มองหา "อาหารปลอดภัย" เพื่อ “กินอย่างยั่งยืน”
The Last Meal : Our Last Chance to Eat Right คือวงเสวนาเล็ก ๆ ที่ชวนนักกินคิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมฝากปัญหาให้รอแก้เพื่อให้ทุกคนใส่ใจกับ "อาหารปลอดภัย" และ “กินอย่างยั่งยืน”
เมื่อไม่นานมานี้ การพูดคุยในวงเสวนาเล็ก ๆ เพื่อหาทางออกในการ “กิน” ของมนุษย์ในชื่อ The Last Meal : Our Last Chance to Eat Right โดย Urban Creature ร่วมกับ Oxfam in Thailand ชวนผู้อยู่ในวงการอาหาร มาให้ข้อมูล-แลกเปลี่ยนความรู้ และหาทางออกในการผลิต อาหารปลอดภัย เพื่อให้คนไทยได้ กินอย่างยั่งยืน
ชื่องานเหมือนเป็นคำสั่งสุดท้ายกับ อาหารมื้อสุดท้าย เมื่อจะกินก็ต้องกินให้เป็น ในหัวข้อ “อนาคตและความยั่งยืนของห่วงโซ่อาหารไทย” ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ที่ร้าน Na Café at Bangkok 1899 ผู้ร่วมเสวนาคือผู้อยู่ในวงการอาหาร การผลิต และผู้มีส่วนกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
ผู้ร่วมเสวนา จากซ้าย นิทัสมัย รัญเสวะ, พัทธมน รุ่งชวาลนนท์, สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ และเชฟขุนกลาง ขุขันธิน
ได้แก่ พัทธมน รุ่งชวาลนนท์ Head of Solution Mapping UNDP Accelerator Lab Thailand, นิทัสมัย รัญเสวะ Head of Thailand Policy Lab, สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ ผู้บริหารร้าน Lemon Farm และ เชฟขุนกลาง ขุขันธิน ผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปไม่ใช้สารเคมี (Plant-based) แบรนด์ Trust me I’m CHEF
เซบิเช่ อาหารที่ร้าน Na Café at Bangkok 1899 ที่เลือกใช้อาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน
จุดประสงค์ : เพื่อสะท้อนว่า การผลิตอาหารทุกอย่างสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ทั่วโลกเผชิญอย่างไร และเรามีส่วนในพฤติกรรมของตัวเอง ทั้งการกิน การผลิตอาหารอย่างไร เพื่อส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และร่วมกันหาทางออกและสร้างจิตสำนึกในการเพื่อผลิต อาหารปลอดภัย และนำไปสู่การ กินอย่างยั่งยืน
สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ แห่ง Lemon Farm เปิดแนวคิด อาหารปลอดภัย ไว้ว่า
“เพราะอาหารเป็นจุดตั้งต้นของชีวิตที่ดี กินอาหารดี สมองดี สุขภาพดี มีความสุข แต่ทุกวันนี้ อาหารปลอดภัย แค่ไหน เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหรือสารเคมีเข้ามาในร่างกายแล้วสะสมไปเรื่อย ๆ เป็นสาเหตุของมะเร็ง แล้วเราจะเลือกอาหารอย่างไร
เราสามารถเลือกเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคได้หรือไม่ ความจริงคือเกษตรกรไทยใช้ยาฆ่าแมลงต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี อาหารทุกวันนี้จึงไม่ปลอดภัย 100%”
ผู้ร่วมเสวนาแต่ละคน นำเสนอข้อมูลและประสบการณ์ผ่านอาหารและกระบวนการผลิต เพื่อหาทางออกไปสู่ อาหารปลอดภัย ดีต่อผู้บริโภค มีหัวข้อดังนี้
Food Safety : ส้มอมพิษ ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง และมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ส้มเป็นผลไม้ที่อยู่คู่ชีวิตคนไทยมาแต่โบราณ แต่จากการตรวจสอบของ “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้าง 55 ชนิด เฉลี่ย 0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ 28 ชนิด
ธรรมชาติของส้มให้ผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ
อีกหนึ่งกลไกของตลาดที่ทำให้ส้มกลายเป็น ผลไม้อันตราย คือ ค่านิยม ในการเลือกซื้อส้มที่มีผลใหญ่ ผิวเรียบเนียน สีทองสวย ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องคัดเกรดส้มสวย ๆ เข้ามาจำหน่าย เพื่อให้ส้มมีผิวสวยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์”
(ภาพ: freepik.com)
การตรวจสอบย้อนกลับ Traceability : การผลิต อาหารปลอดภัย นำไปสู่คำถามเรื่อง การตรวจสอบย้อนกลับ Food Traceability ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิ์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ ส้ม อย่างถูกต้อง มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อรู้แหล่งที่มาและกระบวนการผลิตส้มตลอดปี ทั้งในและนอกฤดูกาล รวมถึงกระบวนการตรวจสอบสารเคมีตกค้างที่แหล่งจำหน่าย”
Ocean Sustainability : การรณรงค์ไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนและในแหล่งเพาะพันธุ์ มีรายงานว่าเมื่อปี พ.ศ.2504 เรืออวนลากจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยได้ชั่วโมงละ 298 กิโลกรัม ต่อมาปี พ.ศ.2555 ลดลงเหลือชั่วโมงละ 18.2 กิโลกรัม และในปริมาณที่จับได้เป็นลูกปลาเศรษฐกิจที่ยังโตไม่เต็มวัยร้อยละ 34.47
