K-Zombies “ซอมบี้เกาหลี” มีดีอะไร ถึงได้รับความนิยมทั่วโลก
ขานรับกระแสซีรีส์ “มัธยมซอมบี้” ที่กำลังร้อนแรง ด้วยการวิเคราะห์เจาะลึกว่าเพราะอะไรกันหนอ “ซอมบี้เกาหลี” ถึงถูกจริต โดนใจคนทั่วโลก ทั้งๆ ที่หลายชาติก็สร้างหนัง สร้างซีรีส์ซอมบี้กันออกมาทุกปี แต่ไม่เห็นจะฮิตเท่า K-Zombies
กระแสความนิยมของซีรีส์ Squid Game ยังไม่ทันจางหาย เปิดต้นปี 2565 มาได้เพียงเดือนเดียว เกาหลีใต้ก็มีซีรีส์เรื่องใหม่ที่ฮอตฮิตติดเทรนด์ไปทั่วโลกอีกแล้ว นั่นก็คือ “มัธยมซอมบี้” หรือ All of Us Are Dead ออริจินัล คอนเทนต์จาก Netflix Korea ที่ว่าด้วยเรื่องของการเกิดไวรัสที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี้ขึ้นในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง
โดยข้อมูลจาก FlixPatrol ซึ่งเก็บข้อมูลและสถิติคอนเทนต์ที่ได้รับการดูมากที่สุดบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่างๆ ระบุว่า “มัธยมซอมบี้” กลายเป็น “ซีรีส์จาก Netflix ที่ถูกรับชมมากที่สุดทั่วโลก” แซงหน้า Squid Game ไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม หรือเพียงวันเดียวหลังจากที่ออนแอร์ไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม
ปัจจุบัน (นับถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์) “มัธยมซอมบี้” ติดอันดับ 1 รายการทีวีที่มีคนชมมากที่สุดทาง Netflix ไปแล้วถึง 54 ประเทศทั่วโลก
ด้วยกระแสที่แรงขนาดนี้จึงทำให้เราอดไม่ได้ที่จะมาวิเคราะห์เจาะลึกกันว่า จุดเริ่มต้นของความนิยมใน “ซอมบี้เกาหลี” นี้มาจากไหน
แล้วเกาหลีใต้ทำอย่างไรถึงเปลี่ยนผีที่มีต้นกำเนิดมาจากต่างชาติ ให้กลายมาเป็นผีที่มีเอกลักษณ์แบบเกาหลีจนคำว่า K-Zombies ถือกำเนิดขึ้นมา
- Train to Busan จุดเปลี่ยนของ K-Zombies
ถ้าใครเป็น “สายเกา” เสพย์คอนเทนต์แดนกิมจิอยู่เป็นประจำ ก็อาจจะสังเกตเห็นว่าเกาหลีใต้มีการผลิตหนังหรือซีรีส์เกี่ยวกับ “ซอมบี้” ออกมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ด่วนนรก ซอมบี้คลั่ง สร้างปรากฎการณ์ฮิตถล่มทลายเมื่อปี 2016
ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่อง Rampant นครนรก ซอมบี้คลั่ง ในปี 2018 ก่อนที่ซีรีส์ Kingdom ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด ของ Netflix จะมารับไม้ต่อ สร้างปรากฎการณ์ K-Zombies อาละวาดไปทั่วโลกได้อีกครั้งในปี 2019
แล้วหลังจากนั้นเราก็ได้เห็นหนัง เห็นซีรีส์ซอมบี้เกาหลีถูกสร้างออกมาอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น Kingdom ภาคต่อๆ มา, ภาพยนตร์ ALIVE, ซีรีส์ Happiness
ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากบทความบนเว็บ korea.net ที่เขียนโดย Lee Kyoung Mi และ Lee Jihae ซึ่งระบุว่าหนังซอมบี้ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกอย่าง Night of the Living Dead (1968), Dawn of the Dead (2004), World War Z (2013) และซีรีส์ Walking Dead ที่ฮิตถล่มทลายนั้นไม่ได้มีอิทธิพลเท่าใดนักกับชาวเกาหลีที่ชอบดูหนังผีประเภทอื่นมากกว่าซอมบี้
จนกระทั่ง Train to Busan ออกฉายในปี 2016 แล้วสามารถสร้างปรากฎการณ์ขายตั๋วได้มากถึง 10 ล้านใบ ในประเทศที่มีประชากรเพียง 50 กว่าล้านคน และได้รับการซื้อไปฉายใน 160 ประเทศ คนเกาหลีและคนทั่วทั้งโลกถึงหันมาใส่ใจ K-Zombies กันมากขึ้น
- คิดค้นการเคลื่อนไหวของซอมบี้ที่ไม่เหมือนใคร
สิ่งแรกที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าเป็นทั้งเสน่ห์ ความแปลกใหม่ และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของซอมบี้เกาหลีก็คือ “การเคลื่อนไหวที่ไม่เหมือนใคร” เพราะมีการดึง choreographer ที่ออกแบบท่าเต้นให้นักร้อง K-Pop มาคิดค้นเคลื่อนไหว และท่าทางของซอมบี้
จองยอน (Jeon Young) ผู้ออกแบบการเคลื่อนไหวของซอมบี้ใน Train to Busan, Kingdom, Peninsula บอกว่า เขาศึกษาท่าทางของสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า คนเดินละเมอ การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ มาผสมผสานกับการเต้นสไตล์ bone-breaking (การเต้นที่มีลักษณะเหมือนกระดูกหัก) จนออกมาเป็นท่าทางของซอมบี้แบบที่เราเห็นกัน
เท่านั้นไม่พอ นักแสดงที่เล่นเป็นซอมบี้ยังต้องเข้ารับการฝึกเป็นเวลานาน 3-4 เดือน เพื่อเทรนโดยละเอียดทั้งเรื่องการเดิน การแสดงสีหน้าท่าทาง วิธีการเข้าโจมตีมนุษย์ และที่สำคัญที่สุดคืออากัปกิริยาเวลาที่กำลังกลายร่างเป็นซอมบี้ ส่วนเรื่องการแต่งหน้าซอมบี้ก็พิถีพิถันไม่แพ้กัน เพราะต้องใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
ขณะที่ Choung Myung Seob ผู้แต่งนิยายซอมบี้หลายเล่ม ให้ความเห็นว่า ซอมบี้เกาหลีนั้นมีความเร็ว และมีการเคลื่อนไหวที่ผาดโผนซึ่งทำให้คนดูรู้สึกเครียด กดดัน และหวาดกลัวมากขึ้น
- อัตลักษณ์แบบเกาหลี รสชาติที่แปลกใหม่
เกาหลีใต้นั้นเก่งอยู่แล้วในเรื่องการสอดแทรก Soft Power เชิงวัฒนธรรมลงไปในผลงานของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องซอมบี้ พวกเขาก็สามารถหาวิธีโยงใยเข้ากับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของตัวเองได้อย่างกลมกลืนจนคนดูไม่นึกตะขิดตะขวงใจเลยว่า ทำไมซอมบี้ไปโผล่ในยุคโชซอน (ค.ศ.1392–1897) ได้ในซีรีส์ Kingdom และภาพยนตร์เรื่อง Rampant
Kim Eun-hee ผู้เขียนบท Kingdom ให้สัมภาษณ์ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นจริงในสมัยโชซอน มีบันทึกเอาไว้ว่ามีผู้คนนับแสนเสียชีวิตจากอาการป่วยลึกลับ ซึ่งยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้
ขณะที่การใส่ชุดเกาหลี ถือดาบวิ่งเข้าฟาดฟันกับซอมบี้ก็ให้อรรถรสที่แตกต่างจากหนังหรือซีรีส์ซอมบี้เรื่องอื่นเช่นกัน
- เสียดสีสังคม ทันต่อเหตุการณ์
ปกติแล้วหนังซอมบี้มักจะสะท้อนภาพผู้คนว่าเวลาตกอยู่ในห้วงความเป็นความตาย “สันดานดิบ” ของพวกเขาจะแสดงออกมาอย่างไร รวมไปถึงการหาวิธีต่อสู้ฟาดฟันกับซอมบี้อย่างถึงพริกถึงขิง
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หนังซอมบี้ชาติอื่นจะให้อารมณ์ survival ต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด ในขณะที่ K-Zombie จะมีอารมณ์แบบหนังดราม่า เสียดสีสังคมหรือสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า เช่น ภาพยนตร์เรื่อง #Alive และซีรีส์ Happiness ที่สะท้อนภาพมนุษย์ในยุคโควิดได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในห้อง หรือในอพาร์ทเมนต์ พออาหาร น้ำดื่มหมดก็ต้องจำใจออกไปท่ามกลางความหวาดระแวด และระวังตัวสุดชีวิต ในขณะเดียวกันก็มีการสงสัยว่าคนโน้นจะติดเชื้อรึยัง หรือเราเองจะติดรึยัง แล้วก็มีการรังเกียจคนติดเชื้อ (ไวรัสซอมบี้=ไวรัสโควิด) เหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยน
ในขณะที่ Train To Busan นั้นเป็นภาพยนตร์ที่จิกกัดความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการภัยพิบัติ โดยเรื่องนี้ออกฉายเพียง 2 ปี หลังเกิดเหตุการณ์เรือเซวอลล่มจนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 305 คน แถมส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมที่ต้องจากไปเนื่องจากความเห็นแก่ตัว และการรับมือสถานการณ์ที่ผิดพลาดของผู้มีอำนาจ
วิคตอเรีย คิม นักข่าว Los Angeles Times ประจำกรุงโซล ได้เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่าซอมบี้ในหนังและซีรีส์เกาหลีนั้นสะท้อน “ความกลัวและความวิตกกังวล” ของคนเกาหลีนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการจัดการกับภาวะวิกฤติ ความหิวโหย ความไม่มั่นคงทางการเงิน สิทธิพิเศษของคนรวยและผู้มีอำนาจ รวมไปถึงความเครียดในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และพัฒนาไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง