"วาฬไทย" ที่ผมหลงรัก "ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์"
แง่คิดชีวิตและการทำงานของช่างภาพโฆษณา และช่างภาพภาพยนตร์ที่ผันตัวมาเป็นนักอนุรักษ์วาฬไทยเต็มตัว เพราะหลงรักสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในทะเล
จากชีวิตที่ไม่เคยสนใจสิ่งใดนอกจากเรื่องงาน กลายมาเป็น นักอนุรักษ์วาฬไทย เต็มตัว ก่อตั้ง กลุ่มวาฬไทย และ www.thaiwhales.org ให้เป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับวาฬในประเทศไทย
แล้วอะไรทำให้ แดง-ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ Director of Photography โปรดักชั่นเฮาส์ Film Factory ช่างภาพภาพยนตร์หลายเรื่องของ “เป็นเอก รัตนเรือง” หันมาสนใจเรื่องนี้
- ตอนเด็กๆ มีความฝันอยากเป็นอะไร
อยากจะเป็นทหาร หรือตำรวจ แต่ว่าไม่สามารถเป็นได้ เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนเชื้อชาติจีน ส่วนผมเอง สัญชาติไทย เกิดในเมืองไทย แต่เชื้อชาติจีน ก็ไม่สามารถเป็นได้ เป็นความผิดหวังครั้งแรกในชีวิต
ผมเรียนจบม.ศ.3 ด้วยคะแนน 62 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเรียนสายวิทย์ได้ เพราะต้องคะแนน 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มีรุ่นพี่ที่เรียนช่างยนต์มาแนะนำให้ไปเรียนต่อสายอาชีพ ก็เลยไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ทุ่งมหาเมฆ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ)
ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร
แต่เรียนช่างยนต์ไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนปวส.มา ต้องเรียนปวช.ก่อน ซึ่งมีให้เลือก 5 แผนก
เทคนิคเคมี, ช่างสำรวจ, ช่างไม้, ช่างพิมพ์, ช่างภาพ ผมเลือกเรียนช่างภาพ เพราะด้านอื่นไม่น่าจะทำได้ จนเรียนจบปวส. (รุ่นที่ 22) ปี 2522 มีความฝันว่า อยากเป็นนักข่าวช่างภาพสงคราม แต่น่าจะลำบาก เลยเปลี่ยนเป็นช่างภาพโฆษณา
ไปสมัครงานที่บริษัท ซาลอนฟิล์ม เจ้าของเป็นชาวฮ่องกงกับออสเตรเลีย ในสมัยนั้นภาพยนตร์โฆษณาแทบทุกชิ้นทำจากบริษัทนี้หมด ผมทำงานเป็น ผู้ช่วยกล้อง ให้กับช่างภาพผู้กำกับจากเมืองนอก เพราะการเรียนรู้ตรงของเราน้อย ต้องเรียนรู้จากต่างชาติ ทำงานอยู่ 7 ปี
บริษัทโฆษณา เจ.วอลเตอร์ ทอมป์สัน ก็มาชวนผมไปเป็น โปรดิวเซอร์ ผู้ประสานงานระหว่างบริษัทกับผู้ผลิต ต้องเป็นคนที่เข้าใจงาน งานนี้ต้องผลิตและวางแผนยังไง แล้วค่าผลิต มันเหมาะสมไหม ผมเคยทำมาหลายๆ อย่าง เลยเข้าใจหมด แม้จะเป็นผู้ช่วยกล้อง
ช่วงนั้นทำงานทุกวัน แทบไม่ได้กลับบ้านเลย เสาร์อาทิตย์ก็ไม่มีวันหยุด เราอยากทำงานให้ดี ผมคิดว่าเวลาเรารับงานอะไรเขามาแล้วไม่อยากให้เขาผิดหวัง ทำโปรดิวเซอร์อยู่ 2 ปี เพื่อนที่เป็นครีเอทีฟ ชวนออกมาทำบริษัทของตัวเอง เป็นโปรดักชั่นเฮาส์ชื่อ Film Factory ในปี 2532
ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร
- จากนั้นมาทำภาพยนตร์ได้อย่างไร
ระหว่างทำงานโฆษณา คุณเป็นเอก รัตนเรือง หนึ่งในผู้กำกับโฆษณา เป็นคนชอบเล่าเรื่อง ชอบทำหนัง ชวนมาทำหนัง หุ้นส่วนผมก็อนุญาต ทำหนังเรื่องแรก ฝันบ้าคาราโอเกะ หนังประสบความสำเร็จ ทำไปด้วยความสนุก เข้าใจช็อต แต่อาจจะไม่ได้เข้าใจบริบทของภาพยนตร์ทั้งหมด รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร อ่านสคริปต์ไปขำไป มันไม่เคยมีสิ่งนี้ในหนังไทยสมัยนั้น
ปีต่อมาก็ทำเรื่อง ตลก 69 หมิว ลลิตา เป็นนางเอก สมัยนั้นนางเอกต้องสวย ทั้งผมเผ้าเสื้อผ้า แต่เรื่องนี้นางเอกใส่กางเกงหมดแล้วนางเอกก็ฆ่าคน เรื่องที่สาม มนต์รักทรานซิสเตอร์ คนต่างจังหวัดชอบมาก แต่แปลกใจ ทำไมหนังไม่ได้ตังค์
หนังของคุณเป็นเอกส่วนมากผมจะถ่าย ยกเว้นบางเรื่องที่เขาไปทำหนังกับพวกฝรั่ง แล้วผมก็ได้ทำงานกับผู้กำกับคนอื่น วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง, เก้ง-จิระ เรื่องมหาลัยเหมืองแร่, นนทรีย์ นิมิตบุตร โอเค.เบตง, แหม่ม มาม่าบูลส์ (สุรัสวดี เชื้อชาติ) ขุนรองปลัดชู ช่วงนั้นถ่ายทั้งโฆษณา ภาพยนตร์ และสารคดี
Cr.ThaiWhales
- ทำไมมีความสนใจเรื่องวาฬ
ผมเป็นคนชอบทะเล ทุกครั้งที่ว่าง ผมจะไปทะเล ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน พอไปทะเล มันก็จะหายเหนื่อย บางทีถ่ายหนังเสร็จ เที่ยงคืนตีหนึ่ง เช้ามาตีห้าขับไปพัทยา ลงเรือออกไปดำน้ำเลย ดำได้ทั้งวัน
เรื่อง วาฬ มันเข้ามาอยู่ในหัว เพราะว่ามันเป็นสัตว์ที่น่าทึ่ง ผมเคยไปตามถ่ายวาฬที่ สิมิลัน เมื่อ 15 ปีก่อน สงสัยว่าพวกมันคือวาฬอะไร ในอ่าวไทยเราก็มีวาฬ แต่ไม่มีข้อมูลอะไร บอกว่าเป็นวาฬอะไร
มีอยู่ปีหนึ่ง ปี 2551-52 วาฬเกยตื้นตาย 4 ตัวไล่ๆ กันเลย ที่ บางปู, สมุทรสาคร, ระยอง เกิดอะไรขึ้นวาฬตายวันเดียว 4 ตัว ในข่าวบอกแค่นั้น แต่ไม่มีรายละเอียด ผมเลยแปลกใจ
สัตว์ใหญ่ขนาดนี้ ทำไมไม่มีคนสนใจ ผมรับรู้เรื่องนี้ ผมควรเป็นคนทำไหม มีหนังสือ สารคดี ลงเรื่อง วาฬบรูด้า มีคนถ่ายรูปใต้น้ำได้เป็นครั้งแรกที่ หาดตุ้งกู จ.ชุมพร มีรายละเอียดครบ
มีนักวิชาการ ชื่อ ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล ผมโทรหาเลย แกกำลังออกเรือดูวาฬอยู่พอดี ก็ชวนว่าคราวหน้าออกมาดูด้วยกันนะ ผมก็จริงจังนัดกันเลย สองอาทิตย์ต่อมาไปหาประชุมกับอาจารย์เลย ที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยอ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสาคร
เป็นจุดเริ่มต้นได้มาทำเรื่องวาฬไทยจริงจัง ทำเว็บไซด์ในปี 2552 เป็นแหล่งรวบรวมความรู้เรื่องวาฬ ตั้งชื่อว่า ThaiWhales เพราะวาฬชุดนี้หากินในอ่าวไทย แล้วอยากให้คนไทยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ รู้สึกหวงแหนมัน ไม่ได้ตั้งใจจะเคลมว่านี่คือวาฬไทย
ผมติดตาม ดร.กาญจนา ไปลงเรือ ไปช่วยถ่ายรูป ลากกล้องภาพยนตร์ไปเลย ปี 2553 ผมถ่ายหนังไฮสปีดร้อยเฟรม เอาฟุตเทจนี้ให้เขาดู มันเป็นสโลว์โมชั่น ทำให้เห็นดีเทลต่างๆ ได้เยอะขึ้น อย่างวาฬอ้าปาก 5-10 วินาที แต่เราเห็นได้ช้ากว่านั้น รู้ตำหนิของมันมากขึ้น ผมได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวาฬบรูด้า
Cr.ThaiWhales
- ล่าสุด นำสารคดีชุด “วาฬบอกที” ไปฉายที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เป็นอย่างไรบ้าง
ต้องขอบคุณคุณแนนซี่ Love wildlife Foundation ที่ทำนิทรรศการ Tangled ติด-ร่าง-แห แล้วมาชวนให้ผมไปฉายสารคดี ช่วงสามวันสุดท้าย แม้จะเป็นการโปรโมทที่กระชั้นชิด
แต่คนที่มาดู ก็มีความสนใจ เป็นคนทั่วไปที่เดินผ่านมา บางคนดูหนังไปดูเวลาไปเพราะใกล้เวลานัดแล้ว แต่หนังก็อยากจะดู บางคนก็นั่งดูจนจบเลย
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เป็นหนังที่ผมตั้งใจทำให้คนรับรู้เรื่องวาฬไทยอย่างแท้จริง ตั้งใจให้การศึกษาเรื่องนี้มาก เป็นงานที่ร่วมกับ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม ต้องขอบคุณที่เขาให้ทำ
ทำเสร็จแล้ว ยังไม่ได้ฉายที่ไหนเป็นหลักเป็นแหล่ง ได้ฉายในงานวันวิทยาศาสตร์ครั้งหนึ่ง แล้วเป็นช่วงแพร่ระบาดโควิดพอดี ก็ไม่รู้จะไปติดต่อใคร
Cr.ThaiWhales
- คนที่อยากดูสารคดีชุดนี้ สามารถดูได้ที่ไหน
ดูได้ในเว็บไซด์ ThaiWhales ความตั้งใจของผม อยากเอาไปฉายให้นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ได้ดู โรงเรียนไหนอยากให้ไปฉายติดต่อมาได้เลย ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง มีสามเรื่อง 27 นาที 28 นาที 31 นาที หรือจะเปิดให้ดูทีละเรื่องก็ได้
ผมกำลังทำสารคดีเรื่องต่อไป The Last 14 เป็นวิกฤติของ โลมาอิรวดี ที่ทะเลสาบสงขลา เรายังไม่แน่ใจว่า 14 ตัวจริงหรือเปล่า มันเป็นแผลในใจมานานแล้ว เราจะปล่อยให้มันสูญพันธุ์หรือ
อย่างโลมาตัวสุดท้ายของประเทศลาวก็เพิ่งเสียชีวิตไป มันมีสิทธิ์ที่จะสูญพันธุ์ ในฐานะคนทำภาพยนตร์ ผมถือว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลของผม ผมตั้งใจจะถ่ายทอดและทำมันให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ครับ
Cr.ThaiWhales
- สถานการณ์ของวาฬไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
ผมค่อนข้างเป็นห่วง ในสารคดีเรื่องที่สามจะเห็นว่า ช่วง 2-3 ปีมานี้ เราสูญเสียวาฬไปเยอะมาก ในช่วง 3 ปีเราเสียวาฬไปถึง 54 ตัว เราเริ่มคอนเฟิร์มกันจริงๆ ในปี 2557-58 มี วาฬบลูด้า เสียชีวิตไป 8-10 ตัว รู้สึกเป็นห่วงมาก
ในปี 2553-54 ถ้าดูในสารคดี จะเห็นลูกปลาตัวเล็กตัวน้อยกระโดดขึ้นมาเต็มไปหมดในช่วงที่วาฬกำลังกิน นั่นเป็นช่วงปีแรกๆ ที่ผมเริ่มสำรวจ จะเป็นอย่างนั้น
ต่อมา หลังจากสำรวจไปเรื่อยๆ พบว่า การปรากฎตัวของวาฬค่อยๆ หายไป ในขณะที่ปลาที่เป็นอาหารของวาฬ ก็น้อยลงไป การปรากฎตัวของวาฬก็เปลี่ยนไป แปลกไป น่าเป็นห่วงมาก
