เก็บฝีมือช่างไทยผ่าน 10 สินค้า "ICHAMP ระดับเพชร" ในงาน CCPOT Grand Exposition
สวยสะกดใจ 10 สินค้า "ICHAMP ระดับเพชร" ในงาน CCPOT Grand Exposition ผลิตภัณฑ์จากมรดกวัฒนธรรมจากเหนือจรดใต้ สร้างสรรค์โดยชุมชนไทยร่วมกับนักออกแบบร่วมสมัย
เครื่องมือใหม่ของ "กระทรวงวัฒนธรรม" CCPOT Grand Exposition (ซีซีพ็อต แกรนด์ เอ็กซ์โปสิชั่น) หรือ “งานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย” มีสินค้าที่สร้างสรรค์จากวัฒนธรรมชุมชนไทยแตกต่างกันหลายกลุ่มมาก แต่ละกลุ่มล้วนมีเอกลักษณ์และความน่าสนใจโดดเด่น
หนึ่งในนั้นคือกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภท สินค้า ICHAMP ระดับเพชร หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์จากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นบัญชี ประกอบด้วย 10 ผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการสร้างสรรค์โดยชุมชนร่วมกับนักออกแบบ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์เชื่อมโยงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สู่การใช้งานในชีวิตประจำวัน เพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์
10 สินค้า ICHAMP ระดับเพชร
เก้าอี้เงินแสนตอก
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเครื่องเงินไทย
ย่านวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเสียงเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่เก่าแก่มายาวนาน เป็นที่รู้จักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วไปถึงความประณีตในชิ้นงานจากกรรมวิธีการ ดุนลาย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ ‘ช่าง’ หรือ ‘สล่า’ ใน ชุมชนวัดศรีสุพรรณแห่งย่านวัวลาย มีความชำนาญ
งานบุลายฝีมือ "สล่าย่านวัวลาย" บน "เก้าอี้เงินแสนตอก"
เก้าอี้เงินแสนตอก"
ปัจจุบัน "ช่างเงินย่านวัวลาย" นิยมผลิตวัตถุดิบเงินเป็นเครื่องประดับ และเครื่องใช้ขนาดเล็กเป็นหลัก
เก้าอี้เงินวัวลาย ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อต่อยอดความเชี่ยวชาญในการตอกดุนลายแผ่นเงินให้เกิดลวดลายในบริบทที่แตกต่างภายใต้ทักษะเดิม นั่นคือ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งประยุกต์การวางโครงสร้างการตอกลายแบบ อาร์ตเดโค (Art Deco) ร่วมกับลวดลายดั้งเดิมของชุมชน
เก้าอี้เงินวัวลายชิ้นนี้จึงเป็นหลักฐานการยืนยันว่าระยะเวลาที่ยาวนาน นับตั้งแต่งานช่างฝีมือเครื่องเงินได้เริ่มต้นขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้จางหาย แต่ได้รับการถ่ายทอดให้คงอยู่ถึงปัจจุบันในรูปแบบใหม่ที่ร่วมสมัยยิ่งขึ้น และยังคงก้าวผ่านกาลเวลาด้วย คุณค่างานตีมือ เพราะเครื่องโลหะเงินหนึ่งลายใช้การตีมือนับร้อยครั้ง เครื่องโลหะเงินหนึ่งชิ้นใช้การตอกมือนับแสนครั้ง นั่นจึงเป็นที่มาของเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเอกชิ้นเดียวในโลก “เก้าอี้เงินแสนตอก”
ช็อกโกแลตทุเรียนนนท์
ช็อกโกแลตทุเรียนนนท์
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทุเรียนนนท์
จังหวัดนนทบุรีเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อันเนื่องมาจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และจาก ภูมิปัญญาของชาวสวนนนทบุรี และ ภูมิปัญญาในการคัดเลือกสายพันธุ์ทุเรียน จึงทำให้ได้ผลทุเรียนเนื้อหนา ละเอียดนุ่ม รสชาติหวานอร่อย เปลือกบาง แกะง่าย และกลิ่นหอม
แต่เมื่อชาวสวนนนทบุรีประสบปัญหาน้ำท่วมหลายครั้งหลายหน ทำให้ต้นทุเรียนล้มตายเป็นจำนวนมาก ผลผลิตของทุเรียนนนท์จึงไม่มากเท่าในอดีต การซื้อขายมักต้องสั่งจองล่วงหน้าจากเจ้าของสวนโดยตรง ทุเรียนนนท์ในปัจจุบันจึงมีราคาสูง และเป็นที่ ต้องการของตลาดต่างประเทศ
The Chocolate Factory แบรนด์ Craft Chocolate สัญชาติไทย ผู้สร้างสรรค์ช็อกโกแลตให้คนไทยได้ลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่อยู่เสมอ ด้วยวัตถุดิบช็อกโกแลตชั้นดีจากทั่วโลกได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม สานต่อมรดกวัฒนธรรมของชาติ ทุเรียนนนท์ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ ช็อกโกแลตทุเรียนนนท์ โดยการผสาน ช็อกโกแลตระดับพรีเมียมเข้ากับทุเรียนระดับพรีเมียม เฉพาะในช่วงฤดูกาลทุเรียน
“ช็อกโกแลตทุเรียนนนท์” โดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ เดอะช็อกโกแลตแฟคทอรี่ จึงเป็นผลผลิตของผลไม้ไทยกับของหวานสากลที่รวมตัวกันได้อย่างลงตัว
ลวดลายบน "ฉากใหญ่" ลดทอนจากลวดลายดั้งเดิมของ "หนังใหญ่"
ฉากใหญ่ หรือ “ฉากกั้นห้อง”
ฉากใหญ่
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหนังใหญ่
หนังใหญ่ เป็นศิลปะการแสดงที่เก่าแก่รูปแบบหนึ่งของไทย เป็นการแสดงที่ใช้ตัวหนังขนาดใหญ่เป็นตัวละครโดยมีผู้เชิดให้เกิดเงาบนจอ และใช้การพากย์ การเจรจาเป็นการดำเนินเรื่อง
หลักฐานที่กล่าวถึง หนังใหญ่ ที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา หนังใหญ่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหรสพชั้นสูง ใช้แสดงในงานพระราชพิธีและงานสำคัญของแผ่นดิน
ผลิตภัณฑ์ ฉากใหญ่ หรือ “ฉากกั้นห้อง” ชิ้นนี้ ได้แรงบันดาลใจจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “หนังใหญ่” เป็นการประยุกต์งานฝีมือฉลุลายด้วย ทักษะการฉลุหนัง โดยคณะหนังใหญ่วัดขนอน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หนึ่งในสามคณะที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ต่อยอดสู่งานออกแบบฉากบานพับสำหรับงานตกแต่งภายใน โดยใช้ลวดลายที่เป็นองค์ประกอบบางส่วนจากลวดลายดั้งเดิม ลดทอนรายละเอียดเพื่อง่ายต่อการใช้งานยุคปัจจุบัน บนโครงสร้างกรอบที่ได้แรงบันดาลใจจาก “ไม้ตับ” หรือไม้คาบตัวหนังสำหรับจับหนังเชิด
ลวดลายบนกรอบ "กระจกลิเก" เป็นฉากท้องพระโรง
กระจกลิเก
กระจกลิเก
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลิเก
ลิเกทรงเครื่อง เป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคกลาง เริ่มมีขึ้นในราวปีพ.ศ.2450 โดยพระยาเพชรปาณี จัดแสดงครั้งแรกที่โรง (วิก) ใกล้ป้อมพระกาฬ ริมคลองโอ่งอ่าง ตรงข้ามวัดราชนัดดาราม
