"สงกรานต์ 2565" เมื่อคนรุ่นใหม่อึดอัดกับคำถามของผู้ใหญ่ใน "วันรวมญาติ"
"สงกรานต์ 2565" เป็นอีกหนึ่งเทศกาล "วันรวมญาติ" ในรอบปีของคนไทย และคงไม่ต่างจากลูกหลานชาวเอเชียชาติอื่นๆ เพราะลูกหลานคนไทยก็ไม่อยากตอบคำถามบางอย่างของญาติผู้ใหญ่ที่ทำให้รู้สึกเศร้าและอึดอัด
หนึ่งในประสบการณ์ร่วมของ "ลูกหลานชาวเอเชีย" ที่พบเจอเป็นประจำทุกปี เมื่อถึงเทศกาลสำคัญใน "วันรวมญาติ" ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่ ตรุษจีน เช็งเม้ง และรวมถึง "สงกรานต์ 2565" ที่กำลังจะถึงนี้ คงหนีไม่พ้นการต้องตอบคำถามบางอย่างจากญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเชื่อว่า "คนรุ่นใหม่" หลายคนไม่อยากตอบ
- ได้เงินเดือนเท่าไหร่?
- แต่งงานหรือยัง?
- เมื่อไหร่จะมีลูก?
- เรียนได้เกรดเท่าไหร่? สอบได้ที่ 1 หรือเปล่า?
- ทำไมไม่เรียนต่อเมืองนอกเหมือน (ลูกบ้านนั้นบ้านนี้) ล่ะ?
- อายุเท่านี้แล้ว มีรถมีบ้านของตัวเองหรือยัง?
- อ้วนขึ้นหรือเปล่า? คล้ำขึ้นหรือเปล่า? ฯลฯ
นี่คือชุดคำถามที่ญาติผู้ใหญ่ชาวเอเชียหลายเชื้อชาติ มักจะตั้งหน้าตั้งตาถามลูกหลานที่อยู่ห่างจากบ้านเกิดเพื่อไปทำงานในหัวเมืองใหญ่หรือในเมืองหลวง
แต่รู้หรือไม่? คำถามเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นคำถามที่ไร้ประโยชน์ต่อการสานสัมพันธ์กันในครอบครัวแล้ว ยังทำให้ผู้ถูกถามรู้สึกอึดอัด เศร้า เสียใจ ตึงเครียด จนอาจนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้
- ทำไมญาติผู้ใหญ่ชาวเอเชีย มักกดดันลูกหลาน?
John M. Kim นักจิตบำบัดด้านชีวิตแต่งงานและครอบครัว (M.A.,LMFT) เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ชาวเอเชียมักให้เหตุผลว่า การที่พวกเขาจู้จี้ กดดัน หรือวิจารณ์ลูกหลานของพวกเขานั้น เกิดจากความห่วงใย ต้องการให้ลูกหลานประสบความสำเร็จในชีวิต
ยกตัวอย่างครอบครัวชาวเอเชียครอบครัวหนึ่ง ผู้พ่อมักจะวิจารณ์และตำหนิลูกชายบ่อยๆ โดยพ่อคนดังกล่าวให้เหตุผลว่า
"เพราะเขาเป็นลูกชายของฉัน ฉันเลยชี้ให้เห็นข้อบกพร่องเขา ถ้าเป็นคนแปลกหน้าบนถนน ฉันจะไม่ทำ แต่เนื่องจากเขาเป็นคนในครอบครัว จึงเป็นความรับผิดชอบของฉันที่จะต้องบอกเขาว่าต้องปรับปรุงอย่างไร"
พ่อแม่ชาวเอเชียมักคิดว่าการชี้จุดบกพร่องของลูกอย่างแข็งกร้าวและต่อเนื่อง เป็นวิธีที่ทำให้ลูกหลานตระหนักถึงข้อบกพร่อง และทำให้มีแรงจูงใจที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านี้มากขึ้น แต่จะไม่แสดงความรักหรือคำชม เพราะกลัวว่าการให้คำชมมากเกินไปอาจทำให้ลูกขี้เกียจได้
- การกดดันสูงในสังคมเอเชีย ทำให้ลูกหลานพังทลาย
John M. Kim บอกอีกว่า การที่พ่อแม่ใช้วิธีดังกล่าวผลักดันลูก อาจได้ผลในช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง สิ่งต่างๆ ก็จะพังทลายลง กล่าวคือ แทนที่จะสร้างแรงจูงใจให้เด็ก แต่มันทำให้พวกเขาท้อถอยมากกว่า
จากประสบการณ์และการวิจัยของนักบำบัดคนนี้ได้พิสูจน์พบว่า การที่พ่อแม่ยิ่งกดดัน จะยิ่งส่งผลให้ลูกหลานชาวเอเชีย “รู้สึกแย่” และทำผิดพลาดมากกว่าเดิม และการที่ลูกหลานรู้สึกผิดบ่อยๆ ก็มักจะนำมาซึ่งความท้อแท้ ต่ำต้อย และสะสมจนเป็นปัญหาทางจิตใจได้
ในบางครั้งอาจพบว่าวิธีการเหล่านั้นทำให้ลูกหลานของคุณประสบความสำเร็จในการเรียน-การงานได้จริง แต่พวกเขาก็จะเกิดความพ่ายแพ้ในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่แตกสลาย ความซึมเศร้า หรือความวิตกกังวล
- วิธีแก้เกมเมื่อเจอคำถามที่ไม่อยากตอบ ลองตอบแบบนี้!
สำหรับลูกหลานเอง หากได้เดินทางไปเจอพ่อแม่พี่น้องใน "วันรวมญาติ" ในเทศกาลสำคัญต่างๆ แล้วจะต้องเจอกับชุดคำถามเหล่านี้ อาจจะต้องเปิดใจพูดตรงๆ กับพวกท่านว่ารู้สึกอย่างไร และทำไมถึงไม่อยากตอบคำถามเหล่านี้
แต่เข้าใจว่าในกรณีของบางครอบครัวอาจพูดเรื่องนี้ออกไปตรงๆ ไม่ได้ ยิ่งพูดเปิดใจก็จะยิ่งดูเหมือนเถียงผู้ใหญ่เข้าไปอีก เอาเป็นว่าให้ลองเลี่ยงการตอบคำถามเหล่านั้นไปก่อน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ลองปรับวิธีตอบคำถามใหม่ พูดตรงๆ แบบไม่เสียมารยาท เช่น
- คำถาม : มีแฟนหรือยัง? เมื่อไหร่จะแต่งงาน?
- คำตอบ : ยังไม่มีครับ (ยังไม่แต่งครับ) ช่วงนี้ทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ ผมเชื่อว่าถ้าผมมั่นคงแล้ว ผมจะสามารถหาคู่ครองที่เหมาะสมได้ไม่ยาก (ผมจะแต่งงานได้อย่างสบายใจไม่ต้องเป็นหนี้หลังงานแต่ง)
- คำถาม : เมื่อไหร่จะมีลูก?
- คำตอบ : เรารักเด็ก และอยากมีลูกเหมือนกันนะถ้าลูกเราจะน่ารักเหมือนลูกของ.......(โบ้ยไปลูกดาราดังสักคนหนึ่ง) ว่าแต่ลูกของคุณอานี่กี่ขวบแล้ว หน้าตาไม่ดีเท่าลูกดาราดัง แต่ก็ดูเป็นเด็กดีนะ
- คำถาม : ได้เงินเดือนเท่าไหร่?
- คำตอบ : ก็ดีครับ ผมค่อนข้างใหม่ในสายงานนี้ แต่ก็พัฒนาตัวเองไปได้ดี มีเงินเลี้ยงดูตัวเองได้สบาย และมีส่งให้พ่อแม่ใช้ทุกเดือน
- คำถาม : ไม่คิดถึงพ่อแม่เหรอ ทำไมไม่ย้ายกลับมาหางานทำแถวบ้านล่ะ?
- คำตอบ : ยังไม่ย้ายครับ งานที่ทำอยู่ตอนนี้กำลังไปได้ดี คิดว่าคงไม่มีโอกาสดีๆ แบบนี้ในงานแถวบ้าน คิดถึงพ่อแม่แน่นอน แต่ก็โทรศัพท์หาท่านทุกสัปดาห์อยู่แล้ว
- คำถาม : กลับบ้านมาปีนี้อ้วนขึ้นหรือเปล่า?
- คำตอบ : งานยุ่งมาก เป็นหัวหน้าแล้วความรับผิดชอบก็เยอะเป็นธรรมดา เลยไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกายทุกวันน่ะ ช่วงนี้กินดีอยู่ดี (โชว์รูปอาหารให้ดู) เคยกินรึเปล่า? เธอน่าจะหาโอกาสได้กินแบบนี้บ้างนะ
-----------------------------------------
อ้างอิง : psychologytoday, qz/prying-questions