คุยกับ “Pfizer” เมื่อ “เชื้อดื้อยา” เป็นความท้าทายใหม่ของโลกระบาด
แนวรบโควิดยังร้อนระอุ ทุกครั้งที่ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ทั่วทั้งโลกก็ระส่ำระสาย แต่ในโลกของโรค “Pfizer” เตือนว่ายังมีอีกความท้าทายอันน่ากลัว คือสิ่งที่เรียกว่า “เชื้อดื้อยา”
คำว่า เชื้อดื้อยา อาจคุ้นหูคุ้นตาและอาจเป็นความคุ้นเคย จนดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่ในความเป็นจริง “เชื้อดื้อยา” กำลังเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่อาจมีผลต่อความมั่นคงในชีวิตของมนุษยชาติเลยทีเดียว ปัญหานี้อาจถูกพูดถึงมานานนับสิบปี ในขณะที่บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกพยายามหาทางแก้ปัญหา แต่สถานการณ์กลับยังน่าเป็นห่วง
ภาพรวมในระดับโลก ประมาณการณ์กันว่า “เชื้อดื้อยา” ณ ปัจจุบัน มีตัวเลขที่น่าตกใจคือ ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา ประมาณปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา ในปี 2593 คาดการณ์ การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน
ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโรคและยาโดยตรง ดร.นพ. นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่าปัญหา “เชื้อดื้อยา” กระทบเศรษฐกิจโลกมากถึง 3,500 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล และยังมีผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของมนุษยชาติ ว่าง่ายๆ คือ ยาที่เคยใช้ได้อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป
โฟกัสที่ประเทศไทย สถานการณ์ “เชื้อดื้อยา” ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่มีตัวเลขประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ข้อมูลเบื้องต้นที่ไฟเซอร์เก็บรวบรวมไว้พบว่าในประเทศไทยมีเคสเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 87,000 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยต้องรักษาตัวนานมากขึ้น 3.2 วัน ต่อภาวะเชื้อดื้อยาหนึ่งครั้ง ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับยาต้านจุลชีพในการรักษาประมาณ 2,500 – 6,000 ล้านบาท
“เชื้อดื้อยาเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่ตรงไปตรงมาที่สุด เชื้อจะดื้อยาก็ต่อเมื่อมีการใช้ยา ดังนั้นเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพต่างๆ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดเชื้อดื้อยา ทีนี้จะไม่ใช้ยาต้านจุลชีพเลยก็ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าใช้ยาทุกครั้งจะเกิดเชื้อดื้อยา สิ่งที่สำคัญคือการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างไม่เหมาะสม
ที่ว่าไม่เหมาะสมก็มีได้ในทุกมิติของการใช้ยา อาทิ ใช้ยาต้านจุลชีพทั้งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น การติดเชื้อไวรัส ต้องรักษาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ, การได้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพไม่เหมาะกับเชื้อ เช่น การให้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างเกินไป มีส่วนให้เชื้อพัฒนากลไกของตัวเองเป็นเชื้อดื้อยาได้, การใช้ยาต้านจุลชีพในขนาดที่ไม่ถูกต้องหรือใช้ในระยะเวลาที่น้อยหรือนานเกินไป ก็เป็นสาเหตุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกี่ยวกับการใช้ยาทั้งสิ้นเลย”
