"กฤษณพงค์ พูตระกูล" นักอาชญาวิทยา ผู้ต่อจิ๊กซอว์คดี"แตงโม"
ต่อจิ๊กซอว์คดีดังมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่เว้นแม้กระทั่งคดี “แตงโม” นักอาชญาวิทยามากประสบการณ์คนนี้ ตั้งความหวังไว้ว่า "ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกคดีที่เกิดขึ้น ต้องได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน”
"เราทำโทรศัพท์ตกน้ำ ทำเครื่องประดับ ต่างหูเพชรตกน้ำ เรายังกังวลใจ จะเอากลับขึ้นมาให้ได้ แต่นี่ไม่ใช่เครื่องประดับ นี่คือคนทั้งคนนะ เราไม่สนใจจะตามเลยเหรอครับ”
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นกับคดีแตงโมตกน้ำ เมื่อหลายวันที่แล้ว
ล่าสุดระหว่างสนทนากับ จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 อาจารย์ย้ำตลอดว่า
"เราอยากเห็นความยุติธรรมเท่าเทียมกันทุกคดี ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นกับคนรากหญ้า ดารา คนมีฐานะหรือใครก็ตาม"
และนี่คือ บทสนทนาเรียบๆ กับอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม และอดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่จบปริญญาโท และปริญญาเอกสาขาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาโท และปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยา ที่ประเทศอังกฤษ
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
นอกจากนี้ยังมีบทบาทหลายเรื่อง ทั้งให้ความรู้และแนวคิดทางด้านอาชญาวิทยาฯ กับคนในสังคม และมีส่วนร่วมให้ความเห็นในคดีดังๆ ในเมืองไทยหลายสิบคดี อาทิ คดีน้องชมพู่
และนี่คือบทสนทนาในวันที่คนไทยอยากให้ คดีแตงโมตกน้ำ เปิดเผยความจริงและได้รับความยุติธรรม...
- ก่อนจะถามเรื่องคดีล่าสุด"แตงโมตกน้ำ" ขอถามสักนิด ทำไมมุ่งมั่นกับการเป็นนักอาชญาวิทยา
เมื่อผมตัดสินใจเป็นตำรวจ ได้ทำงานสายกองปราบปราม สะกดรอย จับคนร้ายในคดีสำคัญหลายคดี ก็ไม่ได้ทำให้คนทำผิดลดลง เคยจับยาเสพติดเป็น 100,000-200,000 เม็ด ทั้งๆ ที่คนรับรู้ตรงกันว่า มีโทษสูงสุดประหารชีวิต
ทำไมคนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ต้องมีอะไรทำให้คนรู้สึกทำความผิดได้ ผมก็เลยสนใจ อยากเรียนเรื่องอาชญากรรม ด้านอาชญาวิทยา ศาสตร์บูรณาการหลายด้าน ทั้งด้านจิตวิทยา สังคม การเมือง ฯลฯ
ปกติตำรวจทั่วโลก ก็สอนเรื่องการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด เทคนิคการสืบสวนสอบสวน การป้องกันอาชญากรรม แต่อาชญาวิทยา เจาะลึกสาเหตุที่คนกระทำความผิด มองไปที่รากเหง้าของปัญหา ขณะที่ตำรวจมองไปที่การใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้มองที่รากของปัญหา
(คดีแตงโมต้องได้รับความเป็นธรรม)
- ตอนเป็นตำรวจ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างที่คิดหรือ?
ตอนผมเป็นตำรวจ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมอยากทำ แต่ทำไม่ได้ บางครั้งเราสะกดรอยตามคนร้ายในคดีสำคัญ แต่อยู่ดีๆ มีคนบอกว่า คดีนี้หยุดก่อนนะ หรือให้ไปค้นคนงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในพื้นที่หนึ่ง แต่บอกว่า ยกเว้นตลาดสองแห่งนี้
ทั้งๆ ที่แกะรอยตามคนร้าย เสี่ยงชีวิตหลายคดี พอพิจารณาความดีความชอบ กลายเป็นรุ่นพี่ที่นั่งหน้าห้องเจ้านายได้ แล้วความชอบธรรมอยู่ตรงไหน ถ้ายังทำงานในระบบต่อ ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงระบบเหล่านี้ได้
- ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องทำอย่างไร
เราต้องมีองค์ความรู้มากขึ้น เพื่อสักวันจะเข้ามาแก้ไขระบบและโครงสร้าง ตอนนั้นผมจึงไปเรียนต่อต่างประเทศ และคิดว่า ต้องกลับมาสร้างคนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสอนที่นั่น 7 ปี
อีกบทบาทผมเป็นนักวิชาการ ถ่ายทอดความรู้ ปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้อง เพราะเห็นตัวอย่างดีๆ ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จและทำได้ ผมเคยเสนอความคิดการปฏิรูประบบตำรวจ และการปฏิรูประบบยุติธรรมในหลายมิติ แต่สุดท้ายนักวิชาการไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ คนที่มีอำนาจตัดสินใจ ก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
- อาชญากรรมหลายคดีที่สังคมเคลือบแคลงสงสัย อาจารย์มีส่วนในการต่อจิ๊กซอว์ในการสืบสวนคดี ?
เพราะผมเข้าใจดีว่า บางครั้งคนปฏิบัติงานพูดไม่ได้ มีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่เราเคยรับราชการตำรวจและทำงานวิชาการ อย่างน้อยๆ ความเห็นก็น่าจะเป็นประโยชน์บ้าง
- มีคนสงสัยว่า คดีของแตงโมตกน้ำ จะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่
ผมก็ไม่ต่างคนทั่วไป อยากเห็นความยุติธรรมของประเทศนี้ ไม่เฉพาะคดีของแตงโมที่เป็นดารา เรายังอยากเห็นความยุติธรรมทุกคดี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับคนรากหญ้า ดารา คนมีฐานะหรืออะไรก็ตาม ทุกคดีควรได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน
"เราอยากเห็นความยุติธรรมเท่าเทียมกันทุกคดี ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นกับคนรากหญ้า ดารา คนมีฐานะหรือใครก็ตาม"
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
- หลักฐานในคืนเกิดเหตุ ลบเลือนไปเยอะ?
ถ้าตรวจคืนเกิดเหตุเลย ก็จะดูรอยเท้าได้ว่า คุณแตงโมเดินไปทางไหนบ้าง แต่เรือไม่ถูกเก็บตั้งแต่คืนแรก นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่งความเป็นมืออาชีพของตำรวจ
เรารับข้อเท็จจริงตรงกันว่า โดยปกติเรือเข้าอู่ ต้องทำความสะอาด นั่นหมายถึงมีโอกาสที่จะทำลายหลักฐาน
ส่วนประเด็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ อาจจะเลือนหายไปพอสมควร แต่ยังมีหลักฐานทางเทคโนโลยีและทางวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ความเร็วของเรือ ตำแหน่งเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา จีพีเอสเช็คได้ แก้ไขไม่ได้
ตอนนี้ก็รู้แล้วเรื่อง ความเร็วในการขับเรือและตำแหน่งเรือคืนนั้น ส่วนคนขับเรือใน 5 คน ใครเป็นคนขับเรือ เขาก็รับแล้ว เพราะฉะนั้นมีคนประมาทแน่นอน ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ส่วนคนที่มีส่วนร่วมในความประมาท หรือส่วนร่วมให้คุณแตงโมเสียชีวิต อันนี้เป็นเรื่องยาก ต้องพิสูจน์เจตนา
- มีพิรุธหลายอย่าง?
คดีนี้มีพิรุธ เชื่อว่าทั้งห้าคนที่อยู่ในเรือพูดไม่หมด ผู้หญิงจะปัสสาวะท้ายเรือด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้หรือ ฯลฯ
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 65 ผมดูข่าว เหมือนคดีคืบหน้าไป 80-90 เปอร์เซ็นต์ รอความเห็นผู้เชี่ยวชาญ ผลตรวจดีเอ็นเอ คราบปัสสาวะ(ถ้าพบ) ผลตรวจสภาพบาดแผลของแตงโมจากใบพัดเรือ
- ในฐานะนักอาชญาวิทยา คดีนี้มองได้กี่ประเด็น
มองได้สองประเด็น คือ อุบัติเหตุ หรือ เจตนาทำให้คุณแตงโมตกน้ำเสียชีวิต เรื่องนี้จะรู้ได้ต้องใช้พยานหลักฐานต่างๆ และอาจต้องประเมินสภาพจิตใจของบุคคลบนเรือ ต้องมีนักจิตแพทย์ประเมิน
และศึกษาพฤติกรรมของพวกเขาก่อนหน้านี้ ดูว่าคนๆนั้นมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือพฤติกรรมต่อต้านสังคม หรือใช้ความรุนแรง หรือพฤติกรรมเย็นชาที่เห็นคนเสียชีวิต ก็อาจเป็นส่วนสำคัญนำมาเทียบเคียงได้
"คำว่าเพื่อน ต้องช่วยเหลือกันจนถึงที่สุด อุปกรณ์ที่ทำให้เขาสามารถลอยตัวได้ ต้องโยนไปให้ ต้องทำจนสุดความสามารถ"
กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา
- กรณีนี้แตกต่างจากหลายคดีที่ทำอย่างไร
พยานมีจำกัดแค่ 5 คน ทุกคนบนเรือรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะบอกหรือไม่บอก ความยากง่ายของแต่ละคดี อยู่ที่ผู้ต้องสงสัยจะพูดยังไงก็ได้ วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอย่าง แต่หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้
ตามหลักมาตรฐานสากลที่กระทำกัน เมื่อเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุ ต้องคงสภาพสถานที่เกิดเหตุให้มากที่สุด เพื่อเก็บหลักฐานยืนยันตัวบุคคลและพิสูจน์หลักฐานช่วงเวลานั้น
- คดีนี้การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ มีความยากแค่ไหน
กรณีนี้พยานหลักฐานถูกลบเลือนพอสมควร ต่างจากคดีอื่นๆ เรื่องนี้ต้องวกมาเรื่องความเป็นมืออาชีพของพนักงานสอบสวน
ระบบตำรวจเองไม่ได้แต่งตั้งโยกย้ายพนักงานสอบสวนมืออาชีพมาทำงาน ยังใช้ระบบเมื่อ 100 ปีที่แล้ว นี่คือปัญหาสำคัญ สุดท้ายจะส่งผลต่อความเดือดร้อนของประชาชน
- พนักงานสอบสวน ต้องมีองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์มากกว่านี้ ?
ถ้าได้รับแจ้งว่า มีคนตกน้ำ ถ้าเป็นมืออาชีพมีประสบการณ์มานาน จะมีคำถามทันทีว่า...ตกน้ำจริงไหม หรือใครทำให้ตกน้ำ แม้จะไม่ทราบว่าเป็นดารา ถ้ามีคำถามแบบนี้แล้ว บุคคลที่อยู่บนเรือทุกคนต้องสอบปากคำตอนนั้นเลย
- ระบบการบริหารงานตำรวจ ควรปรับปรุงวิธีการสอบสวนด้านอาชญากรรมอย่างไร ?
เราพูดเรื่องปฏิรูปองค์กรตำรวจ และกระบวนยุติธรรมมานานแล้ว ปัจจุบันก็ยังพูดเรื่องนี้ โดยเฉพาะปัญหาความเป็นมืออาชีพของตำรวจ
ผมแปลกใจตรงที่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในการดูแลองค์กรตำรวจคือ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการแก้ไขประเด็นเหล่านี้เลย สุดท้ายก็ต้องวกกลับมาที่การเมือง
- ความเห็นของนักสืบโซเชียลมีประโยชน์บ้างไหม
ในส่วนหนึ่งก็ดีนะครับ บางมุมตำรวจอาจคาดไม่ถึง ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ของเรื่อง เช่น รูปตรงสะพานพระราม 8 ถกเถียงกันว่าไฟปิดสามทุ่ม แล้วโชว์ว่าสี่ทุ่มกว่า ไฟยังเปิด ในมุมหนึ่งนักสืบโซเชียลบางทีก็สำคัญในการรวบรวมหลักฐาน แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่
- หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ถูกทำลาย มีส่วนไหนใช้ได้บ้าง
หลักฐานการใช้โทรศัพท์ ก่อนและหลังเกิดเหตุ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การสนทนา ภาพในมือถือแต่ละคน แก้ไขไม่ได้ โลเคชั่นของเรือจากจีพีเอส ความเร็วของเรือ เป็นวิทยาศาสตร์ที่แก้ไขไม่ได้ คดีนี้จึงเหมือนการต่อจิ๊กซอว์
- แม้คดียังไม่สิ้นสุด แต่ก็มีบทเรียนให้เห็นเยอะ?
ถ้าไปถามคนที่ประสบอุบัติเหตุ หรือตกเป็นเหยื่อ จะพูดเหมือนกันว่า “ไม่คิดว่าจะเป็นแบบนี้” “ไม่คิดว่าจะเกิดแบบนี้ จึงไม่ระวัง” “รู้อย่างนี้ ไม่ทำดีกว่า”
ถ้ามองเรื่องตำรวจก่อน ช่วงแรกที่เกิดเหตุ ทำไมให้พยานกระจายแยกย้ายกลับบ้าน ถ้าเกิดในญี่ปุ่น ตำรวจคงตามจับที่บ้านแล้ว ผมเคยคุยกับตำรวจญี่ปุ่น คนไม่ชำระค่าใบสั่งใบเดียว เขาตามไปจับที่บ้าน
ส่วนในเรื่องการขับเรือ ไม่มีบัตรอนุญาตขับเรือได้ไง แล้วมาตรฐานอยู่ตรงไหน หน่วยงานรัฐที่ดูแล ทำไมมีช่องโหว่ เรามีจีพีเอสของเรือ เชื่อมกับระบบเรือกรมเจ้าท่าได้ไหม
เรือออกจากฝั่งควรมีสัญญาณแจ้งเตือน แต่นี่ไม่มีระบบสัญญาณแจ้งเตือนกรมเจ้าท่าว่าออกจากฝั่ง หรือในเรือมีเสื้อชูชีพ ห่วงยางเท่าไร
- ในฐานะนักอาชญาวิทยา ถ้ามีอำนาจ อยากพัฒนาเรื่องไหนมากที่สุด
อยากพัฒนาระบบงานตำรวจ พัฒนาระบบยุติธรรม ทำให้อาชญากรรมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ หากเกิดอาชญากรรมขึ้นแล้ว ต้องได้รับความเท่าเทียม ไม่ว่ารวยหรือจน สิ่งหนึ่งที่รัฐจะให้ทุกคนได้คือ ความยุติธรรม
เรื่องนี้ต้องถอดเป็นบทเรียนส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหา และส่งต่อระดับนโยบาย เพื่อออกมาตรการกำกับป้องกันไม่ให้ปัญหาอีกขึ้นอีก
- บทเรียนของคำว่าเพื่อนในคดีแตงโม จะสรุปว่ายังไง
คำว่าเพื่อน ต้องช่วยเหลือกันจนถึงที่สุด อุปกรณ์ที่ทำให้เขาสามารถลอยตัวได้ ต้องโยนไปให้ ต้องทำจนสุดความสามารถ
ในต่างประเทศเวลาสัญจรทางเรือ คนที่นั่นจะถูกสอนให้รู้จักคาดการณ์ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จะรับมือยังไง แต่คนไทยจะทำไปก่อน เกิดปัญหาค่อยแก้
ยกตัวอย่าง จอดรถเปิดไฟกระพริบลงไปซื้อของ 5-10 นาที เพราะคิดว่าไม่เป็นไร ไม่ได้คิดว่า ซื้อของไม่กี่นาทีทำให้รถติดเป็นชั่วโมงได้ นี่คือนิสัยคนไทย คนเราต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ธรรมชาติของคนทั่วโลกคือ คิดถึงตัวเอง แต่เราต้องรักคนอื่นด้วย
- อาจารย์เป็นคนที่ศึกษาธรรมด้วยหรือ
พี่สาวผมเป็นอาจารย์หมออยู่โรงพยาบาลรามาธิบดี ภรรยาก็ชอบศึกษาปฏิบัติธรรม ก็มักจะพาไปกราบพระสายวัดป่ากรรมฐาน มีหลายรูปที่เคารพนับถือ ก็นำมาใช้เป็นหลักคิดในการทำงานและการใช้ชีวิต