วันหยุดยาว "สงกรานต์ 2565" โดนสั่งงานวันหยุดแต่ไม่อยากตอบไลน์ ผิดไหม?

วันหยุดยาว "สงกรานต์ 2565" โดนสั่งงานวันหยุดแต่ไม่อยากตอบไลน์ ผิดไหม?

ไม่ตอบไลน์เรื่องงานในวันหยุด "สงกรานต์ 2565" ไม่ผิด! ชวนรู้จัก "Right to Rest" (สิทธิ์ของการพัก) หรือ "Right to Disconnect" (สิทธิ์ของการหยุดเชื่อมต่อ) ที่บังคับใช้ในต่างประเทศ ส่วนในไทยก็มีกฎหมายแรงงาน มาตรา 24 กำหนดไว้เช่นกัน

ในชีวิตการทำงานของมนุษย์เงินเดือน เชื่อว่าหนุ่มสาวพนักงานออฟฟิศหลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์หัวหน้า "สั่งงานวันหยุด" แบบกะทันหัน ทำให้ไม่ได้หยุดพักผ่อนอย่างที่ควรจะเป็น ก่อนจะถึง "วันหยุดยาว" ช่วงเทศกาล "สงกรานต์ 2565" นี้ หากใครโดนสั่งงานวันหยุด ต้องรู้ไว้! ลูกจ้างสามารถปฏิเสธได้โดยไม่มีความผิด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จัก “Right to Rest” (สิทธิ์ของการได้พัก) หรือ “Right to Disconnect” (สิทธิ์ของการหยุดเชื่อมต่อ) ที่พนักงานออฟฟิศทั่วโลกควรได้รับสิทธิ์นี้ ในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ยกเว้น มีการตกลงทำงานล่วงเวลาไว้แต่แรก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. “Right to Rest” (สิทธิ์ของการพัก) คืออะไร?

ต้องอธิบายก่อนว่า “Right to Rest” (สิทธิ์ของการได้พัก) หรือ “Right to Disconnect” (สิทธิ์ของการหยุดเชื่อมต่อ) นั้น เป็นข้อกฎหมายของต่างประเทศ ยังไม่มีข้อกฎหมายนี้ในไทย

โดยพบว่าใน 'ฝรั่งเศส' มีการบัญญัติกฎหมาย “สิทธิที่จะตัดขาดการสื่อสารนอกเวลาทำงาน” หรือ “Right to Disconnect” ขึ้นมา และบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2017 

ส่วน 'โปรตุเกส' ก็มีการออกกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่าบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 10 คนขึ้นไป หากนายจ้างสั่งงานพนักงานนอกเวลาทำงาน นายจ้างจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก

หลักการนี้ถูกสร้างมาเพื่อสร้างความเคารพชั่วโมงการทำงานในเวลาทำงานปกติอย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น ลูกจ้างสามารถที่จะไม่อ่าน/ไม่ตอบไลน์ นอกเวลางาน หรือปิดเครื่องมือสื่อสาร นอกเวลาทำงานได้โดยไม่มีความผิด 

2. "สั่งงานวันหยุด" ไทยมี "กฎหมายแรงงาน" คุ้มครอง

สำหรับในประเทศไทย แม้ไม่ได้มีการบังคับใช้ “Right to Disconnect” แต่ก็มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองเรื่องนี้อยู่ กล่าวคือ หากใครโดนหัวหน้า "สั่งงานวันหยุด" แล้วลูกจ้างเลือกที่จะไม่ตอบไลน์นอกเวลางานหรือในวันหยุด ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน

มีข้อมูลเพจ "กฎหมายแรงงาน" โดย รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ให้ความรู้ในประเด็นนี้ไว้ว่า ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 24 กำหนดว่า การทำงานล่วงเวลาจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย 

หากหัวหน้า/นายจ้าง สั่งงานลูกจ้างผ่าน Line และ Social Media อื่นๆ หากทำ “นอกเวลางาน” หรือ “วันหยุด” ที่ทำให้ลูกน้องหรือลูกจ้าง ต้องทำงานนอกเวลางาน ลูกน้องหรือลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 24 

