"ลมหายใจกระบี่" ลายเสื้อปาเต๊ะ ครม.สัญจรกระบี่ เมื่อ “น้ำ” และ “ดิน” ประสาน
ความหมาย “ลมหายใจกระบี่” ลายเส้นที่มาจาก “น้ำ และ “ดิน” สัญลักษณ์การดำรงชีวิตของชาวกระบี่ บนลายเสื้อปาเต๊ะ ครม.สัญจร จังหวัดกระบี่ 2564 เปิดตัวศิลปินผู้ออกแบบลายผ้า
ในการประชุม ครม.สัญจร นอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่ จังหวัดกระบี่ วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ ร่วมส่งเสริมอัตลักษณ์จังหวัดด้วยการจัดเตรียม เสื้อปาเต๊ะ สำหรับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้สวมใส่
การทำผ้าปาเต๊ะถือเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของจังหวัดกระบี่ โดยในการเปิดงานเทศกาลศิลปะ Thailand Biennale Krabi 2018 ผ้าปาเต๊ะฝีมือชาวชุมชนผ้าปาเต๊ะคลองประสงค์ จ.กระบี่ ก็ได้รับเลือกให้จัดทำเป็นของที่ระลึกมอบแก่ทูตานุทูต แขกบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่เข้าร่วมพิธีเปิดงาน ณ หาดนพรัตน์ธารา มาแล้วครั้งหนึ่ง
นายกรัฐมนตรีสวมเสื้อปาเต๊ะลาย "ลมหายใจกระบี่" เยี่ยมชมนิทรรศการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันก่อนประชุม ครม.สัญจร
สำหรับเสื้อปาเต๊ะที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ได้สวมใส่ครั้งนี้ นอกจากได้สัมผัสผ้าพื้นเมือง ลวดลายบนตัวเสื้อยังมีความหมายอย่างยิ่ง
โดยลวดลายบนเสื้อปาเต๊ะ ครม.สัญจรครั้งนี้ มีชื่อว่า ลมหายใจกระบี่ ออกแบบโดยนาย พัฒนศิลป์ ชูทอง ศิลปินอิสระผู้ถ่ายทอดจิตวิญญาณจังหวัดกระบี่ออกมาเป็นลายเส้นร่วมสมัย
“ถ้าเราพูดถึง ‘ลมหายใจ’ เราย่อมต้องหมายถึงสิ่งมีชีวิต ดังนั้นลมหายใจของจังหวัดกระบี่หรือจังหวัดใดก็ตามย่อมต้องหมายถึง ‘ผู้คน’ ซึ่งหมายกึงการเป็นอยู่ การทำมาหากิน การดำรงชีวิต ผมตีความหมายว่าอย่างนั้น คนกระบี่ทำมาหากินอย่างไร ผมตกผลึกมาได้ 2 อย่าง คือ แบ่งออกเป็นน้ำกับดิน” พัฒนศิลป์ ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’
ลวดลาย “ลมหายใจกระบี่” ประกอบกันขึ้นด้วยลายเส้นหลักๆ 4 รูปทรงจากชีวิตชาวกระบี่
ที่เกี่ยวพันกับ ‘น้ำ’ และ ‘ดิน’ ดังนี้
ลายเส้นรูปก้นหอย : เป็นสัญลักษณ์การทำมาหากินของชาวกระบี่ที่เกี่ยวเนื่องกับ ‘น้ำ’ นั่นก็คือ ‘ทะเล’ ศิลปินขอใช้ลายเส้นนี้เป็นตัวแทน ‘ชาวเล’ ในจังหวัดกระบี่ซึ่งทำมาหากินด้วยการประมง ขณะเดียวกันกระบี่ก็มีทะเลและชายหาดสวยงาม ทำให้เกิดการทำมาหากินเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
“ผมใช้ ‘หอย’ เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ สร้างเป็น motif ลายก้นหอย เรียงต่อกันคล้ายรูปดอกไม้” พัฒนศิลป์ กล่าวและว่า เหตุที่เลือกใช้ลายเส้นรูปหอย เนื่องจากหอยในจังหวัดกระบี่มีความแตกต่างจากที่อื่น มีทั้งบนบกและในทะเล มากระบี่ต้องกินหอยชักตีน ไปชมสุสานหอย 75 ล้านปี และซากฟอสซิลหอยตามภูเขา ตามรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ และยังแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล
ลายเส้นรูปเรือหัวโทง : อีกหนึ่งสัญลักษณ์การทำมาหากินของชาวกระบี่ที่เกี่ยวเนื่องกับ ‘น้ำ’ เพราะเป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับชีวิตชาวประมงพื้นบ้านกระบี่ ที่ใช้เรือหัวโทงทำประมงชายฝั่งเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกันก็เป็นจุดดึงดูด ‘การท่องเที่ยว’ ของจังหวัด ใครมากระบี่ก็อยากถ่ายรูปกับ ความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ของเรือหัวโทง
ลายเส้นรูปใบปาล์ม : สัญลักษณ์การทำมาหากินของชาวกระบี่ที่เกี่ยวเนื่องกับ ‘ดิน’ อย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือการปลูก ‘ปาล์มน้ำมัน’ ไม่ว่าขับรถไปอำเภอใดของจังหวัด ก็มักเห็นต้นปาล์มน้ำมัน การใช้ลายเส้นรูปใบปาล์มจึงเปรียบเสมือนตัวแทนวิถีชีวิตเกษตรกรชาวกระบี่ โดยตัดทอนลายเส้นให้เหลือแต่ใบปาล์ม แล้วจัดวางเป็นพุ่ม
ลายเส้นโค้ง : สัญลักษณ์การทำมาหากินของชาวกระบี่ที่เกี่ยวเนื่องกับ ‘น้ำ’ และ ‘ดิน’ นั่นก็คือทะเลอันงดงาม และรูปทรงภูเขาหินปูนอันสวยงามที่เกิดจากการกัดกร่อนของลมและฝนตามธรรมชาติ ทั้งทะเลและภูเขาล้วนทำให้เกิดธุรกิจท่องเที่ยวภายในจังหวัด
“ผมใช้ลายเส้นโค้งพลิ้วซ้ายพลิ้วขวาเป็นตัวแทนคลื่นทะเลที่หมายถึง ‘น้ำ’ แต่นำมาจัดวางในแนวตั้งให้มีความหมายถึง ‘ดิน’ ได้ด้วย นั่นก็คือการสื่อถึงภูเขาหินปูนที่มีรูปทรงสวยงาม หนึ่งในเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่” พัฒนศิลป์ กล่าว
พัฒนศิลป์ ชูทอง กับผลงานศิลปะที่เคยจัดแสดง
พัฒนศิลป์ ชูทอง เป็นศิลปินอิสระ เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สำเร็จการศึกษาด้านโฆษณาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เคยเป็นครูสอนศิลปะควบคู่กับการทำงานเป็นศิลปินอิสระตามความสนใจส่วนตัว ปัจจุบันย้ายไปใช้ชีวิตที่จังหวัดกระบี่ได้ห้าปี ทำงานเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว เปิดคอร์สสอนศิลปะ และเป็นสมาชิก Krabi Art Space กลุ่มคนทำงานศิลปะในจังหวัดกระบี่
ลมหายใจกระบี่ เป็นลายผ้าปาเต๊ะที่ชนะเลิศในการ ประกวดออกแบบลวดลายผ้าอัตลักษณ์จังหวัดกระบี่ ตามโครงการพัฒนาลวดลายผ้าอัตลักษณ์เมืองกระบี่ จากพื้นถิ่นสู่ความร่วมสมัย
พัฒนศิลป์ ชูทอง และผลงาน "ลมหายใจกระบี่" พิมพ์บนผืนผ้า
การประกวดนี้จัดโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาลวดลายผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดกระบี่ ที่สื่อถึง อัตลักษณ์ และมีความร่วมสมัย ส่งเสริมให้ทุกคนเห็นถึงคุณค่าและมูลค่าของผ้าไทยในชุมชน สร้างกระแสไทยนิยมไปสู่คนรุ่นใหม่ในการเลือกที่จะสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ยังกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา นักออกแบบ ผู้ผลิตผ้าพื้นถิ่น และประชาชนทั่วไป ให้เกิดความรู้ความเข้าใจตระหนักถึงคุณค่า ความงาม แห่งลวดลายผ้าพื้นถิ่นที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ และมีความร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน
สำหรับการประชุม ครม.สัญจร กระบี่ ครั้งนี้ "สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดกระบี่" โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์แจ้งว่า ได้จัดเตรียม เสื้อปาเต๊ะ ลาย "ลมหายใจกระบี่" ไว้ด้วยกัน 3 สี คือ
- สีเหลือง เป็นสีประจำจังหวัดกระบี่ สำหรับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
- สีฟ้าน้ำทะเลอันดามัน สำหรับคณะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- สีเขียว สำหรับ่คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย
* * * * * * *
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดกระบี่ คุณพัฒนศิลป์ ชูทอง และ เฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า