“กินอาหารให้เป็นยา” ต้องกินอย่างไร ถึงจะได้ผล
ง่ายๆ เลย ต้องกินให้ถูกวิธี พืชผักหลายชนิดมีสรรพคุณเป็นยา แต่ต้องจับคู่ให้ถูก ถ้ากินให้สมดุล "อาหารเป็นยา"ได้ และไม่จำเป็นต้องกินวิตามินหรืออาหารเสริมใดๆ
"ในอีสานมีผักบริโภคกว่าสองร้อยชนิด แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่รู้จักผักไม่เกิน 8 ชนิด แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า ผักชนิดไหนเป็นยา ให้ดูที่รสผัก ถ้าผักรสฝาด กินแล้วรักษาแผลและอาการท้องเสีย ท้องอืด”
ดร.อุษา กลิ่นหอม อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าว
..........
“อาหารไทยจะกินพืชผักคู่กัน แกงกะทิใส่มะเขือพวง กะทิมีคอเรสเตอรอล มะเขือพวงช่วยลดคอเรสเตอรอล ” เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ เล่า
............
“คนรักสุขภาพมีเยอะ แต่กินไม่ถูก กินแบบสิ้นเปลือง อย่างกาแฟอินสแตนท์ กาแฟที่ผ่านกระบวนการเคมี เพื่อให้ละลายน้ำได้ดี ยิ่งผ่านกระบวนการมาก ยิ่งอันตราย” ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว เล่า
..............
โปรยสั้นๆ ที่เก็บมาฝากจากการเสวนา กินอาหารให้เป็นยา ทางออนไลน์ของ ไบโอไทย ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทำให้รู้ว่า การเลือกอาหารให้สมดุล ไม่ใช่เรื่องยาก ขึ้นอยู่ว่าคนกินอยากเลือกหรือไม่
ผักชนิดไหนเป็นยา
ในอดีตผู้เฒ่าผู้แก่ สอนไว้ว่า”ให้กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร” แม้จะดูโบราณแต่มีคำอธิบาย
ดร.อุษา กลิ่นหอม อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายกสมาคมเครือข่ายหมอพื้นบ้านและสุขภาพวิถีไทย ที่ศึกษาพืชผักสมุนไพร ในอีสานมาทั้งชีวิต บอกว่า ความหลากหลายของข้าวไทยไม่ได้กินเพื่อให้พลังงานอย่างเดียว ยังเป็นยาได้ด้วย
“ยาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยตำรับ มีส่วนผสมของข้าว ส่วนผักมีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านอักเสบ วิตามิน เกลือแร่ ในอีสานมีผักบริโภคกว่าสองร้อยชนิด แต่คนรุ่นใหม่รู้จักผักไม่เกิน 8 ชนิด แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าผักชนิดไหนเป็นยา ให้ดูที่รสผัก”
ผักรสฝาด อาทิ กล้วยดิบ ช่วยรักษาแผล รักษาอาการท้องเสีย ท้องอืด ส่วนผักรสเปรี้ยวพวกมะดัน ชะมวง ฯลฯ ช่วยกระตุ้นต่อมน้ำลาย ทำให้เจริญอาหาร
ผักรสหวานอ่อนๆ พวกดอกขจร ดอกข้าวสาร ผักหวาน ช่วยบำรุงร่างกายให้ชุ่มชื่น มีสารต้านอนุมูลอิสระ
