โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ นั่งจิบกาแฟอ่านหนังสือเก่าในอาคารประวัติศาสตร์
ทำความรู้จัก “โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ” หนึ่งในสถานที่จัดงาน Bangkok Design Week 2022 ซึมซับความคลาสสิกสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ชมงานดีไซน์ล้ำสมัย การแสดงแสงไฟ อ่านหนังสือเก่า พร้อมจิบกาแฟจาก Craftsman Roastery
Bangkok Design Week 2022 หรือ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565” มีสถานที่จัดงานที่น่าสนใจหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อปีพ.ศ.2438 ถือกันว่าเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ย่านเสาชิงช้าของกรุงเทพฯ เป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรในชื่อ "อาคารบำรุงนุกูลกิจ" ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542
แม้ผ่านมา 127 ปี แต่ลักษณะภายนอกของ อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ยังคงความสวยงามอยู่มาก เป็นอาคารหลังคาทรงปั้นหยา ตัวอาคารสร้างแบบ “ก่ออิฐถือปูน” มีความสูง 2 ชั้น งดงามด้วยสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่ผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมคลาสสิกและสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย
คือมีการสร้างเสาคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมสำหรับรับน้ำหนัก ฝังอยู่ในผนังอาคาร หัวเสาเป็นฐานทรงสี่เหลี่ยมแผ่ออกเพื่อรับส่วนที่เป็นคานของอาคารแต่ละช่วง
ตัวอาคารตกแต่งโดดเด่นด้วยงานปูนปั้นเป็นลวดลาย และงานไม้ฉลุลายประดับเหนือหน้าต่างและบานประตู
สถาปัตยกรรมอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ (ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต)
รายละเอียดงานประดับภายนอกอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ (ภาพ : CEA)
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ก่อตั้งขึ้นโดย หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) ปลัดกรมอัยการ ก่อนออกจากราชการมาทำธุรกิจโรงพิมพ์เต็มตัว รับพิมพ์หนังสือแบบเรียน หนังสือธรรมะ หนังสือที่ระลึกงานศพ หนังสือราชการ รวมถึงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเคยตีพิมพ์อยู่จนถึงปีพ.ศ 2504 หลังรัฐบาลจัดตั้งสำนักพิมพ์ของราชการขึ้นเอง
โรงพิมพ์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในบรรดาโรงพิมพ์ที่มีเจ้าของเป็นชาวไทย เปิดตัวขึ้นภายหลังการชยายตัวของตลาดหนังสือในสยาม อันเนื่องมาจากนโยบายการเผยแพร่ความรู้ของ “หอพระสมุดวชิรญาณ” ที่ส่งเสริมการนำต้นฉบับหนังสือไทยบนใบลานให้กับโรงพิมพ์เอกชนไปจัดพิมพ์เอง
ในปี พ.ศ.2442 โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจตีพิมพ์ หนังสือแบบเรียนเร็ว พระนิพนธ์ในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นหนังสือเรียนภาษาไทยเล่มแรกที่มีมีการกำกับชื่อประกอบตัวอักษรไทย ก ถึง ฮ ครบทั้ง 44 ตัว
ในช่วงวิกฤตการณ์กบฏบวรเดช โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นหนึ่งในโรงพิมพ์เอกชนที่อาสาพิมพ์คําแถลงการณ์ของรัฐบาลเพื่อต่อต้านการก่อกบฏแจกจ่ายประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ลูกหลานของผู้ก่อตั้งโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจดำเนินกิจการโรงพิมพ์เรื่อยมาจนถึงรุ่นที่สี่ ก่อนปิดตัวลงไปเมื่อราว พ.ศ. 2530
นิทรรศการ Future Paradise โดยสมาชิกดีไซเนอร์สมาคม D&O
ปัจจุบันอาคารโรงพิมพ์อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทรัจนากรพร็อบเพอร์ตี้ ใช้ประโยชน์เป็นโกดังของร้านสังฆภัณฑ์และพระพุทธรูปในพื้นที่ ขณะที่บริเวณด้านหน้าของอาคารทำใช้งานเป็นพื้นที่รับบริการจอดรถ
ภายในอาคารได้รับการฟื้นฟูภายใต้หลักการโดยกลุ่มอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมศิลปากร ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานออกแบบชื่อ Future Paradise ของสมาชิกดีไซเนอร์จาก Design and Objects Associations (D&O) สำหรับเข้าร่วมงาน Bangkok Design Week 2022 ระหว่าง 5-13 กุมภาพันธ์ 2565
การแสดงแสงสว่างชุด Projection Mapping : Printery Awakening (ภาพ : Urban Ally)
ขณะที่ตัวอาคารภายนอก Urban Ally ร่วมกับ Fos Lighting Design Co,.ltd จัดแสดงผลงานการออกแบบแสงสว่างชุด Projection Mapping : Printery Awakening เพื่อสะท้อนความสำคัญทางประวัติศาสตร์บริเวณทางเข้าอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เปิดแสดงเฉพาะ วันเสาร์-อาทิตย์ รอบเวลา 19.00 น. 19.45 น. 20.30 น. และ 21.15 น. ซึ่ง วันเสาร์ที่ 12 ก.พ. และวันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ.นี้ เป็นสองวันสุดท้ายของการแสดง
พิเศษ วันเสาร์ที่ 12 ก.พ.นี้ เวลา 17.30-18.30 พบกับดนตรีคลาสสิกจัดแสดงบนหลังรถกระบะ เคลื่อนที่ไปให้ความสุขกับทุกคนได้ทุกที่ ด้านหน้าโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จาก Pro Musica Bandwagon นำโดย ผศ.ดร.ทัศนา นาควัชระ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ซุ้มประตูทางเข้า Craftsman Roastery
บรรยากาศ Craftsman Roastery ในอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
ขณะที่ปีกซ้ายของอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเปิดเป็นร้านกาแฟชั่วคราว ดำเนินงานโดย Craftsman Roastery ซึ่งอดีตเคยเปิดทำการอยู่ที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง อดีตบ้านพักของ อ.ศิลป์ พีระศรี ครั้งนี้มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นเวลา 8 เดือนนับตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ 2565
ดังนั้นแม้งาน Bangkok Design Week 2022 สิ้นสุดลงในวันที่ 13 ก.พ.2565 ผู้สนใจยังแวะเวียนไปนั่งจิบกาแฟคั่วและบดด้วยเมล็ดกาแฟคุณภาพจากทั้งบราซิล โคลอมเบีย เอธิโอเปีย ลาว และไทย ที่ Craftsman Roastery ภายในอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจได้ถึงเดือนกันยายน 2565 เป็นเบื้องต้น
นิทรรศการในพื้นที่ร้านกาแฟนี้ Urban Ally ร่วมกับ "หอสมุด มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ" นำหนังสือที่ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ซึ่งอยู่ในการครอบครองของ "หอสมุดวังท่าพระ" ในหลากหลายยุคมาจัดแสดงพร้อม QR Code ให้ชมเนื้อหาภายในหนังสือ
ปัจจุบันอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจตั้งอยู่ในพื้นที่ปิด ล้อมรอบด้วยอาคารพาณิชย์อื่น จึงมีพื้นที่ทางเข้าที่คับแคบอยู่สักหน่อย ผู้เดินทางไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวต้องใช้ความสามารถและความระมัดระวังในการใช้ทางเข้าออก
อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ (ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต)