จากวัฒนธรรม-ตำนานบนแผ่นฟ้าจรดผืนน้ำเมืองเก่าน่าน สู่ 5 งานดีไซน์ร่วมสมัย
5 ไอเดียสุดปัง จากตำนานเรื่องเล่าและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเมืองเก่าน่าน สู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบดีไซน์ร่วมสมัย บทพิสูจน์การปกป้องธรรมชาติอย่างยั่งยืนด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เผยโฉมเป็นทางการให้ได้ชมกันแล้ว แนวคิดการแปลงมรดกภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรม ปกป้อง ‘ธรรมชาติ’ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเขตวัฒนธรรมเมืองเก่านาน ปรากฏเป็น “ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ” ให้เห็นด้วยตาและจับต้องได้ด้วยมือ แถมยังสวยงาม มีสไตล์ น่าใช้ น่าสะสม
งาน ดีไซน์ ที่สวยงามเหล่านี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งใน โครงการพัฒนาระบบนิเวศมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (EPISG-Ecology Protection Cultural Assets Intangible Heritage Sustainable Tourism and Global Sustainable Tourism Council) ดำเนินงานโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (Mae Fah Luang University-MFU)
เสียงแห่งน่าน : เครื่องเป่าเซรามิก ดีไซน์จากผืนดิน
จากการรวบรวมตำนาน มรดกภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรม เรื่องเล่าตั้งแต่แผ่นฟ้าจรดผืนน้ำเมืองเก่าน่าน นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พัฒนาและสร้างสรรค์ออกมาเป็น "ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ" ที่มีดีไซน์ร่วมสมัย จำนวน 5 ชิ้นงานด้วยกัน ดังนี้
1. เสียงแห่งน่าน : เครื่องเป่าเซรามิก
ที่มา : ภูมิปัญญาและระบบนิเวศวัฒนธรรมเครื่องดนตรีเอกลักษณ์เมืองน่าน
เมืองน่านมีวัฒนธรรมดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมีแหล่งเครื่องปั้นดินเผาโบราณบ้านบ่อสวก ที่เชื่อมรัดมัดร้อยผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบบ่อสวกขึ้นมาและเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้
แนวคิด : นักออกแบบนำคาแรคเตอร์คันธนกุมาร มาดัดแปลงในรูปทรงที่สามารถขึ้นรูปดินให้เป่าเป็นเสียงได้ มีการเจาะรูเพื่อให้มีระดับเสียงที่แตกต่างกัน
มาลา นาคี วารี น้ำน่าน : หมวกหัวเรือน่าน ดีไซน์จากผืนน้ำน่าน
2. มาลา นาคี วารี น้ำน่าน : หมวกหัวเรือน่าน
ที่มา : ภูมิปัญญาและระบบนิเวศวัฒนธรรมแข่งเรือเมืองน่านและการสร้างเรือแบบเมืองน่าน
ประเพณีแข่งเรือจังหวัด น่าน เป็นประเพณีเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่โบราณ มีประวัติความเป็นมาว่า “เจ้าผู้ครองนครสั่งให้ข้าราชการตัดไม้ตะเคียนคู่ขนาดใหญ่มาก 2 ลำ ได้เรือท้ายหล้า และ เรือตาตอง ชาวน่านจึงนำเรือ 2 ลำนี้เป็นต้นแบบในการสร้างเรือ เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน
ชาวน่านมีความผูกพันกับพญานาค โดยเชื่อว่าพญานาคจะปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน วัดวาอาราม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะ จึงขุดเรือและตกแต่งหัวเรือ หางเรือ และลำเรือให้มีลักษณะคล้ายพญานาค การแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน ในสมัยก่อนจัดการแข่งขันในงานประเพณี ถวายทานสลากภัต หรือ ชาวบ้านเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” เมื่อเสร็จพิธีก็จะนำเรือมาแข่งขันกัน อย่างสนุกสนาน เชื่อมความสามัคคี ให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน สืบมาจนถึงปัจจุบัน
