เปิดที่มา "Bangkok" (บางกอก)กับ "Krung thep Maha Nakhon"(กรุงเทพมหานคร)

เปิดที่มา "Bangkok" (บางกอก)กับ "Krung thep Maha Nakhon"(กรุงเทพมหานคร)

การเปลี่ยนชื่อ "Bangkok" (บางกอก)มาเป็น "Krung thep Maha Nakhon" (กรุงเทพมหานคร) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามว่า ครม.ไม่มีอะไรทำหรือ ก่อนอื่นมารู้จักเรื่องราวประวัติศาสตร์บ้านเกิดพวกเราสักนิด

“คนทั่วโลกรู้จักกรุงเทพฯในนามบางกอก จาก Bangkok คนไปเรียนที่อังกฤษ แฟมิลี่ถามว่า ยูมาจากประเทศอะไร บอกว่ามาจากไทยแลนด์ไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า มาจาก "Bangkok" เขาจะอ๋อทันที” หนึ่งในความเห็นคนไทย  

การเรียกเมืองหลวงไทยว่า Bangkok เป็นคำที่คนทั่วโลกรู้จักดี และถ้าต้องมาปรับชื่อกรุงเทพฯ ภาษาอังกฤษจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon

แม้จะเป็นมติ ครม. และประกาศของราชบัณฑิตฯ ซึ่งหน่วยงานราชการทั้งหมด ต้องปฏิบัติใช้ตามระเบียบสารบรรณ ของสำนักนายกฯ ก็ย่อมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ล้นหลาม

ชื่อดั้งเดิมบางกอก (ฺBangkok)

กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เดิมก็เป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า "บางกอก" มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เนื่องจากเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลและติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่างๆ เป็นเมืองหน้าด่านขนอน คอยดูแลเก็บภาษีกับเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก

ส่วนบริเวณปากน้ำตรงอ่าวไทย เรียกกันว่า "นิวอัมสเตอร์ดัม" มีชุมชนใหญ่และโกดังของชาวต่างประเทศไว้สำหรับพักสินค้า ปัจจุบันคือ พื้นที่บริเวณอำเภอพระประแดง

ส.พลายน้อย นักเขียนประวัติศาสตร์ บันทึกไว้ว่า คำว่า "บางกอก" เป็นคำที่ประชาชนคนสามัญเรียกติดปากมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้นเป็นเพียงตำบลที่มีหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งเท่านั้น ตำบลบางกอกที่กล่าวนี้ เป็นตำบลที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ก็ลำน้ำเจ้าพระยาเดิมนั้นไม่ตรงเหมือนเช่นทุกวันนี้

จึงสันนิษฐานว่าคำว่า บางกอก อาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก" หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า "บางมะกอก"

เปิดที่มา \"Bangkok\" (บางกอก)กับ \"Krung thep Maha Nakhon\"(กรุงเทพมหานคร)

โดยคำว่า "บางมะกอก" มาจากวัดอรุณ  ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก

หมอสมิธ มัลคอล์ม แพทย์หลวง กล่าวไว้ในหนังสือ A Physician at the Court of Siam ว่าชื่อบางกอกมาจากคำว่า บาง คือ หมู่บ้านหนึ่ง กอก ซึ่งเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง (Spondias pinnata) อันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวยุโรป และว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในไทยสมัยศตวรรษที่ 16 เป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้

แต่ในหนังสือจดหมายรายวันของท่านบาทหลวงเดอ ชวาสี ซึ่งหลวงสันธานวิทยาสิทธิ์ เป็นผู้แปลและเรียบเรียง ได้ให้เหตุผลไว้ว่า บางกอกคือ จังหวัดธนบุรี บางแปลว่า "บึง" กอกแปลว่าน้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดินหรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน แต่ไม่ได้บอกว่ากอกนั้นเป็นภาษาอะไร

ในแผนที่ และเอกสารของชาวตะวันตก ปรากฏชื่อเขียนต่างๆ กัน เช่น Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancocq, Bancock

ส่วนคำว่า Bangkok เป็นคำที่สังฆราชฝรั่งเศสใช้เขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีสเป็นประจำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรไปถึงพวกฝรั่งก็ทรงใช้คำนี้ จึงได้ถือเป็นคำทางการตลอดมา

ชื่อยาวๆ "กรุงเทพมหานคร"(Krung Thep Maha Nakhon)

หลายคนคงจำชื่อเพลง กรุงเทพมหานคร ได้ว่าชื่อเต็มยาวมากๆ

"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ 

โดยมีความหมายว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้"

ว่ากันว่า นามเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานในตอนแรกนั้น ใช้ชื่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ จนเป็นที่มาของชื่อเต็มของกรุงรัตนโกสินทร์ 

ชื่อทางการของกรุงเทพมหานคร เมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ "Krung Thep Maha Nakhon" สำหรับต่างชาติ ชื่อ "Bangkok" มาจากการทับศัพท์คำว่าบางกอกเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ เดอ ลามาร์ (De Lamar) ได้ก่อสร้างป้อมบางกอก ซึ่งเป็นป้อมดาวขนาดใหญ่ ปัจจุบันถูกแปรรูปเป็นโรงเรียนราชินี, มิวเซียมสยาม และบางส่วนของวัดโพธิ์ 

โดยปัจจุบันชาวต่างชาติ ยังคงใช้ชื่อนี้เรียกเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุด (169 ตัวอักษร)ในโลกบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ค และชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร เมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ

"Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit"

เรื่องราวประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ

นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสั่งย้ายพระนครจากกรุงธนบุรีมาฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี เนื่องจากมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก

เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่เกินครึ่ง หากข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างตะวันตก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่

ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2325 ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนใหม่ขึ้น ทรงดำริให้ตัดถนนเจริญกรุง เป็นถนนเส้นแรกในกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 

และเปลี่ยนรูปแบบผังเมืองกรุงเทพมหานคร เฉกเช่น อารยประเทศ เนื่องจากในสมัยนั้นถูกคุกคามจากมหาอำนาจยุโรป และตรงจุดนี้เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่มหาอำนาจนำมาใช้เพื่อแทรกแซงและคุกคามสยามประเทศ

ภายหลัง ต่างชาติยุโรปเองได้ยอมรับกรุงเทพมหานคร ว่า เป็นหนึ่งในเมืองที่มีผังเมืองงดงามที่สุดในโลกในสมัยนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อกรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ

........

อ้างอิง

-เล่าเรื่องบางกอก ส.พลายน้อย,มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม และวิกีพีเดีย 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์