“ไร่กาแฟ” จุดขายใหม่ท่องเที่ยวเวียดนาม
ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เป็นอีกเซกเมนต์ที่กำลังมาแรงในตลาดโลก ตอบโจทย์วิถีคนเมืองที่เบื่อหน่ายความแออัด อยากเปิดประสบการณ์กึ่งท่องเที่ยวกึ่งผจญภัยแนวใหม่ ก็ไม่แน่ว่า...ไร่กาแฟอาจเป็นแลนด์มาร์คใหม่ที่เข้ามาฟื้นฟูการท่องเที่ยว
ในยามที่หลายประเทศของเอเชียกำลังแข่งขันกันค้นหาจุดขายใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยวและบริการ นอกเหนือจากจุดเด่นเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างธรรมชาติ, วัฒนธรรม และอาหาร เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เวียดนาม ได้เดินหน้าอย่างเต็มสูบเพื่อขับเคลื่อนให้ ไร่กาแฟ ในที่ราบตอนกลางของประเทศ มีศักยภาพมากขึ้นในมิติของความเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ หากว่าประเทศพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ผ่านทางความร่วมมือกับโคลอมเบีย ประเทศผู้ผลิตกาแฟชั้นนำจากดินแดนอเมริกาใต้
หากคิดจะอยู่ในสนามธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ต้องปรับตัวให้ทันโลกอยู่เสมอ...การสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างการท่องเที่ยวแห่ง เวียดนาม กับสถานทูตโคลอมเบียประจำเวียดนาม ในหัวข้อ "การท่องเที่ยวเชิงกาแฟ : จากการพัฒนาสู่การโปรโมท" จัดขึ้นไปแล้ว 4 ครั้งในปีนี้ ระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา มีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนของเวียดนามและโคลอมเบียเข้าร่วมมากกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือทำธุรกิจอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและกาแฟแทบทั้งสิ้น รวมไปถึงตัวแทนจากสมาคมธุรกิจกาแฟเวียดนามด้วย จนสุดท้ายนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจในข้อตกลงความร่วมมือระดับกระทรวงของ 2 ประเทศนี้
ฮาเชียนด้า เวเนเซีย ธุรกิจทัวร์ไร่กาแฟชื่อดังของโคลอมเบีย / ภาพ : facebook.com/haciendavenecia
เป้าหมายหลักของการสัมนาก็คือ หาทางพัฒนาและโปรโมทไร่กาแฟให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยการปั้นใหม่ให้ปังกว่าเดิม สร้างจุดขายใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้มาเยือน เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เตรียมรับเปิดประเทศแบบเต็มตัว หลังจากธุรกิจท่องเที่ยวต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปัญหาใหญ่ของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ที่มีธุรกิจท่องเที่ยวเป็นแม่เหล็กสร้างรายได้มหาศาลในแต่ละปี
เวียดนามเริ่มปลูกกาแฟมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 กาแฟไม่ได้เป็นแค่ "เครื่องดื่ม" แต่ยังเป็นวัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ แม้จะไม่โดดเด่นเรื่องสายพันธุ์กาแฟ เน้นผลิตปริมาณมากเพื่อส่งออก แต่กาแฟก็ถือเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมใน เวียดนาม มานานแล้ว คนที่นั่นนิยมนั่งดื่มกาแฟตามร้านค้าริมถนน ตั้งวงกาแฟสนทนากันได้ในทุกๆ เรื่อง กาแฟยอดนิยมของคนที่นี่คือ กาแฟดริปหรือกาแฟหยดสไตล์เวียดนาม และกาแฟฟองไข่ที่ผู้เขียนเคยนำเสนอไปในบทความก่อนหน้านี้
ในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ารายใหญ่สุดของโลก ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวบนเส้นทางสายกาแฟของเวียดนาม จึงไม่ใช่ของใหม่ ทำกันมานานพอสมควรแล้ว ที่ผ่านมามีบริษัททัวร์หลายเจ้าทำธุรกิจเที่ยวไร่กาแฟ จัดทริปพานักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศเดินทางเข้าสู่ที่ราบสูงตอนกลาง เพื่อเที่ยวชมไร่กาแฟแบบครบวงจร นอกจากนั้นในทริปยังมีการพาไปชมวิธีการปลูกกาแฟ, การคั่วรูปกาแฟ และการชงกาแฟ รวมไปถึงการเที่ยวชมธรรมชาติและวัฒนธรรมชุมชนไปในตัวด้วย
แม้ที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม จะเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า โดยเฉพาะบวนมาถวต (Buon Ma Thuot) เมืองเอกของดั๊กลัก ที่มีประวัติการทำไร่กาแฟมาตั้งต้นทศวรรษ 1920 อาจเรียกได้ว่า ไม่มีสถานที่แห่งในเวียดนามมีชื่อเสียงด้านกาแฟทั้งเท่าเมืองนี้อีกแล้ว จนถึงกับมีการตั้งสมญาให้ว่าเมืองหลวงอุตสาหกรรมกาแฟเวียดนาม แต่ปรากฎว่า การเที่ยวไร่กาแฟกลับไม่คึกคักมากเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับไร่กาแฟอันเก่าแก่ในละติน อเมริกา
ทิวทัศน์ไร่กาแฟบริเวณที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม / ภาพ : Quangpraha on pixabay
แน่นอนว่าทัวร์กาแฟเวียดนามเปิดดำเนินการอยู่ในเขตที่ราบสูงตอนกลาง มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวไม่น้อยทีเดียว เช่น นำชมไร่กาแฟ ,หมู่บ้านกาแฟ และพิพิธภัณฑ์กาแฟ ตามด้วยดูวิธีการผลิตกาแฟขี้ชะมด และต้องชิมกาแฟรสชาติเวียดนามแท้ๆ เสียก่อน จึงจะถือว่าจบทริปทัวร์กาแฟอย่างสมบูรณ์แบบ
จะเห็นว่า กิจกรรมก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เหตุไฉนทัวร์กาแฟเวียดนามส่วนใหญ่จะมีก็แต่ลูกค้าท้องถิ่น ยังไม่ดังเปรี้ยงปร้างในหมู่นักท่องเที่ยวสากล
ในอันดับประเทศผู้ผลิตกาแฟสูงสุดของโลกนั้น บราซิลรั้งอันดับ 1, เวียดนามมาเป็นอันดับ 2 และโคลอมเบียรั้งอันดับ 3 ดังนั้น การจับมือกันของเบอร์สองกับเบอร์สามเพื่อนำเสนอไร่กาแฟให้เป็นแลนมาร์คใหม่ด้านการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด -19 นั้น จึงมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตามศักยภาพด้านตลาดกาแฟมีของ 2 ประเทศมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แม้เวียดนามผลิตได้มากกว่าถึงเท่าตัว แต่โคลอมเบียกลับเป็นที่รู้จักมากกว่าในฐานะแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพของโลก อีกทั้งการทำทัวร์ท่องเที่ยวไร่กาแฟก็มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ
แล้วในเวทีสัมนาออนไลน์ในหัวข้อการท่องเที่ยวเชิงกาแฟ คนในภาครัฐและเอกชนของเวียดนามกับโคลอมเบียพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นอะไรกันบ้าง
หลักๆ ก็จะเป็นการแชร์ประสบการณ์และข้อมูลด้านบริหารจัดการ, การพัฒนา และการส่งเสริมการตลาด รวมไปถึงการเชื่อมโยงไปสู่ชุมชนโดยรอบไร่กาแฟและในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม แน่นอนว่าหากสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยว ก็จะมีรายได้เข้าสู่ไร่กาแฟและชุมชนโดยรอบ ผลที่ตามมาก็คือ การสร้างงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
