ความตายใน "ทะเลบัวแดง" วันที่ "บัวแดง" อาจถูกแทนด้วยพืชเอเลียนสปีชีส์
การมาของ “พืชเอเลียนสปีชีส์” กำลังแทนที่ “บัวแดง” จนแทบไม่มีเหลือ หากยังเป็นอย่างนี้ ต่อไป “ทะเลบัวแดง” อาจต้องถูกถอดออกจากคำขวัญจังหวัดอุดรธานีเลยทีเดียว
สำหรับคนอุดร ทะเลบัวแดง เป็นมากกว่าแค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่มันคือระบบนิเวศ คือความสมดุลของธรรมชาติ ที่ตอนนี้กำลังถูกรุกรานจาก ต้นจอกหูหนูยักษ์ กระทั่งทะเลบัวแดงกลายเป็นทุ่งจอกแหน กระทบทั้งการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก
เรื่องดังกล่าวอาจไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างมากนัก แต่ ศตวรรษ นันทะศิริ ช่างภาพอิสระและเจ้าของเพจ walk with fon s ผู้ที่เคยใช้ “ทะเลบัวแดง” เป็นโลเคชันถ่ายภาพสวยๆ มามากมายต้องเปิดประเด็นในที่สาธารณะ เพราะตอนนี้ทะเลบัวแดงแทบจะไม่มีบัวแดงแล้ว
ภาพโดย ศตวรรษ นันทะศิริ
“ที่นี่เป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีบัวขึ้นอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ว่าได้รับการอนุรักษ์พันธุ์บัว ปลูกเพิ่มเติมจนมันเป็นทะเลบัวแดงเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่เมื่อประมาณหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา มันมีปัญหาเรื่องจอกแหนที่เรียกว่าจอกหูหนูยักษ์ เป็นเอเชียนสปีชีส์ที่ระบาดในทะเลบัวแดง ทำให้หนึ่งในสี่ท่าเรือที่บริการนักท่องเที่ยวประสบปัญหาอย่างรุนแรง คือออกเรือแทบไม่ได้”
ปัญหา “ต้นจอกหูหนูยักษ์” บุก “ทะเลบัวแดง” ค่อยๆ ลุกลามอยู่ในพื้นที่ จนกระทั่งงานธิดาผ้าหมี่ขิดมาเป็นจุดประกายของฝุ่นใต้พรมครั้งนี้ เพราะงานดังกล่าวจะมีการพาผู้เข้าประกวดหลายสิบชีวิตไปถ่ายภาพที่ทะเลบัวแดง แต่สิ่งที่ช่างภาพอย่างศตวรรษเจอคือปีนี้เต็มไปด้วยจอกหูหนู มิหนำซ้ำ อบจ.อุดรธานียังใช้วิธีขุดลอกเอาวัชพืชเหล่านี้ขึ้นมากองไว้ เพื่อเปิดทางให้ทะเลบัวแดงสำหรับรับรองคณะรัฐมนตรี
ผ่านไปนานวัน กองจอกหูหนูยักษ์ก็ยังอยู่ ในน้ำก็ยังเต็มไปด้วยวัชพืชนี้ เพียงหนึ่งเดือนหลังจากงานธิดาหมี่ขิด ศตวรรษใช้คำว่า “สุดลูกหูลูกตา” กับทะเลจอกหูหนูยักษ์แห่งนี้ จนเกิดคำถามว่า ทำไมไม่เก็บ หรือว่าแท้จริงแล้วเก็บไม่ได้กันแน่
ภาพโดย ศตวรรษ นันทะศิริ
กฎที่ควรแก้ ก่อน “ทะเลบัวแดง” จะตาย
“พอหน่วยงานไปขุดลอกขึ้นมา จอกหูหนูยักษ์พวกนี้กลายเป็นทรัพย์สินของราชการซะงั้น จะเอามาทำนี่ก็ไม่ได้ เอาไปทำโน่นก็ไม่ได้ ก็เลยต้องทิ้งกันไว้ ทีนี้หน่วยงานราชการก็เลยไม่อยากมาขุดให้” ศตวรรษเล่าความจริงที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนความไม่ลงตัวของกฎหมาย
สำหรับหน่วยงานที่ดูแล “ทะเลบัวแดง” คือศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหนองหาน ให้ข้อมูลว่าการขุดลอกจอกแหนพวกนี้นั้นกระทบสิ่งแวดล้อม จึงไม่ต้องการให้ขุดมากนัก โดยอ้างอิงการมาอยู่อาศัยทำรังของนกน้ำ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ความที่จอกหูหนูยักษ์เป็นเอเลียนสปีชีส์เหตุใดจึงควรได้รับการอนุรักษ์ด้วยเหตุผลเรื่องเป็นแหล่งอยู่อาศัยของนกน้ำ
ความคลุมเครือ อิรุงตุงนังทั้งแนวทางการแก้ปัญหา ข้อสรุป (ที่ไม่มีข้อสรุป) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ปัญหา “ทะเลบัวแดง” กลายพันธุ์เป็นทะเลจอกหูหนูยักษ์นั้นคาราคาซัง ไม่มีทางออกเป็นรูปธรรมสักที แน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศของทะเลบัวแดง
ภาพโดย ศตวรรษ นันทะศิริ
Unseen ที่จะไม่มีให้ Seen จริงๆ
“ช่วงนี้ควรเป็นช่วงที่บัวแดงบานเต็มทะเลบัวแดง ประมาณสิบปีก่อน ตอนที่เขาจัดครั้งแรกเป็น Unseen อุดร เรายืนอยู่ที่ท่าเรือที่บ้านเดียม มองไปเห็นเป็นสีชมพูหมดเลย พออาทิตย์ขึ้นมันโอ้โห สีชมพูทั้งผืนเลย เดี๋ยวนี้ไปถึง มีทะเลบัวแดงไหม มี แต่ต้องเลาะจอกหูหนูยักษ์ไปหาบัว ถามว่าประทับใจไหม มันไม่ประทับใจ มีแค่กอบัวอยู่ไกลๆ ไม่สมชื่อทะเลบัวแดงแล้ว”
โดยปกติการท่องเที่ยว “ทะเลบัวแดง” คือการลงเรือไปเพื่อถ่ายภาพกับ “บัวแดง” แต่การแหวกจอกหูหนูยักษ์ไปหาบัวซึ่งมีน้อยลงทุกทีๆ ทำให้เสียเวลากว่าเดิมหลายเท่า นอกจากระยะเวลาแล้วจำนวนดอกบัวก็กลายเป็นความผิดหวังของนักท่องเที่ยว ศตวรรษบอกว่าถึงขั้นไกด์ท้องถิ่นบางคนตัดออกจากโปรแกรมทัวร์เลย แล้วพาไปที่อื่นแทน
ด้าน ธนัชชัย สามเสน อดีตประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี อธิบายว่าปัจจัยที่ทำให้บัวแดงเติบโตหรือล้มตายนั้นขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ หนึ่ง ระดับน้ำถ้าปีไหนฝนตกเหนือเขื่อนน้อย ระดับน้ำน้อยจะทำให้บัวไม่เกิด เพราะบัวต้องอาศัยการขยับตัวของน้ำ ส่วนปีไหนน้ำมากบัวก็จะงามมาก
สอง “จอกหูหนูยักษ์” เป็นพืชโตเร็วที่แย่งพื้นที่พืชอื่นๆ และมีผลเสียในเรื่องทำให้น้ำตื้นเขินอีกด้วย
“ความที่ทะเลบัวแดงเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจังหวัดอุดร เวลานักท่องเที่ยวมาไม่ได้มาแค่ทะเลบัวแดงนะครับ เขาจะไปเที่ยวที่อื่นด้วยทั้งในอุดรและจังหวัดใกล้เคียง แต่พอมีปัญหานี้จึงมีผลกระทบเยอะ ถ้าไม่มีทะเลบัวแดงจะส่งผลเยอะเลย
ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทะเลบัวแดงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งนกน้ำ แหล่งประมงของชาวบ้าน ถ้าจอกหูหนูยักษ์ลุกลามมันแพร่กระจายเร็วมาก มันน่ากลัวมาก จะมีผลไปหมด น้ำที่ทำการเกษตรจะมีปัญหา น้ำอุปโภคบริโภคจะมีปัญหา พันธุ์ปลาที่สงวนไว้ นกที่อาศัยในทะเลบัวแดงก็อยู่ไม่ได้ แต่ผมก็งงว่าทำไมไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนสนใจเลย แปลกมาก”
จอกหูหนูยักษ์ไม่เก็บไว้ทำซาก แต่ชาวบ้านจะทำปุ๋ย
“ตอนนี้การแก้ปัญหาไม่มีแนวทางนะ มีการขุดลอกขึ้นมาบ้าง ยังมีอีกเยอะมากเลยที่อยู่ในน้ำ การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมยังไม่มี” ธนัชชัยเปิดเผยถึงความสิ้นหวังของกระบวนการแก้ปัญหาที่ไม่ควรจะตีบตันถึงเพียงนี้ โดยที่หลังจากเกิดปัญหา เงื่อนไขที่ว่าห้ามนำทรัพย์สินของราชการไปขาย ธนัชชัยจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านนำ “จอกหูหนูยักษ์” ทำปุ๋ยกันตรงจุดที่เกิดปัญหาเลย
“ที่ผมต้องไปสอนชาวบ้านทำปุ๋ย เพราะมันปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ ทิ้งไว้แล้วจะเยอะขึ้น มันลุกลามเร็วมาก อย่างน้อยที่สุดให้ชาวบ้านตื่นตัวและมาทำปุ๋ยซึ่งมีคุณภาพดีใช้ในเรือกสวนไร่นาได้ ชาวบ้านเขาก็เต็มใจขุดลอกของเขาเองนะ ใช้เรือดันบ้าง ก็เอามาทำปุ๋ย เอามาใช้ประโยชน์”
สำหรับความรู้ที่เขาเรียกว่า “วิธีทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง” นั้นเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ใช้หลักการนำซากพืชมาทำเป็นดินปลูก ถ้ามีกระบวนการต่อเช่นเติมจุลินทรีย์เพื่อย่อยสลายซากพืชเป็นธาตุอาหารกับอินทรียวัตถุต่อไปก็จะเป็นปุ๋ย
ถ้าหากย้อนกลับไปในอดีต สิ่งที่เคยสร้างปัญหาใน “ทะเลบัวแดง” มาก่อนคือผักตบชวา แต่การจัดการไม่ยากเย็นและติดขัดเท่าจอกหูหนูยักษ์ เพราะผักตบชวาเป็นอาหารของวัวควาย ผักตบชวาจึงถูกกำจัดโดยธรรมชาติจนทำให้เหลือน้อยแล้ว แตกต่างจาก “จอกหูหนูยักษ์” ที่เป็นเอเลียนสปีชีส์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการนำเข้ามาตกแต่งตู้ปลา ต่อมาจึงหลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ใช่แค่ที่หนองหาน ทะเลบัวแดง แต่มีอยู่ทั่วประเทศซึ่งก็เป็นปัญหาคล้ายๆ กัน
หลายที่พยายามใช้สารเคมี แต่สิ่งที่ตามมาคือสารปนเปื้อน จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับทะเลบัวแดงซึ่งเป็นแหล่งนกน้ำ เป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำ และมีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์
“ถ้าทำให้ชาวบ้านเห็นว่าจอกหูหนูยักษ์คือปัญหา ก็เท่ากับว่าเราได้โอกาสเอาขึ้นมาทำปุ๋ย เป็นวิธีเดียวที่เห็นว่าพอจะทำได้”