สดร.เผยภาพ “ดาวศุกร์” คืนสว่างที่สุดในรอบปี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพ “ดาวศุกร์” เคียงดวงจันทร์เสี้ยวบาง ในคืนสว่างที่สุดในรอบปี ค่ำวันที่ 7 ธันวาคม 2564
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.64 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า
ส่งท้ายก่อนเข้านอนกับภาพ “ดาวศุกร์” ในคืนสว่างที่สุดในรอบปี ค่ำวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ปรากฏสว่างสุกใสทางทิศตะวันตก เคียงดวงจันทร์เสี้ยวบาง เห็นเด่นชัดในทุกภูมิภาคของไทย ให้คนไทยได้ชมความสว่างสุกใสของดาวศุกร์ในค่ำคืนนี้ ท่ามกลางทัศนวิสัยท้องฟ้าใส ไร้เมฆ และสภาพอากาศที่เย็นสบาย
ยกเว้นภาคใต้ที่อยู่ในช่วงมรสุม ดาวศุกร์สว่างที่สุดเป็นช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะทางที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับในช่วงอื่นแม้ "ดาวศุกร์" จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ห่างจากโลกมาก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย หลังจากวันนี้ ความสว่างของดาวศุกร์จะลดลงเล็กน้อย และจะกลับมาสว่างที่สุดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า
"ดาวศุกร์" เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 47 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือเวลากลางดึก
หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”