จากงานวิจัยพบว่า การจับสัตว์น้ำที่ยังโตไม่เต็มวัย มักมาจากการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ยั่งยืน ขนาดและประเภทไม่เหมาะสมโดยกวาดต้อนสัตว์น้ำที่ยังไม่โตพอจะแพร่พันธุ์ขึ้นมาด้วย เมื่อยิ่งจับเยอะย่อมทำให้วงจรความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติลดน้อยลง
นอกจากนี้ การวางขายสัตว์น้ำวัยอ่อนจึงเป็นการสนับสนุนการประมงเกินขนาดที่ทำร้ายระบบนิเวศทางทะเล
แนวทางแก้ไข : ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนใดคนหนึ่ง ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างรอบด้าน เช่น ภาครัฐออกกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น ชาวประมงในหลายจังหวัดปรับเปลี่ยนวิธีจับสัตว์น้ำ
ส่วนคนกินก็ต้องเลือก กินด้วยความรับผิดชอบ กินอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน
ไก่ไร้ฝุ่น : ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของทุกคน เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติภัยทางธรรมชาติ มนุษย์ การคมนาคม การเผาไม้เชื้อเพลิง กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยสาเหตุหลักจากการ “เผาไร่” ทางภาคเหนือ
ผู้ร่วมเสวนายกตัวอย่าง ไร่ข้าวโพด ที่ปลูกเชิงอุตสาหกรรม นิยมปลูกบนที่สูง เพราะมีผู้ผลิตอาหารรายใหญ่รับซื้อเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ เกษตรกรในภาคเหนือจึงนิยมปลูกข้าวโพด แต่เมื่อปลูกในปริมาณมาก ใช้พื้นที่มาก ก็ไม่มีวิธีจัดการกับ “ซังข้าวโพด” หรือต้นข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวแล้ว เกษตรกรจึงใช้วิธีที่ง่ายและเร็วที่สุดคือ การเผา
เกี่ยวอะไรกับไก่ : ข้าวโพดเป็นอาหารของไก่ จึงเป็นที่มาของ ไก่ไร้ฝุ่น ความหมายคือผู้บริโภคไก่ กลายเป็นหนึ่งในต้นตอของฝุ่นควันและ PM 2.5 เนื่องจากไก่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีปริมาณการผลิตและการบริโภคสูงกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น และไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปอันดับ 1 ของโลก และไก่เนื้อเป็นอันดับ 8 ของโลก
จากสถิติเมื่อปี 2563 เทียบกับ 2562 พบว่า ความต้องการบริโภคไก่เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านตัน และ ข้าวโพดคือพืชเศรษฐกิจและเป็นอาหารหลักของไก่ ที่ถูกกำจัดด้วยการเผา จึงส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5
แนวทางแก้ปัญหา : ถ้าคิดจะ กินอย่างยั่งยืน คงต้องหา ไก่ไร้ฝุ่น มากิน จากเกษตรกรที่เลี้ยงไก่อย่างยั่งยืน สุวรรณา ผู้บริหาร Lemon Farm ให้ข้อมูลว่า ไทยพยายามผลักดันตัวเองเป็น “ครัวโลก” แต่ใช้ทุนทรัพยากรธรรมชาติมากเหลือเกิน เช่น แบกรับภาระภูเขาหัวโล้น จากการปลูกข้าวโพดให้เป็นอาหารของไก่
Lemon Farm จึงเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยเพื่อผลิตอาหารที่ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น บริเวณต้นแม่น้ำวัง จ.เชียงราย เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ พื้นที่จึงแห้งแล้ง ยิ่งเมื่อถึงฤดูกาลเผาข้าวโพดก็ยิ่งเกิดฝุ่น แต่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก แต่ถ้าผู้บริโภคช่วยกันส่งเสียงดังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเสียงจะสะท้อนไปถึงผู้ผลิต
รณรงค์ไม่กินสัตว์น้ำวัยอ่อน
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางออกให้ชาวบ้านผู้ปลูกข้าวโพดให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น พืชผัก พืชไร่ ที่สามารถเก็บผลผลิตหมุนเวียนกัน เป็นรายวัน รายเดือน และรายปี เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี
อีกทั้งใช้กระบวน การตรวจสอบย้อนกลับ Food Traceability เช่นเดียวกับผักผลไม้ ไก่ไร้ฝุ่น ควรมาจากฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ไม่ได้กินอาหารจากการรุกป่า และผู้ขายไก่รับซื้อไก่ที่เลี้ยงโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
และแนะนำให้ภาครัฐออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ผลิตรายใหญ่ ที่ผลิตอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตรายเล็ก หรือเกษตรกรในชุมชนให้สามารถสู้ราคาได้ และมีผู้บริโภคสนับสนุนสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ที่น่าสนใจคือผลักดันให้รัฐออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีผู้ผลิตรายใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือทำลายสุขภาพ เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตในชุมชนสามารถสู้ราคาต้นทุนการแข่งขันได้มากขึ้น
และเพื่อให้เกษตรกรร่วมกันปลูกและผลิต อาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพประชาชน และประชาชนเองก็ต้องรู้จักวิธี กินอย่างยั่งยืน เพราะทุกอย่างอยู่ในห่วงโซ่อาหารเดียวกัน