อินฟลูเอนเซอร์คือใคร? เข้าใจผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียล อาชีพในฝันเด็ก Gen Z

อินฟลูเอนเซอร์คือใคร? เข้าใจผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียล อาชีพในฝันเด็ก Gen Z

“อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer) พวกเขาเหล่านี้คือใคร มีอิทธิพลต่อคนในสังคมขนาดไหน ทำไมถึงความสำคัญขนาดที่ว่า แม้แต่รมช.สาธารณสุข (สธ.) ยังออกนโยบายจ้างอินฟลูเอนเซอร์เพื่อกระตุ้นให้คนไทยให้อยากมีลูก

หากยื่นไมค์ถามความฝันของเด็ก Gen Z ทั้งหลาย คำตอบอาชีพยอดฮิตคงไม่ใช่ ‘หมอ ครู ทหาร’ อีกต่อไป แต่คือ ‘ยูทูเบอร์ นักแคสเกม’ หรือที่เรียกกันในภาพรวมว่า “อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer)

จริงๆ แล้วพวกเขาเหล่านี้คือใคร มีอิทธิพลต่อคนในสังคมขนาดไหน และทำไมพวกเขาถึงความสำคัญขนาดที่ว่า แม้แต่ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ยังออกนโยบายจ้างอินฟลูเอนเซอร์ทำคอนเทนต์ในสื่อโซเชียล เพื่อกระตุ้นให้คนไทยอยากมีลูก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปรู้จักอาชีพนี้แบบเจาะลึก

 

  • "อินฟลูเอนเซอร์" คืออะไร?

หากให้นิยามความเป็นอินฟลูเอนเซอร์นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะสรุปตรงกันว่า เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลกับคนหมู่มากบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะมีการทำคอนเทนต์เผยแพร่ตามแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Blog, Instagram, Facebook, YouTube แล้วมีคนสนใจติดตาม ยิ่งมีผู้ติดตามมากก็ยิ่งมีอิทธิพลมาก

ผู้ติดตามส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยทำงาน และมักคล้อยตามเนื้อหาหรือสิ่งที่ Influencer พูดโน้มน้าวใจได้ง่าย เพราะรู้สึกถึงความใกล้ชิดและจริงใจกว่าสื่อโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ในรูปแบบเดิม

 

จริงๆ แล้วคำว่าอินฟลูเอนเซอร์ถูกพูดถึงมานานแล้ว คล้ายๆ กับปรากฏการณ์เลียนแบบหรือกระทำตามบุคคลใดบุคคลหนึ่งกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาพจำของอินฟลูเอนเซอร์มาเริ่มชัดในยุคที่อินเทอร์เน็ตรุ่งเรือง และกลายเป็นอาชีพที่ทำเงินมหาศาลในปัจจุบัน

 

  • จากการทำคอนเทนต์สู่การสร้างเงินมหาศาล

มีรายงาน Influencer Marketing Outlook ประจำปี 2020 ที่จัดทำโดย Influencer Marketing Hub ซึ่งได้เก็บข้อมูลจากการใช้แพลตฟอร์ม Social Media ของนักการตลาด พบว่า อินฟลูเอนเซอร์มีรายได้โพสต์ละประมาณ 100- 700,000 บาท

เพราะอะไรที่ทำให้มีรายได้มากขนาดนี้ การมีตัวตนของอินฟลูเอนเซอร์และมีอิทธิพลมากขึ้น นำมาสู่การตลาดที่เรียกว่า Influencer Marketing คือการตลาดออนไลน์ที่ใช้ Influencer ในการโฆษณาสินค้า เป็นการตลาดที่เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2014 ซึ่งเริ่มจากการใช้ Influencer ในกลุ่ม Celebrity หรือ Mass Publisher ที่เป็นดารา นักแสดง ในการโฆษณาหรือรีวิวสินค้า

ต่อมากลุ่ม Blogger และ YouTuber ต่างๆ ได้มีการพัฒนาคอนเทนต์ให้คนสนใจติดตามมากขึ้น จึงเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น เจ้าของแบรนด์ต่างๆ ก็หันมาใช้ Influencer กลุ่มนี้ เพราะเข้าถึงผู้บริโภคและตรงเป้าหมายมากกว่ากลุ่มที่เป็นดารานักแสดง เนื่องจากพูดถึงสินค้าในเชิงผู้บริโภคคนหนึ่งนั่นเอง

 

