“พัทยา”ปรับแผนพัฒนาเมือง ขอเป็น"ต้นแบบดูแลต้นไม้ใหญ่"
ก่อนหน้านี้"เมืองพัทยา"ได้ตัดต้นไม้ขยายชายหาด ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจ ล่าสุดมีการนำศาสตร์รุกขกรรมและภูมิสถาปัตย์มาใช้“ดูแลต้นไม้ใหญ่” เพื่อเป็น“ต้นแบบการพัฒนาเมือง”
“วิธีการพลิกโฉมแบบนี้ ในต่างประเทศเคยเกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นฮ่องกงก็ไม่รู้จักวิชา รุกขกรรม ก็มีเรื่องดราม่าเกี่ยวกับต้นไม้เหมือนเมืองไทย แต่พอฮ่องกงใช้ความรู้และกระบวนการแบบนี้ก็แก้ปัญหาได้
ทำให้คนกับต้นไม้อยู่ร่วมกันได้ มีการพัฒนาเมืองมีความยั่งยืน เพราะบริบทของสิ่งแวดล้อม ทำให้เศรษฐกิจเติบโตและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขอบคุณผู้บริหารพัทยาที่รับไอเดียนี้”
ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง เครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวในงานแถลงข่าว “ความร่วมมือในการจัดการต้นไม้ใหญ่และภูมิทัศน์เมืองพัทยา” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา
ที่เกิดจากความร่วมมือของสมาคมวิชาชีพและภาคประชาชน ทั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมรุกขกรรมไทย และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (กลุ่มบิ๊กทรี)
เจ้าหน้าที่กำลังบรรยายระหว่างการลงพื้นที่
ต้นไม้ใหญ่เมืองพัทยา
การจัดการต้นไม้ใหญ่ในเมืองพัทยาครั้งนี้ มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 ครั้ง ให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนในเมืองเมืองพัทยาในเดือนตุลาคม และวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 64 ทั้งประเมินสุขภาพและความเสี่ยงต้นไม้เบื้องต้น
มีการสำรวจพื้นที่นำร่องชายหาดพัทยาใต้ 50 เมตร โดยใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ Tree Plotter การฝึกตัดแต่งอย่างถูกวิธี การปีนต้นไม้ สาธิตการใช้เสียมลมเพื่อฟื้นฟูระบบราก และการออกแบบพื้นที่ชายหาดให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ของประชาชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“การสำรวจจะช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ว่า ต้นไม้เหล่านี้อยู่ในระดับไหน ถ้ามีความเสี่ยงสูงจะดำเนินการภายใน1 เดือน ถ้าความเสี่ยงปานกลางภายใน 3-6 เดือน ถ้าความเสี่ยงต่ำภายใน 6-12 เดือน
เราใช้หลักวิชาการ รุกขกรรม เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ก็จะบอกได้ว่า ต้นไหนควรเก็บไว้เพราะสุขภาพดี ถ้าต้นที่สุขภาพไม่ดี ก็น่าจะเอาออก จะได้ไม่เป็นอันตรายกับประชาชน” เจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติงานกล่าว
ชายหาดพัทยากับต้นไม้ใหญ่
ใช้ภูมิสถาปัตย์ออกแบบก่อน
นำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย กล่าวว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าภูมิสถาปนิกคือการทำงานด้านการออกแบบ ซึ่งไม่ใช่เลย นั่นเป็นปลายน้ำ
“ความจริงคือ เราทำงานก่อนออกแบบลงพื้นที่จริง ดูสิ่งที่มีอยู่ สภาพดิน ต้นไม้สาธารณูปโภค วิวตรงไหนดีหรือไม่ดี ต้องจัดการแก้ไขอย่างไร แล้วรับฟังความคิดเห็นทุกคนทุกฝ่าย
