9 “งานออกแบบ” แสง สี เสียง ในห้าง New World เล่าความเป็นย่าน “บางลำพู”
ฟื้นอดีตตึกเก่า ห้าง New World เจ้าของฉายาวังมัจฉา จัด “งานออกแบบ” แสง สี เสียง ย้อนรำลึกตัวตนย่านบางลำพู ผ่านนิทรรศการ "New World x Old Town Part 2" ในงาน Bangkok Design Week 2022 ลงทะเบียนออนไลน์ด่วน จำกัดจำนวนผู้เข้าชมแต่ละรอบ
ห้างนิวเวิลด์ (New World) ตึกเก่าย่านบางลำพูในเขตพระนครของกรุงเทพฯ สถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำของชุมชนและความอื้อฉาวของคดีความแห่งนี้ คือสถานที่หนึ่งที่ใช้จัดแสดงนิทรรศการในงานเทศกาล Bangkok Design Week 2022 หรือ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565”
นิทรรศการซึ่งจัดที่ “ห้างนิวเวิลด์” ในงานเทศกาล Bangkok Design Week 2022 ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า New World x Old Town Part 2 (นิวเวิลด์ x โอลด์ ทาวน์ ภาค 2) หลังจากเจ้าของตึกเก่าที่มีอดีตแห่งนี้เคยอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงงานออกแบบครั้งแรกไปแล้วเมื่อปี 2020
“New World x Old Town ปี 2020 เน้นสื่อสารกับคนในย่าน ให้คนบางลำพูได้กลับเข้ามาในสถานที่ที่เคยเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และช่วยบอกเล่าความทรงจำที่อินเทอร์เน็ตไม่ได้บันทึกไว้ให้ฟังหน่อย” หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวแทนกลุ่มผู้ทำงานออกแบบการจัดแสดงงาน World x Old Town ตั้งแต่ครั้งแรกจนมาถึงครั้งที่สอง กล่าว
เนื่องจากในยุครุ่งเรืองของห้างนิวเวิลด์ไม่มีอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้านี้เวลาเสิร์ชคำว่า นิวเวิลด์ ก็จะขึ้นแต่ข่าวพื้นถล่ม วังมัจฉา แต่งาน Bangkok Design Week 2022 หรือ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565” จะเพิ่มเรื่องราวบทใหม่ให้กับตึกเก่าหลังนี้
ตึกเก่าห้างนิวเวิลด์ (New World) สถานที่จัดนิทรรศการ New World x Old Town Part2
“แต่พอจัดนิทรรศการครั้งแรก กลายเป็นว่าเราได้พบอีกภาพจำหนึ่ง คนบางลำพูเขามองว่า 'นิวเวิลด์' เป็นความโก้เก๋ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สำหรับคนในย่าน ตึกนี้ไม่ใช่ผู้ร้าย บางคนไปเดินทุกวันเลย ไปดูคอนเสิร์ต เล่นรถบั๊มพ์ เล่นบ้านบอล อัดรูปถ่าย บางห้างร้านก็ยังเหลือร่องรอยอยู่ในอาคาร” ผศ.ดร.สุพิชชา กล่าว
สำหรับการกลับมาของนิทรรศการ “New World x Old Town Part 2” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกับภาคีนักออกแบบอิสระและคนทำงานสร้างสรรค์ ประกอบด้วย HUI Team Design, Saturate Designs, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กลุ่มแสงปลากบ, เกสรลำพู, เสน่ห์บางลำพู และประชาคมบางลำพู ช่วยกันสร้างงาน ศิลปะจัดวาง (installation art) จำนวน 9 ชิ้น บอกเล่าความเป็นย่านบางลำพูผ่าน การออกแบบแสง สี และเสียง ในตึกเก่าที่เคยเป็น ห้างนิวเวิลด์ ย่านบางลำพู
“นิทรรศการครั้งที่แล้ว เราเน้นคนในย่านค่อนข้างเยอะประมาณ 85% ปีนี้เราเริ่มอยากเปิดให้คนข้างนอกได้เห็นศักยภาพของตึกนี้ ซึ่งอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เคยพูดไว้น่าสนใจมาก บอกว่าจุดนี้ถือเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูสถาปัตยกรรมอีกหมวดหนึ่งเลย เพราะเวลาพูดถึงอาคารอนุรักษ์ มันต้องมีความสวยงามทางสถาปัตย์และประวัติศาสตร์อันดีงาม แต่ตึกนี้คือซากโครงสร้างที่ผิดกฎหมายด้วยซ้ำ ไม่ได้มีคุณค่าในแบบที่คนส่วนใหญ่เขาให้กัน แต่สักวันหนึ่งตึกนี้คงต้องกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ช่วยให้ย่านบางลำพูกลับมามีชีวิต เราเลยอยากให้คนข้างนอกได้เข้ามาร่วมสัมผัสศักยภาพของตึกร้างนี้มากขึ้น คนในย่านเองเขาก็ไม่ได้อยากให้ตึกนี้ถูกปิด เขาอยากให้มันถูกฟื้นฟูและใช้งานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรอบให้เขาด้วย” ผศ.ดร.สุพิชชา กล่าว