ทั้งนี้ ประเภทของอินฟลูเอนเซอร์แบ่งง่ายๆ เป็น 4 ประเภท ได้แก่

  •  Celebrity / Mass Publisher : กลุ่มนี้มีผู้ติดตามมากที่สุด ตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 คน
  • Key Opinion Leaders (KOL) / Professional Publishers / Specialist : กลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความสนใจหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เนื้อหาจึงดึงดูดคนเฉพาะกลุ่ม
  • Micro Influencer : กลุ่มนี้มีผู้ติดตามประมาณ 10,000 - 100,000 คน มักเป็นคนที่สร้างสรรค์คอนเทนต์ในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น ไลฟ์สไตล์ กิน เที่ยว รวมไปถึงรีวิวสินค้าต่างๆ
  • Nano Influencer : กลุ่มนี้มีผู้ติดตามประมาณหลัก 1,000 คน มักเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเฉพาะ แต่มีฐานผู้ติดตามเหนียวแน่น สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและโน้มน้าวใจได้เป็นอย่างดี

 

  • อาชีพ "อินฟลูเอนเซอร์" อิสระไร้ขีดจำกัด

เมื่อก่อนถ้าให้นึกถึงคำว่า ‘อินฟลูเอนเซอร์’ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงคนที่มีอายุประมาณ 20-30 ปี แต่ในขณะที่การตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์เติบโตอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้เห็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และ Gen X รุ่นเก่าๆ กลายมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน

เนื่องจากแบรนด์ต่างๆ เริ่มมีความเท่าทันและเข้าใจในเทรนด์นี้มากขึ้นแล้วว่า “ความต้องการอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนสูงวัยกำลังเพิ่มสูงขึ้น” โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้ของชาวเบบี้บูมเมอร์ ในสังคมผู้สูงอายุของหลายๆ ประเทศในยุคนี้ 

ตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยที่โด่งดังในต่างประเทศ

baddiewinkle : อินฟลูเอนเซอร์รุ่นเดอะวัย 93 ปี ชาวอเมริกัน อินฟลูเอนเซอร์ด้านความงามและแฟชั่น ยอดติดตามในไอจี 3.4 ล้านฟอลโลเวอร์

 

อินฟลูเอนเซอร์คือใคร? เข้าใจผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียล อาชีพในฝันเด็ก Gen Z

iconaccidental (Lyn Slater) : ศาสตราจารย์ลิน สเลเตอร์ (Lyn Slater) อาจารย์สอนด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม  (Fordham) นครนิวยอร์ก วัย 67 ปี ที่มีผู้ติดตาม 756,000 ฟอลโลเวอร์

 

  • อินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่ใช่คน

นอกจากอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริงๆ ในปีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “Virtual Influencer” หรือ “AI Influencer” (อินฟลูเอนเซอร์เสมือน) ผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลที่ถูกสร้างขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยแต่ละคนจะมีบุคลิกที่โดดเด่นเหมือนมนุษย์ทั่วไป แต่ไม่มีอยู่บนโลกความจริง

การใช้ AI Influencer เพื่อทำการตลาดเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์ต่างๆ เพราะนอกจากจะสามารถทำตามกลยุทธ์ได้แล้ว ยังเสียค่าใช้จ่ายในการทำงานน้อยกว่าคนจริงๆ อีกด้วย

อินฟลูเอนเซอร์คือใคร? เข้าใจผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียล อาชีพในฝันเด็ก Gen Z

หนึ่งใน Virtual Influencer ที่โด่งดังที่สุดต้องยกให้ Lil Miquela โดยเธอมียอดติดตามในอินสตราแกรมถึง 3 ล้านคน ซึ่งถ้าหากมองเผินๆ เธอก็ดูเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว เธอคือ AI Influencer ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Brud เป็นการรวมกลุ่มของทั้งศิลปิน วิศวกร นักพัฒนาหุ่นยนต์ และนักเคลื่อนไหวเข้าไว้ด้วยกัน 

ซึ่งแบรนด์ดังๆ อย่าง Prada, Supreme, Chanel, Proenza Schouler หรือแม้แต่ Samsung ก็ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับ Lil Miquela อย่างล้นหลาม จนทำให้เธอติดอันดับ 25 Most Influential People on the Internet ของนิตยสาร Time เลยทีเดียว

-------------------------------------

อ้างอิง : 

Virtual Influencer ทางเลือกใหม่ของวงการมาร์เก็ตติ้ง ,seo-web.aun-thai.co.th , fti.or.thsmartmathpro.com ,marketingbangkok.comkrungsri.com