9 “วัด” 10 พระพุทธรูปสำคัญแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ ทำบุญไหว้พระรับ “ปีใหม่”
เปิดเส้นทาง 9 “วัด” แห่งเกาะรัตนโกสินทร์ กับ 10 พระพุทธรูปสำคัญ ทำบุญไหว้พระ ขอพรเอาฤกษ์รับ “ปีใหม่” วัดใดควรกราบสักการะขอพรด้านใด เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ
การกราบสักการะ พระพุทธรูป ณ วัดต่างๆ ในช่วงวันสำคัญ เป็นประเพณีและความเชื่ออย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทยในเรื่องของความเป็นสิริมงคล การขอพร หรือเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต ทำมาค้าขาย และรับราชการ
วัดสำคัญในเมืองหลวงของประเทศอย่าง กรุงเทพฯ โดยเฉพาะใน ‘เกาะรัตนโกสินทร์’ หลายคนทราบดีมีชื่อเสียงเรียงนามใดบ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่า พระพุทธรูปประจำวัดแต่ละแห่ง คือพระพุทธรูปองค์ใด และมีความเชื่อในการขอพรด้านใด
ในช่วงเวลาดีๆ อย่างโอกาส วันปีใหม่ แบบนี้ ใครอยู่กรุงเทพฯ หรือมาเที่ยวกรุงเทพฯ ช่วงนี้ และกำลังมองหาวัดทำบุญวันขึ้นปีใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคล นี่คือ 9 วัด กับ 10 พระพุทธรูปองค์สำคัญประจำ "เกาะรัตนโกสินทร์" ทบทวนอีกสักครั้ง เผื่อใครจะเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับการเดินทางไปสักการะ
1 :: พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร :: วัดพระแก้ว
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ ‘วัดพระแก้ว’ พระอารามหลวงประจำกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร 66 เซนติเมตร ประดิษฐานบนบุษบกทองคำภายในพระอุโบสถของวัด เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง
มีความเชื่อในเรื่องการขอพรด้าน ความรุ่งเรืองในชีวิตและการงาน เพิ่มพูนสติปัญญา และ ข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ
พระพุทธไสยาส วัดโพธิ์
2 :: พระพุทธไสยาส (พระนอน) :: วัดโพธิ์
พระพุทธไสยาส ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของ วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่เมื่อ จ.ศ.1193(พ.ศ.2375) ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองทั่วทั้งองค์ ขนาดองค์พระยาว 1 เส้น 3 วา (46 เมตร) สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา 15 เมตร เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศก (ไรผม) ถึงพระหนุ (คาง) ยาว 10 ศอก (5 เมตร) กว้าง 5 ศอก (2.50 เมตร) พระพุทธบาท ยาว 5 เมตร สูง 3 เมตร พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน
พระบาทพระพุทธไสยาสประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ
โดยที่พระบาทประดับมุก ภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูป จักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ โดยลวดลายของมงคล 108 ประการเป็นการผสมผสานกันระหว่างคติความเชื่อที่รับมาจากชมพูทวีปและจีน
องค์พระนอนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ นิยมขอพรเรื่อง ความรัก เสริมความเมตตา ขณะที่ภาพมงคล 108 ประการใต้พระบาท อาทิภาพหม้อน้ำ ปลาคู่ พวงมณี ดอกบัว เป็นลักษณะแห่ง โชคลาภและ ความอุดมสมบูรณ์
พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก (ภาพ : Supanut Arunoprayote)
3 :: พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก :: วัดแจ้ง
เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ ‘วัดแจ้ง’ พระอารามประจำรัชกาลที่ 2 พระพุทธรูปองค์นี้จัดเป็นศิลปวัตถุที่มีความพิเศษยิ่งชิ้นหนึ่งของชาติ เนื่องด้วยเป็นฝีพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์ “รัชกาลที่ 2” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับยกย่องว่าทรงเป็นเลิศทางศิลปะหลายแขนง ส่วนพระวรกายปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ฐานของ พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกด้วย
จากความหมายตามชื่อ ‘อรุณรุ่ง’ ของวัดแห่งนี้ คนส่วนใหญ่จึงนิยมมาสักการะบูชาองค์พระประธานเพื่อเสริมบารมีให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
พระประธานยิ้มรับฟ้า
4 :: พระประธานยิ้มรับฟ้า หรือ ‘หลวงพ่อยิ้มรับฟ้า’ :: วัดระฆังฯ
เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก จนปรากฏว่าครั้งหนึ่งเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถวายผ้าพระกฐิน ได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า
“ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที”
ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก แด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นาม ‘พระประธานยิ้มรับฟ้า’ ตั้งแต่นั้นมา
ประชาชนนิยมกราบไหว้ขอพรเพื่อเสริมดวงให้มี ชื่อเสียงโด่งดัง หรือ เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน
วัดระฆังฯ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 และยังเป็นวัดที่ประดิษฐาน ‘รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โต’ อีกด้วย
พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์
5 :: พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ :: วัดชนะสงคราม
พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือชื่อเต็มว่า พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ หรือเรียกกันว่า ‘หลวงพ่อปู่’ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา
ตามตำนานกล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก คือก่อนที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะทรงออกรบ พระองค์จะเสด็จมาสักการะพระประธานในพระอุโบสถของวัดชนะสงครามนี้ และทรงได้ชัยชนะในสงครามทุกครั้ง
ปัจจุบันมีผู้ศรัทธามากราบไหว้พระรูปหล่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทและหลวงพ่อปู่เพื่อขอพรกันอยู่ทุกวันมิได้ขาด และเชื่อกันว่า ชื่ออันเป็นมงคลของวัด “ชนะสงคราม” จะช่วยดลให้ชนะอุปสรรคทั้งปวงได้ จึงนิยมสักการะบูชาขอพรให้ชีวิตประสบ ความสำเร็จ และ เอาชนะอุปสรรค ในด้านต่างๆ
พระไพรีพินาศ (ภาพ : phat)
6 :: พระไพรีพินาศ :: วัดบวรฯ
พระพุทธรูปศิลาขนาดย่อม ขนาดหน้าพระเพลา 33 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปแบบธยานิพุทธเจ้า ปางประทานพร ประดิษฐานอยู่ ณ เก๋งบนชั้นสองด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ใหญ่ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
ตามประวัติเล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีผู้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ราวพ.ศ.2391 พระพุทธรูปองค์นี้ทรงแสดงอภินิหารให้ปรากฏ โดยอริราชศัตรูที่คิดปองร้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างมีอันเป็นไปและพ่ายแพ้ภัยตนเอง พระองค์จึงโปรดให้ถวาย พระนามของพระพุทธ รูปองค์สำคัญนี้ว่า "พระไพรีพินาศ" โดยมีหลักฐานเป็นกระดาษซึ่งพบในพระไพรีพินาศเจดีย์ มีอักษรเขียนว่า
"พระสถูปเจดียสิลาบัลลังองค์ จงมีนามว่า พระไพรีพินาศเจดียเทิญ"
อีกด้านเขียนว่า "เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ" หลักฐานดังกล่าวได้ค้นพบเมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 ระหว่างการซ่อมแซมพระเจดีย์ 96 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมขอพรให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ (ภาพ : Supanut Arunoprayote)
7 :: พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ :: วัดสระเกศฯ
พระพุทธรูปปางทรงเครื่องจักรพรรดิ์ เป็นพระพุทธรูปประธานของ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) พระอารามหลวงชั้นโทตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สักการะบูชาเพื่อเสริมสร้าง ความคิด และ สติปัญญา
ภายในบริเวณวัดยังมี ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่ง รัชกาลที่ 2 โปรดให้คณะสมณทูตที่พระองค์ทรงส่งไปลังกานำหน่อพระศรีมหาโพธิ์กลับมาด้วย ครั้งนั้นนำกลับมาถึงพระนคร ปลูกที่วัดมหาธาตุ 1 ต้น วัดสระเกศ 1 ต้น วัดสุทัศนเทพวราราม 1 ต้น หน่อพระศรีมหาโพธิ์ 3 ต้นนี้ เป็นหน่อจากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นับเป็นรุ่นที่ 3
พระตรีโลกเชษฐ์ (ภาพ : Supanut Arunoprayote)
8 :: พระศรีศากยมุนี (พระโต) :: วัดสุทัศนฯ
9 :: พระตรีโลกเชษฐ์ :: วัดสุทัศนฯ
พระศรีศากยมุนี เป็นพระประธานใน "พระวิหารหลวง" ของ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในยุคก่อน 25 พุทธศตวรรษ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย รัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญ ‘พระศรีศากยมุนี’ มาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐานยังวิหารของวัดสุทัศนฯ ซึ่งสร้างเสร็จก่อนพระอุโบสถ
ต่อมาในปี 2377 รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระอุโบสถ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าเป็นพระอุโบสถที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ผนังภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 และทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 วา 17 นิ้ว, สูง 4 วา 18 นิ้ว เป็นประธานในพระอุโบสถ ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 4 ถวายพระนามพระประธานองค์นี้ว่า พระตรีโลกเชษฐ์
ชาวพุทธเชื่อว่าการได้สักการะบูชา พระศรีศากยมุนี และ พระตรีโลกเชษฐ์ เพื่อเสริมสร้าง บารมี และเพื่อให้มี วิสัยทัศน์ กว้างไกล
พระพุทธไตรรัตนนายก (ภาพ : Supanut Arunoprayote)
10 :: พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ ‘หลวงพ่อโต’ :: วัดกัลยาณมิตรฯ
พระพุทธรูปสมัยอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย พระพุทธรูปประธานแห่ง วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ที่เป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมไทยและจีน เพราะในสมัยก่อนพ่อค้าชาวจีนนิยมมากราบไหว้ขอพร จึงมี ‘อับเฉา’ ตั้งเรียงรายอยู่มากมาย
ในวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไตรรัตนนายก นิยมกราบไหว้บูชาเพื่อให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย หรือถ้ามีภัยก็จะผ่อนหนักเป็นเบา