“หัวลำโพง” 10 จุดเช็คอินรู้ลึกประวัติ 106 ปี สถานีรถไฟแห่งความทรงจำ
การรถไฟแห่งประเทศไทย ชวนคนทุกวัยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ “หัวลำโพง” จัดกิจกรรม “หัวลำโพง in Your Eyes” ร่วมเช็คอิน 10 จุดสำคัญใน "สถานีหัวลำโพง" เก็บตราประทับแลกรับของที่ระลึกจัดทำพิเศษ
ในปีที่การคมนาคมระบบรางรถไฟไทยทั่วประเทศกำลังพัฒนาต่อไปอีกขั้น เพื่อสร้างศักยภาพสูงสุดในการพัฒนาประเทศ มีกระแสข่าวเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาถึงการดำรงอยู่ของ “หัวลำโพง” หรือในชื่อเป็นทางการว่า สถานีกรุงเทพ ให้ติดตามกันอยู่เรื่อยๆ
ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม Hua Lamphong in Your Eyes ความงาม วิจิตรศิลป์ สถาปัตย์ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดลงทะเบียนเข้าร่วมงาน “หัวลำโพง in Your Eyes” ณ สถานีหัวลำโพง เพื่อรับพาสปอร์ต แล้วเดินเช็คอินเก็บตราประทับให้ครบ 10 จุดสำคัญภายในสถานีหัวลำโพง แล้วนำพาสปอร์ตกลับมาแลกรับพวงกุญแจหัวลำโพงที่ระลึก แสตมป์ที่ระลึกของหัวลำโพง และสเปรย์แอลกอฮอล์ ณ จุดแลกรับของที่ระลึก
สถานีกรุงเทพ หรือที่เรียกกันติดปาก “หัวลำโพง” ถึงปี 2565 เป็นสถานีรถไฟหลักอยู่คู่คนไทยมานาน 106 ปี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของรถไฟแต่ละขบวน อีกทั้งเป็นสถานีหัวใจสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อหัวเมืองและเส้นทางรถไฟสายต่างๆ เป็นการรวมตัวของผู้คนมากมายจากทั่วถิ่นทั่วประเทศ เข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร จนทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางให้ถึงกันอย่างสะดวกสบาย เกิดการขยายตัวทางการค้า และความเจริญมากยิ่งขึ้น
การเดินเก็บตราประทับทั้ง 10 จุด จะทำให้คุณรู้จัก หัวลำโพง สถานที่ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความทรงจำของคนไทยใจกลางกรุงเทพฯ แห่งนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการก่อเกิด ประโยชน์ใช้สอยและรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์
ทำความรู้จัก 10 จุดเช็คอินห้ามพลาดในงาน “Hua Lamphong in Your Eyes
ความงาม วิจิตรศิลป์ สถาปัตย์”
1.อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ตั้งอยู่ที่ปลายชานชาลาที่ 12 เป็นอนุสรณ์ที่พนักงานการรถไฟฯ ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
บริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีตรึงหมุดรางทอง รางเงิน ติดกับไม้หมอนมะริดคาดเงิน และเปิดการเดินรถไฟหลวงในราชอาณาจักรสายแรก เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 ซึ่งการรถไฟฯ ถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้จำลองขึ้นเป็นอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ตั้งอยู่ที่ปลายชานชาลาที่ 12
สะพานลำเลียงจดหมาย
2. สะพานลำเลียงจดหมายเชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์
สมัยก่อน การเขียนจดหมาย เป็นวิธีสื่อสารทางไกลที่สะดวก ประหยัด ได้รับความนิยมมาก และมี "รถไฟ" เป็นพาหนะในการนำส่งธุระปะปังทั้งมวลรวมทั้งพัสดุให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ สะพานลำเลียงจดหมาย เชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์ ตั้งอยู่ปลายชานชาลาที่ 4 ของสถานีกรุงเทพ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เหมือนสะพานขนาดใหญ่ ด้านข้างเป็นสีเหลืองสะดุดตา หน้าตึกไปรษณีย์เชื่อมต่อไปถึงชานชาลาที่ 4 สถานีกรุงเทพ
ในอดีตส่วนไปรษณีย์ตั้งอยู่ภายในสถานีกรุงเทพ แต่ภายหลังมีการแยกมาตั้งอาคารต่างหาก และสร้างสะพานขนาดใหญ่ยาวมาถึงชานชาลาที่ 4 ของสถานีกรุงเทพ เดิมเคยทำหน้าที่เป็นทางขนส่งพัสดุในระหว่างที่มีรถไฟวิ่งผ่านนั่นเอง
ลานน้ำพุหัวช้าง
3. ลานน้ำพุหัวช้าง หลุมหลบภัยทางอากาศ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ลานน้ำพุหัวช้าง สร้างขึ้นโดยพนักงานการรถไฟฯ ที่ร่วมใจกันรวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ฐานเป็นหินอ่อน ด้านบนเป็นยอมแหลมทำจากโลหะรมดำเป็นรูปหัวช้าง 3 เศียร มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพนูนสูง ประดิษฐานอยู่ด้านบนสุด
เมื่อปี พ.ศ.2482 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการเห็นว่าชุมชนหัวลำโพงยังขาด หลุมหลบภัย จากระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบิน ซึ่งจุดนี้เป็นแหล่งเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญ ซึ่งเป็นจุดที่ถูกโจมตีอย่างแน่นอน จึงได้ก่อปูนอย่างหนาคลุมทุกทางไว้ เพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยให้ประชาชนวิ่งเข้ามาหลบภัยในยุคสมัยนั้น
ต่อมาการรถไฟฯ ทุบอุโมงค์หลบภัยออก และดัดแปลงเป็นบ่อน้ำพุ และอัญเชิญอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรมาติดตั้งไว้เป็นอนุสรณ์
ป้ายสถานีกรุงเทพ
4. ป้ายสถานีกรุงเทพ จุดเริ่มต้นการเดินทางใจกลางมหานคร
จุดเริ่มต้นการเดินทางใจกลางมหานคร ตรงด้านหน้าของสถานีมีตัวอักษรปูนปั้นว่า สถานีกรุงเทพ ติดอยู่ที่ด้านบนโถงระเบียงทางเข้าด้านหน้าอาคารสถานี ซึ่งได้รับการออกแบบเมื่อ พ.ศ.2455 โดย นายมาริโอ ตามานโญ (Mr.Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาเลียนซึ่งขณะนั้นทำงานที่กรมโยธาธิการ
การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ.2459 เป็นส่วนต่อเติมจากโถงพักคอยผู้โดยสารและชานชาลาที่สร้างขึ้นก่อนหน้านี้
การออกแบบเน้นที่มุขริมด้านข้าง 2 ข้าง ให้สวยงามลงตัว เมื่อประกอบเข้ากับอาคารที่เป็นมุขตรงกลาง โดยมุขทั้งสามเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดินชั้นเดียว
เสาระเบียงเป็นเสาไอโอนิก (Ionic) ลอยตัว แบบเสาคู่ รับหลังคาคอนกรีตแบน การออกแบบทำให้เห็นโครงสร้างของหลังคาโถงพักคอยผู้โดยสารและชานชาลาอย่างเต็มที่ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมโดยรวม ทำให้อาคารดูมั่นคงและสง่างาม
สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ
5. สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ ศิลปะยุคเรอเนสซองส์
สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ ศิลปะยุคเรอเนสซองส์ ลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อีกทั้งวัสดุในการก่อสร้างก็เป็นวัสดุสำเร็จรูปจากเยอรมนี
เสาปูนเปลือยสีขาว ที่หัวเสามีลวดลายวิจิตร บานหน้าต่าง ราวบันได ประกอบกับตัวอาคารเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียน ผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองส์ อันเป็นศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่เน้นลักษณะภายนอกของมนุษย์และธรรมชาติที่ทำให้ สถานีกรุงเทพ โดดเด่นกว่าสิ่งก่อสร้างใดๆ ในกรุงเทพมหานครในยุคสมัยนั้น
สถานีกรุงเทพ ยังเป็นสถานที่เพื่อบอกชาวต่างชาติว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอารยธรรม ซึ่งหมายถึงประเทศไทยสามารถยืนด้วยตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองขึ้นของชาติใด
ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ
6. ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ
ความสวยงามของโถงระเบียงด้านหน้าและด้านข้างที่มี โถงระเบียง ลูกกรง หัวเสา ลวดบัว(1) และ เชิงชายต่างๆ โดยลดทอนความสำคัญของตัวมุขกลางเหลือเพียงมุขยื่นหลังคาตัด เปิดมุมมองให้กับ ผนังโถงชานชาลารูปโค้งวงกลมขนาดใหญ่ กับตัวอาคาร
เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่าๆ กับตัวอาคารสถานี โดยติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี เป็นนาฬิกาสั่งทำพิเศษเฉพาะ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตแสดงให้เห็นเหมือนนาฬิกาอื่นๆ
นาฬิกาเรือนนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ควบคุมด้วยไฟฟ้าระบบ ดี.ซี. จากห้องชุมสาย เป็นเครื่องบอกเวลาแก่ผู้สัญจรผ่านไป-มา และผู้ใช้บริการที่สถานีกรุงเทพจนถึงปัจจุบันนี้
ด้านข้างมุขริมทั้ง 2 ข้าง มีโครงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนกลางกว้างเป็น 2 เท่าของส่วนริม และเจาะช่องเป็นประตู โครงสร้างคานโค้งขนาดใหญ่ ส่วนบนเป็นผนังเจาะส่องแสงสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถว มีการใช้เสาคู่ลอยตัวระเบียงไอโอนิก (Ionic) ระเบียงยื่นที่ขอบทำพนักโปร่งประดับลูกกรง และการตกแต่งด้วยปูนปั้นแบบคลาสสิก ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยนุ่มนวล
โถงกลางสถานีกรุงเทพ (ภาพ : รณธร หฤษฎ์สิทธิพงศ์)
7. โถงกลางสถานีกรุงเทพ บรรยากาศร่วมสมัยสไตล์ตะวันตก
จุดเด่นคือ กระจกสี ที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งติดตั้งไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่าๆ กับตัวอาคารสถานี ติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี
ด้านข้างของโถงกลางมีมุขริมทั้งสองข้าง มีโครงสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือเกือบจัตุรัสที่แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนกลางกว้างเป็น 2 เท่าของส่วนริม และเจาะช่องเป็นประตู โครงสร้างคานโค้งขนาดใหญ่ส่วนบนเป็นผนัง เจาะส่องแสงสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถว มีการใช้เสาคู่ลอยตัวระเบียงไอโอนิก (Ionic) ระเบียงยื่น ที่ขอบทำพนักโปร่งประดับลูกกรง และการตกแต่งด้วยปูนปั้นแบบคลาสสิก ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยนุ่มนวล
โรงแรมราชธานี
8. โรงแรมราชธานี อดีตโรงแรมคู่สถานีกรุงเทพ
โรงแรมราชธานี สร้างขึ้นพร้อมกับอาคารสถานีกรุงเทพ ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 สำหรับเป็นที่พักแรมของคนเดินทาง
สถานีกรุงเทพหรือ "สถานีหัวลำโพง" สร้างแล้วเสร็จก่อนและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารสถานีในวันดังกล่าว
ต่อมาในปีพ.ศ.2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จทรงเปิดโฮเต็ลราชธานี ที่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2470
การดำเนินงานด้านโรงแรม เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่ามีมาตรฐานในระดับสากล มีการเอาใจใส่ปรับปรุงบริการ จัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย จัดสถานที่ให้ดูใหม่และเพิ่มความสะดวกสบาย ตลอดจนวางระเบียบวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ นับได้ว่าโรงแรมราชธานีเป็น "โฮเต็ลชั้นหนึ่ง" ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น
โรงแรมราชธานีปิดกิจการตัวเองลงโดยปริยายในปี พ.ศ.2512 ปัจจุบันดัดแปลงชั้นบนเป็นที่ทำการของพนักงานการรถไฟฯ
เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี
9. เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี สัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ
เก้าอี้ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ สร้างจากไม้เนื้อแข็ง รูปทรงคล้ายหมวกปีกถูกทับจนแบนยาว ส่วนปีกหมวกเป็นที่นั่ง ตัวหมวกเป็นพนักพิง มีโครงสร้างโปร่งเหมือนไม้ระแนง ทำให้ระบายอากาศได้ดี และยังนั่งได้รอบทุกด้าน
รถจักรไอน้ำแปซิฟิก
10. รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824 และเลขที่ 850
รถจักรไอน้ำแปซิฟิก หมายเลข 824 และหมายเลข 850 เป็นรถจักรไอน้ำที่ใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทดแทนรถจักรที่เสียหายจากภาวะสงคราม เป็นการสั่งรถจักรไอน้ำเข้ามาใช้งานเป็นครั้งสุดท้าย โดยรถจักรรุ่นนี้สั่งมาใช้การ จำนวน 30 คัน (รุ่นเลขที่ 821-850) ระหว่าง พ.ศ.2492-2493 สร้างโดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น
รถจักรจัดวางล้อแบบ 4 – 6 – 2 เรียกว่า “แปซิฟิก” คือ มีล้อนำ 4 ล้อ ล้อกำลัง 6 ล้อ ล้อตาม 2 ล้อ ใช้สำหรับลากจูงขบวนรถที่ใช้ความเร็วน้ำหนักน้อย
รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันนี้ นำมาใช้งานในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2492 โดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ต่อมาได้ดัดแปลงให้ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนในปี พ.ศ.2514 ปัจจุบันการรถไฟฯ ใช้ทำเป็นชบวนรถนำเที่ยวในโอกาสพิเศษที่สำคัญๆ ปีละ 6 ครั้ง
จุดลงทะเบียนสแกนคิวอาร์โค้ดรับพาสปอร์ต
หมายเหตุ : กิจกรรม Hua Lamphong in Your Eyes ความงาม วิจิตรศิลป์ สถาปัตย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564-16 มกราคม 2565 ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
(1) ลวดบัว : ส่วนประดับที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม ใช้ตกแต่งตามขอบของพื้นผนังด้านล่าง และด้านบน เพื่อประสานระหว่างพื้นที่ต่างระดับ
credit photo : การรถไฟแห่งประเทศไทย, วลัญช์ สุภากร
พวงกุญแจหัวลำโพงที่ระลึกและแสตมป์ที่ระลึก
จุดเช็คอินที่ 1 : อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 5
จุดเช็คอินมีเจ้าหน้าที่คอยประทับตราพาสปอร์ต
ภายในสถานีหัวลำโพงมีมุมให้เก็บภาพมากมาย
ประชาชนให้ความสนใจไปเก็บภาพ "หัวลำโพง" เป็นที่ระลึก