ประมวลข้อมูลเหล่านี้มาแล้วถึงจะออกแบบทางกายภาพ รวมถึงการเลือกวัสดุก่อสร้าง วิธีการก่อสร้างที่เหมาะสม เลือกต้นไม้ที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงระบบไฟฟ้าแสงสว่างการระบายน้ำความปลอดภัย
โดยสรุปคือผลงานของภูมิสถาปนิก ออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่ม ภูมิทัศน์ก็จะมีความยั่งยืนสวยงามมีเอกลักษณ์”
ฝึกปฏิบัติในพื้นที่จริง
ออกแบบเพื่อคนพัทยา
ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม We Park กล่าวว่า เรามุ่งเน้นการทำงานออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้คนพัทยาที่ใช้พื้นที่นี้ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ
“สิ่งที่เราทำคือ การนำเสนอแนวคิดว่าพื้นที่อนุสรณ์สถานทรงเรือใบที่นำร่อง จะสามารถสร้างแนวคิด Public Space For All พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนทุกเพศทุกวัยได้อย่างไร โดยยึดหลักการเก็บรักษาอัตลักษณ์เดิม ธรรมชาติของเมืองพัทยา และสร้างกลไกให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของจริงๆ
การพัฒนาชายหาด ไม่จำเป็นต้องทำลายธรรมชาติ มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ เราสามารถอยู่กับต้นไม้ใหญ่ แล้วฟื้นฟูไปด้วยกันได้”
พัทยา คือต้นแบบนำร่อง สามารถนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาเมืองอื่นๆ ต่อไปได้
สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้จะทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาครัฐ ได้รู้จักศาสตร์ รุกขกรรม และการบริหารจัดการพื้นที่
“ในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ มีเรื่องของวิทยาศาสตร์(ศาสตร์รุกขกรรม)เข้ามาเกี่ยวข้อง นำมาปรับให้เข้ากับแนวทางการบริหาร พัทยาของเรา นอกจากยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมียุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างการทำเวิร์คชอปครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ เมื่อนำศาสตร์ รุกขกรรม และ ภูมิสถาปัตย์ มารวมกัน ทำให้มีความรอบรู้รอบด้านมากยิ่งขึ้น และทำให้เมืองพัทยาเป็นกลุ่มนำร่องหรือต้นแบบสำหรับการพัฒนาให้เมืองอื่นๆ
ตอนนี้เราเปิดประเทศแล้ว เราจะเป็นเมืองแรกที่เป็น ต้นแบบการพัฒนาเมือง บนพื้นฐานการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างความยั่งยืนต่อไป”
เจ้าหน้าที่กำลังสำรวจและบันทึกรายละเอียดต้นไม้
ต้นไม้ใหญ่กับคนเมือง
ช่อผกา กล่าวว่า การดูแลสิ่งแวดล้อมหรือพื้นที่สีเขียว ต้องใช้ ภูมิสถาปัตยกรรม ตั้งแต่แรกในการออกแบบ ไม่ใช่นำมาใช้หลังจากแบบเสร็จแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเกิดความขัดแย้ง
“ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ปัญหาเรื่อง ต้นไม้ใหญ่กับคนในเมือง ต้องมีการจัดการวิถีใหม่ เพราะต้นไม้ใหญ่เติบโตอยู่ท่ามกลางสิ่งผิดปกติที่ไม่มีชีวิต ถ้าโตในป่า รากกิ่งก้านจะแตกแขนงแบบไหนก็ได้ แต่โตในเมือง รากกิ่งก้าน ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับแม่ค้าส้มตำ มอเตอร์ไซค์ และฟุตบาท
ถ้าฟุตบาททับราก ต้นไม้ก็บาดเจ็บ สักวันก็ล้ม แต่ถ้าไม่ตัดทิ้ง ก็มีประโยชน์หลายเรื่อง ไม่ร้อน แล้วยังดูดคาร์บอนอีก ในอนาคตก็จะมีประโยชน์กับลูกหลาน ถ้าต้นไม้อายุยืน เพราะฉะนั้นเราอยู่ร่วมกับต้นไม้ได้ โดยใช้ศาสตร์ รุกขกรรม ช่วยดูแล”