โชคดีที่การทำประมงมีเรื่อง IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing ) เข้ามาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มากำหนดให้ประเทศไทยปรับปรุงเรื่องกฎหมาย การจัดการด้านการประมงของไทยให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป
และข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การจับปลา จำกัดเรื่องเรือประมง ทำให้สถานการณ์หลายๆ อย่างดีขึ้น
ในปีที่แล้วมีวาฬเสียชีวิตไปตัวหนึ่ง จากปัญหาเดิมๆ คือ ติดร่างแห เมื่อดูจากสถิติ ปีนี้น่าจะมีตัวลูกเพิ่มขึ้น 6-7 ตัว ขณะที่ 5-6 ปีก่อนมีวาฬตายแทบทุกเดือน
ช่วงนี้เราดูแลเขาได้ดีพอสมควร ทั้งการทำทัวร์ที่ภาครัฐเริ่มเข้ามา แต่ยังไม่ได้เป็นกฎหมาย เป็นแค่กฎกติกาตกลงร่วมกัน มีการไปพูดคุยอธิบายให้ผู้ประกอบการเข้าใจมากขึ้น ส่วนเรื่องอวนก็ยังเป็นปัญหา ยังแก้ไขอะไรไม่ได้
Cr.ThaiWhales
- การทำงานที่ผ่านมา ได้แง่คิดอะไรบ้าง
ตลอดเวลาที่ผมทำงาน ผมจะถ่อมตัว มองว่าตัวเองไม่ค่อยเก่ง ประเมินว่าเราทำอะไรได้ ผมจะเกรงใจคนอื่นเสมอ เมื่อผมทำงาน ผมจะทำให้ดีที่สุด ใส่ใจงานชิ้นนั้นให้มากที่สุด
ผมจะขยันกว่าคนอื่น การทำงานอะไรก็แล้วแต่ ความสำเร็จมันอยู่ที่ว่า ถ้าเราตั้งใจทำงานนั้นจริงๆ ทุ่มเทจริงๆ หาความรู้ให้ดีที่สุด แล้วทำให้เต็มที่ เราก็จะค่อยๆ เติบโตไปเอง ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนความสำเร็จมาเร็ว บางคนมาช้าหน่อย แต่ผมมั่นใจว่าในที่สุดมันก็จะตอบแทน
ในส่วนของการทำสารคดีเรื่องวาฬ ผมมีความสุขที่ได้เห็นงานเป็นชิ้นเป็นอัน ผมภูมิใจถ้าผมมีส่วนทำให้สัตว์เหล่านั้นมีชีวิตอยู่ได้ หรือช่วยให้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี
ในชีวิตของคนเรา ปกติจะคิดถึงตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเราตั้งสติได้สักนิด ควรคิดถึงคนอื่นบ้าง ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ มันคงไม่เกิดสงคราม ถ้าเราสามารถแบ่งปันเวลาในช่วงชีวิตเราให้คิดถึงคนอื่นบ้าง มันก็จะดี
อย่างเวลาที่ผมจะโพสต์อะไร ผมจะคิดว่า ประโยชน์ได้กับใคร ถ้าได้กับตัวเรา ผมจะเขียนใหม่ ให้ประโยชน์มันได้กับสิ่งที่เราทำ ถ้าเราทำเรื่องวาฬ เราต้องเขียนให้ประโยชน์ มันได้กับวาฬ ถ้าเราทำอย่างนั้น ในที่สุดประโยชน์ก็จะกลับมาที่ตัวเราอยู่ดี เราจะพูดถึงคนอื่นเสมอ เราจะไม่พูดถึงตัวเอง
- การทำงานที่บริษัท Film Factory ยังรับงานอยู่ไหม
ยังรับอยู่ครับ แต่น้อยลงเพราะโควิด เราทุกคนมีหน้าที่ ถ้าทุกคนช่วยกันสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ธรรมชาติจริงๆ เราจะเป็นตัวอย่างให้กับเด็กๆ หรือลูกหลานเรา
สิ่งเหล่านี้มีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ ถ้าเราเป็นห่วงวาฬเราจะไม่ปล่อยให้ถุงพลาสติกปลิวว่อน เราทุกคนมีส่วนในการอนุรักษ์ได้ทั้งนั้นครับ ทุกคนช่วยได้ด้วยการใส่ใจเพิ่มขึ้นอีกสักนิดหนึ่งครับ