"20 BIG CHANGES" - "20 ปี สสส." กับปรากฎการณ์เปลี่ยนวิถีสุขภาพสังคมไทย
สสส. กำลังก้าวสู่ปีที่ 20 จึงจัดงาน “20 BIG CHANGES” เพื่อบอกเล่าเรื่องราว “กุญแจความสำเร็จ” ของการทำงานด้านสุขภาพ จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ในอดีตเราจะคิดถึงเรื่องสุขภาพเมื่อเราป่วย และเราไปหาหมอให้รักษาให้หายเท่านั้น แต่ในช่วงกว่ายี่สิบปีให้หลัง เชื่อว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า การดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะสายเกินไป เพราะนั่นคือหนทางการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนยิ่งกว่า
ความตระหนักรู้ที่กลายเป็นปรากฎการณ์ด้านบวกและเกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วง 20 ปีหลังนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง แต่เป็นผลจากการสื่อสาร ส่งต่อความรู้ ซึ่งเป็นงานหลักอย่างหนึ่งขององค์กรเล็กๆ ด้านสุขภาพแห่งหนึ่งที่ชื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
สสส. ที่เราคุ้นเคย ทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึงเรื่องสุขภาพ กำลังจะครบรอบ 20 ปีในอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ เพื่อทบทวนถึงก้าวที่ผ่านมา และวางทิศทางก้าวต่อไป สสส. จึงจัดแถลงข่าว การจัดงาน “20 BIG CHANGES” งานที่ไม่ได้วัตถุประสงค์เพียงเพื่อถ่ายทอด บอกเล่า ความสำเร็จการทำงาน แต่ยังมาเฉลยถึง “กุญแจความสำเร็จ” การทำงานด้านสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
20 BIG CHANGES - BIG Moves
“เราเลือกตั้งชื่องานปีนี้ว่า 20 ปี ภาคีสร้างสุข เพราะ สสส. อยากเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน 20 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อย 20 เรื่องที่เราเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นมีอะไรบ้าง”
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานว่า แนวคิด “20 BIG CHANGES” พลังภาคีสร้างสุขสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะคนไทย มาจากความตระหนักที่ว่า สสส. ไม่ได้เป็นชื่อองค์กร ตึก หรือผู้บริหารหรือพนักงานเพียงไม่กี่คน หากแต่ยังมีแนวร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำอีกมากมายกว่าสองหมื่นชีวิตทั่วประเทศไทย
โดยหากลองถอดบทเรียนตลอด 20 ปี จะได้พบว่า หนึ่งในหัวใจของความสำเร็จนั้นเกิดจากฟันเฟืองสำคัญ นั่นคือ “พลังภาคี” ที่ได้กลายเป็นแนวคิดการจัดงานในปีนี้
ผู้จัดการ สสส. เผยต่อว่า สสส. ไม่ได้เกิดมาแบบองค์กรหรือหน่วยงานทั่วไป แต่เป็นเสมือนกันต้นไม้พันธุ์ใหม่ที่เข้ามาในประเทศไทย
“เราเกิดจากเป้าหมายที่ต้องการแนวคิดใหม่ของการสร้างสุขภาพในโลกยุคใหม่ให้กับคนไทย เพราะปัจจุบันแม้โรคติดเชื้ออัตราลดลง แต่โรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตกลายเป็นทุกขภาวะหลักของคนมากขึ้น ดังนั้น เราต้องการเครื่องมือใหม่ ต้นไม้พันธุ์ใหม่ วิธีการใหม่ที่ไม่อาจมากกว่าแค่มีหมอรักษา หรือหยูกยา เพียงเท่านั้น”
การสร้างสุขภาพแนวคิดใหม่ คือวิสัยทัศน์ที่วางไว้ และถูกออกแบบความเป็น สสส. มาตั้งแต่ต้น โดยเลือกที่จะนำพลังของ “การสื่อสาร” และ “การมีส่วนร่วม” มาเป็นอาวุธสำคัญที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
4 ประเด็นสำคัญที่ สสส.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่
- งานสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ สสส. เติมเต็มช่องว่างให้กับระบบสุขภาพไทย ขับเคลื่อนรวมพลังสร้างสรรค์สุขภาวะกับทุกภาคส่วนของสังคม มีความยืดหยุ่นคล่องตัว ขับเคลื่อนสุขภาวะได้ทุกวิกฤต จนพิสูจน์ความสำเร็จสู่การเป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพที่นานาชาติให้การยอมรับ
- การเปลี่ยนแปลงต่อประเด็นสุขภาพ โดยเฉพาะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ การเปลี่ยนค่านิยมสร้างประเพณีวัฒนธรรมไร้แอลกอฮอล์ สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ทำให้อุบัติเหตุลดลง พัฒนาระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อสุขภาพดีที่ยั่งยืน จุดกระแสกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะคนไทย เปิดใจ รับรู้ ป้องกัน แก้ไข ปัญหาสุขภาวะทางเพศ
- การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง สสส. ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วประเทศที่จัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม คนกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาวะคนทำงาน และการลงทุนในเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติที่ถือว่าได้ผลคุ้มค่า ผ่านโครงการต่างๆ
- การเปลี่ยนแปลงต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น สร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างสุขภาวะระดับพื้นที่ ด้วยระบบสุขภาพอำเภอ การสร้างสำนึกที่เท่าทันโลกด้วยระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ ผลักดันให้ประชาชนไทยก้าวสู่การเป็น "พลเมืองดิจิทัล" ที่มีความทันสื่อ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในเวลาเดียวกัน
จุดประกาย กระตุ้น สาน เสริมพลัง ทุกภาคส่วน
“สสส. วางบทบาทเป็นแกนกลางในการเชื่อม รวมพลังภาคีสุขภาพ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม สสส. ทำหน้าที่สานพลัง ร่วมสร้างนวัตกรรม ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” ขับเคลื่อนสังคม” ดร.สุปรีดาเอ่ย
ซึ่งตลอดการเดินทางผ่านมาตลอดกว่า 20 ปี เรียกได้ว่า เป็นการปูแนวทาง ไปพร้อมๆ กับการได้สะสมองค์ความรู้และสะสมภาคีที่มาร่วมมือ ร่วมฝ่าฟันการทำงานมาตลอด 20 ปี ซึ่งจุดแข็งของพลังดังกล่าวกลายเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญ ที่ช่วยให้การทำงานสามารถต่อยอดแก้โจทย์ใหม่ๆ ยากๆ ในสังคมด้วยเครื่องมือใหม่ บวกกับทุนความรู้ที่สั่งสม ด้วยการรับบทเป็นน้ำมันหล่อลื่น หรือตัวกระตุ้น
“กลไกนี้ถูกออกแบบตั้งแต่ต้นที่จะเปิดพลังสมองความคิดผู้คนจากหลากหลายมิติ ให้มาร่วมกันทำงานตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพยุคใหม่ ที่ต้องใช้สหวิทยาการหลายๆ สาขาร่วมกันในการทำสิ่งที่เราเรียกว่าการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ เป็นการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปที่ปรับมุมมองระบบการดูแลสุขภาพเป็น สร้าง นำ ซ่อม”
สู่ทศวรรษที่ 3 รับมือสุขภาพโลกใหม่ ประเด็นเดิม
เมื่อครบ 20 ปี คำถามต่อไปคือ แล้วอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?
ดร.สุปรีดา เอ่ยว่า ในทศวรรษหน้า สสส. มีทิศทางการดำเนินงานใน 7 ประเด็น คือ
- บุหรี่
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อุบัติเหตุ
- กิจกรรมทางกาย
- อาหาร ทั้งความปลอดภัยของอาหาร และพฤติกรรมการบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม
- สุขภาพจิต
- มลพิษทางอากาศ
สำหรับเรื่องเหล่านี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร จะมีคำตอบในงาน 20 ปี ที่จะจัดขึ้นนี้
“ในอนาคต สสส. มองเห็นแล้วว่า ต้องสื่อสารเปลี่ยนไป ตามยุคสมัย เรามีการระดมความคิดกันตลอดปีนี้เพื่อจะช่วยกันวางแนวทางเป้าหมายในอีกสิบปี ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน จากการวิเคราะห์สถานการณ์รอบด้าน แต่สิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์เรายังอยู่ที่ว่า ทุกคนบนแผ่นดินไทยต้องมีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาพที่ดี”
“ในอนาคต สสส. ยังคงมุ่งเน้นการทำงานด้านสุขภาพ ประเด็นใหญ่ 7 เพราะยังมีความสำคัญ แต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับสภาวะปัญหาหรือสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
เพราะแนวโน้มปัญหายังคงเดิม แต่เปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งเราต้องการแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างสุขภาพ เช่น ในเรื่องบุหรี่ ที่กำลังมีบุหรี่ในรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่น บุหรี่ไฟฟ้า เรื่องอาหารการกินก็ชัดเจนว่า ปัญหาทุกข์โภชนาการหายไปแต่ภาวะเด็กอ้วนกำลังเริ่มพุ่งไม่หยุด เรื่องการมีกิจกรรมทางกาย ผลกระทบจากการมีชีวิตและทำงานแบบออนไลน์ทำให้คนเราเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่มลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญตัวที่ 5 ที่กำลังจะเป็นอีกสาเหตุสำคัญของปัญหาโรค NCDs และภายใต้กับดักพื้นฐานนั้น ยังมีกับดับสำคัญอันหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำสุขภาพ ปัจจุบันกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสจะมีปัญหามากกว่าและมีความซับซ้อนของปัญหามากกว่า”
นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคใหม่ และได้มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนเราแตกต่างจากอดีต ไม่ว่าจะเป็น Globalization Digitalization De-intermediarization หรือ Polarization ทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนหมด ก็เป็นอีกปรากฎการณ์ที่ต้อง สสส. มองว่าต้องเฝ้าระวัง ไม่อาจละเลยมองข้าม
“การสื่อสารในโลกดิจิทัล กำลังสร้างเฟคนิวส์มากขึ้น โลกกำลังเกิดการแบ่งแยกทุกคนให้เลือกอยู่ในเฉพาะกลุ่มที่ชอบ ที่ตนเองถูกจริตเท่านั้น คนเราเริ่มมีพื้นที่ร่วมกันน้อยลง ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาสังคม จนเกิดอาการ ติดขั้ว แยกข้าง รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การพูดคุยกัน เรื่องเหล่านี้เราก็ตระหนัก”
ดร.สุปรีดา เอ่ยว่า ในสิ่งแวดล้อมใหม่นี้เอง สสส. จะใช้บทเรียนที่เราสะสมไว้ ใช้บทเรียนบรรทัดฐานสังคม ใช้ข้อมูลวิทยาการกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา เพื่อพร้อมก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ในการทำงานสร้างสุขภาพ โจทย์ใหม่ๆ ที่มีความท้าทายเหล่านี้ และขอขอบคุณภาคีสุขภาพ กว่า 20,000 ภาคี ในการเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ เสริมพลังทุกภาคส่วนสร้างสุข
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นอีกหนึ่งภาคีผู้มีบทบาทขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพร่วมกับ สสส. อย่างต่อเนื่อง เล่าถึงที่มาการก่อตั้งองค์กรรูปแบบ สสส. ว่าได้รูปแบบจากออสเตรเลีย ที่มีการเก็บภาษีบุหรี่มาทำงานรณรงค์เลิกบุหรี่
"แต่นอกจากเรื่องบุหรี่แล้ว เรามองว่าคนไทยก็มีปัญหาด้านสุขภาพอีกหลายประเด็น จึงมองว่าหากมีกองทุนและหน่วยงานที่นำเอาภาษีส่วนนี้ไปพัฒนาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพในเชิงกว้างก็น่าจะเหมาะสม"