แนวคิด : นำแรงบันดาลใจมาจากหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว (หมวกที่รวมอยู่ในชุดของพนักงานเห่ขานยาวประจำเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช) มาออกแบบให้คล้ายหัวพญานาคมีเขี้ยวที่แสดงถึงอำนาจประดับด้วยดอกเสี้ยวดอกขาว ดอกไม้ประจำจังหวัดน่าน พร้อมยังมีเรือ ไม้พาย และธงสามเหลี่ยม แสดงให้เห็นถึงประเพณีการแข่งขันเรือ ของจังหวัดน่าน
เชิงเทียน “แสงศรัทธา” ดีไซน์จากวัฒนธรรมกล้องยาสูบ(บูยา)
3. เชิงเทียน “แสงศรัทธา”
ที่มา : ภูมิปัญญาและระบบนิเวศวัฒนธรรมกล้องยาสูบ(บูยา) หรือ “บูยาลัวะ”
กล้องยาสูบบูยาลัวะโบราณนอกจากมีลวดลายที่สวยงามแล้ว การขุดค้นพบกล้องยาสูบบูยาลัวะในชั้นดินลึกกว่า 1 เมตร บนพื้นที่หลากหลายทั้งที่ราบและดอยสูง ยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่นั้นเคยเป็นแหล่งที่ผู้คนอาศัยกันมาเนิ่นนาน สันนิษฐานได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์
แนวคิด : ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้สูบยามาเป็นเชิงเทียนหรูหรา 9 เล่ม แฝงด้วยความหมายที่ดี สามารถนำใช้ในการบูชาพระและเป็นของแต่งบ้าน
ดาราวิถี : จี้เงินรูปดาวเมืองน่าน ดีไซน์จากท้องฟ้า
4. ดาราวิถี : จี้เงินรูปดาวเมืองน่าน (ดาวฤกษ์ประจำเมืองน่าน)
ที่มา : ภูมิปัญญาและระบบนิเวศวัฒนธรรม ช่างเงินเมืองน่าน ช่างพื้นเมืองและช่างอิ้วเมี่ยน
เครื่องเงินช่างอิ้วเมี่ยน เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและประเพณีของชาวเขาเผ่าอิ้วเมี่ยนตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เครื่องเงินจึงเป็นทั้งเครื่องประดับ และเครื่องรางที่สามารถปกป้องคุ้มภัยได้
แนวคิด : นำแรงบันดาลใจมาจาก ดาวฤกษ์ประจำเมืองน่าน ดาวแมงป่องและดาวขอบด้ง มาเชื่อมโยงกับงานฝีมือของช่างเงินอิ้วเมี่ยน เพื่อสื่อให้เห็นว่า เมืองจะส่องแสงแห่งชีวิตได้ก็ด้วยผู้คนและวัฒนธรรม
แสงรักษ์น่าน : เครื่องประดับรูปโคมเมืองน่าน
5. แสงรักษ์น่าน : ผลิตภัณฑ์ต่างหู แหวน เครื่องประดับรูปโคมเมืองน่าน
ที่มา : ภูมิปัญญาและระบบนิเวศวัฒนธรรมโคมแขวนเอกลักษณ์เมืองน่าน (โคมเงี้ยว)
โคมมะเต้าเมืองน่าน (โคมเงี้ยว) โคมไฟถือและโคมแขวนโบราณ ลวดลาย เหลี่ยมมุม งดงามแฝงไปด้วยความมงคล แต่เก่าก่อนใช้เป็นพุทธบูชา ด้วยความเชื่อเรื่องการนำแสงสว่างสู่ชีวิตปัจจุบันและภายภาคหน้ายังคงสืบสายมาจนถึงปัจจุบัน นำมาใช้ประดับบ้านเรือน เพื่อความรุ่งเรือง หรือถวายเป็นพุทธบูชาแก่วัดก็เสริมมงคลแก่ชีวิตได้เช่นกัน
แนวคิด : นำรูปทรงโดดเด่นของโคมไม้ไผ่ที่มีลักษณะเป็นมุมเหลี่ยมเหมือนเพชรมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดตัวผลิตภัณฑ์ 5 ไอเดียสุดปังจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เมืองเก่าน่าน อย่างเป็นทางการแล้ว ในนิทรรศการ 'วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ' ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นผลผลิตจากปรัชญาการ เชื่อม รัด มัด ร้อย
- เชื่อม : มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
- รัด : การปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
- มัด : รวมวัตถุประสงค์ผ่านความคิด งานวิจัย การทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับนักวิชาการ
- ร้อย : เรียงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน