รู้จัก "ธนบัตรพอลิเมอร์" แบงก์ใหม่ ราคา 20 บาท เปลี่ยนแล้วดียังไง เปิดข้อควรระวังการใช้งาน

รู้จัก "ธนบัตรพอลิเมอร์" แบงก์ใหม่ ราคา 20 บาท เปลี่ยนแล้วดียังไง เปิดข้อควรระวังการใช้งาน

ทำความรู้จัก "ธนบัตรพอลิเมอร์" หลังแบงก์ชาติประกาศเริ่มใช้ "แบงก์ 20" แบบใหม่ทำจาก "พอลิเมอร์" ในวันที่ 24 ม.ค. นี้ พร้อมวิธีจับสังเกต "แบงก์ปลอม" และวิธีใช้ที่ถูกต้อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมนำออกใช้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบใหม่ เรียกว่า "ธนบัตรพอลิเมอร์" ซึ่งเปลี่ยนจากการเป็นธนบัตรกระดาษ มาใช้วัสดุ "พอลิเมอร์" พลาสติกแบบพิเศษ ไม่ดูดซับความชื้นและสิ่งสกปรก มีความทนทานในการใช้งานมากกว่า "ธนบัตรกระดาษ"

ช่วยลดปริมาณการผลิตธนบัตรใหม่เพื่อทดแทนธนบัตรที่ชำรุด ลดการใช้ทรัพยากร และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่ถูกใช้จ่ายมากที่สุด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือบ่อย ทำให้สภาพเก่ากว่าธนบัตรชนิดราคาอื่น

 

  •  ประเทศไหนใช้ "ธนบัตรพอลิเมอร์" บ้าง ? 

ธนบัตรพอลิเมอร์ ใช้วัสดุพลาสติกสังเคราะห์ประเภท biaxially oriented polypropylene (BOPP) โดยในกระบวนการผลิตวัสดุพอลิเมอร์จะใช้แรงดึงฟิล์มพลาสติกในสองทิศทาง ทำให้ได้วัสดุที่ทนทานและโปร่งแสง

"ประเทศออสเตรเลีย" เป็นประเทศแรกที่ผลิตและออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์อย่างต่อเนื่อง โดยออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ 10 ดอลลาร์ เป็นชนิดราคาแรก เมื่อปี ค.ศ.1988 โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการปลอมแปลงธนบัตร 

รู้จัก \"ธนบัตรพอลิเมอร์\" แบงก์ใหม่ ราคา 20 บาท เปลี่ยนแล้วดียังไง เปิดข้อควรระวังการใช้งาน

ภาพตัวอย่างธนาคารพอลิเมอร์รุ่นแรกของโลก (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)

 

จากนั้น ธนบัตรพอลิเมอร์ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ ค.ศ.1990-1999 หลายประเทศได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ ส่วนใหญ่ออกใช้เป็นธนบัตรที่ระลึก หรือออกใช้เฉพาะในบางชนิดราคา อาทิ มาเลเซีย โรมาเนีย บรูไน ต่อมาในช่วงทศวรรษ ค.ศ.2000-2009 หลายประเทศได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นธนบัตรหมุนเวียน เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ อิสราเอล และเม็กซิโก

ล่าสุดในช่วงปี ค.ศ. 2010 - ปัจจุบัน ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น ในประเทศ แคนาดา ชิลี ซาอุดิอาระเบีย สกอตแลนด์ และอังกฤษ

จากที่กล่าวไปในข้างต้น นอกจากความทนทานแล้ว ยังมีคุณสมบัติการต่อต้านการปลอมแปลงทันสมัยด้วย

รู้จัก \"ธนบัตรพอลิเมอร์\" แบงก์ใหม่ ราคา 20 บาท เปลี่ยนแล้วดียังไง เปิดข้อควรระวังการใช้งาน

ตัวอย่างธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)

 

ก่อนที่ธนบัตรพอลิเมอร์ราคา 20 บาทจะเริ่มใช้ในไทยอย่างเป็นทางการ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปดูวิธีการสังเกตลักษณะ "แบงก์ 20 แบบพอลิเมอร์" ของแท้ ด้วยตัวเองง่ายๆ ผ่าน 3 ขั้นตอน ป้องกันตัวเองจากผู้ไม่ประสงค์ดี ดังนี้

​ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงธนบัตรที่ทันสมัย และมีมาตรฐานขั้นสูง เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการ “สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง” 

 

  • สัมผัส

- วัสดุพอลิเมอร์ เป็นพลาสติกชนิดพิเศษ มีการเคลือบผิว และมีความเหนียวแกร่ง

- ​ภาพพระตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คำว่า รัฐบาลไทย ตัวอักษรแจ้งชนิดราคา พิมพ์ด้วยเส้นนูนสีเขียวเข้ม จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ

- ตัวเลขแจ้งชนิดราคา พิมพ์ด้วยเส้นนูนสีเขียวเข้ม จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ

- ​สัญลักษณ์แจ้งชนิดราคารูปดอกไม้ ๒ ดอก พิมพ์ด้วยเส้นนูนสีเขียวเข้มสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาใช้สัมผัส แทนตัวเลข “๒” ในอักษรเบรลล์ ซึ่งกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์สำหรับธนบัตรชนิดราคา ๒๐ บาท 

  • ยกส่อง

ดูรายละเอียดของธนบัตรพอลิเมอร์เมื่อยกส่อง จากธนาคารแห่งประเทศไทย คลิกที่นี่

  • พลิกเอียง 

​ตัวเลขแฝง “20” ซ่อนในลายประดิษฐ์สีเขียวเข้มซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางด้านล่างของธนบัตร มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง โดยมองผ่านจากมุมล่างซ้ายของลายประดิษฐ์เข้าหามุมบนขวาของธนบัตร

  •  วิธีใช้ "ธนบัตรพอลิเมอร์" ที่ถูกต้อง 

ธนาคารกลางมาเลเซีย หนึ่งในประเทศที่ใช้ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ได้เสนอแนะการใช้งานธนบัตรพอลิเมอร์อย่างถูกวิธีคือ ไม่ควรพับกรีด ขยำ หรือใช้ลวดเย็บธนบัตรพอลิเมอร์ เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานเต็มประสิทธิภาพ

--------------------------------------------------------

อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรุงเทพธุรกิจ

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์