอนเทนต์ที่ลุ่มลึกของมันเอง จะสังเกตเห็นได้ว่า การติดตามอินสตาแกรมของนักแสดงหลังจากซีรีส์ได้ทำการสตรีมมิ่ง ถ้าเรื่องไหนปัง นักแสดงเรื่องนั้นๆ จะมียอดการติดตามที่พุ่งอย่างน่าตกใจ
3. เฉือนคมวินาศกรรมกับผู้นำ (The Designated Survivor)
“เฉือนคมวินาศกรรม” หรือ “The Designated Survivor” ซีรีส์ประเภทการเมืองดราม่าที่ตอนแรกอยู่ในความดูแลของ ช่อง ABC ใน 2 ซีซันแรก แต่แล้วก็ถูกปลดจากความดูแลในภาคต่อไป เน็ตฟลิกซ์ผู้ซึ่งเห็นความน่าสนใจในความเข้มข้นของเนื้อหาจึงได้ช้อนซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นมาทำต่อในซีซันที่สาม
โดยซีรีส์เรื่องนี้ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ การตีแผ่เรื่องราวการเมืองของสหรัฐอเมริกา ทั้งวินาศกรรมของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี โศกนาฎกรรมต่างๆ ในช่วงที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นเนื้อหาที่มีความเข้มข้น เพราะสหรัฐคือประเทศที่เจริญและใครๆ ก็จับตามอง ซึ่งนักแสดงได้ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่จนได้รับการตอบรับที่ดี
แต่ก็ต้องพับโครงการลงไปในซีซันที่ 4 เพราะปัญหาของนักแสดงที่ไม่ลงตัวกันในหลายๆ อย่าง จึงต้องเป็นอันสิ้นสุดซีรีส์เรื่องนี้ไป
4.ยมทูตล้างนรก (Lucifer)
ซีรีส์ “ยมทูตล้างนรก” หรือ “Lucifer” เริ่มแรกเดิมทีผลิตภายใต้ช่อง Fox มีฐานผู้ชมที่หนาแน่น แต่กลับแปลกตรงที่แม้จะมีเสียงวิพากย์วิจารณ์ที่ดี ในขณะเดียวเรตติ้งการดูกลับถดถอยลง ทางช่องเลยต้องถอนงบออกจากการถ่ายทำหลังจากซีซันที่ 3
แต่แล้วเน็ตฟลิกซ์ก็ได้รับช่วงต่อเพราะสนใจในซีรีส์เรื่องนี้ โดยเมื่อคอนเทนต์เรื่องนี้เข้ามาอยู่สังกัดนี้ก็ได้ทำการเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เพื่อให้เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น เช่น ให้อิสระสำหรับบทที่เปิดกว้างมากขึ้น และด้วยกลยุทธ์ต่างๆ จึงทำให้กอบกู้ชื่อเสียงของซีรีส์เรื่องนี้กลับมาโด่งดังกว่าเดิมในซีซันที่ 4-5 จนกระทั่งซีซันที่หกที่เป็นซีซันสุดท้ายที่เพิ่งสตรีมไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
5. สตาร์ วอร์ส: เดอะ โคลน วอร์ส (Star Wars: The Clone Wars)
ซีรีส์แอนิเมชั่น “สตาร์ วอร์ส: เดอะ โคลน วอร์ส หรือ "Star Wars: The Clone Wars" ออกอากาศทางช่อง Cartoon Network เป็นเวลาห้าฤดูกาลก่อนที่จะถูกยกเลิกการฉาย แต่แล้วเน็ตฟลิกซ์เห็นว่าแอนิเมชั่นนี้ควรได้ไปต่อ จึงได้เข้าไปทำการดึงมาทำโปรดักชั่นซีซันที่หก ซึ่งเข้ารวบซื้อกิจการในการผลิตของลูคัสฟิล์ม (Lucasfilm) ความนิยมก็ยังคงดีต่อเนื่อง
แต่หลังจากฉายซีซันที่หกจบไปก็ไม่สามารถดูซีซันแรกจนถึงซีซันที่หกได้อีกในช่วงเวลาต่อมา เพราะตอนเดือนเมษายน 2562 ทางรายงานของ Variety ได้ออกมาบอกว่า ซีซันที่ 7 จะทำการฉายที่แพล็ตฟอร์ม Disney+ ของดิสนีย์เอง
อ้าอิง: WSJ, The Day, Newsweek, Cinemablend, What’s on Netflix, INSIDER, abc news