ความร่วมมือกันครั้งนี้ โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าน่าจะทำให้เวียดนามได้ประโยชน์ไปเต็มๆ สามารถนำโมเดลจากโคลอมเบียมาปรับประยุกต์ใช้ ทั้งในด้านการพัฒนาไร่กาแฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และด้านกลยุทธ์การตลาด รวมไปถึงการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้ในหมู่นักท่องเที่ยวสากล
นอกจากนั้นแล้ว การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวไร่กาแฟ ยังเป็นการช่วยตอกย้ำถึงศักยภาพและชื่อเสียงของกาแฟโรบัสต้าเวียดนามด้วย เสมือนปักหมุดประกาศให้ชาวโลกรับรู้ว่าประเทศฉัน ยืนหนึ่งนะคุณเรื่องกาแฟโรบัสต้า
เวียดนามเร่งพัฒนาและโปรโมทธุรกิจท่องเที่ยวเชิงกาแฟ / ภาพ : xuanduongvan87 on pixabay
โคลอมเบียผลิตกาแฟเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1808 แต่กว่าจะลงหลักปักฐานเต็มตัวก็ย่างเข้ากลางศตวรรษที่ 19 กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ มีบทบาทสูงทั้งในแง่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ กระทั่งบรรดาไร่กาแฟบริเวณเชิงเขาของเมืองคอร์ดิลเยรา เดล ลอส แอนดีส เมืองเล็กๆ ทางตะวันตกของประเทศ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในฐานะภูมิทัศน์วัฒนธรรมกาแฟแห่งโคลอมเบีย เมื่อปีค.ศ. 2011 ด้วยมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในวิถีการทำไร่กาแฟในแปลงเล็กๆ ที่มีอายุเป็นร้อยปี ลาดเอียงไปตามเชิงชั้นของเทือกเขาสูง เคียงข้างด้วยบ้านเรือนมากสีสันเปี่ยมกลิ่นอายศิลปะสเปนเจ้าอาณานิคมยุคนั้น
เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังรับรู้ว่า กาแฟนั้นมีความสำคัญเช่นไรต่อวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์การสร้างชาติจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โคลอมเบียได้ก่อตั้งอุทยานกาแฟแห่งชาติขี้นมาในรูปแบบของธีมปาร์คเมื่อปีค.ศ. 1995 ที่เมืองควินดิโอ มีชื่อในภาษาท้องถิ่นว่า "Parque del Café" เงินทุนก่อสร้างมากจากสหพันธุ์ผู้ปลูกกาแฟแห่งโคลอมเบียกับสมาคมผู้ปลูกกาแฟเมืองควินดิโอ
อุทยานกาแฟนี้แบ่งออกเป็น 2 โซน โซนแรกเป็นตึกพิพิธภันฑ์จัดแสดงเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิตกาแฟในอดีต นำเสนอเรื่องราวความสำคัญของกาแฟในแง่มุมทางวัฒนธรรม และการผลิตกาแฟในประเทศ ส่วนโซนสอง อยู่ในหุบเขาด้านหลังพิพิธภัณฑ์ ถูกออกแบบให้เป็นสวนสนุกทั้ง 2 โซนนี้เชื่อมถึงกันได้ 2 ทาง คือ กระเช้าลอยฟ้า กับเส้นทางเดินธรรมชาติที่ปลูกเรียงรายด้วยต้นกาแฟหลากหลายสายพันธุ์
โซนพิพิธภัณฑ์กาแฟ ในอุทยานกาแฟแห่งชาติโคลอมเบีย / ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/ Uria Ashkenazy
โคลอมเบียมีพื้นที่ปลูกกาแฟสำคัญๆ เรียกกันว่าโซนค๊อฟฟี่ ไตรแองเจิ้ล หรือสามเหลี่ยมกาแฟ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองหลวงโบโกต้า จัดเป็นแหล่งปลูกและผลิตกาแฟชั้นดีอีกด้วย
