6 ไฮไลท์เด็ด "Bangkok Design Week 2022" สายอาร์ตห้ามพลาดงานศิลป์ย่านพระนคร
“Bangkok Design Week 2022” กลับมาอีกครั้ง ถ้าสุดสัปดาห์นี้ยังไม่มีแพลนไปไหน ชวนไปเที่ยวชม 6 งานแสดง-นิทรรศการ ที่เราคัดมาแล้วว่าน่าสนใจ ในย่าน “เจริญกรุง” และ “พระนคร”
กลับมาอีกครั้งกับ “Bangkok Design Week 2022” ซึ่งปีนี้มีงานสร้างสรรค์เจ๋งๆ เกี่ยวกับ “อดีต” และ “อนาคต” มาให้ชมกันอย่างมากมาย ชวนมองย้อนอดีต ขบคิด กรั่นกรอง เพื่อค้นหาสิ่งที่ขาดหายไปจากภาวะโรคระบาดที่เข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของผู้คนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ถ้าสุดสัปดาห์นี้ยังไม่มีแพลนไปไหน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอชวนไปเดินเที่ยวชม 6 งานแสดง-นิทรรศการ ที่เราคัดมาแล้วว่าน่าสนใจ ในย่าน “เจริญกรุง” และ “พระนคร”
หมายเหตุ : งาน Bangkok Design Week จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 ใน 5 พื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้แก่ เจริญกรุง, พระนคร, อารีย์, สามย่าน และทองหล่อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. งาน Showcase & Exhibition (ที่ TCDC บางรัก)
อุ่นเครื่องกันด้วยงานจัดแสดงที่ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ TCDC ที่อัดแน่นไปด้วยแรงบันดาลใจ และช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เข้าชม โดยเราขอเลือก 3 งานที่น่าสนใจจากพื้นที่นี้ มาบอกเล่าให้ฟังดังนี้
- "ผ้าป่าดีไซน์วีค" หนึ่งในผลงานที่ถูกพูดถึงอย่างล้นหลาม เป็นการนำเสนอ “การรับบริจาคปัจจัยในรูปแบบใหม่” เมื่อบริจาคทานแล้ว ผู้บริจาคจะได้ “พระสติ : พระเครื่องที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล” กลับไปเป็นที่ระลึก ผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า การบริจาคที่ฉีกจากกรอบเดิมๆ มีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน
- “Back to Mother Earth by Patrika” นิทรรศการนี้นำเสนอโอกาส และแนวทางใหม่ๆ ในการปรับตัวเพื่อสร้างทางรอดในยุค New Normal ให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น, ฟื้นฟูระบบนิเวศ, ต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศ และอีกหัวข้อที่น่าสนใจคือ เราจะป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ ได้อย่างไร
- “Future Food” แน่นอนว่าโควิด-19 มีส่วนกระตุ้นให้เทรนด์ “อาหารในอนาคต” มาถึงเร็วขึ้น อาหารยุคใหม่ไม่ใช่กินเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วย รวมไปถึงอาหารทางเลือกอย่าง Plant-based และเทรนด์การกินอาหารยุคใหม่อีก 6 รูปแบบที่น่าสนใจ
- “Note Clay” จาก BAOJAI Studio เป็นงานแสดง “แผ่นข้อความเซรามิก” ที่สามารถทดแทนกระดาษที่ใช้เขียนแล้วทิ้ง และการใช้ข้อความในการสื่อสารแทนการพูดต่อหน้า ก็สอดคล้องกับวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อโรคในยุคโควิด-19 อีกด้วย
2. Peek to Future (รอบพื้นที่ เจริญกรุง-บางรัก)
“Peek to the Future” เป็นโปรเจคที่จะชวนผู้ชมไปตามหาความสนุกกับ "เมกะเทรนด์" (Mega Trends) ที่กำลังจะมาในอนาคต โดยได้แรงบันดาลใจจากการทำนายภาพในอนาคต (ATLAS OF WEAK)
ความสนุกอยู่ที่การใช้สมาร์ทโฟนส่อง QR Code แต่ละสถานที่ทั่วเจริญกรุง เพื่อค้นหาแนวคิดที่จะมีอิทธิพลในอนาคต เมื่อสแกนแล้ว ระบบจะเปิดฟิลเตอร์บนแอพพลิเคชั่น Instagram จากนั้นให้เราส่องบนฐานสี่เหลี่ยมที่กำหนด เพื่อให้วัตถุในฐานนั้นๆ แสดงขึ้น
หนึ่งในตัวอย่างที่ “ศาลเจ้าโรงเกือก” จะได้เห็น “เอไอ มหาเทวี เจ้าแม่สื่อรัก” (A.I. GODDESS OF LOVE) โดยฐานนี้ต้องการจะสื่อถึงเทคโนโลยี A.I. ที่เข้ามาดิสรัปวิถีชีวิตของมนุษย์ โดยมีโจทย์ที่ท้าทายว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์สายมูเหล่านี้จะเข้ามามีอิทธิพลในโลกอนาคตในรูปแบบนี้จริงหรือไม่? ชวนให้ขบคิดและหาคำตอบด้วยตัวเอง
ผู้ชมสามารถตามล่าลายแทงได้ในฐานทั้ง 8 จุด ดังนี้
- ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ชั้น 5
- ลานหน้าตึกไปรษณียกลาง
- บ้านพักตำรวจน้ำ
- ศูนย์การค้า ริเวอร์ ซิตี้ ชั้น 1
- อาคารชัยพัฒนสิน ชั้น 1
- พาทิน่า แบงค็อก ชั้น 1
- ศาลเจ้าโรงเกือก
- ท่าน้ำภานุรังษี
3. Mentalverse (ที่ River City บางรัก)
งานฉายสารคดีสั้น “Mentalverse : จักรวาลใจ” จะพาไปรู้จักกับ “โลก-ซึมเศร้า” จักรวาลที่เด็กรุ่นใหม่เผชิญเรื่องราวมาตั้งแต่เกิด โตมาในช่วงต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งพอเรียนจบในยุคปัจจุบัน ก็ดันมาเจอเรื่องวุ่นวายในสังคม รวมถึงโรคระบาดที่มาขัดขวางการเติบโต ความก้าวหน้าในชีวิต และการสร้างอนาคตในวัยที่ควรจะได้ทำ
ระหว่างทางสารคดีนี้จะพาทุกคนย้อนสำรวจเรื่องราวอดีตในใจเรา (Revisit) เพื่อชี้ให้เห็นว่า มนุษย์นี้ไม่ว่าใครก็ไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราทุกคนสามารถที่จะรู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ และสิ้นหวังได้ แต่หากถอดรหัสเรื่องต่างๆ ในใจได้แล้ว จะพบว่า ในโลกนี้..แท้จริงแล้วไม่มีกรอบอะไรที่จะมาครอบงำพวกเราไว้จริงๆ
เมื่อสำรวจตัวเองเสร็จ ช่วงท้ายของสารคดีจะพาให้เราคิดตามว่า เราจะปล่อยวาง-มองรอยบาดแผล ที่เกิดขึ้นให้สวยงามได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้จะช่วยปลดล็อคเรื่องราวเหล่านั้นให้กับผู้ชม หากเราอนุญาตให้ตัวเองก้าวผ่านปมไปได้ เมื่อนั้นเราจะได้รับอิสระ
คำเตือน: การรับชมสารคดีนี้ มีเนื้อหาบางส่วนที่กระทบจิตใจ โปรดสำรวจความพร้อมจิตใจตนเองก่อนรับชม
4. FLAW.GEOUS (ที่ Patina Bangkok พระนคร)
"FLAW.GEOUS" งานจัดแสดงที่จะพาไปชื่นชม “ความงามของความไม่สมบูรณ์แบบ” (Celebrating Beauty of Imperfection) ผ่านวัตถุและข้าวของต่างๆ เช่น งานหัตถกรรม สิ่งของ ผ้าทอ ภาชนะ เครื่องประดับต่างๆ
โดยมีแนวคิดตั้งต้นจากบาดแผลในจิตใจของคนจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งความสูญเสีย ความผิดหวัง ความไม่แน่นอน ความเจ็บปวด ซึ่งต้องการให้กลับมามอง “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ของทุกสิ่งว่า ความไม่สมบูรณ์นั้นก็สวยงาม และให้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในอนาคตด้วย
ยกตัวอย่างเช่นในงานจะมี “นาฬิกาไม้” ที่ชวนเราตั้งคำถามว่า ของบางสิ่งที่เคยมีความหมายในอดีต แต่ในยุคปัจจุบันมันยังมีคุณค่ามากพอให้คนยุคนี้มองเห็นหรือไม่?
