Art Move : 49 ศิลปินแนวหน้าไทยนำงานศิลปะระดมทุนเพื่อ "หอศิลป์กทม."
เชิญชมผลงานและร่วม Move ศิลปะร่วมสมัยไทยไปข้างหน้า กับโครงการ Art Move อาร์ตมูฟ#1 นิทรรศการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานของ "หอศิลปกทม." ประจำปี 2565 พร้อมเป็นเจ้าของผลงานศิลปะร่วมสมัยโดย 49 ศิลปินแนวหน้าของไทย
ปี 2564 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ “หอศิลปกทม.” ได้ริเริ่ม "โครงการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" ขึ้นเพื่อให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนพื้นที่ศิลปะของประเทศไทย
เริ่มตั้งแต่กิจกรรม “Art in Postcards” จัดทำโปสการ์ดชุดพิเศษร่วมกับศิลปินและนักวาดกว่า 12 ท่าน เพื่อจัดจำหน่าย อีกทั้งยังมีนิทรรศการ “People to People” นิทรรศการระดมทุนที่จัดแสดงและจำหน่ายผลงานของศิลปินกว่า 60 ท่านที่ได้เข้าร่วมโครงการ People’s Gallery ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
ในเดือนสิงหาคม 2564 มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับมอบจากทาง “กรุงเทพมหานคร” ให้เป็นผู้บริหาร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2554 ได้บรรลุข้อตกลงในการร่วมบริหารหอศิลปกรุงเทพฯ กับ "กรุงเทพมหานคร" ต่อไปอีก 10 ปี
นอกจากการสนับสนุนงบประมาณบริหารอาคารพื้นฐานจาก "กรุงเทพมหานคร" แล้ว หอศิลปกรุงเทพฯ ยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมและเอกชนเพื่อการสร้างสรรค์กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ในแวดวงศิลปะและสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง จีงเป็นที่มาของการจัด นิทรรศการ Art Move ในเดือนธันวาคม 2564
นิทรรศการ Art Move ครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือระหว่าง หอศิลปกรุงเทพ ฯ และ 49 ศิลปิน รวมทั้งหอศิลป์เอกชน ในการสนับสนุนผลงานศิลปะร่วมสมัยเพื่อจัดแสดงต่อสาธารณะ และจำหน่ายแก่นักสะสม ผู้สนใจงานศิลปะ และผู้ที่ต้องการสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพ ฯ
โดยเปิดพื้นที่นำเสนอผลงานของศิลปินที่ได้รับการยอมรับ และแสดงถึงความหลากหลายของรูปแบบศิลปะร่วมสมัยไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมและเพิ่มพลวัตในการสะสมผลงานศิลปะของประเทศไทยอีกด้วย รายได้หลังการหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายผลงานจะนำไปสนับสนุนกิจกรรมของหอศิลปกรุงเทพ ฯ ต่อไป ทั้งนี้ เป็นโอกาสพิเศษที่ศิลปินร่วมโครงการพร้อมใจปรับลดราคาลงจากการจำหน่ายปกติ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสนับสนุนได้
ศิลปินที่ร่วมโครงการได้ ปรับลดราคาจำหน่ายผลงานลงเป็นกรณีพิเศษ ราคาไม่สามารถนำไปอ้างอิงการซื้อขายในตลาดศิลปะทั่วไป เชิญชมตัวอย่างผลงานดังนี้
Dog Skin and Bomb Project ปี 2556
หนึ่งในศิลปินเมืองไทยรุ่นอาวุโสผู้สร้างตำนานไว้มากมายหลายเรื่อง วสันต์ สิทธิเขตต์ ร่วมกับ Tang Mun Kit นำผลงานสีอะคริลิกบนกระดาษสา ในโครงการ Dog Skin and Bomb Project ปี 2556 จำนวน 4 ชิ้น ขนาด 204 x 86.5 เซนติเมตร, 239 x 162 เซนติเมตร, 233 x 153 เซนติเมตร และ 81.5 x 203 เซนติเมตร ร่วมระดมทุนด้วยราคา 200,000 บาท
งานศิลปะชุดนี้เป็นผลงานจิตรกรรมการวาดภาพประกอบการแสดงสด ภายใต้โครงการ “Dog
Skin and Bomb Project” ที่ วสันต์ สิทธิเขตต์ ร่วมกับศิลปินสิงคโปร์ Tang Mun Kit อภิปรายประเด็นสงคราม ความรุนแรง และสันติภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Concept Context Contestation : art and the collective in Southeast Asia) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทำการแสดงในวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ผลงานจิตรกรรมชุดนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้วาดภาพร่วมกับศิลปินอีกด้วย
ผลงานชื่อ “อาจารย์ศิลป์” เทคนิคดินบนผ้าใบ
สมภพ บุตราช ศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังให้กับวัดพุทธประทีป (วัดไทยในลอนดอน ประเทศอังกฤษ) นำผลงานชื่อ “อาจารย์ศิลป์” เทคนิคดินบนผ้าใบ ขนาด 91.4 x 110 เซนติเมตร สร้างสรรค์ขึ้นล่าสุดในปีนี้ (2564) ในผลงานชุด “เกิดแต่ดิน” ศิลปะแฝงสัจธรรมที่ว่า “เราทุกคนล้วนมาจากดิน” สนใจผลงานชิ้นนี้ร่วมสมทบทุนได้ในราคา 200,000 บาท
Field Life 2 เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าใบ
ศิลปินผู้เป็นกวี นิติ วัตุยา ร่วมระดมทุนด้วยผลงานสีอะคริลิกบนผ้าใบ Field Life 2 ขนาด 150 x 200 เซนติเมตร ภาพวาดทิวทัศน์ที่งดงามราวบทกวีนี้เป็นเจ้าของได้ในราคา 1,000,000 บาท
KOBALT งานเซรามิก
ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ กับผลงานเซรามิกปี 2564 ชื่อ KOBALT ขนาด 15 x 53 x 93 เซนติเมตร สื่อถึงการทำงานที่เกิดจากมนุษย์ทำร่วมกับธรรมชาติ เพื่อให้เกิดผลที่ไม่สามารถควบคุม และกำหนดได้ทั้งหมด เป็นเจ้าของได้ในราคา 120,000 บาท
ไทยประดิษฐ์ : งานสเตนเลสและไฟแอลอีดี
สุธี คุณาวิชยานนท์ ร่วมระดมทุนด้วยการนำผลงานที่เคยสร้างสรรค์ไว้เมื่อปี 2559 ชื่อ ไทยประดิษฐ์ (Invented Thailand) ขนาด 68 x 120.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยงานสเตนเลสและไฟแอลอีดี เป็นเจ้าของได้ในราคา 200,000 บาท โดยบรรยายเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ว่า
“แผนที่ไทยฉบับ ‘ไทยประดิษฐ์’ ในยุค ‘สร้างชาติ’ ให้เป็น ‘ไทยใหม่’ สมัยคณะราษฎรปกครองประเทศและมีนายกรัฐมนตรีชื่อ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในช่วงครึ่งหลังของพุทธทศวรรษ 2470 ถึงพุทธทศวรรษ 2480 ‘ร่าง’ ของชาติใน ‘รูป’ ของแผนที่ ประกอบขึ้นจาก ‘ร่าง’ จาก ‘รูป’ ของภาพลักษณ์ในสื่อสารมวลชนและอนุสาวรีย์แห่งชาติ ร่างและรูปเหล่านี้ช่วยก่อร่างสร้างความทรงจำและอัตลักษณ์ของชาติไทย ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้”
(จากซ้าย) ภาพ No Stranger 3 และ No Stranger 2
อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล สร้างสรรค์ผลงานชื่อ No Stranger 2 และ No Stranger 3 ด้วยเทคนิคสีน้ำมันและทองคำเปลวบนผ้าใบ ขนาด 130 x 150 เซนติเมตร นำเสนอแนวคิด There are no stranger, individually we are all same human beings. หรือ “ไม่มีใครแปลกประหลาด เราต่างก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันทุกผู้ทุกนาม” ราคาภาพละ 100,000 บาท
ผลงานชื่อ Reaching Equilibrium
ศิลปินสตรีทอาร์ต ALEX FACE มอบผลงานชื่อ Reaching Equilibrium สร้างขึ้นใหม่ปีนี้ด้วยงานสีอะคริลิก สเปรย์ และสีน้ำมันบนผ้าลินิน ขนาด 150 x 180 เซนติเมตร ความหมายของภาพนี้คือ
“บนเส้นทางสู่สมดุลของอำนาจและความเปลี่ยนแปลง ทุกขั้วตรงข้ามถูกร้อยรัดไว้ด้วยลวดหีบเพลงเส้นบาง เราเคลื่อนตัวตามท่วงทำนองเชื่องช้า เสียงเพลงบรรเลงอ้อยอิ่งแต่กรีดร้าว ลึกลงบนผิวเนื้อและชีวิต” เป็นเจ้าของภาพนี้ได้โดยร่วมสมทบทุน 1,120,000 บาท
ผลงาน The Guardian of the Gate
ศิลปินหญิงรุ่นใหม่และนักออกแบบคาแรคเตอร์ ยุรี เกนสาคู กับผลงานชื่อ The Guardian of the Gate ประกอบด้วยโคมไฟรูปต้นไม้ ขนาด 25.3 x 17 เซนติเมตร กับภาพสิงโตคู่ งานสีอะคริลิก กลิตเตอร์ และคอลลาจบนประตูไม้ ขนาด 187 x 70 เซนติเมตร จำนวน 2 ชิ้น รวมราคา 530,000 บาท
งานศิลปะชุดนี้ ยุรี เกนสาคู ทำขึ้นเพื่อแสดงในนิทรรศการศิลปะ นารีขี่ม้าขาว “The Lady on a White Horse” นิทรรศการเดี่ยวของเธอที่ Tang Contemporary Art Bangkok 2019 พูดถึงปัญหาสังคม การเมือง รวมทั้งความรู้สึกว่างเปล่า สิ้นหวัง ไร้ที่พึ่ง
ผลงานหลายชิ้นพูดถึงความเชื่อต่างๆ ในหลายศาสนาและวัฒนธรรม สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกถึงการมีที่พึ่งทางใจ คำทำนาย สิ่งที่เราเชื่อว่าจะทำให้เรารอดจากความทุกข์เข็ญและหายนะ มีทั้งในรูปแบบที่เป็นสิ่งเหนือจริง เทพยดา พระสงฆ์องค์เจ้า เป็นตัวบุคคล ตัวละครสมมุติ จนไปถึงคาแรคเตอร์การ์ตูนที่เราเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็ก
โดยผลงาน The Guardian of the Gate ยุรีวาดเป็นภาพสิงโตคู่ ที่ได้แรงบันดาลใจจากประติมากรรมสิงห์คู่ พบได้ตามประตูทางเข้าของอาคารต่างๆ ซึ่งสิงโตนี้คือทวารบาลแห่งอำนาจและความเจริญรุ่งเรือง ผู้พิทักษ์และปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ตามความเชื่อแบบจีน
บางส่วนของภาพ "สีข้าวนาดอน"
ศิลปินรางวัลศิลปกรรมช้างเผือก บุญนํา สาสุด กับผลงานปี 2563 สีข้าวนาดอน เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 144.3 x 180 เซนติเมตร 80,000 บาท ความจริงภาพเขียนนี้เป็นภาพแนวตั้ง ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากการอบรมเลี้ยงดูสั่งสอนจากครอบครัว วัฒนธรรมในชนบท เป็นบ่อเกิดแห่งพลังชีวิต จุดประกายความรัก ความอบอุ่น พออยู่พอกิน ในวิถีของคนในชนบท
รับผีมอญ : งานจิตรกรรมสื่อผสม
ศิลปินเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ศรชัย พงษ์ษา สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมสื่อผสมชื่อ รับผีมอญ ขนาด 119.5 x 179.5 เซนติเมตร(รวมกรอบ) ราคา 150,000 บาท นำเสนอพิธีกรรมการรับผีบรรพบุรุษที่สืบทอดผ่านผู้ชายเท่านั้น
ศิลปินใช้การนำเสนอด้วยภาพแทนของความเชื่อที่มีการผูกขาดระหว่างอุดมคติกับเพศสภาพความเป็นชาย และการใช้เต่าเป็นเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเข้าถึงในเชิงจิตวิญญาณเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันหรือระบบผีเดียวกัน ถ่ายทอดสัมพันธภาพระหว่างบรรพบุรุษคนมอญในปัจจุบัน อันเป็นกลไกในการควบคุมสังคมแบบหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์
คุณลุงชอบชี้ : งานสีอะคริลิก วัสดุสำเร็จรูป บนผ้าใบ
วิชญ มุกดามณี กับผลงานปี 2563 ชื่อ คุณลุงชอบชี้ (The Uncle Who Likes to Point a Finger) เทคนิคสีอะคริลิกและวัสดุสำเร็จรูปบนผ้าใบ ขนาด 170 x 200 เซนติเมตร ราคา 150,000 บาท
ศิลปินตั้งใจให้ “คุณลุงชอบชี้” พูดเรื่อง สังคมใฝ่ฝันถึงผู้นำที่สร้างความเชื่อมั่น สร้างการยอมรับ เป็นแกนกลางเพื่อ สร้างความร่วมมือของสังคม ยิ่งสังคมมีขนาดใหญ่และอัดแน่นด้วยผู้คนที่แตกต่าง ความคาดหวังย่อมมีมากและหลากหลายด้วยเช่นกัน
กระบาล เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าจีวร
ศิลปินเจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง “เปรตวิสัย” สร้างสรรค์งานจิตรกรรมจากคติธรรมของไทย อนุพงษ์ จันทร กับผลงานศิลปะชื่อ กระบาล เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าจีวร ขนาด 150 x 140 เซนติเมตร นำเสนอแนวคิด “ต่างคนต่างความคิด ต่างคนต่างความสนใจ ต่างคนต่างหมกมุ่นสุข ทุกข์ ต่างคนต่างกำหนด” ราคา 500,000 บาท
ภาพคอลลาจ Wanderer above the Sea of Fog
ศิลปินงานคอลลาจ นักรบ มูลมานัส กับผลงานปีนี้ Wanderer above the Sea of Fog เทคนิคดิจิทัลคอลลาจ, Giclée Print บนผ้าใบ, สีอะคริลิก, ประดับทองคำ เปลว ขนาด 60 x 85 เซนติเมตร 98,000 บาท
เป็นการคอลลาจภาพวาดของ Caspar David Friedrich แสดงภาวะปัจเจกชนกำลังประจัญหน้ากับสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือตนเองอย่างธรรมชาติ ความเวิ้งว้างอันมหาศาล หรือชะตากรรมอันมิอาจหยั่งถึง คอลลาจกับ “ภาพเขียนช้างเอราวัณ” ตัวแทนของอำนาจและความมหัศจรรย์ที่มาพร้อมกับประเพณีจักรวาลทัศน์แบบไทย ปรากฏบนชิ้นงานดั้งเดิม เพื่อสร้างบทสนทนาเรื่องจักรวาลทัศน์ โลกทัศน์ หรือ ทรรศนะเรื่องมนุษย์นิยมที่อาจเหมือนหรือแตกต่างของโลกทั้งสองฝาก
Miss Universe งานสีอะคริลิกบนผ้าใบ
ศิลปินผู้คว้ารางวัลจากเวทีประกวดศิลปกรรมระดับชาติหลายเวที วุฒิกร คงคา นำผลงานสีอะคริลิกบนผ้าใบที่สร้างไว้เมื่อปี 2546 ชื่อ Miss Universe ขนาด 150 x 150 เซนติเมตร ร่วมระดมทุนด้วยราคา 120,000 บาท ภาพนี้พูดถึง “มนุษย์กับความงามในอุดมคติและความผุพังที่เป็นอมตะ”
ภาพจิตรกรรม "ความมั่นคงบนความอุดมสมบูรณ์"
ศิลปินไทยเชื้อสายมุสลิม เกิดในจังหวัดปัตตานี เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ นำเสนอผลงานชื่อ ความมั่นคงบนความอุดมสมบูรณ์ สีอะคริลิกบนผ้าใบ ขนาด 120 x 203 เซนติเมตร 250,000 บาท
ภาพนี้พูดเรื่อง “ความมั่น” คงมักถูกใช้เป็นเหตุผลในการปกป้องตนเองจากศัตรู โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง บางครั้งความมั่นคงอาจปกป้องตนเอง แต่ทำลายผู้อื่น ไม่เว้นแม้กระทั่งธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่บางครั้งไม่สามารถหาน้ำใจในการปกป้องต่อทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ได้
บางส่วนจากภาพ "แปรงเดียว" ในจำนวน 3 ภาพ
จุมพล อภิสุข กับภาพวาดเทคนิคหมึกจีนบนกระดาษ ชื่อ แปรงเดียว จำนวน 3 ภาพ ขนาด 41.5 x 29 เซนติเมตรเท่ากันทั้งสามภาพ ราคา 30,000 บาท ศิลปินกล่าวถึงภาพนี้ว่า “ในการทำงาน Performance ผมจะต้องการปฏิบัติส่วนตัวเพื่อเพิ่มทักษะในทางสมาธิกับการสร้าง Moment ชั่วขณะหนึ่งกับลมหายใจ และสร้างงานฉับพลันให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่กำหนด”
โดยศิลปินทั้ง 49 คนผู้ร่วมระดมทุนเพื่อการทำงานของ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในโครงการ Art Move ครั้งนี้ ประกอบด้วย ALEX FACE, P7, กฤช งามสม, กวิตา วัฒนะชยังกูร, เกศ ชวนะลิขิกร, คณากร คชาชีวะ (โดย พงศ์ชิต เอครพานิช), คมกฤษ เทพเทียน, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, จรัสพร ชุมศรี
จักกาย ศิริบุตร, จักรพันธ์ วิลาสินีกุล, จุมพล อภิสุข, เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ, ชฤต ภู่ศิริ, ชูศักดิ์ ศรีขวัญ, ดาว วาสิกศิริ, ตะวัน วัตุยา, ทวี รัชนีกร, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, ธีโอดอร์ เอส. แสงวาชิ (โดย สืบแสง แสงวชิระภิบาล), นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์, นักรบ มูลมานัส, นำทองอาร์ตสเปซ
นิติ วัตุยา, บุญนํา สาสุด, ประเสริฐ ยอดแก้ว, ปรัชญา พิณทอง, ปานพรรณ ยอดมณี, ปิยทัต เหมทัต,มานิต ศรีวานิชภูมิ,ไมเคิล เชาวนาศัย, ยุรี เกนสาคู, ลำพู กันเสนาะ, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, วสันต์ สิทธิเขตต์ ร่วมกับ Tang Mun Kit, วิชญ มุกดามณี, วิศุทธิ์ พรนิมิตร, วุฒิกร คงคา, ศรชัย พงษ์ษา, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, สมภพ บุตราช
สาครินทร์ เครืออ่อน, สุธี คุณาวิชยานนท์, อนุพงษ์ จันทร, อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล, อรรคเชฏฐ์ สิกขากุล, อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, อัฐพร นิมมาลัยแก้ว, และ อินสนธิ์ วงศ์สาม (โดย อนันต์ชัย นิมมานเหมินท์)
ผู้สนใจร่วมเป็นเจ้าของผลงานศิลปะในนิทรรศการ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่นำชมได้ที่หน้าห้องนิทรรศการ ชั้น 9 ระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม 2564 - 6 มีนาคม 2565 หรือติดต่อทางออนไลน์ได้ที่ Facebook Fanpage: Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ หอศิลปกรุงเทพ ฯ จะแจ้งยอดเงินระดมทุนทั้งหมดจากโครงการให้สาธารณชนได้ทราบต่อไป