ทางเดินข้ามวังมัจฉาเพื่อขึ้นไปชมนิทรรศการ New World x Old Town Part2
สิ่งที่คณะทำงานตั้งใจให้เกิดขึ้นจาก นิทรรศการ New World x Old Town Part2 คือการเล่าภาพจำของย่านบางลำพูผ่านการจัดแสงและงานอินสตอลเลชัน เน้นการเล่าความเป็นมาของย่านบางลำพู ซึ่งคนที่อยู่ในย่านเก่าจะรู้กันว่าย่านนี้มีคาแรกเตอร์ชัด แต่คนข้างนอกอาจยังไม่รู้ว่าคาแรกเตอร์หลัก ๆ ของบางลำพูคืออะไร
“เราจึงเอางานดีไซน์ต่าง ๆ มาเล่าเนื้อหาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต ผ่านข้าวของ เรื่องราว และผู้คน” ผศ.ดร.สุพิชชา กล่าว
ชิ้นงาน No.3 : Shadow of Togetherness
งานศิลปะจัดวางในนิทรรศการ New World x Old Town Part2 จำนวน 9 ชิ้น เป็นงานสไตล์ “แอ็บสแตรค” สามารถตีความได้ตามแต่ประสบการณ์และมุมมองของผู้เข้าชมแต่ละคน ประกอบด้วยชิ้นงานดังนี้
N0.1 : Shadow of the Center
เงาที่เกิดจากแสงตรงกลาง สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นตามมา
No.2 : Light Up our Culture
วัฒนธรรมที่รายล้อมเราจนถึงทุกวันนี้ เป็นเหมือนแสงสว่างแห่งการ เป็น อยู่ เติบโต ของย่านบางลำพู ซึ่งเติบโตจากการค้าขาย อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา อาหารอร่อย ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมเกี่ยวกับวัดซึ่งบางลำพูเป็นสถานที่ตั้งของวัดหลายแห่ง
No.6 : Shadow Casting of Today’s
No.3 : Shadow of Togetherness
แสงและเงาที่สะท้อนการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติในย่าน นิทรรศการสื่อสารด้วยการนำอักษรมอญ อินเดีย ไทย จีน มาจัดแสดงไว้ร่วมฉากเดียวกัน
No.4 : Sound Source of Daily Life
เสียงแห่งชีวิตในบางลำพู บ่งบอกวัฒนธรรมในย่านบางลำพู ทีมงานลงพื้นที่บันทึกเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในย่านบางลำพูแล้วมาออกแบบเป็น sound design มีด้วยกัน 3 ส่วน คือส่วนที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติ ส่วนที่สองเป็นเรื่องของกิจวัตรประจำวันของผู้คนในบางลำพู เช่น การทำอาหาร-ขนม เสียงพูดต้อนรับ-เชื้อเชิญให้เข้าร้านอาหาร ส่วนที่สามสะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้คนในบางลำพูที่อยู่กันฉันเพื่อนที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ
No.5 : Beauty of Being Existed
No.5 : Beauty of Being Existed
ความสวยงาม นำสมัย และการเป็นศูนย์รวมของชุมชน ยังคงอยู่ ณ ห้างนิวเวิลด์เสมอ จัดแสดงภาพวิดีทัศน์ที่แสดงความพลุกพล่านของผู้คนที่กำลังจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคักฉายบนผ้าโปร่งโดยมีบันไดเลื่อนจุดหนึ่งในห้างนิวเวิลด์เป็นฉากหลัง โดยมีเสียงเพลง “เขาคงไม่ว่างมาบางลำภู” ขับร้องโดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2563 และนักร้องเพลงไทยสากลรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ พ.ศ.2514 และพ.ศ.2522
No.6 : Shadow Casting of Today’s
เงาที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มต้นจากชีวิตที่ ถนนข้าวสาร ถนนชื่อดังแห่งย่านบางลำพู จัดแสดงวัตถุที่เป็นเสมือน สัญลักษณ์ของถนนข้าวสาร หมุดหมายของนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คและนักท่องเที่ยวที่รักความเรียบง่ายนิยมสวมใส่รองเท้าแตะและซื้อรองเท้าแตะที่มีวางขายบนถนนข้าวสารกลับไปเป็นของที่ระลึก ร่วมกับวัตถุอื่นๆ ที่แสดงความเป็นถนนข้าวสาร อาทิ เสื้อยืดที่ระลึก เก้าอี้พลาสติกสาน
No.7 : Power of the Lightsource
No.7 : Power of the Lightsource
พลังจากศูนย์กลางของแสงที่ส่องสว่าง จะกระทบไปที่ส่วนต่างๆ มากมาย จัดแสดงอยู่ในจุดที่พื้นเคยถล่มลงสู่ชั้นล่าง
No.8 : From the Light to the Gold
ชิ้นงานเป็นสีทอง เป็นการลดทอนที่มีความเป็น “นามธรรม” มาก บางลำพู มีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมในวัดและวังค่อนข้างสูง แต่งานศิลปะชิ้นนี้ไม่ได้เล่าความเป็นวัดและวังแบบพิพิธภัณฑ์เล่า จึงลดทอนรายละเอียดให้เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตบางอย่างและใช้ “สีทอง” สัญลักษณ์ของวัดและวังชิ้นเล็กๆ แล้วติดตั้งกลไกเพื่อขยับชิ้นส่วนรูปทรงเรขาคณิตเหล่านี้ เมื่อสาดแสงเข้าสู่ชิ้นงาน จะปรากฎเป็นภาพเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบจากแสงที่สะท้อนเข้าสู่ชิ้นงาน
No.9 : The Rivival of Hope
ผลงานชิ้น “ฟินาเล่” การฟื้นคืนพื้นที่แห่งความหวัง
No.9 : The Rivival of Hope (ภาพ : ม.ศิลปากร)
นิทรรศการ New World x Old Town Part 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานเทศกาล Bangkok Design Week 2022 จัดแสดงอยู่ที่สี่แยกบางลำพู บริเวณตึกเก่าที่เคยเป็น ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 เข้าชมได้เวลา 17.00-21.00 น. อยากรู้ว่าศิลปะและงานออกแบบปลุกชีวิตให้ตึกร้างกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างไร ต้องไม่พลาดชมงานนี้
ลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน EVENTBRIGHT (จำนวนผู้เข้าชมตามรายละเอียดใน eventbright) เปิดรับลงทะเบียนหน้างาน รอบละ 15 คน หากจำนวนผู้เข้าชมเต็มในรอบที่ต้องการ สามารถเลือกลงทะเบียนจองรอบล่วงหน้าได้บริเวณหน้างาน
หมายเหตุ : อาคารนิวเวิลด์ ได้มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทําการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง รวมถึงมีการติดตั้งสิ่งป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อย และทางเจ้าของพื้นที่ให้ความอนุเคราะห์เปิดพื้นที่ทิ้งร้างแห่งนี้ให้เป็นสถานที่จัดงานได้
นิทรรศการ “New World x Old Town Part 2”
ข้อปฏิบัติและเงื่อนไขในการเข้าชมงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความปลอดภัยของผู้เข้าชม
- เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้เข้าชมงานต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หรือมีผลการตรวจ ATK ไม่เกิน 3 วัน ต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้างาน
- อนุญาตให้เข้าภายในอาคารได้เฉพาะส่วนที่จัดนิทรรศการ ได้แก่ ชั้น 1 และ ชั้น 2 ในส่วนของในพื้นที่ที่กั้นรั้วเอาไว้เท่านั้น
- ขอความกรุณาผู้เข้าชมงานที่ลงทะเบียนไว้ มาก่อนเวลาไม่เกิน 30 นาที โดยทางผู้จัดงานจะมีพื้นที่ให้นั่งคอยเข้างานสำหรับผู้เข้าชมงานรอบถัดไปเท่านั้น
- ขอความกรุณามาช้าไม่เกิน 15 นาที ตามเวลาแต่ละรอบ
------------------------------
ภาพโดย : วันชัย ไกรศรขจิต