งงกันทั้งประเทศ ‘จีน’ เปลี่ยนตอนจบ ‘Fight Club’

งงกันทั้งประเทศ ‘จีน’ เปลี่ยนตอนจบ ‘Fight Club’

ภาพยนตร์ในตำนาน “Fight Club” เวอร์ชันที่ฉายในจีน ถูกเปลี่ยนตอนจบ ผลพวงจากมาตรการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดของทางการจีน

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา "คอร์ตนีย์ ฮาวเวิร์ด" ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Variety ได้ทวีตภาพตอนจบของภาพยนตร์ Fight Club ภาพยนตร์ขึ้นหิ้งของผู้กำกับ "เดวิด ฟินเชอร์" (David Fincher) ที่ฉายทาง “Tencent Video” เว็บไซต์บริการสตรีมมิงวิดีโอยอดนิยมของจีน ที่ถูกทางการจีนเปลี่ยนตอนจบ

ฉากจบเดิมคือ "ผู้บรรยาย" (The Narrator) ตัวเอกของเรื่อง รับบทโดย “เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน” จะแกล้งทำเป็นฆ่าตัวตายเพื่อลบ “ไทเลอร์” ตัวตนอีกตัวตนของเขา ซึ่งรับบทโดย  “แบรด พิตต์” ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถหยุดการระเบิดตึกฐานข้อมูลธนาคาร เพื่อลบประวัติหนี้สินของประชาชนไม่ทัน 

ผู้บรรยายยืนจับมือแฟนสาวของเขาที่รับบทโดย “เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์” มองตึกต่าง ๆ ถูกระเบิด พร้อมกับเพลง “Where is My Mind?” ของวง “Pixies” เปิดคลอขึ้นพร้อมกับเอ็นเครดิต

แต่ในเวอร์ชั่นประเทศจีน ได้ตัดฉากนี้ออกไป หลังผู้บรรยายแกล้งฆ่าตัวตายสำเร็จ หน้าจอกลับถูกตัดเข้าฉากดำ พร้อมมีตัวหนังสือขึ้นมาเล่าสถานการณ์หลังจากนั้นแทน โดยเล่าว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุทุกคนได้สำเร็จ หลังจากที่เห็นวิดีโอของไทเลอร์ และสุดท้ายไทเลอร์ก็ถูกจับเข้าสถานบำบัดจิต ก่อนถูกปล่อยตัวภายหลังในปี 2555 

งงกันทั้งประเทศ ‘จีน’ เปลี่ยนตอนจบ ‘Fight Club’ ตอนจบแบบใหม่ของ Fight Club เวอร์ชันที่ฉายในจีน

--เครดิตรูป: ทวิตเตอร์ Courtney Howard--

 

เรื่องดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล และไม่สามารถเป็นไปไม่ได้ เพราะไทเลอร์เป็นอีกตัวตนที่ผู้บรรยายสร้างขึ้นเท่านั้น แต่คาดว่าทีมตัดต่อของเวอร์ชั่นนี้ คงนึกไม่ออกว่าจะเรียกตัวละครผู้บรรยายว่าอย่างไร เพราะในเรื่องไม่มีการเปิดเผยชื่อของผู้บรรยาย

ฉากจบดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ชมชาวจีนเป็นจำนวนมาก จนมีการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ Douban (โต้วป้าน) และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ รวมถึง “ชัค พาลาห์นิค” (Chuck Palahniuk) ผู้แต่งนิยาย Fight Club ที่เป็นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ออกมาให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “นี่มันเจ๋งไปเลย คนจีนได้ดูตอนจบแบบแฮปปี้ เอ็นดิ้ง”

ทางด้านบริษัท Tencent เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง Fight Club ในจีนปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ และไม่มีความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานของทางการจีนที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ Fight Club เคยได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ในปี 2549 ซึ่งมีนักแสดงนำของเรื่องเข้าร่วมงานนี้ด้วย ก่อนที่จะนำมาฉายอีกครั้งในปี 2560 โดยผู้ที่เคยได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในเทศกาลภาพยนตร์ดังกล่าวได้โพสต์คอมเมนท์ใน Douban ว่า ในครั้งนั้นก็ยังมีฉากจบแบบต้นฉบับ

แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าใครเป็นผู้เปลี่ยนตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาพยนตร์ต่างประเทศจะถูกเซ็นเซอร์อย่างหนักเมื่อเข้าฉายในประเทศจีน เพราะทางการจีนมีมาตรการที่เข้มงวด

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 ทางการจีนมีโควตาให้ภาพยนตร์ต่างประเทศสามารถเข้าฉายในจีนได้เพียงไม่กี่สิบเรื่องต่อปีเท่านั้น และยังมีมาตรการควบคุมและกำหนดเนื้อหาอย่างเข้มงวด ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามในจีน เช่น การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 หรือภาพยนตร์ที่ทางการจีนเห็นว่ามีการสร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้จีนดูแย่กว่าความเป็นจริง จะถูกห้ามฉายหรือตัดออกทั้งหมด

อีกทั้ง ประเทศจีนไม่มีการจัดเรทติ้งเนื้อหาภาพยนตร์และซีรีส์ ทำให้ทางการจีนยิ่งเข้มงวดในการตัดต่อเนื้อหาเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง เช่น "Bohemian Rhapsody" ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของ “เฟรดดี้ เมอร์คิวรี” นักร้องนำวง “Queen” ถูกตัดฉากที่พูดถึงรสนิยมทางเพศของเฟรดดี้ และฉากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเฟรดดี้ติดเชื้อ HIV 

ส่วนซีรีส์สุดฮิตอย่าง “มหาศึกชิงบัลลังก์” (Game of Thrones) ที่มีฉากรุนแรงและเซ็กซ์เป็นจำนวนมาก ก็ถูกตัดออกทั้งหมด จนมีผู้ชมจำนวนมาก พูดว่า เหมือนดูสารคดีปราสาทยุคกลางของยุโรป

แม้ทางการจีนจะมีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ต่างประเทศอย่างหนัก ด้วยการตัดบางฉากออก หรือตัดต่อให้ภาพยนตร์สั้นลง หรือแม้กระทั่งแบนไม่ให้ฉายเลย แต่ Fight Club คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกเปลี่ยนตอนจบใหม่

 

ที่มา: BBC, CNN