เที่ยว "บ้านผาชัน" มหัศจรรย์ริมแม่น้ำโขง
การไหลล่องของ "แม่น้ำโขง" นอกจากจะสำคัญในการดำเนินชีวิตของผู้คนสองฝั่งแล้ว ยังสร้างผลงานทางธรรมชาติ จากฝีมือของประติมากรที่ยิ่งใหญ่นามว่าแม่น้ำโขง ซึ่งล้วนน่าพิศวงในการสร้างสรรค์เป็น “บ้านผาชัน”
เราอาจจะคุ้นเคยกับสามพันโบก ซึ่งห่างจาก บ้านผาชัน ไปสิบกว่ากิโลเมตร สามพันโบกจะเป็นลักษณะแก่งหินริมน้ำ ที่เกิดจากการถูกสายน้ำโขงกัดกร่อนจนเว้าเป็นหลุม เป็นบ่อ เป็นโบกมากมาย แล้วแต่ใครจะจินตนาการไปอย่างไร แต่สำหรับบ้านผาชัน กลับเป็นหน้าผาหินทราย ที่หักดิ่งเป็นหน้าผาชันตามชื่อหมู่บ้านอยู่ริม แม่น้ำโขง ช่วงที่แคบ แม้ไม่แคบที่สุดแต่ก็แคบชนิดตะโกนคุยกันได้
"บ้านผาชัน" นั้นเดินทางมาได้ตามถนนหมายเลข 2112 จากโขงเจียม แล่นเลาะเลียบมา อ.โพธิ์ไทร ก็จะผ่านทางแยกเข้าเสาเฉลียงยักษ์ แต่ถ้าเลยไป ก็จะไปถึงทางเข้าหาดสลึงหรือสามพันโบก ส่วนบ้านผาชันที่ว่า ก็จะเข้าไปทางเดียวกันกับที่ไปเสาเฉลียงยักษ์ แต่ให้เลยไปจนถึงหมู่บ้าน จะมีทางเลี้ยวขวาเล็กๆ กลางหมู่บ้าน เข้าไปจนสุดทาง ก็จะถึงตลิ่งสูงเหนือลานโล่งริมแม่น้ำโขง
ลานโล่งที่ผมว่านี้ จริงๆแล้วจะเป็นลานหินทรายกว้างใหญ่ ที่ไม่ใช่ลานหินเรียบ แต่ถูกสายน้ำกัดกร่อนเป็นตะปุ่มตะป่ำ ในช่วงหน้าแล้งบางส่วนจะมีดินทับถมลานหินนี้ ชาวบ้านก็ได้มาอาศัยปลูกพืชผักสวนครัว ที่อายุสั้นใช้เวลาเพาะปลูกไม่เกิน 3 เดือนก็เก็บผลผลิตได้ เพราะพอเข้าฤดูน้ำหลาก บริเวณที่เป็นลานหิน หรือที่พอจะเพาะปลูกได้นี้จะถูกสายน้ำโขงไหลท่วมไปหมด
คนที่อยู่ริม "แม่น้ำโขง" ปรับตัวเข้าธรรมชาติเป็นอย่างดี ป่วยการที่จะไปแข็งขืนกับธรรมชาติ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีทางชนะอย่างถาวร
ผมไป "บ้านผาชัน" ทุกครั้งที่ได้ไปเยือนย่านนี้ ยอมรับว่าหลงใหลในประติมากรรมริมแม่น้ำโขงแห่งนี้ ต่างจากที่สามพันโบก ที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน แต่ที่นี่กลับเงียบสงบ
ลานหินที่ว่าครั้นลองเดินตามไปดู ก็จะเห็นว่าบางส่วนนั้น ลานหินนั้นหักแตก เว้าแหว่งเข้ามาเป็นลำคลองเล็กๆ มีกอหญ้า กออ้อขึ้นอยู่ริมตลิ่ง ช่วงที่ออกดอกจึงสวยงามไปอีกแบบด้วยดอกอ้อสีเงินที่พลิ้วไหวไปตามแรงลมแม่น้ำโขง
"บ้านผาชัน" เป็นที่รับรู้กันในชาวบ้านย่านนี้ว่าเป็นท่าเรือของชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นเรือประมงที่หาปลาใน "แม่น้ำโขง" ในสมัยที่บ้านผานางคอย ยังไม่มีทางรถยนต์เข้าไปถึง การไปมาหาสู่กับโลกภายนอกก็ได้อาศัยเรือเพียงทางเดียวมาขึ้นที่บ้านผาชันนี้นี่เอง