ศ.นพ.ประกิต เอ่ยต่อว่า กองทุน สสส. ทำให้เกิดการทำงานของภาคประชาชน ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกับภาครัฐ ผ่านการขับเคลื่อนรูปแบบภาคี
“ระหว่างทางสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคนร่วมมือ ภาคีทำงานมากมาย เพราะเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องที่ใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะทำคนเดียวไม่ได้”
สำหรับสิ่งที่ สสส. ทำงานอย่างหนักหน่วงต่อไป คือ หาวิธีทำอย่างไรให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และคิดถึงเรื่องสุขภาพต่อเมื่อไม่สบายแล้ว อยากทำให้สังคมเข้าใจในการสร้างสุขภาพที่ดีก่อนที่จะป่วย ผ่านทั้งกลไกทางสังคมและนโยบายของภาครัฐด้านสุขภาพ
“ซึ่งทุกหน่วยงาน ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข หรือ สสส. เท่านั้น แต่กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีหน้าที่ให้ความรู้ กระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี กระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้าทำลายสุขภาพทั้งหลาย ก็ควรมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดสังคมสุขภาวะ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภาคีผู้ขับเคลื่อนงานรณรงค์งดเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับ สสส. มาอย่างต่อเนื่อง เอ่ยว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปชัดเจนในวันนี้คือ คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการดื่มสุรามากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลในด้านพฤติกรรม ที่จากเดิมมีจำนวนคนดื่มเพิ่มขึ้นทุกปีเมื่อยี่สิบปีก่อน กลายเป็นสถิตินักดื่มเหล้าเริ่มนิ่งหรือไม่พุ่งสูงขึ้นเช่นในอดีต
“เมื่อก่อนคนไทยจะเข้าใจว่าดื่มเหล้าเยอะจะเป็นแค่ตับแข็ง แต่จริงๆ แล้วสุราทำลายอวัยวะแทบทุกส่วนที่มันผ่านไป และเป็นสาเหตุโรคกว่า 200โรค ไม่นับรวมความสูญเสียที่เกิดขึ้นอื่นๆ”
ซึ่งความรู้ดังกล่าวยังช่วยในการผลักดันนโยบายและทำงานรณรงค์งดดื่มสุรา รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดื่มเหล้า เช่น การเลิกเหล้าในพื้นที่ งานบุญประเพณี จัดงานศพปลอดเหล้า พิสูจน์มาแล้วว่าช่วยประหยัดทรัพยากร และลดปัญหาสังคมต่างๆ ได้ชัดเจน รวมถึงการผลักดันสู่นโยบายและกฎหมายที่สร้างกติกาใหม่ในสังคม
“กฎหมายของเราไม่ได้บังคับห้ามคนดื่มแอลกอฮอล์ แต่เราทำงานที่ต้นทาง โดยเราควบคุมธุรกิจเหล้าและแอลกฮอล์ไม่ให้ค้าขายแบบไม่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นการใช้กฎหมายเพื่อให้มีความรับผิดชอบ แต่กว่าจะเกิดได้เราต้องใช้หลาย ภาคี ช่วยกัน แต่ถามว่าพอไหม ยังคงต้องเดินหน้าต่อ”
ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. เผยถึง ข้อมูลก่อนปี 2545 มีคนไทยออกกำลังกายประมาณ 8.5 ล้านคน แต่หลังการดำเนินงานมา 20 ปีในการรณรงค์การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ทำให้ประเทศไทยเรามีคนออกกำลังกายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 16 ล้าน
“เราเห็นพัฒนาการที่ชัดเจน โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศและวัย ในอดีตผู้หญิงออกมาวิ่งน้อยมาก มาราธอน ขณะเดียวกันมีการเพิ่มพื้นที่การมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น งานวิ่งมีอีกสองพันกว่างานต่อปี เราส่งเสริมทั้งรูปแบบและเซ็ตติ้ง ได้แก่ หน่วยงานองค์กร หรือระดับชุมชนในทุกมิติ รวมถึงการ"
20 งานเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สำหรับการจัดงานปีนี้ กิจกรรม “20 ปี ภาคีสร้างสุข นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายนนี้
โดยการจัดงานจะเป็นในรูปแบบที่สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) นั่นคือการจัดงานแบบไฮบริด (Hybrid) คือการผสมผสานระหว่างการจัดงานในสถานที่จริง (on ground) และการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ (online)
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวถึงไฮไลท์กิจกรรมที่น่าสนใจ มีทั้งการเสวนาถอดบทเรียนการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย งานสร้างเสริมสุขภาพยุคใหม่ อนาคตการสร้างเสริมสุขภาพของไทย นอกจากนี้ยังแสดงผลงานนวัตกรรมสุขภาพ 14 ผลงาน อาทิ โต๊ะประชุมยืน ช้อนปรุงลด เครื่องวัดความเค็ม Salt Meter เสาหลักนำทางจากยางพารา ฯลฯ และผลงานที่จดสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ 25 ชิ้นงาน อาทิ อุปกรณ์รองนั่งสำหรับขับถ่าย ผลิตภัณฑ์ลูกอมสมุนไพรหญ้าหมอน้อยที่มีสรรพคุณช่วยลดการสูบบุหรี่ และมีผลงานโชว์เคส 16 บูธ อาทิ ฉลากทางเลือกสุขภาพ โดยมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ กิจกรรมเล่นตามวัย โดยเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก Condom4Teen โดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) และนิทรรศการ 20 ปี ภาคีสร้างสุข ในรูปแบบ แบบ INTERACTIVE ผ่านช่องทางออนไลน์
“สสส. คำนึงถึงเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการพิจารณารูปแบบการจัดงานให้เปลี่ยนไปให้เข้ากับสถานการณ์ ในสองวันแรกจะเป็นการเสวนาหัวข้อสำคัญ มี 4 ฟอรัม วันที่ 10 จะเป็นการจัดงาน On Ground และเสวนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพ การเสนอเมกะเทรนด์ ความเปลี่ยนแปลงในโลกต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ และเห็นทิศทางในอีกสิบปีของ สสส. ต่อจากนี้ และยังมีกิจกรรม Active Learning ผ่านนิทรรศการต่างๆ” เบญจมาภรณ์ เอ่ย
ต้นแบบ Healthy Meeting การจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำให้สังคมตระหนักว่าการมีวิถีสุขภาวะที่ดีสามารถทำได้ในทุกมิติ ในงานนี้ทาง สสส. ยังเป็นต้นแบบองค์กรที่ยึดหลัก นำรูปแบบ “การจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ” (Healthy Meeting) ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการจัดประชุมที่ทาง สสส. จะส่งเสริมให้แก่สังคมในวงกว้างต่อไป
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การจัดประชุมในรูปแบบเฮลตี้มีตติ้ง สสส. ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการมาหลายปีแล้ว โดย สสส.ยังได้ร่วมมือกับกรมอนามัยร่วมกันจัดทำคู่มือ จัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ หรือ Healthy Meeting ดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางให้กับองค์กรหรือหน่วยงานที่สนใจ ซึ่งในปีนี้องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้นำประเด็นการจัดประชุมแบบเฮลตี้มีตติ้งมาส่งเสริม โดยมีการจัดทำคู่มือและ Check list นับเป็นการขยายผลสู่ระดับวงกว้าง
“การจัดเฮลตี้มีตติ้ง ประกอบด้วย 6 เรื่องหลัก เน้นการมีกิจกรรมทางกาย เริ่มจากการจัดให้พื้นที่ห้องประชุม โดยต้องมีพื้นที่ประชุมแบบยืนไม่น้อยกว่า 20% รวมถึงการจัดเสิร์ฟอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพลดอาหารเสี่ยงหวาน มัน เค็ม และการห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ในพื้นที่การประชุม รวมถึงงดแอลกอฮอล์ และสุดท้ายคือ Mental Health การจัดสภาพแวดล้อมให้คนเข้าร่วมประชุมสุขภาพดีกายและใจ มีพื้นที่พักผ่อน สันทนาการสร้างสภาพแวดล้อม แบบ Active และที่สำคัญต้องเป็นการประชุมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
ในการประชุมงาน 20 ปี ทั้ง Healthy Meeting และ New Normal จะเป็นรูปแบบงา ที่ สสส.ต้องการนำมาจัดโดยหวังที่จะให้เป็นต้นแบบ ที่สะท้อนว่า ทุกงานสามารถจัดการประชุมให้สอดคล้องกับแนวทาง Social Distancing ได้แบบไม่ยากอย่างที่คิด
สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถมีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีด้วยกันในงาน 20 ปี สสส. ติดตามรับชมผ่านทางเว็บไซต์ https://20th.thaihealth.or.th และ Facebook LIVE : ThaiHealth