“หมูแพง”จะเลือกแก้ปัญหาแบบไหนดี...แบบเด็กอายุ14หรือแบบรัฐมนตรี ?
ปัญหา“หมูแพง” เดือดร้อนกันทั้งแผ่นดิน ถ้าเลือกวิธีแก้ปัญหาได้ (เลือกไม่ได้หรอก)จะเลือกแก้ปัญหาสูตรไหน...แบบเด็กอายุ 14,แบบรัฐมนตรี,แบบอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือแบบคนทำงานเพื่อสังคม
เมื่อราคาหมูดีดตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดวิกฤติ หมูแพงทั้งแผ่นดิน คนบางกลุ่มหันมาบริโภคเนื้อจระเข้
แม้จะเป็นทางเลือก แต่คนส่วนใหญ่คงไม่เอาด้วย เพราะจระเข้เป็นสัตว์เลื้อยคลาน หน้าตาไม่ได้น่ารักเหมือนหมูอู๊ดๆ... รวมทั้งจระเข้อาจมีแบคทีเรียปนเปื้อน มีเชื้อทำให้เกิดโรคไทฟอยด์ ท้องร่วง
ส่วนอีกทางเลือก คือ กินไก่ ปลา หรือโปรตีนจำพวกเต้าหู้ ซึ่งคนที่ติดรสชาติ ก็ยังอยากบริโภคอาหารอร่อยๆ เพราะหมูนำมาปรุงอาหารก็อร่อยซะด้วย
ถ้าอย่างนั้น ต้องแก้ปัญหาอย่างไร....
เรื่องหมูๆ แก้แบบเด็กวัย14
ผู้ใหญ่ทึ่งไปตามๆ กัน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เด็กอายุ 14 เสนอแนวคิดแก้ปัญหาหมูแพง รายการ “นินทาประเทศไทย” ในช่องยูทูปของน้าเน็ก NANAKE555
น้องเฟิร์ส วัย 14 จาก จ.เชียงราย โทรมาร่วมแสดงความคิดเห็น แก้ปัญหาหมูเเพง โดยเสนอวิธีแก้ 3 แบบคือ
ระยะแรก-ให้ชดเชยเกษตรกร เนื่องจากขายหมูขาดทุน ต้องเร่งส่งเสริมการสร้างรายได้จากหมูทั้งเรื่องแม่พันธุ์
ระยะกลาง-ให้เกษตรกรกู้เงินระยะสั้น เอาไปพัฒนาฟาร์มหมู ให้สามารถป้องกันโรคได้ รวมถึงสั่งหมูมาจากต่างประเทศ
ระยะสุดท้าย-ส่งเสริมบูรณาการทุกอย่างให้เป็น Smart Farmer ใช้เทคโนโลยีเอไอ จัดการทั้งเรื่อง ส่งเสริมคุณภาพหมู คุณภาพสินค้า รวมถึงพัฒนานวัตกรรม โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ
นี่คือเรื่องหมูๆ แต่ไม่หมู ปัญหาระดับชาติไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สนใจเรื่องนี้ เพราะบริโภคหมูกันทุกวัน ถ้าผัดผัก หรือหมูทอดมีเนื้อหมูน้อยลง ความอิ่มอร่อยก็น้อยตามไปด้วย
.............
หมูแพง : นำเข้าเนื้อหมูแช่แข็ง
ส่วนฟากสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องหมูแพงเพื่อหาทางออกให้ผู้บริโภค ซึ่งหลายเรื่องที่กลุ่มนี้ขับเคลื่อน ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น
พวกเขามองปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เรื่องนี้เริ่มจากอหิวาต์แอฟริกาในหมู ทำให้หมูล้มตายจำนวนมาก ผลิตลูกหมูได้น้อยลง ราคาหมูก็ขยับขึ้นทุกวัน ส่งผลกระทบทั้งเกษตรกรรายย่อย แผงขายหมู ร้านอาหาร รวมถึงผู้บริโภค
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) มองว่า ทางออกของผู้บริโภคในวิกฤติราคาหมูครั้งนี้ ระยะสั้นให้มีการนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็ง เพื่อให้เกิดทางเลือกในการบริโภค โดยจำกัดเฉพาะเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น
"ระยะยาว รัฐควรหาแนวทางทำให้เกิดโครงสร้างการเลี้ยงหมูของเกษตรรายย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผู้เลี้ยงหมูที่ล้มหายไปไม่น้อยกว่า 200,000 ราย ไม่ให้เกิดการผูกขาดด้านราคาที่ขึ้นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น"
ทั้งนี้ สอบ. ได้มีข้อเสนอ แนวทางลดผลกระทบจากเนื้อหมูราคาแพงต่อผู้บริโภค’ ดังต่อไปนี้
1. นำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวแบบมีเงื่อนไขจากแหล่งผลิตที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น
2. ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board)
3. ผลักดันท้องถิ่นให้สนับสนุนเกษตรรายย่อยเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ
4. ผู้บริโภคร่วมมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ หรือหมูหลุมเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และ
5. สนับสนุนการวิจัยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และเพิ่มการผลิตโปรตีนจากพืชที่มีราคาถูกกว่า และมีส่วนในการลดโลกร้อน
...........
ควบคุมโรค จัดการปัญหาต้นตอ
หมูแพงทั้งแผ่นดินแบบนี้ นายกรัฐมนตรีลุงตู่ ก็ถูกกล่าวพูดถึงทั้งแผ่นดินเหมือนทุกเรื่อง โดยส่งต่อให้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แก้ไขปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เนื่องจากทำให้หมูแพง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกนายกฯว่า ต้องเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิด 34 ประเทศทั่วโลก และรับปากว่า แก้ทั้งระบบจะใช้เวลา 8 - 12 เดือน
ส่วนกรณีผู้บริโภคต้องบริโภคหมูติดเชื้อ มากว่า 2 ปี นายสัตวแพทย์กิจจา รายงานว่า หากเป็นโรคนี้จริง ไม่ก่อโรคในคน เนื้อหมูยังสามารถบริโภคได้ตามปกติ ต้องกินสุกๆ ไม่เป็นพิษภัยต่อคน ยกเว้นหมู
นายสัตวแพทย์สรวิศ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เป็นอธิบดี ก็ทำงานเรื่องโรคระบาดมาหลายครั้ง แต่โรคนี้เกิดมาร้อยปีแล้วยังไม่มีวัคซีน
หมูแพงทั้งแผ่นดิน
ก่อนหน้านี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีมติแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง ดังนี้
1.ห้ามส่งออก เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. - 5 เม.ย. 2565
2. กำหนดให้ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป / ผู้ค้าส่ง ที่มีหมูเกิน 500 ตัวขึ้นไป และห้องเย็นที่มีสต็อกหมู ตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไปแจ้งปริมาณ และราคาทุก7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.เป็นต้นไป เพื่อดูแลปริมาณหมู และสต็อกหมูที่มีอยู่ทั้งประเทศซึ่งกรมการค้าภายใน จะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ในการตรวจสอบ เพื่อจะได้เร่งบริหารจัดการระบายเนื้อหมูออกสู่ตลาด
3.กรมปศุสัตว์เร่งผลิตหมูเข้าสู่ระบบด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงเพิ่มเติม เพื่อให้มีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ โดยซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการเร่งรัดส่งเสริมการเลี้ยง ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยราคาถูกหรือเงื่อนไขผ่อนปรนเป็นพิเศษ
และขอให้กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทช่วยดูแลเรื่องนี้ต่อไป รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเข้ามาเลี้ยงในระบบ GFM (Good Farming Management) ที่มีมาตรฐานและต้นทุนไม่สูงเกินไป เป็นระบบที่ป้องกันโรคได้และมีความปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ส่วนปริมาณการบริโภคหมูที่ยังขาดอยู่นั้น ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพราะจะกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยง และมีปัญหาตามมาอีกมาก
ขณะเดียวกัน กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ปิดป้าย แสดงราคา และไม่ให้มีการกักตุน เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค
..............................
ทั้งหมดคือ เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมูในเรื่องการแก้ปัญหา