“บาเจาะ” รู้จักแล้วจะรัก เมืองง่ายงามที่ปลายด้ามขวาน
ถึง "บาเจาะ" จะเป็นอำเภอที่ไม่ไกลจากเมือง แต่อีกด้านหนึ่งยังเต็มไปด้วยเสน่ห์ของความเป็นเมืองามชายแดนใต้ ครบเครื่องทั้งธรรมชาติ, วิถีชีวิต, ผู้คน และประวัติศาสตร์
ในการเดินทางไปดูบ้านดูเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของไทยนั้น มีหลายที่ที่ผมชอบ ประทับใจ จนอยากจะไปอยู่อาศัย มีทุกภาค บ้านเมืองเรายังมีเสน่ห์มากๆ หนึ่งในนั้นคือ อำเภอบาเจาะ จ.นราธิวาส
บางคนอาจจะยังไม่รู้จัก บาเจาะ คืออำเภอเล็กๆ ที่ถ้ามาจากปัตตานีตามถนนหมายเลข 42 มุ่งหน้านราธิวาส อำเภอแรกที่เจอก็คืออำเภอบาเจาะ เดี๋ยวนี้ยิ่งง่าย เพราะสนามบินนราธิวาส จะใกล้อำเภอบาเจาะ เรียกว่าลงเครื่องปุ๊บ ก็แวะเที่ยวบาเจาะก่อนค่อยเข้านราธิวาสได้สบายๆอาคารร้านค้าย่านอำเภอบาเจาะ
ในเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาชุมชน อ.บาเจาะ (https://district.cdd.go.th/bacho/) เล่าความเป็นมาของ บาเจาะ ว่า...
“...อำเภอบาเจาะนั้นเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ก่อนหน้านี้ทุกปีน้ำจะท่วมอำเภอบาเจาะอย่างหนัก ทำให้ไร่นาเสียหายจำนวนมาก เมื่อครั้งที่ในหลวงได้เสด็จไปอำเภอบาเจาะเป็นครั้งแรกนั้น และได้ทรงชี้แนะให้ขุดคลองเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล พอถึงเดือนธันวาคม คลองก็เสร็จเรียบร้อย ในเดือนมกราคม 2517
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) กำลังประทับอยู่ที่เชียงใหม่ ในวันหนึ่งอธิบดีกรมชลประทานซึ่งเคยตามเสด็จลงไปทางภาคใต้ด้วย ได้กระหืดกระหอบเข้ามาเฝ้า ทั้งๆ ที่ตัวกำลังเปียกฝน เขาละล่ำละลักด้วยความดีใจว่า “ได้ผลแล้ว! ได้ผลแล้ว! พระพุทธเจ้าค่า" รับสั่งถามว่า "ได้ผลอะไร?” อธิบดีกรมชลประทานกราบทูลว่า " บาเจาะพุทธเจ้าค่า! ได้ผลดีมาก ชาวบ้านกำลังดีใจกันยกใหญ่" นั้นเป็นบทความที่มาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
น้ำตกจำปากอในปัจจุบัน
บาเจาะ เป็นอำเภอเล็กๆ เดิมอำเภอบาเจาะนี้ มีฐานะเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า กิ่งอำเภอจำปากอ ขึ้นกับอำเภอกลางเมือง จังหวัดสายบุรี โดยจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ ศก 127 (2451) ต่อมาได้ยกฐานะกิ่งอำเภอจำปากอ เป็นอำเภอจำปากอ เมื่อวันที่ เมื่อ 30 พฤศจิกายน ร.ศ. 128 (2452) และหลังจากนั้นในวันที่ 29 เมษายน 2460 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอจำปากอ มาเป็นอำเภอบาเระใต้ ต่อมาย้ายตัวอำเภอมาอยู่ที่บ้านแป๊ะบุญ และเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นอำเภอบาเจาะ และหลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสายบุรี เมื่อมีการยุบจังหวัดสายบุรีลง อำเภอบาเจาะจึงถูกโอนมาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2475...”
แรกที่ผมเห็น อ.บาเจาะ ผมรับรู้ได้ถึงความเรียบง่าย สงบร่มเย็น (ถ้าไม่มีเหตุการณ์ไม่สงบจะน่าอยู่ น่ามาเยือนยิ่งขึ้น) เรือนแถวสองฝั่งทางในย่านที่ว่าการอำเภอ เหมือนย้อนยุคไปสักปี 2520 คือไม่ดูโอ่โถงหรูหราเหมือนย่านเมืองเก่าภูเก็ต แต่นี่คือเครื่องยืนยันความเจริญของชุมชนในชนบท ผมไปพักในอุทยานฯ ก็จะออกมาทานอาหารในตัวอำเภอ ข้าวยำ โดยเฉพาะนาซิดาแก ซึ่งเป็นข้าวมันที่กินกับแกงปลา อร่อยและเข้ากันมา เช้าๆ ยังมีร้านน้ำชา (แตออ) กาแฟ พร้อมเครื่องแกล้มสารพัดอย่างบนโต๊ะ บทสนทนาในเรื่องสารพัน พอเช้าก็เอานกเขามาแขวนหน้าบ้านให้อาบแดด
นาซิดาแก อาหารที่แนะนำเมื่อไปถึงนราธิวาส
ผมเล่าไปแล้วว่า ถ้ามาที่ บาเจาะ ก็จะเข้าไปพักที่ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งห่างจากตัวอำเภอ 3 กม.เท่านั้น แล้วการพักในอุทยานแห่งชาตินั่นมาตรฐานเหมือนอุทยานแห่งชาติทั่วไป แต่ดีกว่าตรงที่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวและเสียค่าธรรมเนียมแค่ 20 บาทเอง ซึ่งถือว่าถูกมาก
อุทยานฯนี้ เป็นที่ตั้งเดียวกันกับน้ำตกปาโจ ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่ไหลลาดมากับหน้าผาสีแดง แต่ช่วงฤดูน้ำของน้ำตกคือช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม แต่ผมลงไปทีไร ก็จะกะไปทะเลทางใต้ด้วย ก็จะเลยช่วงฤดูน้ำของน้ำตกนี้ทุกที เลยได้แต่รูปที่น้ำตกน้ำไม่มาก น้ำตกนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จมาเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ พลับพลาที่ประทับน้ำตกปาโจ เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2502 ครั้งที่เสด็จมาแปรพระราชฐานที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์เคยเสด็จมาทอดพระเนตรและมีการจารึกพระนามาภิไธยย่อไว้ที่หินหน้าน้ำตกด้วย
รัชกาลที่ 9 เสด็จน้ำตกปาโจ เมื่อปี 2502
ป่าที่นี่ ขึ้นชื่อเรื่องผีเสื้อและนกเงือก ที่นี่เป็นที่ทำการอนุรักษ์นกเงือกของมูลนิธิอนุรักษ์นกเงือกด้วย ที่ทำการของโครงการก็อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานนั่นแหละครับ แต่พื้นที่ทำการเขาเป็นป่าหลายพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่าง เป็นกิจกรรมอนุรักษ์นกเงือกที่ควรสนับสนุนอย่างมาก
ป่าที่นี่ มีพืชที่น่าสนใจและดูเป็นเอกลักษณ์คือย่านดาโอ๊ะ หรือใบไม้สีทอง และปาล์มบังสูรย์ ย่านดาโอ๊ะนั้นดูเหมือนว่าจะมีการนำไปปลูกหลายพื้นที่แม้กระทั่งในกรมอุทยานฯ บางเขน ก็ปลูกได้งอกงามดี ส่วนปาล์มบังสูรย์นั้น ในธรรมชาติมีอยู่ในป่า แต่มีการเก็บเมล็ดมาเพาะเพื่อขยายพันธุ์ เดี๋ยวนี้เป็นยุคคนชอบปลูกต้นไม้ ผมว่าน่าจะราคาแพงอยู่นะ
นอกจากน้ำตกนี้แล้วยังมีน้ำตกจำปากอ เป็นแก่งหินที่ไหลลาดลงไป เดิมนั้นคนนิยมมาเล่นน้ำกันมาก เพราะอยู่ใกล้ตัวอำเภอและเข้าไปไม่ยาก แต่ต่อมามีการทำฝายกักน้ำไว้ ประกอบกับที่น้ำตกปาโจ ทางอุทยานฯมีการจัดการดูแลดีกว่า คนเลยมักไปเที่ยวน้ำตกปาโจมากกว่า
ย่านดาโอ๊ะ ในที่ทำการอุทยานฯ
ใกล้กับตัวอำเภอลงไปทางตัวจังหวัดนราธิวาสไม่ไกล จะเป็นที่ตั้งของมัสยิดวาดิอัลฮูเซ็น มัสยิดประจำบ้านตะโล๊ะมาเนาะ คนเลยมักเรียกมัสยิดตะโล๊ะมาเนาะหรือมัสยิด 300 ปี มาถึงปัจจุบันคงเกิน 300 ปีแล้วแหละ มัสยิดนี้มีรูปทรงที่สวยงาม สะดุดตามาก ส่วนประวัตินั้นท่านผู้อ่านจากป้ายที่ผมเอามาประกอบเอาก็แล้วกัน แต่บอกได้คำเดียวว่า...สวยมาก...ไป บาเจาะ ต้องแวะให้ได้ มัสยิดนี้ยังมีการละหมาดอยู่ตลอดจนทุกวันนี้ ก่อนโควิดจะมีนักท่องเที่ยวมาจากมาเลเซีย มาแวะกันบ่อยจนเกิดเป็นร้านค้าชุมชนหน้ามัสยิด เสียดายที่โควิดมาเยือน 2 ปี เล่นเอาเงียบเหงาเลย
มัสยิดตะโล๊ะมาเนาะ
นราธิวาส...ถ้าในอดีตอาจจะดูว่าไกล แต่เดี๋ยวนี้มีเครื่องบิน ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯชั่วโมงเดียวก็ถึง การที่ท่องเที่ยวนราธิวาสจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ยิ่ง บาเจาะ ที่อยู่ใกล้สนามบินก็ยิ่งไม่ไกลไปใหญ่
เปิดประเทศแล้ว ออกเดินทาง ท่องเที่ยวได้ แต่ก็ยังต้องเที่ยวแบบระมัดระวังตัวเช่นเดิม อย่าเพลินจนลืมป้องกันตัว และถ้ามีโอกาส...เชิญชวนที่ บาเจาะ เลยจ้า...