สินค้า กระจกลิเก เป็นการหลอมรวมภาพจำของลิเกทรงเครื่องให้เกิดขึ้นร่วมกัน ถ่ายทอดผ่านกระจกเงาสำหรับแต่งองค์ทรงเครื่องด้านหลังเวทีก่อนขึ้นทำการแสดง โดยสร้างสรรค์เป็นกระจกเงาเต็มตัวแบบตั้งพื้น
ลวดลายของกรอบกระจกใช้องค์ประกอบจากสีสันสดใสของฉากท้องพระโรงในการแสดงลิเก ประดับทับด้วยคริสตัลเม็ดใหญ่เอกลักษณ์ของการปักเพชรชุดพระเอกลิเก
กระจกลิเกชิ้นนี้จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนอัตลักษณ์ ตัวตน บทบาทหน้าที่ต่อการสานต่อมรดกวัฒนธรรมของชาติตั้งแต่หลังฉากจนถึงหน้าเวที ที่ต้องแข่งขันกับความบันเทิงหลากหลายรูปแบบบนโลกที่กำลังเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว
แมวไทยกวักมงคล
แมวไทยกวักมงคล
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตำราแมวไทย
แมวไทยจัดเป็นแมวพันธุ์แท้ ที่สืบเชื้อสายมาจากแมวโบราณ เป็นสัตว์ขนสั้นที่สวยสง่าที่สุดในโลก “ตำราแมวไทย” เป็นตำราการดูลักษณะแมว เดิมมีปรากฏในสมุดข่อยโบราณซึ่ง กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับแมวไทยที่เป็นคุณและเป็นโทษ แมวไทยกวักมงคล จึงเป็นการผสานความเชื่อเรื่องแมวไทยที่เป็นมงคลแก่ผู้เลี้ยงและยังไม่สูญพันธุ์ ทั้งหมด 4 ชนิด ในท่าทางการกวักเรียกสิ่งดีงาม ได้แก่
- แมววิเชียรมาศ เชื่อว่าจะนำพาโชคลาภให้ผู้เลี้ยง
- แมวมาเลศ หรือ แมวสีสวาด เชื่อว่าจะมีแต่ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุน
- แมวโกนจา หรือแมวดำปลอด เชื่อว่าส่งเสริมการงาน และวาสนา
- แมวศุภลักษณ์ เชื่อว่าหากเลี้ยงไว้จะช่วยเสริมในเรื่องลาภยศและการค้าขาย
สินค้าแมวไทยกวักมงคล เป็นผลงานของศูนย์อนุรักษ์แมวไทย ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
องค์ประกอบชุด "โนรา ราตรี"
โนรา ราตรี
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโนรา
ปี พ.ศ.2565 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน โนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
โนรา เป็นศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้มาช้านานและยังได้รับความนิยม ไปตลอดสองฟากฝั่งของคาบสมุทรอินโดจีน เป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์จาก เล็บต่อยาวที่ทำด้วยโลหะ สวมปีกหางคล้ายนกเทริดทรงสูง บนเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี ยากมีแห่งใดเสมอเหมือน
นำมาสู่การออกแบบชุด “โนรา ราตรี” เพื่อสื่อถึงความงดงาม ดังประกายระยับของแสงดาวบนฟ้า อีกทั้งแสงตะวันที่สาดสะท้อนบนผิวน้ำทะเลใส
โครงชุดทำจากผ้าใยยืดทอมือ เพื่อสร้างความรู้สึกที่สวมใส่แล้วสบายตัว รูปทรงรัดตรึง แต่กลับเพิ่มลูกเล่นด้วยมวลผ้ากองย่นปลายแขนอย่างน่าค้นหา ก้าวข้ามยุคสมัย และ ด้วยความยืดหยุ่นของตัวผ้าทำให้สามารถนำลวดลายลูกปัดหลากสีจากชุดที่ใส่เฉพาะเพื่อการแสดง มาอวดโฉมงดงามในยามค่ำคืนได้อย่างหรูหรา สง่างาม สมค่าแห่งราตรีที่มาเยือน สร้างสรรค์โดย ชนะชัย จรียะธนา ดีไซเนอร์แบรนด์ Fri27Nov.
ภาพมวยไทยที่แถบเสื้อคลุมมวยไทย วินเทอร์ วินเนอร์
เสื้อคลุมมวยไทย วินเทอร์ วินเนอร์
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมวยไทย
มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ของชาติไทย เริ่มมีและใช้มาตั้งแต่สงครามในอดีต มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการใช้ร่างกายเป็นอาวุธ ด้วยสองหมัด สองศอก สองเข่า สองเท้า และศีรษะ ต้องมีการเตรียมพร้อมด้านร่างกาย จิตใจ และไหวพริบเพื่อที่จะรุก รับ และตอบโต้ด้วยแม่ไม้มวยไทย หรือลูกไม้มวยไทย ก่อให้เกิดอาวุธการต่อสู้ที่มีอานุภาพ
“มวยไทย” สร้างปรากฎการณ์ศิลปะการต่อสู้ดังก้องเกรียงไกรไปทั่วโลก จนชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบกีฬาการต่อสู้สามารถเรียกหรือเข้าใจคำว่ามวยไทย แม้จะเขียนเป็นตัวอักษรไทย จนถึงเขียนภาษาอังกฤษเป็นคำทับศัพท์ว่า “MUAY THAI” แทนที่ THAI BOXING
มวยไทยเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาและประเทศจีน โดยในหลายประเทศเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มเมืองหนาว ซึ่งมีภูมิอากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่
เพื่อให้มรดกวัฒนธรรมมวยไทย ได้รับการสื่อสารอย่างเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในประเทศเหล่านั้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าให้กับ ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ชนะชัย จรียะธนา ดีไซเนอร์แบรนด์ Fri27Nov. ได้สานต่อมรดกมวยไทยอย่างยั่งยืนผ่านการออกแบบ เสื้อคลุม WINTER WINNER ที่ออกแบบพัฒนาจากมรดกวัฒนธรรมมวยไทย โดยใช้วัสดุขนสัตว์เทียมที่มีความอบอุ่นสำหรับชาวต่างชาติผู้ชื่นชอบกีฬามวยไทย เข้ากับบริบทการเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศ ใช้โทนสีพร้อมลูกเล่นอัตลักษณ์ของแม่ไม้มวยไทยเป็นแถบคาดให้มีความเข้มแข็ง สง่างาม และลงตัว
ลวดลายอุบลราชธานีศรีวนาลัย
ฐานเทียนอโรมาอุบลราชธานีศรีวนาลัย
ฐานเทียนอโรมาอุบลราชธานีศรีวนาลัย
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประเพณีแห่เทียนพรรษา
การแห่เทียนพรรษาใน วันเข้าพรรษา ของชาวพุทธได้กระทำต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และ สังฆบูชา เนื่องจากสมัยก่อนตลอดระยะเวลาการเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้นเพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ สำหรับจุด ให้แสงสว่าง
การตกแต่งต้นเทียนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชามีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง มีการแกะสลักลวดลายส่วนลำต้นอย่างวิจิตร ในส่วนฐานเทียนมักสร้าง หุ่นแสดงเรื่องราวทางศาสนาและความเป็นไปในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น จนกลายเป็นประเพณีแห่งการสร้างสรรค์ประติมากรรมเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่
สินค้า ฐานเทียนอโรมาอุบลราชธานีศรีวนาลัย เป็นการประยุกต์เทคนิคทำเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ โดยนำขี้ผึ้งเหลวมาเทใส่พิมพ์ที่มีลวดลายโบราณตามแบบฉบับ ลายอุบลราชธานีศรีวนาลัย จากนั้นนำมาแกะเพื่อให้เกิดความอ่อนช้อย แล้วนำไป ติดบนผิวไม้ทรงกระบอก ด้านบน ฝังภาชนะทองเหลือง
หัตถกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านปะอาว จังหวัดอุบลราชธานี “ฐานเทียนอโรมาอุบลราชธานีศรีวนาลัย” จึงเป็นผลลัพธ์ของการรวมกันของงาน ช่างฝีมือติดพิมพ์เทียน และ งานหัตถกรรมทองเหลือง สองทักษะอันภาคภูมิใจของชาวอุบลฯ เพื่อให้เกิดการใช้งานในชีวิตประจำวัน ได้อย่างหลากหลาย เช่น ใช้สำหรับตกแต่งภายในรีสอร์ทหรือสปา นอกเหนือจาก การทำขึ้นเพียงเฉพาะวันเข้าพรรษา
กระเป๋าเรซิ่นตีนจก
กระเป๋าเรซิ่นตีนจก
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมซิ่นตีนจก
ซิ่นตีนจก คือ ผ้าซิ่นที่มีโครงสร้าง 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนตีน ที่ทอด้วยกลวิธีจก การต่อเชิง (ตีนซิ่น) มีลวดลายพิเศษต่างจากผ้าซิ่นที่ใช้ปกติในชีวิตประจำวัน
ลวดลายจกที่นำไปต่อซิ่นเรียกว่า ตีนจก มีแหล่งผลิตสำคัญ (ที่ยังคงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะถิ่น) อยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
“จก” เทคนิคสำคัญของการทอผ้าซิ่นตีนจก เป็นการทอลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษ เข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า
การจกจะใช้ไม้ หรือขนเม่น หรือนิ้วก้อย ยกขึ้นจก (ควัก) เส้นด้ายสีสันต่างๆ ขึ้นมาบนเส้นยืน ให้เกิดลวดลาย
กระเป๋าเรซิ่นตีนจก เป็นผลงานการนำชิ้นส่วนของตีนซิ่นซึ่งใช้กระบวนการอันเป็นเอกลักษณ์คือการ “จก” มาสตัฟฟ์ (STUFF) ด้วยการหล่อเรซิ่นใสเป็นกระเป๋าทรงกล่องผืนผ้าที่บันทึกหัวใจสำคัญของ ภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวไทพวน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ลวดลายปูนปั้นเพชรอาลัว
ปูนปั้นเพชรอาลัว
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร
ปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร มีเอกลักษณ์เฉพาะในด้านกรรมวิธีการผลิต ปูนเพชร มีความเหนียว สามารถปั้นเป็นรูปต่างๆได้ ทนทานต่อแดดและฝนได้ดี เนื้อปูนสร้างลวดลายให้พลิ้วไหวได้อย่างที่สุด จึงนิยมใช้ตกแต่งประดับสถาปัตยกรรม เช่น โบสถ์ วิหาร
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว จึงนำมาสู่การต่อยอดการใช้งานในยุคปัจจุบัน เป็นปูนปั้นตกแต่งผนังที่มีรูปแบบทันสมัย และเนื่องด้วยในปี พ.ศ.2564 UNESCO ประกาศให้ จังหวัดเพชรบุรีเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกด้านอาหาร ผลงานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรชิ้นนี้ จึงใช้แรงบันดาลใจจาก อาลัว หนึ่งในขนมหวานขึ้นชื่อของเมืองเพชรบุรี
ปูนปั้นเพชรอาลัว จึงเป็นผลงานที่สะท้อนตัวตนด้านศิลปะด้าน อาหาร และด้าน จิตวิญญาณการปั้นปูน ของชาวเพชรบุรี ที่ส่งต่อถึงไลฟ์สไตล์ผู้คนยุคปัจจุบันได้อย่างไม่สิ้นสุด และยังสามารถออกแบบใหม่ให้ได้ตามความต้องการของแต่ละคน
ผู้สนใจ สามารถเข้าชมสินค้าของจริง ICHAMP ระดับเพชร ทั้ง 10 ชิ้นได้ภายใน งานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย หรือ CCPOT Grand Exposition ระหว่างวันที่ 16 - 20 กุมภาพันธ์ 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และลาน พาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน
บ้านอยู่ไกลสยามพารากอน สามารถรับชมงานในรูปแบบ Online Virtual Exhibition พร้อมสั่งซื้อสินค้าและพรีออร์เดอร์ได้ที่ เว็บไซต์ CCPOT
-----------------------------
ภาพโดย : ศุกร์ภมร เฮงประภากร