Jens Haaning : ผ้าใบเปล่ามูลค่า 2.8 ล้านบาท งาน ‘ศิลปะ’ ที่เดนมาร์ก
แบบนี้ก็ได้หรือ ศิลปินชาวเดนมาร์กรับเงินค่าจ้างทำงานศิลปะ 2.8 ล้านบาท ส่งผ้าใบเปล่าสีขาวให้เจ้าของเงิน พร้อมตั้งชื่อผลงานนี้ว่า “ฮุบเงินแล้วหายตัว”
สำนักข่าว AFP รายงานว่า ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นวันครบกำหนดที่ เยนส์ ฮานิง (Jens Haaning) ศิลปินชาวเดนมาร์กซึ่งมีผลงานโดดเด่นด้าน Conceptual Art หรือ ‘ศิลปะเน้นแนวคิด’ ต้องส่งผลงานศิลปะที่ได้รับการว่าจ้างด้วยเงินสดจำนวน 534,000 โครเนอ ให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งในเดนมาร์ก เขารับเงินไปแล้วแต่กลับส่งงานที่มีแต่ผ้าใบอันวางเปล่าให้กับพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับตั้งชื่อภาพนี้ว่า Take the Money and Run ประมาณว่ารับเงินหรือฮุบเงินไว้แล้วหนีหาย
Kunsten Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในอัลบอร์ก (Aalborg) เมืองประวัติศาสตร์ของประเทศเดนมาร์ก ได้ว่าจ้าง เยนส์ ฮานิง ด้วยเงินสดจำนวน 534,000 โครเนอ (kroner) หรือราว 2.8 ล้านบาท โดยขอให้ดัดแปลงผลงานศิลปะที่มี 'ธนบัตร' เป็นองค์ประกอบที่เขาเคยสร้างไว้จำนวน 2 ชิ้น แสดงถึงรายได้ต่อปีของชาวเดนมาร์กและชาวออสเตรีย เพื่อร่วมจัดแสดงในนิทรรศการชื่อ Work it Out ของพิพิธภัณฑ์ ร่วมกับผลงานของศิลปินคนอื่นๆ อีก 18 คน
credit photo : Niels Fabæk, Kunsten Museum of Modern Art Aalborg
มร.ลาซซี แอนเดอร์สัน (Lasse Anderson) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บอกกับเอเอฟพีว่า “สองวันก่อนงานเปิดนิทรรศการ เราได้รับอีเมลจากเยนส์แจ้งว่า เขาจะไม่แสดงงานตามที่ตกลงกันไว้”
เยนส์ทำจริงด้วยการส่งผ้าใบเปล่าในกรอบ จำนวน 2 กรอบ ไปที่พิพิธภัณฑ์ พร้อมกับเขียนชื่อผลงานไปให้เสร็จสรรพว่า Take the Money and Run
credit photo : Niels Fabæk, Kunsten Museum of Modern Art Aalborg
แอนเดอร์สันให้สัมภาษณ์ว่า เขาอดที่จะหัวเราะไม่ได้ทันทีที่เห็นผ้าใบเปล่าสีขาวอันโล่งเรียบ และตัดสินใจติดตั้งผ้าใบเปล่าร่วมแสดงไว้ในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเปิดแสดงวันแรกไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564
“ถ้าเงินจำนวนนี้ไม่ได้รับการคืนกลับมาภายในวันที่ 16 มกราคม (2565) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแสดงงาน เราจำเป็นต้องดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่า เยนส์ ฮานิง จะทำตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้” มร.ลาซซี กล่าว
เยนส์ ฮานิง อายุ 56 ปี เขาทำงานศิลปะแนวคอนเซปชวลอาร์ตที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมในโลกตะวันตก เช่น โครงสร้างของอำนาจ การสื่อสาร นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เช่น การอพยพย้ายถิ่นฐาน ลัทธิชาตินิยม การบังคับขับไล่ การดำรงอยู่ร่วมกัน
ผลงานศิลปะของเขานำเสนอในหลายรูปแบบ เช่น การตัดแปะ ลายเส้นการ์ตูน โปสเตอร์ การถ่ายภาพ การบันทึกเสียง (ให้คนตุรกีเล่าเรื่องตลก บันทึกเทปไว้ แล้วเปิดออกลำโพงตามสถานที่ที่กำหนด) ไปจนถึงงานโครงสร้างติดตั้งตามที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ โดยเฉพาะการนำ ‘เอกสาร’ ต่างๆ มาจัดแสดงในรูปแบบงานศิลปะ รวมทั้ง ‘ธนบัตร’ ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ Kunsten เสนองานให้เยนส์
ขณะที่ เยนส์ ฮานิง ก็ไม่ได้หนีหายไปไหน เขายังคงใช้ชีวิตอยู่ในกรุงโคเปนเฮเกนและมีการแถลงข่าวผ่านเอกสารออกมาด้วยว่า ความคิดเบื้องหลังงานชิ้นนี้ก็คือ เขาตั้งใจแสดงให้เห็นว่า อัตราค่าจ้าง ใช้เป็นตัววัดคุณค่าผลงานและความแตกต่างระหว่างประเทศในสหภาพยุโรปได้อย่างไร
รวมทั้งการตั้งชื่อผลงานนี้ว่า Take the Money and Run ก็เป็นการตั้งคำถามของฮานิง เรื่อง สิทธิของศิลปิน และ เงื่อนไขการทำงานศิลปะ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานความยุติธรรมภายในอุตสาหกรรมศิลปะ
“ทุกคนอยากมีเงินมากขึ้น แต่ในสังคมของเรา งานแต่ละแขนงได้รับการให้คุณค่าที่ไม่เท่ากัน งานศิลปะคือการทำงานภายใต้ปัจจัยของความเป็นศิลปิน มีคำกล่าวกันว่า เมื่อโครงสร้างทางสังคมที่เรามีส่วนร่วมมีปัญหา เราก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่ถ้าโครงสร้างนั้นไม่สมเหตุสมผลอย่างสิ้นเชิง เราก็ควรทำลายโครงสร้างนั้น โครงสร้างนี้อาจหมายถึงชีวิตการแต่งงานของคุณก็ได้ ชีวิตการทำงาน หรือโครงสร้างทางสังคมแบบอื่นๆ”
คิดได้สองทาง นี่คืองานศิลปะจริงๆ ตราบใดที่ เยนส์ ฮานิง เก็บเงินไว้กับตัว งานศิลปะชิ้นนี้ก็ยังคงใช้ชื่อว่า Take the Money and Run ได้ตามที่ศิลปินตั้งชื่อ เมื่อครบกำหนดก็คืนเงินให้พิพิธภัณฑ์
แต่ถ้าหลังวันที่ 16 มกราคม 2565 ฮานิงไม่ยอมคืนเงิน นี่จะเป็นปรากฏการณ์ที่โลกศิลปะต้องทำความเข้าใจกันใหม่