โดยหัวหน้าหรือนายจ้างไม่มีสิทธิเอาเหตุผลนี้ไปใช้ประเมินผลงาน หรือหักเงินเดือน หรือเอาไปเป็นเหตุผลในการไล่ออกได้ เพราะถือว่าเป็นการ “สั่งงานนอกเวลางาน” 

3. ทำงานนอกเวลา/ทำงานวันหยุด ต้องได้เงิน OT

นอกจากนี้ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของประเทศไทย มาตรา 23 กำหนดไว้ด้วยว่า ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงาน โดยวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หากสั่งงานให้ลูกจ้างทำงานเกินจากเวลาทำงานปกติ 8 ชั่วโมง จะถือว่าเป็นการทำงาน “ล่วงเวลา”

หากเข้าข่ายเป็นการทำงานล่วงเวลา นายจ้างต้องจ่าย “ค่าล่วงเวลา” หรือจ่ายเงินโอที (OT) ให้ลูกจ้าง ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานในมาตรา 61,63 และมาตรา 62 กำหนดไว้ กล่าวคือ ถ้าทำงานล่วงเวลาในวันธรรมดา ต้องจ่าย 1.5 เท่า ถ้าทำงานล่วงเวลาในวันหยุดจ่าย 3 เท่า

4. นายจ้างไลน์สอบถามเรื่องอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับงาน ทำได้!

ไม่ใช่ว่าการไลน์หาลูกจ้างในวันหยุดทุกกรณีจะเป็นความผิดทั้งหมด หากนายจ้าง/หัวหน้า มีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อหาลูกน้อง/ลูกจ้างในวันหยุด ในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องงาน ก็สามารถทำได้ ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ถามที่เก็บกุญแจตู้ หรือขอรหัสผ่านคอมพิวเตอร์

ข้อมูลจาก "สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 7" ให้ความเห็นไว้ว่า กรณีข้างต้นไม่ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา  หัวหน้าหรือนายจ้างไม่ต้องรับผิดในการจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด

5. "วันหยุด" ต้องได้หยุด! ทำไมควรงดคุยเรื่องงานในวันพักผ่อน?  

มีผลวิจัยเรื่อง "Employees who responded to work messages outside of work hours" จากมหาวิทยาลัยแห่งเซาท์ออสเตรเลีย รายงานว่า คนที่ต้องคอยตอบอีเมล-ตอบไลน์เรื่องงานในวันหยุด และทำงานนอกเวลางานนั้น จะรู้สึกเครียดกว่าเดิม 70.4% และรู้สึกเหนื่อยล้าทางจิตใจมากขึ้น 63.5%

อีกทั้งผลวิจัยจาก สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ​ (National Bureau of Economic Research) ก็ชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกัน คือพบว่า พนักงานออฟฟิศวัยทำงานกว่า 3.1 ล้านคน ที่ใช้เวลาทำงานยาวนานขึ้น (ทำงานล่วงเวลา) มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและเส้นโลหิตในสมองแตกอย่างเฉียบพลันเพิ่มมากขึ้นถึง 35% และส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงด้วย

ในทางตรงกันข้าม ผลสำรวจจากโปรตุเกสยืนยันว่า การบังคับใช้หลักการ “Right to Rest” (สิทธิ์ของการได้พัก) หรือ “Right to Disconnect” (สิทธิ์ของการหยุดเชื่อมต่อ) นั้น ได้รับผลตอบรับจากพนักงานอย่างมาก

โดยพวกเขายอมรับว่า ข้อบังคับนี้สามารถช่วยลดโอกาสในการสูญเสียพนักงาน, ทำให้วัฒนธรรมการทำงานแบบติดต่อได้ตลอดเวลา (Always-On) ทุเลาเบาบางลงไป, ทำให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวมากยิ่งขึ้น, ช่วยลดความเครียดและแรงกดดันในการทำงานให้แก่พนักงานได้ค่อนข้างมาก

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ลูกจ้างทุกคนคงหาคำตอบให้ตัวเองได้แล้วว่า "วันหยุดยาว" ที่จะถึงนี้ หากเจอการไลน์เด้งมาสั่งงานในวันหยุด ควรจะตอบกลับไปอย่างไร หรือจะไม่ตอบเลยก็ได้ ถือว่าไม่ผิด!

-----------------------------------------

อ้างอิง : กฎหมายแรงงาน, jobsDB, beartai, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานpsychology-stress