ส่วนผักรสขม อาทิ มะระขี้นก ดอกขี้เหล็ก ฟักข้าว มีสารบำรุงตับ ถอดพิษ ลดไข้ ช่วยฟอกเลือด
ผักรสหอมเย็น อาทิ ผักบุ้งไทย เตยหอม ดอกขจร กินแล้วสดชื่น แก้ลม หน้ามืดตาลาย และผักรสมัน อาทิ สะตอ เนียง ถั่วพู ขนุนอ่อน แก้อาการเส้น เคล็ดขัดยอก อาการกระตุก
ตามด้วยผักรสเผ็ดร้อน พวกกระชาย ขิง ข่า ขมิ้น ติดไวรัสโควิดต้องกินพวกนี้ เพราะช่วยบำรุงร่างกาย
“ปลาเป็นแหล่งพลังงานดีที่สุด คนสมัยก่อนมีปลาให้กินกว่า 130 ชนิด ทำไมผู้หญิงคลอดลูกกินโปรตีนเยอะๆ ไม่เหมาะ ทำไมต้องกินข้าวกับเกลือ เพราะให้พลังงานและแร่ธาตุแก่ร่างกาย
“การกินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร ผ่านการวิจัยมาเยอะ แต่คนละระบบกับตะวันตก กว่าจะกินอะไรได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว
อย่างวัฒนธรรมอีสาน ฤดูฝนคนอีสานไม่กินเนื้อสัตว์ แต่กินเห็ดแทน เพราะช่วยแก้พิษ จึงเป็นที่มาว่ากินเห็ดสามอย่าง แก้มะเร็งได้ คนสมัยก่อนไม่มีเครื่องวิเคราะห์โปรตีน ทำไมรู้ว่าให้งดกินเนื้อสัตว์ แล้วกินเห็ดแทน ม้นมีคำอธิบาย
การกินต้องถูกต้องตามฤดูกาล อย่างยำลูกยอบ้าน ปีหนึ่งกินสักครั้ง จะช่วยฟอกเลือดให้สะอาด แต่มีข้อยกเว้นคนความดันสูงและผู้หญิงมีประจำเดือน ไม่ควรกิน”
กินพืชผักปลูกในประเทศดีที่สุด
หลายคนยังคิดว่า กินโสมช่วยบำรุงร่างกาย แต่ถ้าสืบค้นให้ชัดเจนจะพบว่า โสมจีนหรือโสมเกาหลี มาจากประเทศหนาว คนที่นั่นกินโสม เพื่อบำรุงร่างกายให้อบอุ่น แต่คนไทยอยู่ในประเทศร้อนชื้น ไม่น่าจะเหมาะ
เรื่องนี้ ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี บอกว่า ธรรมชาติได้ออกแบบให้เราแล้ว สมุนไพรประเทศไหน ก็เหมาะกับคนประเทศนั้น
“เราอยู่ในประเทศอากาศร้อน ต้องเลือกสมุนไพรให้เหมาะกับฤดูกาลและโรค อย่างขมิ้นชัน กิมจิ มีฤทธิ์ลดการอักเสบ
ช่วงโควิดระบาด เราก็ทำคู่มือเสริมภูมิคุ้มกันให้คนไทยอ่าน เพราะไวรัสเป็นเรื่องภูมิคุ้มกัน มีงานวิจัยพบว่า ก่อนโควิดระบาด ประเทศที่บริโภคพืชผักเยอะๆ คนประเทศนั้นเมื่อป่วยเป็นโควิดจะมีความรุนแรงน้อยกว่า
ในญี่ปุ่นมีการศึกษาว่า มะเร็งชนิดไหนสัมพันธ์กับอาหารชนิดใด ดังนั้นควรกินอาหารตัวไหนเพิ่มหรือลดอาหารประเภทใด
หรือการศึกษาในอิตาลี วิจัยเรื่อง การกินพริกของกลุ่มหนึ่งนาน 8 ปี พบว่าช่วยลดอัตราการตายของโรคได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำไมพริกลดอัตราการตายและลดอัตราการเกิดหลอดเลือดหัวใจได้มีงานวิจัยพวกนี้อยู่
ทำไมเราต้องกินอาหารในประเทศของเราเป็นหลัก ยกตัวอย่างข้าวเมล็ดอ้วนมีพลังงานสูงกว่าข้าวเมล็ดเรี่ยวๆ เพราะเราต้องใช้ชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติ”
ดร.ผกากรอง เล่าต่อว่า ตอนนี้ประชากร 5-6 แสนคนมีอาการคล้ายเป็นลองโควิด เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ทางการแพทย์ตะวันตกพยายามใช้ยาลดการอักเสบ แต่ทางเราคิดว่า พืชผักพวกขมิ้นชันและขิงน่าจะมีประโยชน์
“เรามองว่า คนรักสุขภาพมีเยอะ แต่กินไม่ถูก กินแบบสิ้นเปลือง หลายคนดื่มกาแฟอินสแตน ทั้งๆ ที่ผ่านกระบวนการเคมี เพื่อให้ละลายน้ำได้ดี ยิ่งผ่านกระบวนการมาก ยิ่งอันตราย หรือคนไข้ในโรงพยาบาล ปวดหัวเป็นไข้ ก็จ่ายแต่พาราเซตามอล กินมากๆ มีโอกาสตับวาย
อย่าเชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเดียว สิ่งที่ควรหันมาดูคือ ภูมิปัญญาที่ผ่านห้องเรียนขนาดใหญ่เราเองก็เป็นนักวิทยาศาสตร์
บางทีประชาชนถูกหลอกเพราะงานวิจัยระดับเซลล์ แล้วขายผลิตภัณฑ์ได้เป็นร้อยล้าน แต่ปู่ย่ากินแบบนี้มากี่ชั่วอายุคน
(อาหารแบบนี้ กินแล้วต้องพิจารณาให้ดีว่า มีคุณหรือโทษ)
กินให้สมดุล อาหารเป็นยาได้
“อย่างข้าวผัดกระเพรา ใส่น้ำมันหอยเยอะๆ กินกับข้าวขาว กินอาหารแบบนี้เป็นยาไหม” เชฟโบว์-ดวงพร ทรงวิศวะ ตั้งคำถาม ถ้าอยากกินอาหารให้สมดุล ต้องทำอาหารกินเอง
“ถ้ากินอาหารให้ถูกต้องสมดุล เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่ต้องคิดว่ากินอาหารชนิดใด แล้วแก้โรคแบบไหน
ง่ายๆ เลย น้ำพริกกะปิ มีโปรตีนจากกะปิ ที่เหลือผักทั้งหมด กินยังไงก็สุขภาพดี แต่ต้องกินผักหลากหลายเหมือนเรากินผักกับลาบ เวลากินยำเผ็ดๆ ให้เบรคด้วยต้มจืด"
ถ้าจะให้พูดถึงสรรพคุณข้าวไทย เชฟโบ บอกว่า ข้าวเหนี่ยวดำ หรือข้าวก่ำ มีกรดโฟลิกหรือวิตามินบี 9 สูงมาก คนท้องไม่ต้องรอให้หมอจ่ายวิตามินตัวนี้ กินข้าวก่ำได้เลย
ในตำราอาหารไทยเก่าๆ ไม่มีคำอธิบาย ว่า ต้องกินอาหารประเภทไหนคู่กับอาหารชนิดไหน แต่มีคำอธิบายในตำราหมอยาไทย อย่างแกงเลียง ฤทธิ์ร้อน ผักที่ใส่เป็นฤทธิ์เย็น บวบ ฟักทอง หรือการกินข้าวใหม่ปลามัน ก็เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย
อาหารใต้ ทำไมต้องใส่ขมิ้น เพราะรสเผ็ด ผักฝาด ขม จึงไปด้วยกันได้ ไม่ต้องมีหลักฐานประจักษ์ทางโภชนาการ แต่ผ่านภูมิปัญญาสะสมส่งผ่านมาถึงคนอีกรุ่น
การกินอาหารคู่กันอย่าง ในแกงกะทิมีมะเขือพวง เพราะกะทิมีคอเรสเตอรอล มะเขือพวงช่วยลดคอเรสเตอรอล จึงมีอยู่ในอาหารไทยทุกจาน