ถึงแม้บุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วโลกจะพยายามแก้ปัญหา “เชื้อดื้อยา” แต่ความท้าทายของปัญหานี้คือความซับซ้อน ที่บุคลากรทุกคนบอกว่ายากในทุกขั้นตอน ตัวอย่างเช่น หลายโรคมีอาการเบื้องต้นใกล้เคียงกัน ทำให้การตัดสินใจใช้ยาปฏิชีวนะที่ต้องพึ่งพาข้อมูลที่สมบูรณ์ อาจทำให้วินิจฉัยโรคไม่ตรงกับยาที่ใช้ได้
หรือในหลายกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้ว จึงหยุดยาเอง ทำให้ยาปฏิชีวนะในร่างกายลดต่ำลงจนไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อ ต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวอย่างว่าตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผล มีโอกาสที่จะเกิด “เชื้อดื้อยา” ทั้งหมด
ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเชื้อดื้อยา ที่ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ Pfizer ประเทศไทยบอกว่า ผลกระทบเรื่องเชื้อดื้อยากับเชื้อไวรัสอาจจะมีไม่มาก แต่ในทางกลับกันมีผลกระทบจากโควิด-19 ต่อสถานการณ์เชื้อดื้อยา ซึ่งมีผลทั้งทางบวกและทางลบ
ทางบวก สถานการณ์เชื้อดื้อยาอาจดีขึ้น เพราะการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดีขึ้น เป็นแนวทางมาตรฐานของการป้องกันการติดเชื้อ พอเกิดโควิด-19 ทำให้คนตื่นตัวที่จะปฏิบัติตามมาตรการ โดยเห็นได้ชัดเจนว่าโรคระบบทางเดินหายใจลดลงมาก
ทางลบ เนื่องจากโควิด-19 เป็นปัญหาระดับโลก ทำให้ทรัพยากรในการรักษาพยาบาลมุ่งมาที่การรักษาโควิด-19 กลไกต่างๆ ของสถานพยาบาลจึงลดลงจนอาจไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยติดเชื้ออื่นๆ สังเกตได้จากเมื่อเกิดการระบาดมากขึ้น ทรัพยากรอันจำกัดจะโฟกัสไปที่ผู้ป่วยฉุกเฉินและอาการหนัก ขณะที่ผู้ป่วยติดเชื้อหรือคนที่จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อรับยาปฏิชีวนะต้องขาดพร่องลง
ในบรรดาสาเหตุของ “เชื้อดื้อยา” ในมุมของประชาชน เรื่องพฤติกรรมและความเชื่อผิดๆ คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของหายนะนี้ เพราะตราบใดที่ยังเชื่อกันว่าจะหยุดยาปฏิชีวนะเมื่อไรก็ได้ หรือจะกินยาดักได้เองโดยไม่ต้องปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ วิกฤตนี้ก็จะทะยานสู่ตัวเลขแบบที่มีการประมาณการณ์กันไว้ข้างต้นแน่นอน
“ถ้ายังมีแนวคิดหรือความเชื่อผิดๆ ของการใช้ยาปฏิชีวนะกันเยอะแยะมากมาย ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบให้เกิดเชื้อดื้อยา ผมยกตัวอย่างบางประการให้เห็นภาพ เอาง่ายๆ เลยที่เจอกันบ่อยสุดคือการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบคอร์ส บางคนมีข้อกังวลต่อการใช้ยามากเกินไป ก็จริงครับว่าการใช้ยามากก็ไม่ดี แต่พอได้รับปฏิชีวนะมาพออาการดีขึ้นก็หยุดยา อันนี้เป็นปัญหาอันดับแรกๆ ที่เราพบ
จริงๆ แล้วการรักษาโรคติดเชื้อให้ได้ผลดี ระดับยาในเลือดจะต้องมีมากพอที่จะกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด อาการที่ผู้ป่วยมีบางครั้งเป็นแค่ปลายทางจากตัวเชื้อที่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพในอวัยวะที่เกี่ยวข้องไปแล้วเรียบร้อย พอได้รับไปช่วงหนึ่ง อาการเริ่มดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อในร่างกาย ถ้าเราหยุดยาในระดับนั้นก่อนได้รับยาครบตามการรักษาจะทำให้ตัวเชื้อที่ยังอยู่ในร่างกายจะพัฒนาตัวเองให้ดื้อยา
อีกพฤติกรรมคือเวลามียาเหลือ แล้วพอมีคนในครอบครัวมีอาการป่วยคล้ายๆ กัน ก็เอายาให้เขากิน ซึ่งการกินยาปฏิชีวนะที่เหลือจากคนอื่น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะถึงแม้จะอาการคล้ายกันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นโรคหรือติดเชื้อเดียวกัน การใช้ยาปฏิชีวนะจากคนอื่น หนึ่ง อาจจะทำให้ได้รับยาปฏิชีวนะที่ไม่ตรงกับโรค สอง เมื่อเขากินเหลือมาแน่นอนว่ายาจำนวนที่เหลือไม่ครบคอร์ส”
นอกจากใช้ผิดๆ อันที่จริง ยังมีหลายโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะด้วย ได้แก่ ไข้หวัด, บาดแผลเล็กๆ น้อยๆ และ อาการท้องเสียธรรมดาจากอาหารเป็นพิษ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดแบคทีเรีย ทั้งสามโรคนี้คืออันดับต้นๆ ที่คนเข้าใจผิดและมักจะซื้อยากินเองเมื่อเป็น
ขณะที่ภาคประชาชนต้องปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรม ด้านผู้พัฒนายาและองค์กรที่เกี่ยวข้องก็พยายามหาทางป้องกันเช่นกัน ดร.นพ. นิรุตติ์ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีหลายนวัตกรรมที่จัดการกับปัญหา “เชื้อดื้อยา” หนึ่งในนั้นคือการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ เพื่อออกฤทธิ์ควบคุมเชื้อดื้อยาได้มากขึ้น แต่ก็ยังติดปัญหาว่ายังทำได้เร็วไม่ทันสถานการณ์เชื้อดื้อยาที่รุนแรงขึ้นเร็วมาก
“แต่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อหายาปฏิชีวนะตัวใหม่ๆ ยาวต้านจุลชีพตัวใหม่ๆ อย่างไฟเซอร์เองก็วิจัยและพัฒนายาต้านจุลชีพทุกเชื้อให้ครอบคลุมเชื้อดื้อยาใหม่ๆ ได้ รวมถึงการทำวิจัยเพื่อยืนยันว่าแนวทางรักษาแบบไหนจะใช้ได้เหมาะสม
อย่างที่สองคือวัคซีน เป็นมาตรการที่สำคัญในการช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะวัคซีนป้องกันการป่วยจากโรคติดเชื้อ ถ้าไม่ป่วยจากโรคติดเชื้อเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ดังนั้นนี่จึงเป็นมาตรการเชิงรุกที่จะช่วยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาได้”
คำถามสำคัญในนาทีนี้ คือหลังโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กำลังสร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก การกลายพันธุ์นี้จะมีผลกับปัญหา “เชื้อดื้อยา” หรือไม่ อย่างไร
ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ Pfizer ประเทศไทยตอบว่า แน่นอนว่าจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ ถ้าการระบาดเพิ่มขึ้นแบบนี้เราจะสู่เวฟใหม่ และปัญหาทรัพยากรด้านสาธารณสุขเป็นไปได้ว่าจะกลับมาขาดแคลนอีก และทุกเส้นทางจะพุ่งตรงไปที่การดูแลผู้ป่วยโควิด การดูแลผู้ป่วยติดเชื้ออื่นๆ จะมีข้อจำกัด
“ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยติดเชื้ออื่นๆ จะมีข้อจำกัด ผู้ป่วยโควิด-19 เอง เวลาอยู่โรงพยาบาลนานๆ ก็โอกาสติดเชื้อในโรงพยาบาล เชื้อในโรงพยาบาลก็มีโอกาสที่จะดื้อยาสูง ทำให้จำนวนผู้ป่วยเชื้อดื้อยาสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นผลกระทบมันต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
ในระดับโลกค้นพบปัญหานี้ได้รวดเร็ว การที่วินิจฉัยหรือค้นพบปัญหาได้ตั้งแต่ต้นคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ดีกว่าปล่อยให้มีการระบาดในคนเยอะแยะแล้วค่อยมารู้ว่าตัวนี้คือสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่หรือดื้อยา”
จะเห็นว่าปัญหา “เชื้อดื้อยา” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่มีสเกลใหญ่ แต่ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะสกัดกั้นให้ยุติลงได้ เพียงใช้ยาอย่างเหมาะสม ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี