"ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ" แปลงร่างจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 2 เมืองเก่าล้านนา
ม.แม่ฟ้าหลวง เผยโฉม "ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ" กว่า 30 รายการ คิดจาก "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" 2 เมืองเก่าเชียงแสนและน่าน สู่สินค้าไลฟ์สไตล์ร่วมสมัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปกป้องธรรมชาติ พร้อมขายลิขสิทธิ์ผลิตเป็นสินค้า
ม.แม่ฟ้าหลวง เผยโฉม ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จาก “โครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยวและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อความยั่งยืนตามเกณฑ์ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ในพื้นที่เมืองเก่าเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเมืองเก่าน่าน จังหวัดน่าน” ภายหลังคณะทำงานเข้าไปดำเนินการจัดเก็บ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จำนวน 200 รายการ
โครงการชื่อค่อนข้างยาวโครงการนี้ มีเอกลักษณ์ตรงคณะทำงานลงพื้นที่เปิดเวทีเชิญ “ชาวบ้านในชุมชนพื้นที่เป้าหมาย” เข้ามาร่วมนำเสนอ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒธรรม และ ความรู้ดั้งเดิม ที่ชาวชุมชนสืบทอดกันมาเพื่อใช้ปกป้องธรรมชาติในท้องถิ่น
จากนั้น คณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับทีมนักออกแบบ นำมรดกภูมิปัญญาที่จัดเก็บ 200 รายการ มาพิจารณาคัดเลือกและต่อยอดสร้างสรรค์เป็น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทั้ง "ผลิตภัณฑ์" และ "การแสดง(งานบริการ)" เปิดโอกาสให้นักธุรกิจและผู้สนใจนำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายได้จริง เกิดการจ้างงานฝีมือในพื้นที่ เป็นรายได้ เป็นกำลังใจให้ชาวบ้านได้ทำงานและได้ใช้ชีวิตปกป้องธรรมชาติในท้องถิ่นต่อไป
ผู้ร่วมสร้างสรรค์และออกแบบ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชุดนี้ นำทีมโดย ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการฯ และทีมนักออกแบบจากบริษัท Gui & Co. (กุ๋ย แอ่น โค) นำโดย จิระ จิรประวัติ ณ อยุธยา พร้อมด้วย Theodore Gaston, ขจิตธรรม พาทยกุล, ต่อพงษ์ เชยชม, นำพงษ์ อินทรทูต และผู้ร่วมงานกิตติมศักดิ์ อ.บรูซ แกสตัน ช่วยประพันธ์ดนตรีให้กับ “ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ” ที่เป็นชุดการแสดงจำนวน 2 ชุด เป็นผลงานก่อนอาจารย์บรูซจะจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2564
สำหรับ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ที่ทีมนักออกแบบในโครงการฯ ร่วมกันพัฒนากับชุมชนเจ้าของ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์จาก เมืองเก่าเชียงแสน 5 รายการ และ เมืองเก่าน่าน 5 รายการ มีตัวอย่างดังนี้
เครื่องสักการะล้านนาแบบดีไอวาย
เครื่องสักการะล้านนา
(การออกแบบด้านบริการ : เมืองเก่าเชียงแสน)
ศรัทธานั้นมีความหมายและคุณค่า “นักออกแบบและชุมชน” ร่วมกันออกแบบ “เครื่องสักการะ” ในรูปแบบใหม่ เพิ่มความมีชีวิตชีวาเข้าไป โดยหวังว่าจะสร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงเสน่ห์เมืองเก่าที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมที่ผูกพันกับธรรมชาติกันอย่างกลมกลืน
ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เครื่องสักการะล้านนา สร้างสรรค์ขึ้นจากการที่ชุมชนต้องการฟื้นความหมายของโบราณสถานที่ถูกทิ้งร้างให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง
“โบราณสถานเชียงแสน เจดีย์ต่างๆ ถือเป็นของดีมาก แต่มีการรุกล้ำพื้นที่ เนื่องจากไม่เห็นประโยชน์ คนในชุมชนก็มารื้อฟื้นอยากให้เจดีย์กลับมามีชีวิตชีวา มีคุณค่าเหมือนเดิม ชาวบ้านก็นิมนต์พระมาสวดมนต์ทุกวันพระตอนเย็นๆ วนไปตามโบราณสถานร้างต่างๆ ทำให้คุณค่าโบราณสถานกลับคืนมาและสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์มากขึ้น” อาจารย์พลวัฒ ประพัฒน์ทอง ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ
หนึ่งในเครื่องสักการะเจดีย์และการไหว้พระตามประเพณีล้านนา คือการทำ ขันดอก มีลักษณะเป็นกรวยใบตองสำหรับใส่ดอกไม้บูชาพระ ซึ่งทีมออกแบบนำมาถ่ายทอดในรูปแบบงานดีไซน์แบบดีไอวายและวัสดุที่มีความร่วมสมัย เหมาะสำหรับงานตกแต่งภายในหรือเป็นของประดับบ้านที่มีความหมายมงคล รวมทั้งตั้งบูชาพระที่บ้านก็ได้
"พานขันดอกดีไอวาย" สร้างสัญลักษณ์เลียนแบบ ขันดอกดั้งเดิม ที่มีทั้งหมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นเทียน ต้นผึ้ง ต้นดอก พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมการดูทักษา(ดวงชะตา)ว่าคนเกิดวันใดควรไหว้พระเจดีย์องค์ใดตามความเชื่อที่มีอยู่เดิม
“ชุมชนสามารถเพิ่มกิจกรรมการดูดวงให้กับสถานที่ท่องเที่ยวก็ได้ คือหลังคนไปเที่ยวดูดวงเสร็จ จะซื้อชุดขันดอกดีไอวายประกอบเอง หรือซื้อจากชาวบ้านที่ประกอบให้แล้ว ไปสักการะโบราณสถานที่ต้องการเสริมดวง หรือนำกลับบ้านก็ได้” กุ๋ย-จิระ จิรประวัติ ณ อยุธยา กล่าวถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบชิ้นนี้
ผ้าทอลวดลาย "สายน้ำกก" จาก 5 ช่วงเวลา
ผ้าทอลวดลายสายน้ำกกใน 5 ช่วงเวลา
(การออกแบบผลิตภัณฑ์ : เมืองเก่าเชียงแสน)
ชุมชนบ้านสันธาตุ อำเภอเชียงแสน เป็นชุมชนผ้าไหมใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงราย แม้เป็นกลุ่มคนจากอีสานที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ริมแม่น้ำกกในช่วงปี พ.ศ.2510 หากภูมิปัญญาในการปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม ทอผ้าใช้เองในครัวเรือนที่นำติดตัวมาด้วย กลายเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินชีวิต
“ทีมงานไปดูแม่น้ำกกในช่วงเวลาตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน 5 ช่วงเวลา แสงที่ตกกระทบแม่น้ำกกในแต่ละช่วงเวลาทำให้แม่น้ำมีลวดลายสีสันสวยงามแตกต่างกันไป ลวดลายของผ้าทอนี้คือแสงสะท้อนกับแม่น้ำ” กุ๋ย-จิระ กล่าวและว่า การออกแบบลวดลายผ้าสายน้ำกกในแต่ละช่วงเวลา จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างภูมิปัญญากับธรรมชาติของท้องถิ่นผ่านความงดงามของสายน้ำกกในช่วงเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น และค่ำ
ทีมนักออกแบบนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “ผ้าทอลวดลายสายน้ำกกใน 5 ช่วงเวลา” มาผลิตเป็นสินค้าแต่งบ้านและของใช้ อาทิ ปลอกหมอนอิง กระเป๋า และผ้าหุ้มโคมไฟ
กระเป๋าสะพายจากอวน ดัดแปลงเป็นเสื้อได้
กระเป๋าสะพายจากอวน
(การออกแบบผลิตภัณฑ์ : เมืองเก่าเชียงแสน)
ดีไซน์ชวนใช้ที่เป็นได้ทั้ง เสื้อและกระเป๋า นอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเหล่า พรานปลาแม่น้ำโขง ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่ตอนเหนือของแม่น้ำโขง ยังเป็นการเพิ่มทักษะ หรือ Up Skill การถักแห-อวน มาสร้างเป็นกระเป๋าช้อปปิ้ง ต่อยอดไปถึงการออกแบบเป็นเครื่องแต่งกาย
นอกจากมีฟังก์ชั่นใช้งานได้จริงแล้ว ยังสะท้อนเสียงเล็กๆ จาก “ชาวประมงเชียงแสน” ถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่อาจทำให้อาชีพของพวกเขาถูกกลืนหายไปกับสายน้ำในเวลาไม่ช้านี้
หากเวลานั้นมาถึง มรดกภูมิปัญญาการถักแห-อวน ของบรรดาพรานปลาแม่น้ำโขง ซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัว เนื่องจากแหอวนต้องเหนียวแน่นแข็งแรงพอที่จะสู้แรงของ “ปลาบึก” ก็ยังสืบทอดต่อไปไม่สูญหาย ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย
ลายผ้าจาก “ใบสัก” วัดป่าสักเชียงแสน
ลายผ้าจาก “ใบสัก” วัดป่าสักเชียงแสน
(การออกแบบผลิตภัณฑ์ : เมืองเก่าเชียงแสน)
วัดป่าสักเชียงแสนเมื่อแรกสร้างนั้น มีการปลูก ต้นสัก โอบล้อมวัดมากถึง 300 ต้น จนเป็นที่มาของชื่อวัดจนถึงปัจจุบัน
การนำใบสักจากวัดที่มีลายปูนปั้นประดับเจดีย์ที่สวยงามมาเป็นต้นแบบในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและธรรมชาติที่ยากเกินจะแยกออกจากกัน
การแสดง Legend of Chiang Saen
การแสดง LEGEND OF CHIANG SAEN ความยาว 10 นาที
(ผลงานออกแบบด้านบริการ : เมืองเก่าเชียงแสน)
การแสดงชุดนี้ถ่ายทอด ตำนานของเชียงแสน และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับคน จนก่อให้เกิดเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรม กฎหมายจารีตที่เรียกว่า “มังรายศาสตร์” อันเป็นกติกาในการดูแลรักษาธรรมชาติด้วยวัฒนธรรมสืบมา
การแสดงชุดนี้คิดต่อยอดจากการแสดงกลองสะบัดชัยของ วัดท่าเดื่อ บ้านแม่คำ เชียงแสน
คุณจิระเล่าว่า เดิมวัดท่าเดื่อมีชุดการแสดงกลองสะบัดชัยและรำกระบี่กระบองอยู่แล้ว โดยดึงเด็กๆ รอบวัดมาฝึกฝนการแสดงตีกลองสะบัดชัยแบบเชียงใหม่ แต่วัดไม่ได้มุ่งทำธุรกิจกับการแสดงนี้ เพียงแต่ต้องการดึงเด็กและเยาวชนออกจากร้านเกมและลดการใช้เวลาที่เปล่าประโยชน์ โดยรับแสดงตามงานวัฒนธรรมต่างๆ ในจังหวัด
ด้วยความที่เด็กๆ มีความสามารถในการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมอยู่แล้ว ทีมนักออกแบบ “กุ๋ย แอ่น โค” จึงต่อยอดการแสดงกลองสะบัดชัยชุดนี้ให้มีเอกลักษณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มการเต้นร่วมสมัย การแปรรูปขบวน การโชว์ท่าขึ้นลอยแบบโขน
“ถ้านักท่องเที่ยวอยากชมการแสดง ก็ติดต่อทางวัด ชุดเสื้อผ้าการแสดงเราจัดทำแล้วให้วัดไว้เลย เราคิดภาพรวมไปถึงแพ็คเกจ นักท่องเที่ยวซื้อทัวร์จากกุรงเทพฯ กินข้าวร้านนี้ พักโรงแรมนี้ แล้วมาดูโชว์นี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของวัดและชุมชน”
การแสดงชุด LEGEND OF CHIANG SAEN ยังได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์บรูซ แกสตัน เจ้าของรางวัล ศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปีพ.ศ.2552 รับประพันธ์ดนตรีสำหรับใช้ในการแสดง
ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอลายผลึกเกลือ
ผ้าทอลายผลึกเกลือ
(การออกแบบผลิตภัณฑ์ : เมืองเก่าน่าน)
บ่อเกลือเมืองน่าน เป็นบ่อเกิดอารยธรรมที่สำคัญของเมือง ในสมัยโบราณเกลือเป็นเสมือนทองคำ เมืองใดที่เป็นเจ้าของ “บ่อเกลือ” จึงเป็นเมืองที่มั่งคั่งและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
นักออกแบบนำรูปทรงของผลึกเกลือที่ได้เห็น มาเป็นต้นแบบในการออกแบบ ลายผ้า ร่วมกับชุมชน ถ่ายทอดออกมาเป็นลายผ้าสอดสีสันให้แสงเงา จัดทำเป็น “โปรแกรมลายผ้า” มอบให้ชุมชนนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป อาทิ หมวกทรงมีปีกโดยรอบ ตัดเย็บเป็นปลอกหมอนอิง
คาแรกเตอร์ "แมงหมาเต้า" บนถุงผ้า
แมงหมาเต้า คาแรกเตอร์สำหรับเมืองเก่าน่าน
(การออกแบบผลิตภัณฑ์ : เมืองเก่าน่าน)
ดีไซน์จาก ตำนานแมงหมาเต้า สัตว์รูปร่างประหลาดมีหัวเป็นสุนัข รูปร่างเหมือนกับยักษ์ ที่รอคอยการเกิดขึ้นของเมืองน่าน มีรูปปั้นอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง นักออกแบบนำ "แมงหมาเต้า" มาใส่ความน่ารักลงไปเป็นคาแรกเตอร์ที่จะมาเล่าขานตำนานเมืองเก่าในมุมที่น่ารักสดใส
“ตำนานเล่าว่า แมงหมาเต้า เคยถวายอาหารให้พระพุทธเจ้าซึ่งตรัสว่าแมงหมาเต้าจะไปเกิดเป็นคนผู้สร้างเมืองน่าน" อาจารย์พลวัฒ กล่าวถึงตำนานและว่า "ที่วัดพระธาตุแช่แห้งมีประติมากรรมแมงหมาเต้า ภาษาท้องถิ่นหมายถึงหมาขาสั้น ลักษณะคล้ายสุนัขมีปีก คุณกุ๋ยก็เลยดีไซน์คาแรกเตอร์ให้มีความน่ารักขึ้น”
ความเชื่อเกี่ยวกับ แมงหมาเต้า เล่ากันว่า ถ้าผู้ใดได้รับคำทำนายเคราะห์ร้าย ให้นำคำทำนายไปใส่ไว้ในโพรงแมงหมาเต้า เพื่อยับยั้งเคราะห์ร้ายนั้น
คุณกุ๋ย-จิระ กล่าวถึงการออกแบบคาแรกเตอร์แมงหมาเต้าว่า ของเดิมดูค่อนข้างยาก เป็นผลงานสำริดอยู่ในโพรงเล็กๆ ตำนานเล่าถึงลักษณะแมงหมาเต้าด้วยคำพูด ซึ่งต้องจินตนาการต่อพอสมควร โดยออกแบบคาแรกเตอร์และจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ตุ๊กตา สามารถนำคาแรกเตอร์นี้พิมพ์บนเสื้อยืด กระเป๋าผ้า ปลอกหมอน หมวก และแก้วน้ำ เป็นสินค้าเพื่อการจำหน่ายได้
การแสดงชุด "นาค น้ำ น่าน"
การแสดง นาค น้ำ น่าน
(การออกแบบบริการ : เมืองเก่าน่าน)
จากตำนานการสร้างเมืองและคติความเชื่อเรื่อง พญานาค ในอารยธรรมที่เกิดขึ้นจากแม่น้ำน่าน นำไปสู่ภูมิปัญญาของชาวน่านในการ รักษาภูเขา ป่าไม้ สายน้ำ ไม่ใช่เพื่อตนเอง หากเป็นการทำเพื่อทุกคน เพราะแม่น้ำน่านเป็นหนึ่งใน 4 ของแม่น้ำสำคัญที่หลอมรวมกันเป็น "แม่น้ำเจ้าพระยา"
“ที่น่าน..การโชว์แบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่เขาจะมีโรงเรียนนาฏศิลป์ มีการรวมเยาวชนมาจัดการแสดงรำ ทำงานอนุรักษ์ นาฏศิลป์ไทยสามารถพูดให้คนเข้าใจได้โดยไม่ต้องมีบทพูด ดูท่าทางอย่างเดียวก็ได้ ทุกท่าของนาฏศิลป์ไทยเป็นคำพูดอยู่แล้ว ไม่เหมือนบัลเล่ต์เป็นการเต้นที่ต้องมีเนื้อเรื่อง ซึ่งการแสดง นาค น้ำ น่าน เราคิดใหม่ ไม่ได้พัฒนาจากโชว์เดิม เราเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคนกับแม่น้ำ มีเรื่องเล่านาคปกป้องแม่น้ำน่าน ชุมชนทำโคมอยู่แล้ว เราก็ออกแบบการแสดงให้นางรำมีการแปรรูปขบวนนำโคมมาต่อๆ กันเหมือนตัวนาค ทำหัวพญานาคขึ้นมา เป็นอุปกรณ์การแสดง ถือให้เหมือนการเชิดหุ่น เพิ่มแสงสีเสียงเข้าไป เราจดเป็นลิขสิทธิ์ให้วัฒนธรรมจังหวัดไว้ ถ้ามีการแสดงก็สามารถนำไปแสดงได้” คุณจิระ กล่าว
การแสดงชุด ‘นาค น้ำ น่าน’ ได้รับเกียรติประพันธ์ดนตรีโดย อาจารย์บรูซ แกสตัน มอบให้ไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน
เครื่องเป่าเซรามิก "เสียงแห่งน่าน" เป่าได้จริง
เครื่องเป่าเซรามิก เสียงแห่งน่าน
(การออกแบบผลิตภัณฑ์ : เมืองเก่าน่าน)
เมืองน่านมีศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักมากอย่างหนึ่งคือ จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ เขียนขึ้นในราวปี พ.ศ.2410-2417 ในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน (ช่วงต้นรัชกาลที่ 5)
เป็นภาพจิตรกรรมที่เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นบนรองพื้นดินสอพอง มีความสวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการแต่งกาย วิถีชิวิต เป็นภาพเขียนที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ชัดเจน
ส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมที่โด่งดังของวัดภูมินทร์คือ ภาพปู่ม่านย่าม่าน ถึงกับได้รับฉายาว่าเป็น “ภาพกระซิบรักบันลือโลก” ชาวน่านนำไปสกรีนเป็นลายพิมพ์บนเสื้อจำหน่ายมีรายได้แล้ว
ความจริงแล้วภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์ เขียนเล่าเรื่องราว 3 เรื่องหลักๆ พื้นที่ส่วนใหญ่เขียนเรื่อง คัทธนกุมารชาดก หนึ่งในปัญญาสชาดก (ชาดกนอกนิบาต) กล่าวถึงพระโพธิสัตว์คัทธนกุมารผู้ทรงมีพลังเปรียบดังพญาช้างสาร สร้างคุณงามความดี และความกตัญญูรู้คุณ
ประกอบกับน่านมี วัฒนธรรมดนตรีและเครื่องปั้นดินเผา ที่มีเอกลักษณ์ นักออกแบบจึงนำภาพใบหน้าคัทธนกุมารในงานจิตรกรรมฝาผนัง มาถ่ายทอดเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องเป่า ทำจากดินเผาตามแบบ “บ้านบ่อสวก” แหล่งเครื่องปั้นดินเผาโบราณของน่าน ซึ่งกำลังรื้อฟื้นการทำเครื่องปั้นดินเผา
เครื่องสำอางจาก "ไก"
เครื่องสำอางจากไก
(การออกแบบผลิตภัณฑ์ : เมืองเก่าน่าน)
สาหร่ายน้ำจืด ไก เป็นดัชนีที่บ่งชี้สุขภาพของแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่าน หากมี “ไก” ให้กินตามฤดูกาล แสดงว่าแม่น้ำมีสุขภาพดี แม่น้ำน่านคือ 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา การรักษาต้นน้ำน่านไว้ได้ เท่ากับรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยทางหนึ่ง
ชาวเชียงแสนและชาวน่านมีตำรับอาหารปรุงจากไกในแบบฉบับของท้องถิ่น ในโครงการนี้นักออกแบบได้เชื่อมโยง 2 เมืองเก่าที่มี “ไก” เข้าไว้ด้วยกันอีกมิติหนึ่ง โดยนำผลการวิจัยเรื่องเครื่องสำอางจาก สาหร่ายไก ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มาออกแบบและพัฒนาเป็น เครื่องสำอางจากไกเมืองเก่าน่าน ผลิตตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นอกจากรายได้จะกลับไปสู่การดูแลรักษาแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่านแล้ว ยังช่วยให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มีสุขภาพใจที่ดีในการมีส่วนร่วมส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับแม่น้ำอีกด้วย
จิระ จิรประวัติ ณ อยุธยา และ ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง
ทีมงานทดลองทำผลิตภัณฑ็ต้นแบบมากกว่า 10 ตัวอย่าง
ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยวและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อความยั่งยืนตามเกณฑ์ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ในพื้นที่เมืองเก่าเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเมืองเก่าน่าน จังหวัดน่าน” กล่าวว่า จากการจัดเก็บ มรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ จำนวน 200 รายการ แบ่งเป็นพื้นที่วัฒนธรรมเมืองเก่าเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 100 รายการ และจากพื้นที่วัฒนธรรมเมืองเก่าน่าน จังหวัดน่าน 100 รายการ
“จากนั้นคณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาให้เหลือพื้นที่ละ 30 รายการ และคัดเลือกให้เหลือพื้นที่ละ 10 รายการที่มีศักยภาพทำเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แต่เราทำเกินกว่าพื้นที่ละ 10 รายการ ซึ่งนอกจากเป็นผลิตภัณฑ์แล้วยังมีการแสดงด้วย (ออกแบบการบริการ)” อาจารย์พลวัฒ กล่าว
จิระ จิรประวัติ ณ อยุธยา ตัวแทนทีมนักออกแบบ กล่าวถึงการทำงานออกแบบครั้งนี้ว่า เริ่มจากการตั้งโจทย์การดีไซน์ ซึ่งแตกต่างจากการตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาชุมชน
“จริงๆ ชาวบ้านเก่งมาก เขาทำอะไรมา ผมแทบไม่ต้องแก้ไขอะไรมาก แค่ปรับสีนิดหนึ่ง เปลี่ยนลายนิดหน่อย คือเราตั้งโจทย์ทางการดีไซน์ประมาณว่า ถ้าเราใส่ชุดชาวเขาไปทำงานออฟฟิศ คนคงจะทักทั้งบริษัท
เราจึงตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้เราใส่ชุดนี้ได้โดยไม่แปลก คือเรานำผลงานเหล่านี้มาให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร และมาอยู่ในบ้านคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักแต่งบ้านหรือมีความรู้ทางออกแบบตกแต่งภายใน ทำอย่างไรให้เขาซื้อไปแล้วไม่แปลก เครื่องประดับต่างๆ ใส่ได้ ไม่ใช่ต้องใส่ออกงานย้อนยุคเท่านั้น นี่คือโจทย์รวมของการดีไซน์ครั้งนี้ที่เราทำ”
ใช้เสื้อผ้าปัจจุบันเชิดชูงานปักผ้าชาวเมี่ยน
คุณจิระยกตัวอย่าง งานปักผ้ากลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน (เย้า) นอกจากลวดลายมีความหมายที่ดี คือเป็นลวดลายที่มาจากนิทานซึ่งผูกพันกับธรรมชาติ แต่ยังอวดความละเอียดในฝีมือการปัก แม้ผืนไม่ใหญ่แต่ก็ใช้เวลาอย่างน้อยสามเดือน ปกติซื้อขายกันที่ราคาผืนละ 10,000 บาท
“ถ้าคิดในแง่การตลาด จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถอยู่ในตลาดได้ หมายถึงว่าให้ผมไปซื้อผ้าปักมือชิ้นละหมื่นกว่าบาท หรือสอง-สามหมื่น แต่เป็นขนาดที่จะเอามาปูโต๊ะก็ไม่พอ เอามารองจานก็ไม่ได้ เอามาตัดชุดก็ไม่ได้ เพราะผ้าราคาแพง ผมรู้สึกว่าผ้าผืนแค่นี้ทำไมแพงจัง สำหรับผู้บริโภคจะรู้สึกแบบนี้ ถ้าคิดกลับกัน ถ้าเป็นผม แล้วคนให้เงินผมหนึ่งหมื่นบาท ใช้เวลาสามเดือนในการทำผ้าผืนนี้ขึ้นมา มันน้อยมากนะ คือได้เงินเดือนละสามพันกว่าบาท ก็ไม่สามารถอยู่ได้ ถ้าคิดแบบนี้ ผลิตภัณฑ์นี้ต้องไม่มีทั้งผู้ซื้อและผู้ทำ” จิระ กล่าว
วิธีแก้ปัญหาคือ “เรานำผ้าปักชาวเมี่ยน มาลดทอนลง โดยใช้เสื้อผ้าปัจจุบันชูผ้าปัก ไม่ใช่ให้ผ้าปักมารองรับเสื้อผ้าปัจจุบัน เช่นนำผ้าปักสร้างจุดเด่นที่กระเป๋าเสื้อ ซึ่งไม่ทำให้เรารู้สึกว่าใส่ชุดชาวเขาไปทำงานหรือไปเที่ยว ผ้าปักมือหนึ่งผืน หนึ่งหมื่นบาท คนไม่ซื้อ แต่ถ้าเราเอาผ้าผืนนี้ ปักเท่าเดิม มาตัดให้กลายเป็นเนคไท 10 เส้น เส้นละพันกว่าบาท คนซื้อได้ นี่คือไอเดียแรกของผม”
นอกจากนี้ ทีมนักออกแบบยังนำผ้าปักชาวเมี่ยนมาทำเป็นเครื่องประดับอีกหลายอย่าง เช่น สร้อยข้อมือ โช้คเกอร์ เพื่อให้ความพิถีพิถัน ความพิเศษ การใช้เวลาปักผ้า แสดงถึงความใส่ใจ ห่วงใย เมื่อซื้อของสิ่งนี้มอบให้กันและกัน
"กาสร วารี" อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อปกป้องธรรมชาติท้องถิ่น
มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปกป้องธรรมชาติได้อย่างไร
“จากปัญหาการท่องเที่ยวที่มุ่งไปในเรื่องเศรษฐกิจและการแข่งขันสูงมาก ทำให้ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งอันดับสิ่งแวดล้อมของประเทศอยู่ในอันดับเกือบรั้งท้ายของดัชนีชี้วัดการแข่งขันทางการท่องเที่ยว” ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง กล่าว
ประกอบกับรัฐบาลเห็นว่าถึงเวลาต้องขับเคลื่อนเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลกระทบจากการท่องเที่ยว เมื่อ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำเสนอ โครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยว และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อความยั่งยืนตามเกณฑ์ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) จึงได้รับการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินให้ดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงมีนาคม 2565
“เราใช้แนวคิดของมรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ของยูเนสโก ในการทำให้ชาวบ้านซี่งมีความรู้อยู่แล้วในการปกป้องธรรมชาติด้วยความรู้ของเขาเอง ซึ่งเป็นเกณฑ์หนึ่งของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของโลก (GSTC-The Global Sustainable Tourism Council)” อ.พลวัฒ กล่าว
ปางควายเวียงหนองหล่ม อำเภอแม่จัน เชียงราย เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งหนึ่งที่เผชิญปัญหาการพยายามบุกรุกเข้าไปเพื่อยึดใช้พื้นที่ปลูกข้าวแบบใช้สารเคมี
“ที่เวียงหนองหล่มมีควายนับพันตัวจากสามหมู่บ้าน ตอนเช้าๆ ชาวบ้านจะปล่อยควายมากินหญ้ากินวัชพืช ทำให้เวียงหนองหล่มยังคงสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีทั้งที่ดอนและหนองน้ำขนาดใหญ่ได้อยู่ ถ้าปล่อยให้ใช้สารเคมี จะทำให้ควายป่วยและตายได้ เท่ากับควายช่วยรักษาเวียงหนองหล่มไว้”
ทีมออกแบบถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมการเลี้ยงควายของชาวบ้านที่มีส่วนช่วยปกป้องธรรมชาติ ออกมาเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบ นั่นก็คือ กาสร วารี โดยใช้หนังเทียมมาตัดเป็นชิ้นส่วน แล้วเย็บประกอบขึ้นมาเป็นตุ๊กตาควาย และซ่อน “กบเหลาดินสอ” ไว้ข้างใน ได้เป็นตุ๊กตาควาย two in one วางโชว์ก็ได้ ใช้ประโยชน์ก็ได้
จี้ทองเหลืองทรงหัวควาย
นักออกแบบยังสะดุดใจกับเสียงกระดึงและท่าทางขึงขังของ “จ่าฝูง” เป็นที่มาของอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบคือสร้อยคอห้อย จี้ทองเหลืองทรงหัวควาย สื่ออารมณ์จ่าฝูง แฝงความเท่ในการดีไซน์ สะท้อนจิตสำนึกการปกป้องธรรมชาติ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดำเนินงานโครงการนี้โดยร่วมมือเทศบาลเมืองน่าน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) วัฒนธรรมจังหวัด สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ และบริษัทกุ๋ย แอ่น โค ในการจัดเก็บข้อมูล มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ใน 2 พื้นที่ดังกล่าว
“เราเลือกพื้นที่ 2 แห่ง คือ น่าน ซึ่งอยู่น่านในเกณฑ์ GSTC เป็นตัวอย่างที่ดี และเลือก เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งกำลังเริ่มต้นเข้าสู่เกณฑ์ประเมินของ GSTC เราให้น่านเป็นตัวอย่าง แล้วให้เชียงแสนเป็นรุ่นน้องตามเข้ามา” อ.พลวัฒ กล่าว
นิทรรศการ "Culture Alert Nature Alive วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ"
วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ
การแปลี่ยนร่างให้ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็น “สินค้า” คือเครื่องมือทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่สามารถกระจายให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วยกัน ซึ่งอ.พลวัฒมีความเชื่อใน “ทฤษฎีเกม” ที่ว่า
“ถ้าเราร่วมมือกัน ก็จะชนะทั้งคู่ หมายความว่าถ้าคุณซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา ชาวบ้านก็จะมีกำลังใจปกป้องธรรมชาติ”
อ.พลวัฒ พร้อมคณะทำงานและทีมนักออกแบบ นำผลงาน ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เกือบ 30 รายการ มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการชื่อ Culture Alert Nature Alive วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2564 - 9 มกราคม 2565 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผู้สนใจที่พลาดชมนิทรรศการ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการฯได้ทาง เพจเฟซบุ๊ค : เชื่อม รัด มัด ร้อย หรือหากต้องการซื้อลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โทร.0 5391 7003