"เรือเด่นสุทธิ" กับ "เรือชลธารานุรักษ์" สองเรือฮีโร่กู้ "น้ำมันรั่ว SPRC"
ทำความรู้จักสองเรือฮีโร่ที่ (น่าจะ) มากอบกู้วิกฤต "น้ำมันรั่ว" ที่มาบตาพุด ทั้ง "เรือเด่นสุทธิ" และ "เรือชลธารานุรักษ์"
จากเหตุน้ำมันดิบรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อเวลา 21.06 น. วันที่ 25 มกราคม 2565 คืออีกครั้งของวิกฤตสิ่งแวดล้อมทางทะเลไทยที่ต้องบอกว่าใหญ่ไม่แพ้ครั้งก่อนๆ จนอาจจะถึงเวลาออกโรงอีกครั้งสำหรับ เรือเด่นสุทธิ และ เรือชลธารานุรักษ์
เพราะตัวเลขปริมาณ น้ำมันรั่ว อยู่ในทะเลประมาณ 400,000 ลิตร นั้นเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในสระโอลิมปิกคือ 1 ส่วน 6 เลยทีเดียว และเมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้นมีปริมาณน้ำมันรั่วไหล 50,000 ลิตร แปลว่าครั้งนี้ถ้าหากเทียบกันลิตรต่อลิตร ความเสียหายต้องมากกว่าน้ำมัน ปตท. รั่ว ปี 2556 ถึง 8 เท่า
ถึงความรุนแรงจะมากกว่าประมาณการณ์หรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ คลื่นลม ลักษณะการรั่วไหล ฯลฯ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือความเสียหายที่ต้องรีบแก้ไข ตั้งแต่ควบคุมการรั่วไหล, กำจัดคราบน้ำมัน ไปจนถึงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งในกระบวนการที่มีความสำคัญมากและจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้ไวขึ้น คือ การกำจัดคราบน้ำมันออกจากทะเล แต่ในประเทศไทย บทบาทนี้กลับมีตัวเลือกไม่มากนัก ซึ่งในทุกๆ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องการอุบัติเหตุทางทะเลที่มีการรั่วไหลของคราบน้ำมัน จะมีสอง “เรือฮีโร่” เข้ามาทำหน้าที่กอบกู้สถานการณ์เสมอมา ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน
เรือฮีโร่ที่ว่า คือ “เรือเด่นสุทธิ” และ “เรือชลธารานุรักษ์” เรือสองลำในประเทศไทยที่ทำหน้าที่ขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งกรมเจ้าท่า (จท.) ได้จัดหาเพื่อใช้ป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำใน 3 พื้นที่ คือ ฝั่งอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี-จ.ตราด รวม 9,500 ตร.กม. ฝั่งทะเลอันดามัน จ.ระนอง-จ.สตูล รวม 12,000 ตร.กม. และ จ.ประจวบคีรีขันธ์-จ.นราธิวาส รวม 25,000 ตร.กม.
เรือเด่นสุทธิ
“เรือเด่นสุทธิ” เป็นเรืออเนกประสงค์ขึ้นประจำการครั้งแรกในปี 2540 ใช้ขจัดคราบน้ำมัน ค้นหา ช่วยชีวิต และดับเพลิง ทางรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 พรรษา ในปี 2539 และพระราชทานให้กรมเจ้าท่าในวันที่ 25 ก.พ. 2540 เพื่อใช้ในภารกิจ
เรือมีขนาด 213 ตันกรอส ความยาวตลอดลำ 30.80 เมตร ความยาวที่แนวน้ำ 26 เมตร ความกว้าง 7.80 เมตร ความลึก 3.20 เมตร อัตรากินน้ำลึก 2.25 เมตร
ภารกิจหลักของเรือเด่นสุทธิ คือ ขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (Antipollution vessel) ซึ่งการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในน่านน้ำไทยโดยวิธีการและอุปกรณ์ที่ประจําอยู่ในเรือ ได้แก่
1. การล้อมกักคราบน้ำมันในน้ำโดยใช้ทุ่นกักน้ำมัน (Boom)
2. การเก็บคราบน้ำมันขึ้นจากกผิวน้ำโดยใช้อุปกรณ์เก็บคราบน้ำมัน (Skimmer)
3. การเก็บและขนส่งคราบน้ำมันที่เก็บได้โดยบรรจุคราบน้ำมันไว้ในถังเก็บของเรือ
4. การขจัดคราบน้ำมันด้วยสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน
เรือเด่นสุทธิได้รับการออกแบบมาเพื่อปฏิบัติการตามภารกิจในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยตอนบน และในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แต่ด้วยสมรรถนะของเรือ จะปฏิบัติการได้ในทุกพื้นที่ของอ่าวไทย
เรือชลธารานุรักษ์
"เรือชลธารานุรักษ์" เป็นเรืออีกลำที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล เรือลำนี้ก่อสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 305 ล้านบาท โดยอู่เรือภายในประเทศ ใช้เวลา 720 วัน ทำการวางกระดูกงูในวันที่ 26 พ.ย. 2541 และประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 12 ก.ค. 2543
เรือมีขนาด 292.53 ตันกรอส ความยาวสูงสุด 41.85 เมตร ความกว้างกลางลำ 8 เมตร กินน้ำลึก 2.20 เมตร ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 18 นอต มีห้องเก็บเสบียงอาหารและน้ำจืดเพียงพอสำหรับอยู่ปฏิบัติงานในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 7 วัน
ภารกิจหลักของ “เรือชลธารานุรักษ์” คือเรืออเนกประสงค์เพื่อขจัดคราบน้ำมัน แต่นอกจากภารกิจหลักในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแล้ว เรือทั้งสองลำ ยังสามารถให้การสนับสนุนการปฏิบัติการอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การตรวจการณ์ทางทะเล, การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และช่วยดับเพลิงในบริเวณอ่าวไทยรวมถึงทะเลอันดามันด้วย