ท่าเรือบ้านผาชัน จะซ่อนหลบในซอกหิน ที่หักตกลงกลายเป็นหน้าผาริมแม่น้ำโขง หน้าผาหินสูงราว 10 เมตร ครั้นเดินลงไปตามบันไดปูน ก็จะเห็นว่าด้านล่างนั้นเป็นลานหินเรียบ เป็นชั้นๆ บางช่วงก็จะเป็นเพิง พอให้ได้นั่งหลบร้อน หรือจะแอบงีบได้เพิงหินก็ยังได้
นี่เป็นลักษณะของหินทรายซึ่งเป็นหินตะกอนแบบหนึ่งที่ดิน หิน ทับถมกันเป็นเป็นชั้นๆ อัดกันเป็นเวลานับหมื่นนับแสนปี จนเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ เมื่อแผ่นดินเกิดการเคลื่อนที่ หรือขยับยกตัว ก็เกิดรอยแตกขึ้น สายน้ำที่หาทางอยู่ก็จะไหลผ่านร่องแตกเหล่านั้น วันแล้ววันเล่า กัดกร่อนจนเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ กัดร่องลึกลงไปกลายเป็นแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงช่วงนี้จึงกว้างไม่มาก และไม่มีตลิ่งรมน้ำ แต่สองฝั่งทั้งฝั่งไทยและลาว เป็นผาหินทั้งหมด
ที่ท่าเรือบ้านผาชันนี้ จะเห็นเรือประมงขนาดเล็กหลายลำ ถูกผูกติดกับปลายไม้ไผ่ เหมือนเบ็ดขนาดใหญ่ที่ตกเรือได้ นี่ก็เป็นการปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อมของชาวประมง เมื่อไม่มีตลิ่งให้ทิ้งสมอมีแต่หน้าผาหิน ก็ใช้วิธีการตกเรือแบบนี้แหละในการจอดเรือ
ท่าเรือบ้านผาชัน จึงเป็นทั้งท่าเรือที่ขึ้นปลา ที่จับได้ในแม่น้ำโขง จะมีพ่อค้ามารับซื้อไปขายอีกทอดหนึ่ง เป็นทั้งที่ที่มาพักซ่อมอวน ซ่อมมอง เป็นทั้งคานที่เอาเรือขึ้นมาซ่อม ส่วนนักท่องเที่ยว ก็เป็นที่ที่จะได้ลงไปดูประติมากรรมหินริมน้ำ ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่ได้อาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต
มนต์เสน่ห์ของท่าเรือ "บ้านผาชัน" นั้นดูเรียบ ง่าย ไม่มีอะไรหวือหวา แต่มีความเป็นธรรมชาติที่ยังไม่มีกิจกรรมท่องเที่ยวเข้ามาปะปน ผมถึงชอบมาที่นี่ ทั้งก่อนถึงหมู่บ้าน ก็ยังแวะไปชมเสาเฉลียงยักษ์ที่ยืนโดดเด่นกลางเนินหินได้อย่างสวยงามท่ามกลางป่าเต็งรังและลานหินที่สลับกัน กลายเป็นเอกลักษณ์ของป่าทางย่านนี้ทั้งหมด
"บ้านผาชัน" ถูกกรมทรัพยากรธรณี ผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก เป็นอุทยานธรณีที่นำเสนอรูปลักษณ์อันมาจากความสัมพันธ์ของหินทรายริมน้ำและแม่น้ำโขงจนเกิดเป็นภาพลักษณ์อันสวยงามอันเป็นอัตลักษณ์ริมแม่น้ำโขง
สิบคำบรรยายไม่ไปเห็นกับตา เมื่อมีโอกาสไปโขงเจียม หรือโพธิ์ไทร ของ จ.อุบลราชธานีครั้งหน้า จึงขอเชิญไปพิสูจน์กับตาที่บ้านผาชัน แล้วจะหลงรักที่นี่ แบบที่ผมหลงรักไปแล้ว...