ชะตากรรม"สังคมไทย" ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
‘เมื่อวาน’ เราเจออะไรมามากมาย การเมืองมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า พอสังคมเริ่มจะดีขึ้น ก็เจอปัญหาอีก ทั้งทางเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ จนเกิดวลีที่ว่า “อะไรกันนักหนา ไม่รู้จักจบจักสิ้น” ถ้าอย่างนั้น ลองตามอ่านบทวิพากษ์เรื่องนี้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราเจออะไรมามากมาย เรียกได้ว่าโชกโชนและกระจ่างชัดในทุกๆ เหตุการณ์
ช่วงแรกๆ เราเติบโตพร้อมกับๆ ภาพฝันแห่งอนาคตที่กำลังก้าวสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล แต่เวลาใกล้เที่ยงของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ความหวังทั้งหลายก็มลายสิ้น เมื่อพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐประหารที่เราๆ ในช่วงนั้นเชื่อกันว่า “ไม่มีทางเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย”
เหตุการณ์นั้น พาเราจมดิ่งสู่หุบเหวของความสิ้นหวังเป็นครั้งแรก เหมือนร่างกายเจอรอยบาด แผลลึก เลือดทะลัก แม้จะคัดเลือดให้หยุดไหล แต่เชื้อร้ายนานาชนิดได้แทรกเข้าสู่ร่างเป็นที่เรียบร้อย
เราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แทนที่จะกระโจนสู่ความรุ่งเรือง เรากลับต้องเสียเวลารื้อซากหักพัง เยียวยาความบอบช้ำและอุดรอยร้าวซ่อมรอยรั่วกันหลายปี
แม้ระหว่างนี้จะมีความพยายามลุกขึ้นสู้ แต่เราเหมือนอยู่ระหว่างพักฟื้น สติก็ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ฝืนสู้ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่แข็งแรงเหมือนเดิม
จนในที่สุด เราก็เดินพลาด เมื่อเปิดตลาดเงิน ปรับอัตราแลกเปลี่ยน ปล่อยให้สินเชื่อจากภายนอกไหลเข้าประเทศ เอกชนแห่กู้ จนก่อหนี้มหาศาล
สุดท้าย “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ก็ลุกลามจากประเทศไทย ไหลสู่อาเซียน และไปไกลถึงเกาหลีใต้ ล้มระเนระนาดไปตามๆ กัน
เมื่อล้ม ก็ต้องลุกและฟื้นฟูกันใหม่ พอจะแข็งแรงได้บ้าง ก็ต้องมาเจอกับเรื่องที่ต้องไปกลับไปตั้งต้นนับหนึ่งกันอีก
ถ้าเป็นคนก็ต้องสบถกับตัวเองวันละหลายๆ รอบว่า “อะไรกันนักหนา ไม่รู้จักจบจักสิ้น” เริ่มจากสึนามิอันดามันวันที่ 26 ธันวาคม 2547
ถัดจากนั้นอีก 2 ปี กงล้ออัปยศก็เกิดขึ้นอีกในวันที่ 19 กันยายน 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระหน่ำซัดด้วย “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ปี 2550-51 ต่อด้วยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
วงจรชีวิตของเราจึงเหมือนเจอกับอุปสรรคอย่างต่อเนื่อง จนแทบจะไม่มีเวลาสร้างเนื้อสร้างตัวกันเท่าไหร่
หลังจากน้ำท่วมใหญ่ผ่านไป รอยคราบยังไม่จางจากเสาเรือน วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มาพร้อมประโยค “ถ้าเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ” กงล้ออัปยศก็มาอีกครั้ง
สามทศวรรษเราเจอกับการรัฐประหารถึง 3 ครั้ง มันมากเกินไปสำหรับคนๆ หนึ่งที่ต้องมาเจอกับอะไรแบบนี้
เพราะการเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ไม่เคยก่อประโยชน์โภชผลใดๆ เลย มีแต่รื้อแล้วสร้าง สร้างเสร็จก็รื้อใหม่ ซ้ำๆ กันแบบนี้เรื่อยมา
หากคนเราผ่านการใช้ชีวิตมาถึง 35 ปี ถ้าเป็นฟุตบอลต้องบอกว่า ผ่านครึ่งแรกมาแล้ว คนเป็นโค้ชก็ต้องคิด ว่าอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือว่าจะแก้เกมอย่างไร จากที่ตามอยู่ 1 ลูก จะทำแบบไหนไม่ให้เสียเพิ่ม และแก้อย่างไรจึงจะได้ประตูตีเสมอ
หากเป็นทีมนำ ก็ต้องมาคิดกันต่อว่าจะรักษาข้อได้เปรียบนี้อย่างไร จะลงไปอุดเพื่อขอชนะแค่ลูกเดียว หรือจะลุยต่อ เพื่อให้ได้ชัยชนะเด็ดขาดไปเลย
แต่สำหรับการเป็นคนไทยที่มีชีวิตผ่านมาจนครบ 35 ในปีนี้ บางคนอาจไม่มีครึ่งหลัง หรือถ้ารอด ก็ปล่อยให้ครึ่งสุดท้ายของชีวิตไหลไปตามยถากรรม หมดสิ้นแรงบันดาลใจใดๆ
เพราะการผ่านครึ่งแรกมาได้นั้น ถือว่าสุดๆ ต่อไปอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด แค่ประคองตัวให้ลมหายใจไม่ขาดห้วงก็พอ
เราจำนวนมากคิดกันแบบนี้ ยิ่งมา 2 ปีล่าสุดกับโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ว่าหลายคนพร้อมจะ “ทิ้งตัว” รับสภาพ ไม่ขอยื้อหรือสู้ต่อ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าโควิด-19 กระหน่ำซัดมนุษยชาติหนักหนาสาหัส จนผู้คนล้มตายเกือบ 5 ล้านคนเข้าไปแล้ว
กระนั้น-การอยู่กับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 มายาวนานเกือบ 2 ปี ทำให้เราได้เริ่มต้นเรียนรู้กันอีกครั้ง ว่าจะอยู่กับมันได้อย่างไร
บางคนมีโอกาสสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา โดยอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย
ขณะเดียวกันภาวะจำยอมที่ต้องไร้เสรีภาพชั่วขณะหนึ่งที่มีการล็อกดาวน์ ผู้คนจำนวนไม่น้อยใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ทบทวนการใช้ชีวิต แล้วดูแลร่างกายตัวเองให้แข็งแรงปลอดภัยจากโรคร้าย
แต่นั่นแหละ เราไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวหรือหมกมุ่นอยู่กับเรือนกายและจิตใจของตัวเองเพียงอย่างเดียว เรายังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโลกรอบกายอยู่
ทุกๆ วันเรายังคงเห็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม ความเสื่อมถอยของสภาวะแวดล้อมอยู่เต็มไปหมด ซึ่งเราไม่อาจเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ได้
การเดินทางต่อไปเยี่ยงผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคง ซื่อตรงในหลักการ จึงไม่อาจละเลยต่อชะตากรรมของสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
เราจำเป็นต้องประคับประคอง เรียกร้อง ดูแล ท้วงติง เสนอแนะต่อไป เพื่อให้สังคมไทยหลุดพ้นจากวัฏจักรรื้อแล้วสร้างอันน่าเบื่อนี้-เร็ววัน
......................
ผลงานเขียนชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวาระครบ 35 ปีหนังสือพิมพ์กรุเทพธุรกิจ ( 6 ตุลาคม 64)