31 ตุลาคม “วันฮาโลวีน” กับความเชื่อเรื่อง “โลกหลังความตาย” 

31 ตุลาคม “วันฮาโลวีน” กับความเชื่อเรื่อง “โลกหลังความตาย” 

"วันฮาโลวีน" เทศกาลเฉลิมฉลองที่มาพร้อมกับความเชื่อถึงการมีอยู่ของ "โลกหลังความตาย" ดินแดนปริศนาที่คนเป็นรับรู้ได้จากการบอกเล่าเพียงเท่านั้น

วันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปีถูกจดจำว่าเป็น วันฮาโลวีน (Halloween Day) มีการจัดงานปาร์ตี้รื่นเริง แต่งตัวตามธีมที่สื่อถึงวันดังกล่าว นั่นก็คือสิ่งที่แสดงถึง “ความสยดสยอง” หรือ “ความตาย” 

แม้ในปัจจุบันจะวันฮาโลวีนจะดูเป็นเพียงวันแห่งแคมเปญความตาย แต่แท้จริงแล้วความเป็นมาของวันนี้ก็มาจากเรื่องของความเชื่อในเรื่องการแบ่งระหว่าง  “โลกของคนเป็น” และ “โลกของคนตาย” ที่มีความลึกลับและสยองขวัญจนอาจไม่คาดคิดว่าจะสามารถกลายมาเป็นงานรื่นเริงอย่างทุกวันนี้ได้ 

ชาวเซลท์โบราณเชื่อว่า วันฮาโลวีน คือ วันที่โลกนี้ และ “โลกหน้า” โคจรมาอยู่ใกล้กันมากที่สุด ทำให้เหล่าวิญญาณของคนที่ล่วงลับไป สามารถกลับมายังโลกนี้และหาร่างสิงสู่ได้ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ฮาโลวีน คือ “คืนปล่อยผี” นั่นเอง

ในส่วนของวัฒนธรรมการแต่งตัวเลียนแบบผีต่างๆ ในปัจจุบัน ก็มาจากความเชื่อที่ว่า การปลอมตัวเป็นผีจะสามารถพรางให้ปลอดภัยจากผีร้ายที่คิดจะสิงสู่ตนได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องการแบ่งของโลกคนเป็นและคนตายนั้นไม่ได้มีเพียงความเชื่อของชาวเซลท์ แต่ยังมีความเชื่อจากหลายอารยธรรมและศาสนา ถึงแม้ในปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงในหลากหลายเรื่องราว แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ปริศนาเรื่องดังกล่าวนี้ได้ จึงยังทำให้เรื่องราวของ “โลกหลังความตาย” นั้นคงลึกลับและน่าสนใจทุกครั้งที่ได้รับการบอกเล่า ดังที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ 

  •   ความเชื่อเรื่อง “โลกหลังความตาย” ในคริสต์ศาสนา  

อย่างที่ทราบกันดีว่าเทศกาลวันฮาโลวีนนั้นเป็นวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ถึงจะไม่ใช่ชนกลุ่มแรกที่เป็นต้นกำเนิดของวันฮาโลวีน แต่ชาวคริสต์ก็มีความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายที่หนักแน่นมาก 

คริสต์ศาสนชนจะต้องรำลึกถึง “ความตาย การพิพากษา นรก และสวรรค์” อยู่เสมอ เพราะคือ 4 สิ่งสุดท้ายที่มนุษย์ต้องพบเจออย่างไม่มีทางหนีพ้น

ชาวคริสต์มีความเชื่อว่า เมื่อความตายมาถึง เมื่อนั้นเราจะถูกพิพากษาจากความดีความชั่วที่เคยได้กระทำในโลกมนุษย์ หากทำดีมีจิตใจยึดโยงกับพระเจ้า คนผู้นั้นก็จะถูกพิพากษาให้ดวงวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ในทางตรงกันข้ามหากทำชั่วดวงวิญญาณก็จะถูกพิพากษาให้ไปชดใช้กรรมในนรก

นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อเรื่อง “แดนมรณา” และ "ดินแดนชำระ" ซึ่งเป็นดินแดนเสมือนกึ่งกลางนรกและสวรรค์ ซึ่งมีไว้สำหรับคนที่ไม่ได้ทำชั่วขนาดที่จะลงไปอยู่ในนรก และยังรักษาความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้จนวันที่ความตายมาถึง หรือผู้ที่ยังไม่ได้มีความยึดโยงกับพระเจ้า ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องไปชำระบาปในนรก แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถพบกับพระผู้เป็นเจ้าบนแดนสวรรค์ได้ เป็นที่มาของการพยายามเผยแผ่ศาสนาของคณะมิชชันนารี เพื่อให้มนุษยชาติได้มีโอกาสขึ้นไปพบกับผู้เป็นเจ้าให้ได้มากที่สุด

วันฮาโลวีนที่เป็นสัญญะของความตายนั้นได้สอดคล้องกับวันสำคัญของคริสต์ศาสนา คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็น “วันนักบุญทั้งหลาย” (All Saints’ Day) ซึ่งศาสนจักรประกาศให้ฉลองแก่ นักบุญ รวมถึงวิญญาณของผู้กระทำความดีทั้งหลายที่เข้าสู่สวรรค์ไปแล้วจำนวนมาก และวันที่ 2 พฤศจิกายน นั้นเป็น “วันวิญญาณทั้งหลาย” (All Souls Day) เพื่อระลึกถึงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ยังไม่สามารถขึ้นไปยังสรวงสวรรค์ได้ ยังคงต้องชำระโทษที่ได้เคยกระทำไว้ ซึ่งวิญญาณเหล่านี้ทำได้เพียงรอคอยคำภาวนาจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่

สรุปได้ว่า ในทางคริสต์ศาสนา เมื่อความตายมาถึง จะถูกพิพากษาว่าจะดวงวิญญาณจะไปอยู่โลกหลังความตายแบบใด หากทำดีและจิตใจยึดโยงกับพระเจ้า โลกหลังความตายของคนผู้นั้นคือสวรรค์ แต่หากทำชั่ว โลกหลังความตายจะอยู่ในรูปแบบของนรก เพื่อชดใช้บาปที่เป็นของตน

หากมีความคลุมเครือของการทำดีทำชั่ว หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีความยึดโยงกับพระเจ้า คนผู้นั้นก็จะติดอยู่โลกหลังความตายที่เรียกว่า ดินแดนชำระหรือดินแดนมรณา ซึ่งคนในกลุ่มสุดท้ายอาจต้องรอการภาวนาจากคนที่มีชีวิตอยู่ หรืออีกความเชื่อการทำมิสซา เพื่อให้ดวงวิญญาณหลุดพ้นจากดินแดนมรณาแล้วขึ้นสู่สววรค์ได้ 

อย่างไรก็ตาม ศาสนาคริสต์เป็นเพียงหนึ่งศาสนาที่มีความเชื่อเช่นนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายอีกหลากหลายรูปแบบ ที่อาจทั้งมีความคล้ายคลึง เช่น ศาสนาอิสลาม ที่เชื่อว่ามีการพิพากษาเมื่อความตายมาถึง หรือแตกต่าง เช่น ความเชื่อจากลัทธิ “อเทวนิยม” หรือ “สสารนิยม” ที่โลกหลังความตายอาจไม่ได้มีอยู่จริง เพราะเมื่อตายแล้วก็เท่ากับการดับสูญ เป็นต้น 

แต่ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อแบบใด ก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถพิสูจน์ได้ว่าแท้จริงแล้วโลกหลังความตายนี้มีหน้าตาและรูปแบบเป็นอย่างไร  

 

อ้างอิง 

ปติสร เพ็ญสุต

อัสดง

Springnews