เบื้องหลังอักษรงดงามสุดทึ่ง Thailand อ่านได้ทั้ง "ไทยแลนด์" ในคำเดียวกัน

เบื้องหลังอักษรงดงามสุดทึ่ง Thailand  อ่านได้ทั้ง "ไทยแลนด์" ในคำเดียวกัน

เปิดความคิดกราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มเจ้าของเพจ Buk Babor ผู้ออกแบบอักษรสวยน่าทึ่ง มองเป็นภาษาไทยก็อ่านได้ว่า “ไทยแลนด์” มองเป็นภาษาอังกฤษก็อ่านได้ว่า “Thailand” ศิลปะ Glass Gilding ที่เกือบสูญหาย

มองป้ายนี้ครั้งแรก นี่คือภาษาอังกฤษที่อ่านได้ว่า “Thailand” มองดีๆ นี่ยังคือภาษาไทยที่อ่านว่า “ไทยแลนด์”  ได้อีกด้วย ทั้งที่เป็นตัวอักษรชุดเดียวกัน หรือบางคนอาจมองเห็นคำว่า “ไทยแลนด์” ได้ก่อนคำว่า “Thailand” มีผู้แสดงความชื่นชมในผลงานนี้เป็นจำนวนมาก และส่งต่อเป็นไวรัลอยู่ในโลกออนไลน์

ผู้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบตัวอักษรชุดนี้ คือกราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มเจ้าของเพจเฟซบุ๊กชื่อ Buk Babor ซึ่งมีชื่อจริงว่า บึก- สุชาล ฉวีวรรณ เจ้าของสตูดิโอ Sketchedbuk Signs & Co.
 

คุณบึก-สุชาล ให้สัมภาษณ์กับ Art & Living กรุงเทพธุรกิจ ว่า “ดีไซน์นี้เป็นความบังเอิญตั้งแต่แรก” ขณะทำงานออกแบบป้ายชื่อร้านอาหารไทยร้านหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย

“ผมกำลังออกแบบป้ายของร้านอาหารชื่อ ‘ชาติไทย’ อยู่ดีๆ ผมก็เห็นคำว่า ‘ไทย’ ที่กำลังออกแบบอยู่ สามารถต่อยอดการออกแบบให้อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในคำเดียวกันได้”
 

เบื้องหลังอักษรงดงามสุดทึ่ง Thailand  อ่านได้ทั้ง \"ไทยแลนด์\" ในคำเดียวกัน ผลงานการออกแบบคำว่า "ไทยแลนด์" ที่อ่านว่า Thailand ได้ด้วย

คุณบึกให้สัมภาษณ์ต่อว่า หลังจากเห็นอักขระกลุ่มนี้ตรงกับภาษาอังกฤษได้ สามารถมีลูกเล่นอ่านได้ทั้งสองภาษา จึงออกแบบคำว่า ‘แลนด์’ ต่อออกมา จากนั้นนำดีไซน์มาปรับแต่งอีกหลายครั้งกว่าจะลงตัว อ่านแล้วลื่นไหล เป็นชิ้นงานแบบที่เห็น

บึก-สุชาล ฉวีวรรณ สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สาขาวิชาการออกแบบสื่อสาร (Communication Design) เมื่อปี 2549 

หลังจากนั้นทำงานอิสระ (freelance)  รับงานออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ กราฟิกดีไซน์ งานออกแบบโลโก้ ปกอัลบั้มเพลงให้กับศิลปินนักร้องหลายค่าย

ความสนใจทางด้าน การออกแบบตัวอักษร เป็นผลสืบเนื่องจากการทำงานออกแบบกราฟิกทั้งหมดด้าน สื่อสิ่งพิมพ์ คือการจัดเลย์เอาท์ ออกแบบหัวหนังสือ รวมไปถึงการทำภาพประกอบ

“แต่เหมือนผมสนใจเรื่องการใช้ font (ชุดแบบตัวอักษร) มากที่สุดในสายงานนี้ ผมชอบดีไซน์ตัวอักษร เป็นความชอบส่วนตัวตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ” สุชาล กล่าวและว่า ช่วงที่เป็นยังนักศึกษา เขาและกลุ่มเพื่อนมักเข้าเว็บไปดูงานศิลปินต่างประเทศ ที่ชื่นชอบมากเป็นพิเศษคืองานของ เดอะ ดีไซเนอร์ส  รีพับลิก (The Designers Republic) สตูดิโอกราฟิกดีไซน์ในอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นในปี 1986  เจ้าของผลงานกราฟิกดีไซน์ที่มีชื่อเสียงด้านการทำโลโก้ให้กับศิลปินเพลงแนวอิเล็กทรอนิก (Electronic Music) มีการจัดเรียงฟ้อนท์ตัวใหญ่ๆ เล่นสีสันสดใส เป็นงานออกแบบที่ดูสนุก

เบื้องหลังอักษรงดงามสุดทึ่ง Thailand  อ่านได้ทั้ง \"ไทยแลนด์\" ในคำเดียวกัน บางส่วนของงานกราฟิกดีไซน์สไตล์ Buk Babor (credit photo: sketchedbuk.com)

ปัจจุบัน สุชาลมีรูปแบบผลงานกราฟิกดีไซน์ที่เป็นสไตล์ของตัวเอง เกิดขึ้นจากนิสัยส่วนตัวที่ชอบสะสมของเก่า ชื่นชอบงานโฆษณาสิ่งพิมพ์เก่าๆ กราฟิกบนบรรจุภัณฑ์และใบปิดโฆษณาย้อนยุค โดยให้คำจำกัดความสไตล์งานของเขาด้วยคำว่า วินเทจ โดยประยุกต์เข้ากับเทคนิคที่เรียกว่า Glass Gilding (กลาส กิลดิ้ง) เห็นได้จากผลงานการออกแบบคำที่อ่านได้ว่า ‘Thailand’ และ ‘ไทยแลนด์’ ชิ้นนี้ นอกเหนือจากผลงานชิ้นอื่นๆ ที่ผ่านมา

“ผมไปเรียนเทคนิคที่เรียกว่า Glass Gilding คือ ‘การปิดทองบนกระจก’ ที่ออสเตรเลีย งานประเภทนี้เป็นงานยุคเก่า เป็นยุคที่งานป้ายงานโฆษณาเฟื่องฟู ใช้การเขียนด้วยมือ”

คุณสุชาลเล่าให้ฟังว่า ช่วงหนึ่งเขาเคยไปเรียนและใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลา 2 ปี บังเอิญไปพบงานออกแบบป้ายชื่อด้วยเทคนิค ‘กลาส กิลดิ้ง’ อยู่ที่คาเฟ่ร้านหนึ่ง หลังจากตามอินสตาแกรมไปเจอศิลปินที่ทำงานออกแบบป้ายให้กับร้านดังกล่าว จึงอีเมลไปขอทำเวิร์คช็อป

เบื้องหลังอักษรงดงามสุดทึ่ง Thailand  อ่านได้ทั้ง \"ไทยแลนด์\" ในคำเดียวกัน ขั้นตอนการทำ Glass Gilding

“กลาส กิลดิ้ง คือการปิดทองบนกระจก มีรูปแบบหลากหลาย ต่างจากสติ๊กเกอร์ที่เป็นวัสดุเดียว ไดคัทหรือพริ้นต์ตัวลายบนสติ๊กเกอร์ แล้วนำไปแปะบนกระจก 

แต่การทำ กลาส กิลดิ้ง เราสามารถสร้างเท็กซ์เจอร์ทองให้แตกต่างกันได้ คือเราใช้วัสดุทองคำเปลวหรือสีทอง แต่เราสามารถสร้างเท็กซ์เจอร์ทองให้ดูมีมิติบนกระจกได้หลายแบบ เช่นเล่นเฉดสีทอง ไล่จากทองคำขาว 12เค ไปจนถึงทองคำบริสุทธิ์ 24เค บางทีเราก็ผสมเปลือกหอยเพื่อสร้างเท็กซ์เจอร์ทองให้ดูสวยงาม

หรือแม้กระทั่งการใช้กรดอุตสาหกรรมกัดลงไป เพื่อสร้างเท็กซ์เจอร์บนกระจกอีกที หรือใช้กาวราดลงไปบนกระจกเพื่อสร้างเท็กซ์เจอร์อีกรูปแบบหนึ่งหลังจากการอบกระจก รวมทั้งการควบคุมความชื้น ซึ่งมีหลายเทคนิคมากที่ใช้กับงานประเภทนี้ได้ มันเหมือนการทดลองครับ”

คุณสุชาลกล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศ งานประเภทนี้ถือเป็นงาน dying  art หรือศิลปะที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว 

“กลาส กิลดิ้ง เป็นศิลปะยุควิคตอเรียน ก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากปฏิวัติอุตสาหกรรม ศิลปะประเภทนี้เหมือนถูกลืมเลือน ถูก disrupt หายไป (หยุดชะงัก) มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งในต่างประเทศไปดึงเทคนิคนี้กลับมา โดยการไปถามคนที่รู้คนที่เคยทำงานประเภทนี้มาก่อน มาทำการทดลองและจดบันทึกใหม่ เพื่อให้เทคนิคประเภทนี้ยังสืบต่อไปได้

เทคนิคที่ผมไปเรียนคืออยู่บนกระจกโดยเฉพาะ แต่เราก็สามารถทำเทคนิคอยู่บนพื้นผิวประเภทอื่นได้ เช่น ไม้ แผ่นอะคริลิค แผ่นเหล็ก สังกะสี แต่อาจเล่นลูกเล่นได้ไม่เท่ากระจก”

เบื้องหลังอักษรงดงามสุดทึ่ง Thailand  อ่านได้ทั้ง \"ไทยแลนด์\" ในคำเดียวกัน ผลงานการออกแบบคำว่า "ไทยแลนด์" ที่อ่านว่า Thailand ได้ด้วย

ตั้งแต่ครั้งแรกที่โพสต์ภาพผลงานคำว่า “ไทยแลนด์” จนถึงวันนี้ คุณสุชาลกล่าวถึงผลตอบรับว่า

“มีคนชอบเยอะ รู้สึกดีกับเหตการณ์ที่เกิดขึ้น มีคนทักเข้ามา อยากร่วมงานด้วย อยากให้ช่วยออกแบบงานให้ ก็พยายามจะตอบให้ครบ บางทีอาจตกหล่น ส่วนตัวผมไม่คิดว่าจะเป็นไวรัล ก่อนเกิดไวรัลผมก็มีงานค้างกับลูกค้าอยู่ประมาณหนึ่ง ก็ต้องบอกลูกค้าขอเลื่อนส่งงานไปอีกนิด สุดท้ายผมก็พยายามกลับมาทำงานให้เป็นปกติ พยายามเคลียร์งานเก่าๆ”

และกล่าวขอบคุณผู้ติดตามผลงานว่า “ขอบคุณมากที่ติดตามผลงาน ยังไงก็ติดตามได้ต่อที่อินสตาแกรม ส่วนใหญ่ผมโพสต์งานในอินสตาแกรม ติดต่องานผ่านอีเมลและอินสตาแกรมได้ครับ”

เบื้องหลังอักษรงดงามสุดทึ่ง Thailand  อ่านได้ทั้ง \"ไทยแลนด์\" ในคำเดียวกัน

สำหรับผู้อยากได้ผลงานการออกแบบตัวอักษรชิ้นนี้ คุณสุชาลเปิดโอกาสให้ครอบครอง ไฟล์ดิจิทัลผลงาน Thailand ผ่าน Non-Fungible Token (NFT) จำนวน 3 ชิ้น โดยเลือกใช้เฉดสีทองคำเปลว 2 เฉดสี มาจับคู่บนชิ้นงาน เพื่อให้ชิ้นงานสื่ออารมณ์ที่แตกต่างกันทั้ง 3 ชิ้น และใช้เทคนิคกัดกระจกด้วยกรดอุตสาหกรรมสร้างลวดลายบนพื้นผิว เพิ่มมิติในการมอง ผู้สนใจเข้าไป bid ได้ที่ แพลตฟอร์มฟาวด์เดชั่น 

“งานดิจิทัลนี้เก็บอยู่ในบล็อคเชน ส่วนสิ่งที่ผมออฟเฟอร์ไปให้สำหรับคนที่บิดได้ ผมแถมเป็นชิ้นงานกระจกของจริงให้คนซึ่งซื้อไฟล์ดิจิทัลของผม และมีชื่อเจ้าของคนใหม่อยู่ในชิ้นงานให้ด้วย”

เบื้องหลังอักษรงดงามสุดทึ่ง Thailand  อ่านได้ทั้ง \"ไทยแลนด์\" ในคำเดียวกัน บึก- สุชาล ฉวีวรรณ

เมื่อถามว่าจะออกแบบให้ครบทุกตัวอักษรหรือไม่ คุณบึกตอบว่า 

“เป็นไปได้ยากมาก อย่างที่บอก มันเป็นความบังเอิญที่เราเห็นอักขระสองภาษาตรงกัน พอเราลองเขียนภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ เขียนบรรทัดบนกับบรรทัดล่าง ตัว ‘เอ’ ตรงกับ ย. อักษรตัวนั้นกับตัวนี้เชื่อมกันได้ และเรามีประสบการณ์ด้านการออกแบบตัวอักษรอยู่แล้ว เราก็เลยพอจะรู้ว่าสามารถบิดตรงไหนได้บ้าง

ถ้าสังเกต 'ตัวเอ' ทั้งสองตัว คนละดีไซน์  ตัวเอตัวแรกคือ ย. แต่ ตัวเอตัวที่สองคือ ล. อันนี้ไม่ใช่แค่ดีไซน์ตัวอักษร แต่เหมือนดีไซน์คำ 1 คำครับ”

คุณบึกยอมรับว่า มีผู้เห็นผลงาน “ไทยแลนด์” หลายคนติดต่อเข้ามาอยากให้ออกแบบชื่อที่อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

“ผมก็พยายามบอกเขาว่า เป็นไปไม่ได้จริงๆ ถ้าคนไหนพิมพ์ชื่อมาแล้วเห็นได้ แต่น้อยมาก แทบจะ 0.01% เพราะมันยากจริงๆ ไม่อยากรับปากเขาแล้วทำออกมาไม่ดี อย่างที่บอกดีไซน์นี้เป็นความบังเอิญตั้งแต่แรก”