ปิดป่าเพื่อสัตว์ป่า “ม่อนจอง” เมื่อไรจะได้กลับไปให้หายคิดถึง

ปิดป่าเพื่อสัตว์ป่า “ม่อนจอง” เมื่อไรจะได้กลับไปให้หายคิดถึง

เรื่องราวของขุนเขาที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งที่จะมาเล่าสู่กันฟัง ดอยที่มีความสวยงามโดดเด่นด้วยรูปทรงจนเป็นเอกลักษณ์ ขุนดอยแห่งอมก๋อย...ที่รู้จักกันในนาม “ม่อนจอง”

ดอยม่อนจอง เป็นขุนดอยที่อยู่ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย อ.อมก๋อย จ.ชียงใหม่ ถ้าท่านผู้อ่านดูแผนที่ ก็จะเห็นว่าเป็นเชียงใหม่ทางตะวันตกที่จะมาต่อติดกับทาง  จ.ตาก แถวท่าสองยาง ต่อเชื่อมกับ อ.แม่สะเรียงของแม่ฮ่องสอน พื้นที่เหล่านี้จะต่อเชื่อมกัน ซึ่งพอบอกชื่อเหล่านี้ออกมา คนเดินทางก็คงพอจะจินตนาการออกว่ายังคงเป็นพื้นที่ป่าเขาที่ต่อเนื่องกัน แต่ก็มีพี่น้องชนเผ่าเราอยู่กระจายกันในพื้นที่มากมายเหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย โดยเฉพาะเส้นทางสายเลียบแม่น้ำเมย จากแม่สอด-แม่สะเรียง   

แต่ ม่อนจอง ไม่เหมือนที่เที่ยวดาดๆ ที่จะไปได้ง่าย เพราะที่นี่ต้องเดินป่า ไปนอนในป่า คนไปเที่ยวต้องเข้าใจว่ามันไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีลำธารน้ำไหลให้ได้ลงอาบ มีแค่น้ำซับพอได้เอามาต้มดื่ม เอามาทำอาหารและลูบเนื้อลูบตัวเท่านั้น ไม่มีห้องน้ำ และคนที่จะไปต้องแบกสัมภาระเอง แล้วเดินไปในป่า ซึ่งคนที่เที่ยวในแนวนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรคอะไร จึงมีนักท่องเที่ยวไปเยือนขุนดอยแห่งนี้เรื่อยๆ

ปิดป่าเพื่อสัตว์ป่า “ม่อนจอง” เมื่อไรจะได้กลับไปให้หายคิดถึง

ที่ต้องให้คะแนน “ม่อนจอง” ในเรื่องเส้นทางเดินก็คือ เป็นเส้นทางที่เดินเท้าไม่ไกลมาก    แม้จะชันมากในบางช่วง ทางเดินจะเป็นขึ้นเขา ลงหุบ เป็นแบบนี้สลับกัน แต่โดยรวมแล้วถือว่า...ไม่ไกล เป็นระยะทางที่เดินได้สนุกๆ คือแบกของไม่ทันไหล่ล้า ก็ถึงเสียแล้ว แต่ย้ำก่อนนะว่าช่วงที่มันชัน มันก็ชันได้ใจทีเดียว    

ถ้ามีคนถามว่า ลำบากแบบนี้ แล้วจะไปทำไม? ไปดูอะไร?

มันก็เหมือนการเดินทางเที่ยวป่าของคนที่ชอบท่องเที่ยวแนวนี้นะแหละ คือ ภูมิใจที่ได้ไปถึง ไปถึงในที่ๆ คนทั่วไปเขาไม่ได้มา แล้วรูปลักษณ์ของดอยม่อนจองนั้นจะเป็นเอกลักษณ์ ทุ่งหญ้าสีทอง สวยงาม อร่าม ยิ่งช่วงกลางเดือนมกราคม จะอร่าม สีทองเลย สันเขาจะทอดตัวต่อเนื่องเชื่อมต่อกันไปจนถึงยอดของสันเขา ที่เรียกว่า หัวสิงห์ แล้วจะมีหุบเขาที่ด้านล่าง จะเป็นทุ่งหญ้า จะเห็นทางเดินของสัตว์ป่าเป็นแนวอย่างชัดเจน

ปิดป่าเพื่อสัตว์ป่า “ม่อนจอง” เมื่อไรจะได้กลับไปให้หายคิดถึง

สรุปคือ ที่นี่มีวิวทิวทัศน์ของภูเขาที่สวยมากชนิดที่เพิ่มคำว่ามากๆ ได้อีกหลายตัว ยิ่งถ้าได้ไปในวันที่ฟ้าใสๆ ด้วยแล้ว จะเห็นชายน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลกันเลยทีเดียว

ด้วยความที่ที่นี่เป็นพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็ย่อมต้องจะมีสัตว์ป่าอยู่ด้วย   โดยเฉพาะ กวางผา ที่จะอาศัยหากินตามแนวหน้าผาของสันดอยที่ทอดยาวไปนี่เอง และอีกชนิดที่ปัจจุบันมีบทบาทและถูกเอ่ยถึงอย่างมากคือ ช้าง

ผมไป “ม่อนจอง” ครั้งแรกก็จะ 30 ปีแล้ว แล้วก็ไปอยู่เรื่อยๆ จึงรู้ว่าที่นี่ช้างเยอะ ตามเส้นทางที่เราเดินไป เห็นขี้ช้างตลอด ตรงที่ที่เราตั้งแคมป์ก็เหมือนกัน บางคืนได้ยินเสียงช้างร้องกังวานมาจากในหุบ และครั้งหนึ่ง รถที่เราขับไปจอดไว้ในป่าตรงจุดเริ่มเดินเท้า พอกลับออกมา ปรากฏว่าช้างแงะกระจกช่วงที่เป็นแคป แล้วเอางวงเข้าไปรื้อค้นอะไรในรถจนเละเลย ออกมาถึงเห็นเข้ายังตกใจ นึกว่าคนมางัดรถ เปล่า...ช้างงัด

ปิดป่าเพื่อสัตว์ป่า “ม่อนจอง” เมื่อไรจะได้กลับไปให้หายคิดถึง

“ดอยม่อนจอง” สร้างงาน สร้างเงินให้กับประชาชนในพื้นที่พอสมควรจากการลูกหาบและเป็นไกด์นำเที่ยว ไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คนพื้นที่ควรได้ประโยชน์น่ะถูกต้องแล้ว

ด้วยความที่เป็นพื้นที่อ่อนไหวเรื่องสัตว์ป่า ตอนหลังๆ ทางเขตรักษาพันธุ์จึงจัดการท่องเที่ยว “ดอยม่อนจอง” ใหม่ โดยมีการวางกฎระเบียบออกมามากมายมีการปิดและเปิดให้ท่องเที่ยวได้ไม่กี่เดือนในหนึ่งปี  ซึ่งเปิดวันไหน ช่วงไหน ระเบียบคืออะไร แค่ทางเขตฯเขาประกาศไว้ในเพจประชาสัมพันธ์ของกรมอุทยานฯแป๊บเดียว ก็แพร่ ก็รู้กันหมดแล้ว เดี๋ยวนี้การสื่อสารดี ใครจะไปก็ต้องรีบจอง

ในฤดูท่องเที่ยวปลายปี 2564 - ต้นปี 2565 นี้เขาเพิ่งเปิด ให้จอง และเดินไปพักแรมได้   แต่เปิดไป เหมือนว่า มีนักท่องเที่ยวเพิ่งไปกันไม่กี่ชุด ก็ต้องประกาศปิดอีกแล้ว เพราะมีช้างป่ามาทำร้ายนักท่องเที่ยวจนได้รับบาดเจ็บ ทางเขตฯ เขาเลยต้องประกาศปิด และยังไม่มีข่าวว่าจะเปิดอีกเมื่อไร

ปิดป่าเพื่อสัตว์ป่า “ม่อนจอง” เมื่อไรจะได้กลับไปให้หายคิดถึง

การปิดพื้นที่ป่า ก็เป็นผลดีที่จะได้คืนบ้าน คืนป่าให้สัตว์ป่า แต่ก็เสียโอกาสการทำมาหากินของชาวบ้านที่จะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ซึ่งทุกวันนี้ กรมอุทยานฯเขาก็พยายามบริหารพื้นที่ให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองส่วนแล้ว คือมีปิดป่าเพื่อคืนบ้านให้สัตว์ป่า และเปิดท่องเที่ยวเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชนรอบพ้นที่ แบบที่โมโกจู แบบเขาช้างเผือก ซึ่งเขาทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าม่อนจองปีนี้...สั้นไปนิด

ก็หวังว่า ปีหน้าฟ้าใหม่ เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย “ม่อนจอง” คงเปิดให้คนรักภูเขาได้กลับไปเยือนกันอีกครั้ง สำหรับปีนี้ ก็ดูรูปไปก่อนก็แล้วกัน คงพอแก้คิดถึงได้บ้างหรอกนะ