มรดกธรรม 5 เรื่องที่"สมเด็จพระวันรัต"สืบสานพุทธศาสนา
ก่อนที่"สมเด็จพระวันรัต" จะละสังขาร เคยนั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระบรมศพหลายพิธีการสำคัญ และยังมีบทบาทชำระพระไตรปิฎก ฯลฯ
"ศีล บรรเทากิเลสอย่างหยาบ
สมาธิ บรรเทากิเลสอย่างกลาง
ปัญญา บรรเทากิเลสอย่างละเอียด และขจัดอวิชชา"
ธรรมจากสมเด็จพระวันรัต
...............
เมื่อวันที่ 15 มีค 2565 เวลา 14.22 น. เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) ได้ละสังขาร ด้วยอาการสงบ สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
และวันที่ 17 มีนาคมนี้ เวลา 09.00 -15.00 น. อัญเชิญสรีระร่าง”สมเด็จพระวันรัต”และสรงน้ำศพ ณ อาคาร 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร
สมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เคยมีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนาหลายเรื่อง ขอยกมา 5 เรื่องดังนี้
1.อ่านพระอภิธรรมนำริ้วขบวนพระศพ
-เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2516 ขณะยังเป็นพระมหาจุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ได้รับอาราธนานั่งเสลี่ยงอ่านพระอภิธรรมเวียนพระเมรุ 3 รอบ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส ในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ผู้ทรงเป็นผู้อุปัฎฐากในคราวอุปสมบทพระมหาจุนท์วันที่ 8 กรกฎาคม 2499
-ปี 2551 ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพรหมมุนี” ได้ปฏิบัติหน้าที่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551
-ปี 2555 สมเด็จพระวันรัต ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้อีกครั้งหนึ่ง นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงอีกวาระหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2555
-ปี 2560 ได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระบรมศพ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560
2.พระอาจารย์ถวายพระอักษร รัชกาลที่ 10 เมื่อทรงผนวช
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอมรโมลี ได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพระธรรมวินัย แด่ในหลวง รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศที่ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร” ที่ทรงผนวชเมื่อวันที่ 6 -20พฤศจิกายน 2521 ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
3. ผู้ตรวจชำระพระไตรปิฎก
เมื่อปี 2530 รัชสมัยในหลวง รัชกาลที่ 9 ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ได้มีการแปลพระไตรปิฎก และคำอธิบายภาษาบาลีเป็นภาษาไทยรวม 91 เล่ม เพื่อให้คำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถาภาษาบาลี ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ครบชุด
มหาเถรสมาคมได้ดำเนินการตรวจชำระ จัดพิมพ์ขึ้นโดยสมบูรณ์ โดยการนี้ พระอมรโมลี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เป็นกรรมการสำคัญในการสังคยานาตรวจชำระพระไตรปิฎก
4.ผู้สวดพระปาติโมกข์ได้ไพเราะ
ระเบียบของวัดบวรนิเวศวิหาร พระที่บวชมาจากสำนักอื่น จะมาอยู่วัดบวรฯ ต้องท่องปาติโมกข์ได้ก่อน จึงจะอนุญาตให้อยู่ได้
และพระที่บวชในวัดบวรฯ ต้องท่องปาติโมกข์ได้ภายใน 2-3 พรรษา เพราะปาติโมกข์ยาวและยากที่จะจดจำ
พระมหาจุนท์ตอนนั้นได้สร้างแรงจูงใจในการท่องปาฎิโมกข์ด้วยการแข่งกันท่องระหว่างเพื่อนภิกษุที่กำลังเรียนประโยค 7 ด้วยกัน
ปรากฏว่าพระมหาจุนท์ท่องปาติโมกข์ได้ภายใน 12 วัน ด้วยการออกเสียงอักขระภาษาบาลีที่ชัด และทำนองสวดไพเราะ จึงเป็นผู้ซ้อมการสวดปาติโมกข์ให้พระภิกษุสงฆ์ โดยท่านได้สวดมายาวนานจนเป็นพระราชาคณะ จึงได้หยุดสวด
5.ผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง
ส่วนภาระหน้าที่พิเศษ คือ ได้รับมอบหมายจากเถรสมาคมเป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติไทย) และให้ความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี
นอกจากนี้ยังเดินหมุดและคำนวณปฏิทินปักขคณนาสำหรับวันลงอุโบสถให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย พร้อมกับทำปฎิทินปักขคณนาโดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ทุกปี
""""""""""""""""
อ้างอิง
หนังสือ 84 สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.๙)