'พิเชฐ นาเอก' อดีตเชฟ 'นักโทษ' สู่นักวาดภาพที่เปลี่ยนชีวิตด้วยดินสอเก่า
บทเรียนจากอดีตผู้ต้องขัง 'พิเชฐ นาเอก' จากเชฟโรงแรมที่มีอนาคตรุ่งโรจน์ สู่การเป็น "นักโทษ" ที่ต้องดิ้นรนหางาน ก่อนจะเปลี่ยนชีวิตผันตัวเองสู่การเป็นนักวาดภาพเหมือนด้วยแรงบันดาบใจจากดินสอเก่าหนึ่งแท่งในตะกร้า
ถ้าได้เห็นเฟสบุ๊ค ‘พิเชฐ นาเอก’ ก็คงไม่ต่างจากเฟสบุ๊คของนักวาดภาพเหมือนทั่วๆไป ซึ่งมักโพสต์ผลงานเรียกหาผู้สนใจ หากแต่คำนิยาม “ศิลปินขี้คุก....รับวาดภาพเหมือน” ก็ชวนให้ใครต่อใครต้องสไลด์อ่านข้อความเพื่อทำความรู้จักกับเขามากขึ้นอีกสักนิด
พิเชฐ คนนี้คือคนเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเชฟที่โรงแรมระดับ 4 ดาวแห่งหนึ่ง ในแหล่งท่องเที่ยวของ จ.พังงา มีเงินเดือนและรายได้ที่มั่นคง และชีวิตตอนนั้นก็ถือว่าไม่เลวทีเดียว สำหรับคนหนุ่มวัยยังไม่ถึง 30 ที่ชีวิตค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัว มีงาน มีชื่อเสียง มีคนรัก มีอนาคตที่ดีรออยู่ แต่ก็เป็นเพราะยาเสพติดนี่แหละที่เปลี่ยนชีวิตเขา ให้กราฟชีวิตที่ค่อยๆทะยานขึ้น กลายเป็นกราฟปักหัวลงสู่ชีวิตที่ตกต่ำ
“ช่วงนั้นทำงานกะกลางคืน สุขภาพร่างกายเริ่มไม่ไหว นานวันเข้าเริ่มมีความเครียดสะสม และก็มีคนแนะนำให้ลองเสพยาเพื่อคลายเครียด"
"พอเริ่มเสพ ก็คิดไปเองว่าร่างกายมันเริ่มสดชื่นขึ้น อารมณ์ดีขึ้น พอนานๆเข้าก็กลายเป็นเราขาดไม่ได้เลย กลายเป็นคนติดยาไป พอติดแล้วเงินที่หามาได้ก็ไปลงกับยาหมด จนในที่สุดเงินก็ไม่ค่อยพอใช้ ต้องไปหยิบยืมคนอื่น หรือก็เอายามาก่อนค่อยจ่ายเงินทีหลัง”
เมื่อสถานภาพทางการเงินไม่ค่อยดี เขาก็เปลี่ยนสถานะจากผู้ซื้อเป็นผู้ขาย และระหว่างที่เขาหลงระเริงไปกับเงินทองที่หามาได้จากการมีส่วนขายยาเสพติด ไม่นานนักเขาก็ถูกซักทอด และถูกตำรวจวางกำลังล้อมจับขณะกลับบ้าน นำมาสู่การพิพากษาตัดสินจำคุกนานถึง 12 ปี
“ความรู้สึกตอนนั้นมันแย่มาก แต่ละวันกว่าจะผ่านไปได้คือความทรมาน ผมคิดถึงสิ่งที่ตัวเองทำมา คิดถึงตอนเป็นเด็ก จากเด็กบ้านนอก กว่าจะต่อสู้จากการหางานทำในร้านอาหาร มีหน้าที่คอยหั่นผัก เตรียมของ จนเลื่อนชั้นกลายเป็นคนปรุง ค่อยๆก้าวสู่การเป็นผู้ช่วยเชฟ จนกลายเป็นเชฟ มีเงินเดือน ได้ทำงานในโรงแรมที่มีชื่อเสียง แต่แล้วสิ่งที่ทำมาต้องมาพังทลายลงต้องกลายเป็น "นักโทษ" ผมเสียใจมาก"
"ในชีวิตผม ที่ยังโชคดีอยู่บ้างคือผมยังมีภรรยา ยังมีครอบครัวที่รอคอยอยู่และให้อภัย พอปรับตัวในเรือนจำได้ ผมก็คิดได้ตั้งแต่นั้นว่าเราจะเป็นคนใหม่ เราต้องทำตัวดี ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ พอเราประพฤติตัวดี ก็เริ่มเข้าสู่การลดโทษในโอกาสต่างๆ สุดท้ายติดจริงอยู่ 4 ปี แล้วก็ได้ออกมาในที่สุด” พิเชฐ เล่าเหตุการณ์เมื่อ 5-6 ปีก่อน
พิเชฐ นาเอก เมื่อครั้งเป็นเชฟ
ชีวิตภายนอก มันก็แน่ว่าความอิสระย่อมดีกว่าการถูกกักขังอยู่ในเรือนจำ แต่ความหวังของเขาที่อยากจะกลับมาใช้ชีวิตปกติตามเดิมไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
พิเชฐ บอกว่า หลังออกจากเรือนจำเขาตั้งใจจะออกมาเป็นเชฟเหมือนเดิม เพราะมีเพื่อนฝูงมากมายที่รู้จักกัน เคยช่วยเหลือกัน และความสามารถในการทำอาหารประกอบกับคอนเนคชั่นก็คงดึงเขากลับไปสู่จุดเดิมก่อนหน้านี้ได้
แต่ภาพที่คิดกับความเป็นจริงมันสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เพราะต่อให้มักทักษะ มีเส้นสาย แต่พอถึงด่านสุดท้ายเรื่องการกรอก ประวัติว่าเคยต้องโทษ ทำให้เขาพลาดจะได้งาน โดยเฉพาะงานโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ที่การเป็นอดีตนักโทษ คือการปิดประตูเข้าสู่การทำงาน
- ความฝันใหม่จากดินสอเก่าหนึ่งแท่ง
“ตอนนั้นท้อแท้มากออกมาจากคุกก็ยังเป็นภาระครอบครัวอีก สงสารลูก สงสารภรรยา หดหู่ เคว้งคว้าง เพราะไม่มีใครอยากรับเข้าไปทำงาน….วันนั้นมองไปเห็นดินสอแท่งหนึ่งในตระกร้าของภรรยา ก็นึกถึงวันที่อยู่ในเรือนจำซึ่งมีรุ่นพี่คนหนึ่งช่วยสอนวาดภาพ ตอนนั้นเราก็จะรับจ้างวาดภาพในซองจดหมาย เวลาเพื่อนนักโทษส่งจดหมายไปหาที่บ้าน เราเคยรับจ้างวาดให้ วาด แลกกับนมกล่องบ้าง ยาสีฟันบ้าง ก็เลยคิดว่าน่าจะเอาทักษะการวาดภาพที่เอามาจากเรือนจำมาใช้หาเงินดู”
“เราก็โพสต์เฟสบุ๊คว่ารับจ้างวาดภาพ เริ่มจากวาดภาพเหมือนตัวเอง แล้วไปโพสต์ผลงานในกลุ่ม โพสต์ในหน้าหน้าเฟสบุ๊คของตัวเอง ก็เริ่มมีคนมาว่าจ้าง เป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก ก็ได้งานมาช่วงหนึ่ง แต่พอผ่านไปสักระยะคนมาจ้างก็หายไป เพราะที่ผ่านมาเขาก็จ้างเราเพราะสงสาร อยากจะช่วย อยากจะอุดหนุน แต่พอคนรอบตัวเราหมดแล้ว งานก็ไม่มีอีก”
ความรู้สึกเคว้งคว้างเช่นนั้นกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้พิเชฐ เปลี่ยนมันเป็นความพยายาม พยายามฝึกฝนตัวเองให้มากกว่าเก่า หาหนังสืออ่าน ดูเทคนิคในยูทูป เพื่อพัฒนาทักษะตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
“ผมฝึกฝนอยากหนัก เพื่อที่วันหนึ่งคนจะมาจ้างเราเพราะผลงานจริงๆ ไม่ใช่แค่ความเห็นอกเห็นใจ ค่อยๆทำ ค่อยๆฝึก ก็มีคนชมว่าเราดีขึ้น และอีกอย่างเวลาผมได้รับงานจากใคร ผมจะเข้าไปคุยกับลูกค้า พยายามจะรู้จักเขาให้ได้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะนำข้อมูลมาสื่อสารผ่านงานให้ได้ดีแล้ว ผมมองว่าการพูดคุยด้วยการพิมพ์ข้อความกับการโทรศัพท์คุยมันให้ความรู้สึกต่างกัน ถ้าคุยผ่านการพิมพ์ความสัมพันธ์มันเหมือนเป็นพ่อค้ากับลูกค้า แต่ถ้าโทรไปคุยความสัมพันธ์มันเหมือนเป็นน้องเพื่อนเป็นพี่ แล้วยังสามารถชวนคุยรู้ได้ว่าเขาอาจยังไม่พร้อมจ่าย ผมก็จะยินดีวาดให้ก่อนเป็นการสร้างโอกาสให้ตัวเองมากขึ้น”
ประสบการณ์ แง่คิด และทัศนคติของพิเชฐ ทำให้วันนี้เขามีรายได้จากการวาดภาพที่ทำให้เขาและครอบครัวอยู่ได้ และจำนวนเงินและความภูมิใจที่เขาได้ มันก็มากพอที่จะส่งเรื่องนี้ไปให้ผู้คนอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนนักโทษที่เคยหลงผิด สามารถกลับตัวกลับใจเป็นคนดีได้ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ยังไม่มั่นใจว่าชีวิตจะเดินต่อไปอย่างไรดี
“สำหรับผมชีวิตมันไม่ได้ราบเรียบ ผมเคยพลาด เคยผิด แต่วันนี้ผมเปลี่ยนมันเป็นความพยายาม ความตั้งใจ ทำซ้ำๆ ฝึกฝน อย่าไปย่อท้อ”
“ทุกวันนี้แม้ผมจะเหนื่อย ต้องวาดทุกวัน ฝึกทุกวัน แต่มันก็ทำให้ผมมีความสุข เป็นเงินสุจริตที่ผมหามาได้ ชีวิตผมคือคนธรรมดาๆที่เคยหลงผิดไปไกล ถ้าใครได้รับรู้เรื่องของผมในวันนี้ ผมพร้อมจะเปิดเผยทุกอย่าง เผื่อจะเป็นบทเรียนและสร้างกำลังใจกับใครได้บ้าง”