“งานเครื่องสาน” หากไม่สานลวดลายในแพทเทิร์นแบบเดียวกัน แล้วจะดูอย่างไรให้เห็นว่ามันสวยงาม? การได้เห็นรายละเอียดภายในจากจุดที่ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน ก็อาจทำให้เห็นคุณค่าอะไรใหม่ๆ ได้
หรืองานออกแบบ “ผ้าฝ้ายเชิงดอยที่ย้อมจากสีหินภูเขา” ที่ดูขุ่นมัว หลายคนมองว่าไม่สวย แต่เมื่อมองด้วยแนวคิด Wabi-sabi ปรัชญาเชิงญี่ปุ่น ที่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นเนื้อแท้ของธรรมชาติ ก็ทำให้เราพบว่าเสื้อผ้าเหล่านี้ก็สวยงามไม่แพ้เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดในเมืองหลวงเช่นกัน
5. Future Paradise (ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ พระนคร)
“Future Paradise” นิทรรศการนี้ชวนให้จินตนาการว่า “ของตกแต่งภายในบ้าน” (โคมไฟ, โต๊ะ, เฟอร์นิเจอร์) อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และการให้คุณค่าต่อผลงานเหล่านี้ของคนในสังคม ส่งผลต่อไอเดียในการออกแบบสิ่งของในอนาคตแค่ไหน?
เช่น “การทำงานคราฟต์” (Craft) ทำด้วยมือของตนเอง อาจเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตของทุกคนจนเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่สิ่งของเล็กๆ เช่น โคมไฟ หรือของใหญ่ๆ พวกโต๊ะ เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ภาชนะ จาน ชาม แก้ว โดยเฉพาะจานกระเบื้อง จะยังเป็นจุดศูนย์รวมในการเชื่อมโยงผู้คนอดีตและปัจจุบันอยู่หรือไม่ รวมไปถึงเทคนิคเย็บผ้าโบราณ จะผสานกับวัสดุสมัยใหม่ให้เกิดแสงและเงาที่ดูสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติขนาดไหน ตามมาดูผลงานอื่นๆ ได้ที่งานนิทรรศการนี้
6. New World x Old Town (ที่ห้างนิวเวิลด์ พระนคร)
นิทรรศการ “นิวเวิลด์ โอลทาวน์” เป็นการเล่าเรื่อง “ย่านบางลำพูในอดีต” โดยโจทย์สำคัญคือต้องการฟื้นฟูพัฒนาย่านบางลำพู ผ่านงานสร้างสรรค์ แสง สี เสียง จัดขึ้น ณ ห้างนิวเวิลด์ ซึ่งเคยเป็นห้างที่เฟื่องฟูของย่านนี้ในอดีต (งานจัดแสดงมีด้วยกัน 9+1 ฐาน)
- “แสงสะท้อน” จะพาผู้ชมไปเห็นจุดเริ่มต้นและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของย่านบางลำพูในช่วงอดีตที่ผ่านมา
- “ลมหายใจของที่นี่” ตกแต่งด้วยชุดนักเรียน เสื้อผ้า ธงชาติ เครื่องสังฆภัณฑ์ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้เห็นว่าย่านนี้เติบโตเพราะมีสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อน
- อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ห้ามพลาดคือ การรับรู้ประสบการณ์ในอดีตผ่าน “การฟังเสียง” เช่น เสียงพูดของคนแถวนั้น การทำพิธีกรรมทางศาสนา เสียงรถเข็นค้าขาย เสียงกวาดถนน และบทสนทนาของคนในอดีตที่สะท้อนความรุ่งเรืองของห้างนี้ มีด้วยกัน 3 ฐาน คือ เสียงแห่งชีวิตบางลำพู, มาๆ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง, เสียงจากถนนข้าวสาร
- และฐานสุดท้าย “หิ่งห้อย” ที่เป็นตัวแทนความสวยงามในอดีต ซึ่งส่องสว่างชีวิตที่สวยงามของบางลำพู ชวนให้คิดว่าหากปัจจุบันกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้งจะดีแค่ไหน และเมื่อประกอบกับเสียงเพลง “เขาไม่ว่างมาบางลำพู” ของนักร้องลูกกรุง “รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส” ที่เปิดตอนจบ ทำให้ยิ่งเห็นภาพจำในอดีตได้อย่างสมบูรณ์
ปล. นิทรรศการนี้สร้างสรรค์ ติดตั้ง และออกแบบเสียงโดยทีมงานคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร