13 มีนาคม วันช้างไทย พาชมความน่ารักของ “น้องทับเสลา” ลูกช้างป่า ขวัญใจประชาชน
13 มีนาคม วันช้างไทย พาชมความน่ารักของ “น้องทับเสลา” ลูกช้างป่า ขวัญใจประชาชน รวมถึงมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าได้ง่ายๆ สามารถดูคำแนะนำได้จากบทความนี้
“วันช้างไทย” มีจุดประสงค์ขึ้นเพื่อช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น ครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาเป็นอื่น ซึ่งวันที่ 13 มีนาคม เป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันช้างไทย” และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2541
“ช้าง” เป็นสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แบ่งออกเป็น 2 สกุลคือ ช้างแอฟริกา มีงายาว หูใหญ่มาก พบได้ในทวีปแอฟริกา และช้างเอเชีย (ช้างอินเดีย) มีใบหูเล็ก หัวเป็นโหนก พบได้ในประเทศไทย เมียนมา อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
โดยทั่วไปแล้ว “ช้างป่า” มักอยู่กันเป็นโขลง เพราะช้างเป็นสัตว์สังคมเช่นเดียวกันกับมนุษย์ โดยช้างเพศเมียจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นโขลงใหญ่ โขลงหนึ่งจะมีตั้งแต่ 10 - 50 ตัว ประกอบด้วยแม่ช้าง ลูกช้าง และช้างตัวอื่นๆ โดยมี “แม่แปรก” หรือช้างที่อายุมากที่สุดเป็นจ่าโขลง และนำโขลงช้างไปยังแหล่งน้ำและอาหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสัตว์ป่านอกจากต้องการแหล่งอาศัยและอาหารที่สมบูรณ์เพื่อการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีบทบาทหน้าที่ต่อสังคมตามธรรมชาติด้วย
“ช้างป่า” เมื่อแรกเกิดนั้น ส่วนใหญ่แล้วน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 120 กิโลกรัม ลูกช้างน้อยจะมีขนบางๆ ปกคลุม โดยจะกินนมแม่จนถึงอายุ 5 ขวบ และโตเต็มวัยเมื่ออายุ 15 ปี แต่ก็ยังมีลูกช้างบางตัวที่อาจเกิดการพลัดหลงโขลงได้ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นข่าวของลูกช้างพลัดหลงอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งบางตัวติดกับดักพรานเหลืออยู่เพียงตัวเดียว เมื่อชาวบ้านมาพบก็จะทำการแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ให้ลูกช้างป่าสามารถรอดและกลับคืนสู่ป่าได้อีกครั้งในอนาคต
“ลูกช้างป่า” พลัดหลงที่กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวคืนสู่ป่าอีกครั้งและยังเป็นขวัญใจประชาชนอย่างล้นหลาม ณ ตอนนี้ คงหนีไม่พ้น “น้องทับเสลา” ลูกช้างพังที่ปัจจุบันอายุ 2 ขวบกว่า พบพลัดหลงโขลง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 บริเวณป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงได้นำกลับมาภายใต้การดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี พร้อมกับตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “น้องทับเสลา”
“น้องทับเสลา” ถือเป็นลูกช้างป่าที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวเป็นอย่างมาก มีความอินดี้ในตัวค่อนข้างสูง ขนาดที่ว่ามีโขลงช้างมาตามกลับเข้าป่า น้องก็ไม่ยอมกลับไปด้วย โดยวิ่งไปหลบตรงต้นไม้ซึ่งคงเป็นที่ที่น้องรู้สึกปลอดภัยที่สุด ณ ขณะนั้น เวลานอนหลับในยามกลางคืนน้องก็จะต้องก่ายหรือต้องมีส่วนหนึ่งส่วนใดอยู่ชิดติดกับต้นไม้ให้เห็นอยู่ตลอดจนชินตาสำหรับผู้ที่ติดตามความเป็นอยู่ของน้องจากเพจของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จนเจ้าหน้าที่ต้องเปลี่ยนแผนใหม่โดยให้ลูกช้างได้เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ จาก “แม่รับ” ให้สามารถกลับสู่ป่าและหากินได้อย่างเป็นธรรมชาติต่อไป ซึ่งแน่นอนว่ากว่าจะได้แม่รับที่คลิกกับน้องจริงๆ ก็ตอนที่ “น้องทับเสลา” ย้ายบ้านใหม่มาอยู่ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดน้องก็ได้รับการดูแลจากทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อย่างดีมากๆ ได้รับ นม อาหารเสริมกินทุกวัน ทั้งวิตามินซี และแคลเซียม รวมถึงได้มีความสุขกับการกินอาหารทุกอย่างตาม “แม่วาเลนไทน์” แม่รับของน้องทับเสลา
การจะปล่อย “น้องทับเสลา” คืนสู่ป่า ค่อนข้างต้องมีความละเอียดในการดูแลพอสมควร นั่นคือ ต้องค่อยๆ ให้ลูกช้างสามารถหากินได้เองโดยฝึกกินตามแม่ในป่าเพื่อให้ลูกช้างรู้ว่าอะไรกินได้อะไรที่กินไม่ได้ ลดการสัมผัสคน รวมถึงต้องมีการทดลองปล่อยป่าในบริเวณที่กำหนด และยังการปรับพฤติกรรมเพื่อรวมโขลงกับช้างกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ กว่าจะคืนช้างสู่ป่าได้แต่ละตัวเห็นหรือไม่ว่า...ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
สิ่งที่น่ากังวลเมื่อปล่อยช้างคืนสู่ป่า
บดินทร์ จันทศรีคำ หรือลุงหมู สาริกา ผู้ก่อตั้งชมรมฅนรักษ์สัตว์-ป่า ที่ หจก.สาริกา แอดเวนเจอร์ พอยท์ กล่าวถึงพฤติกรรมโขลงช้างป่าว่า ตามปกติแล้วช้างป่าจะอาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง โดยจะเปลี่ยนที่หาอาหารไปเรื่อยๆ เนื่องจากช้างต้องการอาหารจำนวนมากต่อวัน ทำให้พืชบริเวณที่หากินหมดไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องเดินหาแหล่งอาหารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ช้างป่าจะมีการจดจำถึงแหล่งอาหารเดิมได้เสมอๆ เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งช้างป่าจะกลับมาหากินตามแหล่งอาหารที่เดิมจะวนเวียนสลับกันไป คล้ายกับการเดินเป็นวงกลมแล้วก็เดินกลับมาที่จุดเดิม ดั้งนั้น พื้นที่หากินของช้างป่า จึงเป็นบริเวณที่ไม่สามารถจำกัดได้ว่าต้องเป็นเนื้อที่เท่าไหร่ หากป่าผืนใดมีเนื้อที่กว้างใหญ่ ก็จะอำนวยให้ช้างหากินได้ง่ายแต่อาจเดินไกลขึ้น เพราะมีอาหารและแหล่งอาหารที่หลากหลาย
ในจุดที่ช้างป่าหากินอาจพบเจอกับปัญหาหรืออันตรายต่างๆ ได้ทั้งจากภัยธรรมชาติ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ และบางครั้งก็เกิดจากความตั้งใจที่จะทำร้ายจากพราน ดังที่เราจะได้ยินข่าวมาให้ได้ยินเป็นระยะก่อนหน้านี้ กรณีลูกช้างป่า “น้องขวากรัก” หรือต่อมาได้ชื่อใหม่เป็นว่า “น้องฟ้าใส” ติดบ่วงแร้วของนายพรานจนข้อเท้าเกือบขาด แม้ชาวบ้านจะแจ้งกับเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือทัน แต่ในท้ายที่สุดเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากเพราะน้องก็จากเราไปอยู่ดี ฉะนั้น เราจึงควรหันมาตระหนักถึงการอนุรักษ์ ต่อยอดโดยการถ่ายทอด และให้ความรู้ในด้านนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่การโศกเศร้าจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่าเพียงเท่านั้น
ลุงหมู สาริกา ยังกล่าวถึงวิธีที่เราจะสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ง่ายๆ โดยเริ่มที่ตัวเรา ดังนี้
- ยุติการให้อาหารสัตว์ป่า การให้อาหารสัตว์ป่า ไม่ใช่การทำบุญ แต่เป็นการทำร้ายชีวิตสัตว์ป่าทางอ้อม เพราะจะทำให้สัตว์ป่าคุ้นชินกับรสชาติของผลไม้หรืออาหารที่คนเอาไปให้ ที่ร้ายกว่านั้นคือ เมื่อเกิดความคุ้นเคยกับคนที่นำอาหารมาล่อจนลดสัญชาติญาณระแวงไพร ทำให้สัตว์ป่าถูกล่าง่ายขึ้น
- ยุติการกินอาหารป่า ชาวบ้านป่าในยุคเก่าต้องพึ่งพาเนื้อสัตว์ป่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนเพราะไม่มีทางเลือกอื่น แต่ทุกวันนี้เนื้อสัตว์รวมทั้งปลาเป็นอาหารที่หาซื้อได้ง่าย การล่าสัตว์ในทุกวันนี้จึงไม่ใช่เพื่อการยังชีพ แต่ทำเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดการค้าเนื้อสัตว์ป่า ซึ่งลูกค้าคือคนเมืองไม่ใช่คนในป่า และเนื้อสัตว์ป่าอาจนำพาให้เกิดโรคระบาดอย่างเช่นโรคซาร์สเมื่อหลายปีก่อนก็เป็นได้
- ยุติการล่าสัตว์ป่า สัตว์ป่าทุกชนิดถูกกำหนดมาให้มีหน้าที่ในระบบนิเวศ การล่าสัตว์ป่าเป็นการทำลายโอกาสที่จะสืบทอดสายพันธุ์หรือทำลายโอกาสการแพร่กระจายพันธุ์ไม้ใหญ่ยืนต้นที่สำคัญ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ช้างตัวหนึ่งที่ถูกยิงล้มเพื่อเอางา อาจหมายถึงการลดโอกาสแพร่สายพันธุ์ที่ดี จนในที่สุดอาจไม่เหลือนักกรุยทางและนักปลูกต้นไม้ที่ช่วยพยุงระบบนิเวศและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่าไม้ได้
- ยุติการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง ขึ้นชื่อว่า “สัตว์ป่า” เขาควรได้อยู่ในป่า สัตว์ป่าที่ถูกนำมาขายในตลาดค้าสัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่ผ่านประสบการณ์ที่โหดร้ายจากการพรากพ่อพรากแม่ด้วยการล่าหรือขโมยจับลูกสัตว์ป่าจากรัง เมื่อถูกจับนำมาขาย “สัตว์ป่า” ทุกตัวมักมีความเครียดสะสม ตกใจและหวาดกลัวอยู่ทั้งสิ้น การซื้อหาสัตว์ป่าเหล่านี้ไม่ใช่การแสดงความรักที่ถูกต้อง แต่เป็นการเพิ่มปริมาณความต้องการในตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
จากข้างต้น หากเราช่วยกัน ลด ละ เลิก และช่วยกันรณรงค์และถ่ายทอดต่อไปให้ถูกต้อง ก็จะสามารถช่วยกันอนุรักษ์ให้สัตว์ป่าได้มีชีวิตยืนยาวและสามารถสืบพันธุ์ต่อได้ตามวัฎจักรวงจรชีวิตของตน
อ้างอิงข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง และบดินทร์ จันทศรีคำ