"โนรา" จากมรดกภูมิปัญญา สู่มรดกมวลมนุษยชาติ

"โนรา" จากมรดกภูมิปัญญา สู่มรดกมวลมนุษยชาติ

นักวิชาการอิสระ ร่วมยินดี ที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน "โนรา" มรดกภูมิปัญญา เป็นมรดกโลก UNESCO แนะคนรุ่นใหม่รักษาสมบัติของโลกให้คงอยู่ตลอดไป

ภายหลังจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรอง ขึ้นทะเบียน ‘โนรา’ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา

จังหวัดพัทลุงซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรม "โนราห์" ที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมาชาวพัทลุงได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่หลังจากยูเนสโกประกาศให้ศาสตร์แขนง "โนรา" ขึ้นเป็นมรดกโลก อีกทั้งยังเตรียมงานยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นในปี 2565 เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมสู่สายตาชาวโลกต่อไป

ด้านอาจารย์จรูญ หยูทอง นักวิชาการอิสระผู้ซึ่งเป็นทั้งนักพูด นักคิด และนักเขียน ได้ให้ความเห็นหลังจากยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน "โนราห์" หรือ "มโนราห์" ศิลปะการแสดงท้องถิ่น เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ว่า

"สิ่งที่มันเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติในยุคโลกาภิวัฒน์มันทำให้คนหลงลืมคุณค่า หากมีใครที่เข้ามาศึกษาในเชิงวิการในเรื่องนี้ก็จะถูกมองว่าเป็นคนหัวอนุรักษ์ ล้าหลัง"

\"โนรา\" จากมรดกภูมิปัญญา สู่มรดกมวลมนุษยชาติ

"เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UNESCO เนื่องจากมรดกโลกมีความหลากหลาย ก่อนหน้านี้เราจะพูดถึงมรดกโลกที่เป็นโบราณสถาน เช่น นครวัดนครธม อุทยานประวัติศาสตร์ อยุธยา และป่าไม้ เป็นต้น แต่ช่วงหลังก็ได้มีการมาเน้นในเรื่องของมรดกโลกที่เป็นภูมิปัญญา เรียกว่าเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาทีจับต้องไม่ได้ คือมันเป็นนามธรรม แต่มันอยู่ในวิถีชีวิต" อาจารย์จรูญกล่าว

นอกจากนี้อาจารย์จรูญยังกล่าวอีกว่า "สำหรับประเทศไทยน่าภาคภูมิใจ "โนราห์" ถือเป็นศิลปะวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ ลำดับที่ 3 ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อันดับแรกได้มาจากโขน อันดับที่สองคือ นวดแผนไทย

เมื่อโนราห์ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็มีคำถามกลับมาอีกว่า "แล้วหนังตะลุงขึ้นมรดกโลกได้ไหม" ซึ่งอาจารย์ก็ตอบว่า "สามารถขึ้นได้แต่ก็ต้องมีคนจัดการ"

ซึ่ง "โนราห์" ถือเป็นความหวังของชาวพัทลุง อานิสงค์ของการประกาศให้โนราห์เป็นมรดกโลกนั่นคือ ทำให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจที่จะรำมโนราห์กันอย่างคึกคัก มีกำลังใจ เพราะยูเนสโกคือระดับโลกถือเป็นการยอมรับในระดับสากล นั่นหมายถึงการเป็นมรดกของมนุษยชาติ ไม่ใช่มรดกของคนพัทลุง ไม่ใช่มรดกของคนใต้แต่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ อาจารย์จรูญกล่าว

และสุดท้ายอาจารย์จรูญ หยูทอง ได้ทิ้งท้ายว่า เมื่อได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกแล้ว จะทำให้คนที่เป็นเจ้าของมรดก ซึ่งคิดว่าในโลกนี้ไม่มีเผ่าพันธุ์ไหน หรือชาติพันธุ์ไหน ที่จะมีความลึกซึ้งเท่าเราเพราะโนราไม่ได้เป็นเพียงการแสดงเพื่อความบันเทิงมันคือความเชื่อทั้งเรื่องครูหมอโนราห์ ตายายโนราห์ และเรื่องของการรักษาโรค ถือเป็นความเชื่อที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนใต้ในเรื่องของมโนราห์