ส่วนไร่กาแฟที่มีชื่อเสียงและความเก่าแก่ระดับงานวินเทจในโคลอมเบีย มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน ส่วนใหญ่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยกันทั้งนั้น มีรายได้ทั้งจากการขายกาแฟแล้ว และธุรกิจทัวร์ไร่กาแฟ เมืองที่มีทัวร์ไร่กาแฟที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็คือ ซาเลนโต้ (Salento) ตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาแอนดีส ทางตะวันตกของโบโกต้า เมืองหลวงโคลอมเบีย
ไร่กาแฟของเมืองซาเลนโต้นั้น เรียงรายอยู่เชิงเทือกเขาแอนดีส ดังนั้น นอกจากได้มาเที่ยวไร่กาแฟพร้อมดื่มด่ำกาแฟชั้นดีที่สดจากไร่แล้ว ยังมีโอกาสเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ในการผลิตกาแฟตั้งแต่การปลูก, การแปรรูป, การคั่ว ไปจนถึงวิธีชงกาแฟคั่วบด แน่นอนหากว่าลูกทัวร์พักอยู่ในเมือง หัวหน้าทัวร์ก็จะพาตระเวนไปชิมกาแฟตามร้านกาแฟต่างๆ ภายในเมือง เรียกว่าเป็นทัวร์สำหรับคอกาแฟโดยแท้จริง
ไฮไลท์ของทัวร์กาแฟที่นี่ อยู่ตรงที่เปิดให้แขกผู้มาเยือนสามารถเดินไปเข้าไปเก็บผลกาแฟสุกกันถึงในไร่เลยทีเดียว แถมยังได้ชมวิวทัศน์อันตระการตาของเทือกเขาที่มีความยาวที่สุดในโลกไปในตัวด้วย ทัวร์กาแฟจึงมีลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมอยู่เสมอใน 2 ช่วงฤดูกาลด้วยกัน คือ เดือนมีนาคม-มิถุนายน กับตุลาคม-ธันวาคม ซี่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลสุกกาแฟพอดี
แล้วบริษัททำธุรกิจทัวร์กาแฟก็มีให้เลือกหลายเจ้า อย่างทัวร์ชื่อ ฮาเชียนด้า เวเนเซีย ยังเปิดบริการจัดทริปดูนกและพาชมธรรมชาติให้ลูกทัวร์ด้วย
เก็บผลสุกกาแฟ กิจกรรมไฮไลท์ของทัวร์ไร่กาแฟ / ภาพ : instagram.com/eltaodelcafe
ผู้เขียนในฐานะนักดูนกสมัครเล่น ยอมรับเลยว่า ต้องรีบกดไลท์รัวๆ ให้บริษัททัวร์นี้ เพราะชอบดื่มกาแฟไป ดูนกไป ท่ามกลางบรรยากาศแห่งขุนเขา เลยวางแผนเอาไว้ว่า หนาวนี้จะหลบความจอแจของกรุงเทพมหานคร หนีไปเที่ยวไร่กาแฟตามดงดอยทางภาคเหนืออย่างเชียงใหม่หรือแม่ฮ่องสอนสักแห่งสองแห่ง เลือกเอาแบบที่มีจุดกางเต้นท์ด้วย อยากสัมผัสลมหนาวภายใต้อ้อมกอดของธรรมชาติ เช้าๆ ตื่นขึ้นมาชงกาแฟอร่อยๆ ดื่ม เสร็จสรรพก็คว้ากล่องไบน็อกออกไปเดินท่องส่องดูวิหคนกกาตามไร่กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่... เพียงแค่คิดหัวใจก็ติดปีกบินไปก่อนแล้ว
โปรดอย่าลืมว่ากาแฟนั้นดื่มกันทั่วโลก... การปั้นไร่กาแฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว รับเปิดประเทศหลังปัญหาโควิดผ่อนคลายลง เพื่อเป็นจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยว พร้อมเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เป็นอีกเซกเมนต์ที่กำลังมาแรงในตลาดโลก ตอบโจทย์วิถีคนเมืองที่เบื่อหน่ายความแออัด อยากเปิดประสบการณ์กึ่งท่องเที่ยวกึ่งผจญภัยแนวใหม่ ก็ไม่แน่ว่า...ไร่กาแฟอาจเป็นแลนด์มาร์คใหม่ที่เข้ามาฟื้นฟูการท่องเที่ยว และเป็นอีกแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดเงินตราต่างประเทศ
...หนาวนี้ ไปเที่ยวไร่กาแฟกันดีไหมครับ
เทศกาลของคนรักกาแฟ เตรียมกลับมาเติมคาเฟอีนแห่งความสุขส่งท้ายปี ที่งาน Thailand Coffee Fest 2021 : Coffee People คนกาแฟ พบกัน ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่นเซ็นเตอร์ ฮอลล์ 5 - 7 เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 23 - 26 ธันวาคม 2564 เวลา 10:00 - 20:00 น.