ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยาม-ชวา น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ 23 ต.ค.
น้อมรำลึกพระราชกรณียกิจ พระปิยมหาราช สายสัมพันธ์สยาม-ชวา 151 ปี ผ่านความหมายลวดลายผ้าบาติกทรงสะสมเมื่อครั้งเสด็จเยือนชวา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 23 ตุลาคม
วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อแผ่นดินไทย ทั้งด้านการปกครอง และความร่มเย็นเป็นสุขในการดำเนินชีวิตแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า อาทิ การเลิกทาส การปฏิรูประบบราชการ การศึกษา การวางระบบสาธารณูปโภค
พระองค์ทรงเป็นที่รักอย่างล้นเหลือของพสกนิกร ราษฎรทั้งปวงจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระนาม สมเด็จพระปิยมหาราช มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน หลังพระองค์เสด็จสวรรคตในปี 2453 รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็น วันปิยมหาราช นับแต่ปี 2454 เป็นต้นมา เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา”
อีกหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของ รัชกาลที่ 5 คือ การเสด็จประพาส เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีมิตรต่างชาติ ศึกษาแบบอย่างการปกครอง ทอดพระเนตรธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และเลือกสรรแบบแผนความเจริญมาพัฒนาประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เสด็จเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2413 เสด็จเยือนสิงคโปร์และ ชวา (จาการ์ตาและเซอมารัง) และเสด็จเยือนเมืองต่างๆ ของชวาเพิ่มเติมอีก 2 ครั้งในพ.ศ.2439 และ พ.ศ.2444 รวมทั้งการเสด็จประพาสยุโรปในเวลาต่อมา
ระหว่างการเสด็จเยือน ชวา พระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรกิจการต่างๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น การสร้างรถไฟ สถานพยาบาล สถานศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชวา รวมถึงการเขียนผ้า บาติก ซึ่งถือเป็นงานหัตถศิลป์มีชื่อของเกาะชวา
ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย และ ศาสตรัตน์ มัดดิน
“ผ้าบาติกมีลวดลายสวยงามเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงซื้อผ้าประเภทนี้กลับมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งสิ้น 307 ผืน แต่ละผืนมีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะและในแง่องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของชวา” ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าว
ผ้าบาติกดังกล่าวได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยสำนักพระราชวัง และยังไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ใดมาก่อน จนกระทั่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำออกมาศึกษาค้นคว้าและจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการชื่อ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา เพื่อระลึกถึงพระราชก่รณียกิจของ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ในการเสด็จเยือนชวาทั้งสามครั้ง และเพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงรวบรวมวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมมาปรับใช้ในการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน
นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา” เปลี่ยนวัตถุจัดแสดงครั้งที่ 3
นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 รอบ เนื่องจากไม่สามารถจัดแสดงผ้าบาติกทั้ง 307 ผืนได้ในพื้นที่อันจำกัด แต่ละรอบจึงมีการเปลี่ยนผ้าบาติกที่จัดแสดง ซึ่งเดือนตุลาคม 2564 ถือเป็นการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงใหม่เป็นรอบที่สามรอบสุดท้าย
‘Art and Living กรุงเทพธุรกิจ’ ขอพาชมผ้าบาติกผืนประวัติศาสตร์ในนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา หลังติดตั้งวัตถุจัดแสดงรอบที่สามเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก่อนพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะแจ้งกำหนดเปิดการเข้าชมเร็วๆ นี้ตามมาตรการผ่อนคลายการควบคุมโรคโควิด-19
ผ้าบาติกแบบ Bang Biru Wungu
ผ้าบาติกที่ได้รับการเปลี่ยนการจัดแสดงในรอบที่สามที่ไม่ควรพลาดชม คือ ผ้าบาติกเมืองลาเซ็ม (Lasem) เมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของชวากลาง พื้นที่นี้เจ้าของโรงเขียนผ้าส่วนใหญ่เป็นชาวชวาเชื้อสายจีน ลวดลายผ้าบาติกจึงมีอิทธิพลของศิลปะจีนแทรกอยู่บ้าง โดยผืนที่นำมาจัดแสดงเป็นผ้าบาติกแบบ Bang Biru Wungu (บัง บิรู อูงัน)
“บังแปลว่าสีแดง บิรู มาจากคำว่าบลู เป็นสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน และอูงันคือสีม่วง” ศาสตรัตน์ มัดดิน ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวและว่า ผ้าบาติกผืนนี้มีความพิเศษตรงฝีมือช่างเขียนละเอียดมาก ลายเส้นที่เขียนขี้ผึ้งลงไปไม่มีรอยเลอะออกมาจากเส้นที่วางไว้แม้แต่น้อย แสดงถึงฝีมือการควบคุมมือและจันติ้ง (canting ปากกาใส่ขี้ผึ้ง) ได้เป็นอย่างดี
"สังเกตลายเส้นที่แทรกอยู่เป็นลายเส้นที่เล็กมากๆ ผืนนี้ช่างเขียนเลือกใช้จันติ้งที่หัวมีขนาดเล็กมาก การทำพื้นหลังของผ้าบาติกผืนนี้ให้ดูสะอาดก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความยากมาก รวมทั้งลายบนตัวนกเป็นภาพที่ค่อนข้างทำยากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งช่างเขียนและช่างย้อม ผืนนี้อยากให้ทุกคนได้มาเห็นความสวยงามด้วยตาตัวเอง"
ลายคลื่นขอบผ้า ได้อิทธิพลจากผ้าลูกไม้ยุโรป
อีกจุดหนึ่งบนผ้าบาติกผืนนี้ที่อยากให้ชมคือ ขอบผ้า (Boh Border) ที่มีลักษณะคล้ายลาย คลื่น ได้อิทธิพลจาก ผ้าลูกไม้ยุโรป ช่างเขียนผ้าบาติกได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะแขนงต่างๆ ที่เข้ามาในช่วงเวลานั้น จึงนำมาปรับใช้กับผ้าบาติก
เมืองลาเซ็มมีแร่ธาตในน้ำแตกต่างจากเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะ สีแดง ที่เป็นเอกลักษณ์และเมืองอื่นไม่สามารถย้อมเลียนแบบได้ ในอดีตโรงเขียนผ้าที่ต้องการสีแดงแบบนี้เมื่อเขียนผ้าบาติกเสร็จแล้วต้องส่งมาย้อมที่เมืองลาเซ็ม
"ปลาคาร์ปกระโดดข้ามประตูมังกร" และสัตว์มงคลตามความเชื่อชาวจีน
ผ้าบาติกจากเมืองลาเซ็มที่น่าสนใจอีกผืนในนิทรรศการครั้งนี้ คือผ้าบาติกที่ลวดลายได้แรงบันดาลใจจากบทกวีจีนที่พรรณาถึง ปลาคาร์ปกระโดดข้ามประตูมังกร แสดงถึงความมุมานะและความพยายาม
เนื่องจากช่างเขียนผ้าบาติกในเมืองลาเซ็มมีเชื้อสายชาวจีน จึงมีการใส่อิทธิพลและความเชื่อต่างๆ ของชาวจีนแทรกไว้ในผ้าบาติกผืนนี้ด้วย โดยเฉพาะสัตว์มงคล เช่น นกคู่ กิเลน หงส์ เพื่อให้ผู้สวมใส่ได้รับความเป็นมงคลกับชีวิต
ผ้าบาติก ลายโบเกตัน โดย เจ.ยานส์
ในการเสด็จเยือนชวา ปีพ.ศ.2444 มีเหตุให้รัชกาลที่ห้าต้องประทับที่เมืองบันดุงเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้คนขายผ้าบาติกจากเมือง เปอกาลองงัน (Pekalongan) นำผ้าบาติกมาให้ทอดพระเนตร ณ โรงแรมที่ประทับเมืองบันดุง ทำให้นิทรรศการครั้งนี้มีผ้าบาติกจากเมืองเปอกาลองงันจัดแสดงอยู่ด้วยทั้งที่พระองค์มิได้เสด็จประพาสเปอกาลองงัน
ลวดลายผ้าบาติกของเมืองเปอกาลองงันผืนนี้มีความเป็นตะวันตกสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นลายตัวนก ช่อดอกไม้ เนื่องจากเจ้าของโรงเขียนผ้าเป็นชาวดัตช์ ปรากฏชื่ออยู่บนผ้าบาติกด้วย คือ เจ. ยานส์ (เอ. เจ. เอฟ. ยานส์) เป็นช่างเขียนคนแรกๆ ที่เริ่มเซ็นชื่อลงบนผ้าบาติก ลวดลายลักษณะนี้รวมเรียกว่า ลายโบเกตัน (Buketan) ซึ่งมาจากคำว่า บูเก้ (bouquet) ที่แปลว่าช่อดอกไม้ และนิยมเขียนด้วยโทนสีพาสเทล
ลวดลายโบเกตันส่งอิทธิพลไปยังพื้นที่อื่นของชวาด้วย อาทิ เมือง ทาสิกมาลายา (Tasikmalaya) ลวดลายมีความเป็นยุโรป แต่สีที่นิยมใช้ในพื้นที่แถบนี้คือสีน้ำตาลแดง ไม่ใช่พาสเทลลายแบบตะวันตก และลดทอนลายละเอียดของลวดลาย เป็นตัวอย่างการส่งอิทธิพลไปมาระหว่างผ้าบาติก
บาติกจัมบี ผ้าโพกศีรษะผู้ชาย
ผ้าบาติกอีกผืนที่มีความน่าสนใจมาก เรียกกันว่า บาติกจัมบี เรียกตามชื่อเมือง Jambi บนเกาะสุมาตรา ในคอลเลคชั่นทรงสะสมจำนวน 307 ผืน มีผ้าบาติกจัมบี 2 ผืนเท่านั้น ผืนที่เคยจัดแสดงไปแล้วเป็นผ้าโสร่ง รอบนี้เป็น ผ้าโพกศีรษะผู้ชาย (อิแกต เคพาลา) ขนาด 90 x 100 เซนติเมตร เอกลักษณ์ผ้าบาติกจัมบีคือ โทนสีแดงและสีน้ำเงินคราม ลวดลายคล้ายผ้าพิมพ์อินเดีย เป็นการผสมผสานกันระหว่างการเขียนมือและการใช้แม่พิมพ์
ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผ้าบาติกจากเมือง ยกยาการ์ตา (Yogyakarta) ซึ่งรัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนเมืองนี้ในปีพ.ศ.2439 และพ.ศ.2443
ยกยาการ์ตา เป็นเมืองที่รวบรวมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน สถานที่สำคัญ และเป็นเมืองที่มีสุลต่านปกครอง จึงเปรียบเสมือนเมืองศูนย์กลาง ลวดลายผ้าบาติกที่มาจากพระราชวังหรือลายพื้นฐานของอินโดนีเซียส่วนใหญ่จึงมาจากเมืองนี้
บาติก ลาย "รูจัก ตาลาส กาวุง" โดย "แวน แพบสต์"
สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จไปเยือนโรงเขียนผ้าในเมืองยกยาการ์ตาที่มีเจ้าของเป็นชาวดัชท์ แม้ใน พระราชนิพนธ์ “ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน” จะไม่ได้ระบุชื่อเจ้าของโรงเขียนผ้าผู้นี้ แต่ภัณฑารักษ์พบกระดาษที่แนบมากับผ้าบาติกที่ทรงได้มาจากโรงเขียนผ้าโรงนี้ระบุชื่อเจ้าของโรงเขียนผ้าไว้ว่า วิลเฮมมินา เฟรเดอริคกา แวน ลาวิค แวน แพบสต์ (Wilhelmina Fredericka van Lawick van Pabst) เมื่อศึกษาค้นคว้าต่อก็พบว่าผ้าบาติกของสุภาพสตรีเจ้าของโรงเขียนผ้าท่านนี้มีเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
เอกลักษณ์ผ้าบาติกของวิลเฮมมินาที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการนี้คือการใช้ สีน้ำเงินครามและน้ำตาลแบบโซกะ (พืชตระกูลต้นนนทรี ให้สีน้ำตาลอมเหลือง) เขียนเป็นลวดลายกาวุงและลายพรรณพฤกษาเข้าด้วยกัน ลายลักษณะนี้มีชื่อว่า รูจัก ตาลาส กาวุง (Rujak Talas Kawung)
ลายกาวุงมีลักษณะเป็นลายทะแยง ในอดีตเป็นลวดลายพื้นฐานของผ้าบาติกที่ใช้ในราชสำนักชวา หากเขียนเฉพาะลายกาวุงทั้งผืนต้องมีลำดับชั้นยศในการใช้งาน แต่ปัจจุบันสามารถนำลายกาวุงมาเขียนผสมกับลวดลายอื่นๆ ในผ้าผืนเดียวกันได้แล้ว ทำให้ผ้าบาติกลวดลายกาวุงไม่จำเป็นต้องเป็น ‘เจ้านาย’ ก็สามารถใส่ได้
หากพูดถึงผ้าบาติกชวา ลวดลายที่ต้องกล่าวถึงลวดลาย ปารัง (Parang) เป็นลายเก่าแก่ดั้งเดิมที่แตกย่อยออกไปได้เยอะมาก
ในนิทรรศการรอบนี้มีการจัดแสดงผ้าบาติกลายปารังที่สำคัญคือลาย ปารัง รูสัก บารง (Parang Rusak Barong) เป็นลายปารังขนาดใหญ่ สวมใส่ได้เฉพาะสุลต่านเท่านั้น
จำลองฉลองพระองค์ผ้าบาติก "ปารัง รูสัก บารง" และพระมาลาโกลุก (องค์จริง)
โดยชุดที่จัดแสดงในนิทรรศการฯ ทำจำลองจากภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ในฉลองพระองค์ผ้าบาติก ‘ปารัง รูสัก บารง’ ซึ่งสุลต่านเมืองยกยาการ์ตาเป็นผู้ถวายฉลองพระองค์แบบสุลต่านองค์นี้ด้วยพระองค์เอง จัดแสดงคู่กับ พระมาลาโกลุก หรือหมวกทรง Kolok ทำจากขนบีเวอร์ ตกแต่งด้วยแผ่นทองคำตีบางลงยาด้วยสีน้ำเงินเข้ม พระมาลาองค์นี้เป็นองค์จริง
(จากซ้าย) ปารัง ปิติง, ปารัง, ปารัง เปอร์จูริต
นอกจากนี้ยังมีผ้าบาติกลายปารังในคอลเลคชั่นทรงสะสมของรัชกาลที่ 5 จัดแสดงไว้ให้ชมอีก 3 ลายด้วยกัน คือ
- ปารัง : เป็นลวดลายเก่าแก่ของผ้าบาติกชวา รูปทรงลายคล้ายตัว S เรียงขนานกันเป็นแถวตามแนวทแยงมุมของผ้า, คำว่า Parang ในภาษาชวาแปลว่า หน้าผา สันเขา, ลวดลายที่มีลักษณะคล้ายคลื่นแบบนี้สื่อถึงจิตวิญญาณอันแน่วแน่ในการพยายามไปสู่ความเป็นเลิศ เหมือนคลื่นทะเลที่ซัดสู่หน้าผาไม่สิ้นสุด
- ปารัง ปิติง : ปิติง (piting) แปลว่า ‘ปู’ ลวดลายคล้ายขาปู
- ปารัง เปอร์จูริต (Parang Perjurit) : ลดทอนรายละเอียดของลวดลาย ‘ปารัง รูสัก’ ดูคล้ายทหารยืนเรียงแถวกัน
บาติก ลายแม่โพสพ ผสมลายพัดและลายร่ม
การเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงรอบที่สามในนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา ยังมีผ้าบาติกที่น่าสนใจอีกหลายผืน เช่น ผ้าโพกศีรษะลวดลายคล้ายเปลวไฟ, ผ้าบาติกลวดลายเทพีแห่งข้าว(แม่โพสพ) ผสมลายพัดและร่ม สื่อถึงการคุ้มครอง ปกป้อง ความสงบสุข
นิทรรศการ "ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา" จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ติดตามการแจ้งวัน-เวลาเปิดให้เข้าชมอีกครั้งผ่านเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
พิเศษ วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป เปิดให้ช็อปสินค้าผ่านทางออนไลน์ ในกิจกรรม Shop from Home with QSMT: New Batik Collection สินค้าคอลเลกชันใหม่จากนิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” และโปรโมชันเมื่อซื้อสินค้าบาติกจากคอลเลกชันเก่าและคอลเลกชันใหม่รวมกัน พร้อมมอบส่วนส่วนลด 5% ในระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม โดยจะจัดจำหน่ายผ่านการถ่ายทอดสด (Live) ทาง เฟซบุ๊ก Queen Sirikit Museum of Textiles ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
credit photo: พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