เปิดใจคนตัวเล็กธุรกิจ "สถานบันเทิง" ในวันทุบหม้อข้าวกับแรงเฮือกสุดท้าย
เปิดใจคนเล็กคนน้อยใน "ธุรกิจสถานบันเทิง" และความหวังในวันที่สถานการณ์คลี่คลาย พร้อมทุกมาตรการป้องกัน "โควิด-19" สร้างความมั่นใจว่าไม่เป็น "คลัสเตอร์"
ปัจจุบันสถานการณ์ของการแพร่ระบาด โควิด-19 ในประเทศไทยกำลังคลี่คลาย นำไปสู่การพิจารณาโดยคณะกรรมการโรคติดต่อให้ปรับสถานะโควิดจากโรคระบาดให้เป็นโรคประจำถิ่น และบรรยากาศความผ่อนคลายก็ค่อยๆ ปรากฏมากขึ้นในสังคมไทย ภายหลังจากที่ตกอยู่ในห้วงของความยากลำบากมานานกว่า 2 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจโดยส่วนมากจะเริ่มเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่ยังคงเผชิญกับสถานะที่ไม่แน่นอน และได้รับผลกระทบจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐเสมอมา นั่นคือ ธุรกิจสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ
ท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญจากการที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ มาตรการการป้องกัน Covid Free Setting คือสิ่งสำคัญที่พวกเขามุ่งมั่นปรับตัวและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจริงจัง เพื่อให้ก้าวพ้นจากการคำครหาของสังคมว่าธุรกิจของเขาเหล่านี้คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิด คลัสเตอร์
เพื่อให้ธุรกิจของคนตัวเล็กๆ ที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงดูแลคนตัวเล็กๆ อีกมากมาย ตั้งแต่เจ้าของกิจการ พ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ นักดนตรี พนักงานรับรถ พนักงานทำความสะอาด ไปจนถึงครอบครัวของพนักงาน ยังยืนหยัดอยู่ได้และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนที่เข้ามาใช้บริการเพื่อผ่อนคลายในวันที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับชีวิต
Ainu Bar ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์บาร์กินดื่มแบบอิซากายะ ย่านทองหล่อ คือหนึ่งในตัวอย่างที่อย่างน่าสนใจของธุรกิจที่ปรับตัวและปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน "โควิด-19" ได้อย่างถูกต้องและเคร่งครัด
พรศักดิ์ อัจฉริยะประดิษฐ์ เจ้าของร้าน Ainu Bar ที่เปิดมากว่า 8 ปี เล่าให้ฟังว่าช่วงการแพร่ระบาดของ "โควิด" กว่า 2 ปี ที่ผ่านมานั้น Ainu Bar เปิดให้บริการรวมแล้วเพียงแค่ 5 เดือน นอกจากนั้นแล้วต้องปิดบริการยาวสูญเสียรายได้ไปหลายล้านบาท และระหว่างที่ร้านปิดให้บริการ พนักงานในร้านกว่า 50 คน ผู้ซึ่งพรศักดิ์กล่าวว่าเสมือนกับคนในครอบครัวของเขาได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อรอวันกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง พร้อมกับมาตรการป้องกันโควิด-19 แบบเต็มสูบ
ก่อนเดินเข้าร้าน จะพบเจ้าหน้าที่อยู่หน้าร้านรอตรวจ ATK ลูกค้าทุกคน เป็นมาตรการที่ทางร้านนำมาใช้เพิ่มเติมจากการแสดงประวัติการฉีดวัคซีนท่ามกลางการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน คือ ขอตรวจให้ชัวร์ก่อนใช้บริการทุกคน ลดการสัมผัสด้วยการสแกนผลตรวจผ่านคิวอาร์โค้ด และแม้ว่าลูกค้าจะต้องเสียค่าตรวจเป็นจำนวนเงิน 120 บาท แต่นำค่าตรวจไปแลกเป็นเครื่องดื่มในร้านได้ หากลูกค้าต้องการดูเมนูก็สแกนคิวอาร์โค้ดได้เลย ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่ต้องหวั่นใจ และกินดื่มอย่างปลอดภัยและสบายใจกันทุกคน
ส่วนพื้นที่ให้บริการภายในร้าน พรศักดิ์กล่าวว่าเขาลงทุนฉีดสเปรย์ฆ่าไวรัสเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 รอบ ทุกอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสร่วม เช่น ที่จับประตู และก๊อกน้ำ ต้องเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ทุกครึ่งชั่วโมง และพนักงานในร้านรวมถึงคู่ค้าที่เข้ามาทำงานในร้านจะต้องสวมใส่ถุงมือ รวมถึงตรวจ ATK ทุกวัน ซึ่งเป็นมาตรการการป้องกันโรคที่ทำมากเกินกว่าคำสั่งของรัฐ แต่เขาก็เต็มใจทำเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทุกคน และที่สำคัญ คือ เพื่อต่อลมหายให้ธุรกิจของคนตัวเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกับคนตัวเล็กๆ ในการทำงานอีกมากมาย
“ผมเชื่อมั่นมากว่าร้านต่างๆ ในธุรกิจกลางคืนมีมาตรการป้องกันโควิดอย่างเต็มที่ เพราะไม่ใช่แค่ว่าพนักงานในร้านปลอดภัยแล้วร้านก็จะอยู่รอดไม่ต้องปิด 14 วัน แต่ถ้าทุกคนที่มาใช้บริการรู้สึกสบายใจในการมาที่ร้านและมั่นใจว่าเขาจะไม่กลับไปเป็นคลัสเตอร์ให้กับครอบครัวอย่างแน่นอน เขาจะกลับมาอีกและทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
จากสิ่งที่ทุกคนพยายามทำ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะขอให้ภาครัฐช่วยสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าสถานที่เสี่ยงไม่ได้หมายถึงสถานที่ๆ มีคนเยอะเท่านั้น เพราะแม้ว่าสถานที่จะมีคนเยอะ แต่ถ้ามีการตรวจอย่างรัดกุม มีมาตรการป้องกัน จัดระเบียบ และสร้างความเข้าใจให้พนักงานและผู้ที่มาใช้บริการมากพอ ก็จะช่วยการันตีความปลอดภัยของทุกคนได้ไม่น้อย เพราะไม่มีใครอยากกลายเป็นส่วนหนึ่งของคลัสเตอร์จนต้องเดือดร้อนทั้งตัวเอง ครอบครัว และธุรกิจ”
ไม่ต่างกับความพยายามของ อารยา ฐาปนสกุลวงศ์ เจ้าของร้าน The Most Bar & Bistro ร้านอาหารสไตล์บาร์และคาราโอเกะ ย่านราชพฤกษ์ ที่พยายามดูแลพนักงานกว่า 70 คนตลอดช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาอย่างเต็มกำลัง
เธอยืนยันหนักแน่นว่าทุกมาตรการที่ The Most ทำมาทั้งในช่วงร้านปิดและร้านเปิด ทำให้ไม่มีพนักงานในร้านติดโควิด เลยแม้แต่คนเดียว และเป็นมาตรการของร้านที่ทำมาตั้งแต่ก่อนคำสั่งของภาครัฐ แม้จะทำให้ต้นทุนของร้านเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม เพราะถือเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
“ทุกวันนี้นอกจากเรื่องทั่วไปอย่างการสวมหน้ากาก การสวมถุงมือ การเว้นระยะห่างโต๊ะ การตรวจ ATK พนักงานเสมอ ฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ในทุกพื้นผิวสัมผัสแล้ว เรามีการขอตรวจประวัติการรับวัคซีนจากลูกค้า และขอตรวจ ATK ก่อนที่จะเข้าร้าน ซึ่งก็มีทั้งลูกค้าที่เข้าใจและไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตรวจ ทำไมต้องเสียเวลา แต่เราต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวม ถ้าเจอแบบนี้เราก็จำเป็นต้องขออนุญาตไม่ให้เข้ามาใช้บริการในร้านเพราะจะกระทบกับลูกค้าส่วนใหญ่ ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการในร้านเชื่อว่าเราคัดกรองและป้องกันให้เขาแล้วในระดับที่เขาวางใจได้
เราจะไม่เห็นแก่เงินเล็กน้อยและไม่ยอมอะลุ่มอล่วย เราจริงจังกับจุดนี้มากๆ เพราะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ การไว้ใจ และความเชื่อใจระหว่างกัน และทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่แน่นอน”
อารยามองว่าในวันที่ "โควิด-19" อยู่กับโลกใบนี้มากว่า 2 ปีแล้ว ในฐานะของคนทำธุรกิจที่เธอบอกว่าเป็นธุรกิจที่รัฐสั่ง “ปิดก่อนเปิดทีหลัง” เสมอนั้น เธอหวังให้รัฐมีมาตรการต่างๆ ที่ชัดเจนและรัดกุมแบบไม่เหมารวมความผิดว่าทุกร้านต้องเป็นคลัสเตอร์ เพราะมีสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะมากมายที่พยายามและมุ่งมั่นปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างแข็งขัน และมีหลักปฏิบัติที่มากเกินกว่าคำสั่งของภาครัฐด้วยซ้ำ การเหมารวมเช่นนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนตัวเล็กๆ อีกมากมายในธุรกิจนี้ที่หลายคนต้องตกงาน มีชีวิตที่ลำบาก และยากยิ่งที่จะฟื้นคืนกลับมาหลังจากถูกความทุกข์ทนกัดกร่อนชีวิตอย่างยาวนาน
ทุกการกระทำของตัวแทนของคนตัวเล็กๆ จากธุรกิจสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ล้วนยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะป้องกันโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาดจนก่อให้เกิด "คลัสเตอร์" อย่างที่หลายฝ่ายกังวล และเป็นเสียงแห่งความหวังในวันที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย