ย้อนรอย #MeToo แคมเปญดังในอดีต เผยเหยื่อ "คุกคามทางเพศ" มีอยู่ทั่วโลก
รู้จักปรากฏการณ์ #MeToo แคมเปญดังในอดีต สะท้อนถึงปัญหาการ "คุกคามทางเพศ" ที่มีอยู่ทั่วโลก เมื่อเหยื่อจาก 85 ประเทศทั่วโลก กล้าเปิดเผยว่าเคยถูกล่วงละเมิด และร่วมแชร์คำว่า Me Too ผ่านโซเชียลมีเดีย
ข่าวอื้อฉาวกรณี "ปริญญ์ พานิชภักดิ์" อดีตนักการเมืองที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา ยังไม่ทันจบ ก็มีประเด็นนางแบบสาวแจ้งความ "ดาราหนุ่ม" กรณี "คุกคามทางเพศ" ผุดขึ้นมาอีก
รวมถึงประเด็นหนุ่มต่างชาติแอบถ่ายคลิปสาวในห้องน้ำหญิง ที่มีรายงานข่าวในช่วงเวลาติดๆ กัน เหล่านี้ล้วนสร้างแรงกระเพื่อมถึงปัญหา Sexual Harrassment ในสังคมไทยให้โหมกระพือมากขึ้น
แล้วรู้หรือไม่? ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่การ "คุกคามทางเพศ" เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย และพบปัญหานี้แทบทุกสังคมและทุกวงการทั้งในไทยและต่างประเทศ จนเกิดแคมเปญ #MeToo ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อนและโด่งดังไปทั่วโลก
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนรอยดูปรากฏการณ์ #MeToo อีกครั้งว่าแคมเปญนี้มีที่มาอย่างไร? ทำไมถึงโด่งดังไปทั่วโลกถึง 85 ประเทศ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ผู้หญิงต้องรู้! วิธีรับมือ Sexual Harassment หากถูก "ลวนลาม" แบบไม่คาดคิด
- "อามมี่ แม็กซิม" เปิดแชทแฉวีรกรรม "ดาราหนุ่ม" ยันถูกคุกคามในร้านอาหารก่อน
- ตำรวจฝากขัง "ปริญญ์" ผ่านคอนเฟอเรนซ์-"แอนนา" เตรียมค้านประกัน
- รู้จัก “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้า ปชป. รายได้ธุรกิจล่าสุด 2,152 บาท
1. #MeToo เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 15 ปีก่อน
แคมเปญ #MeToo ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน โดยนักเคลื่อนไหวสตรีผิวสีชื่อ "ทารานา เบิร์ค" ซึ่งผุดความคิดนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 2007 เมื่อเธอได้บอกกับหญิงผิวสีรายหนึ่งที่รอดชีวิตจากการทำร้ายทางเพศมาได้ว่าเธอไม่ได้อยู่ตามลำพัง แต่ยังมีเพื่อนหัวอกเดียวกันอย่าง ทารานา เบิร์ค ที่เคยถูกล่วงละเมิดเหมือนกับเธอเช่นกัน
"นี่ไม่ใช่แคมเปญที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นไวรัลแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นวลีที่ผู้รอดชีวิตใช้กับผู้รอดชีวิตด้วยกัน เพื่อให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้อยู่เดียวดาย และเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้น" เบิร์ค กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการ #MeToo
2. #MeToo โด่งดังอีกครั้งเมื่อดาราฮอลลีวูดถูก "ละเมิดทางเพศ"
ต่อมาในปี ค.ศ. 2017 โครงการ #MeToo ได้กลายเป็นไวรัลโด่งดังอีกครั้ง เมื่อ "อลิสสา มิลาโน" นักแสดงหญิงชาวอเมริกันวัย 45 ปี ได้แชร์เรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์ แล้วมีคนนับล้านในหลายสิบประเทศทั่วโลกแชร์กันต่อ ๆ ไปจนกลายเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมา
โดยทวิตเตอร์ ได้ให้ข้อมูลกับสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเอาไว้ว่า มีการทวีตข้อความพร้อมแฮชแท็ก #MeToo กว่า 1.7 ล้านข้อความ และมี 85 ประเทศทั่วโลกที่มีการทวีตแฮชแท็กนี้ด้วย
โดยครั้งนั้น ดาราสาว "อลิสสา มิลาโน" ได้ทวีตข้อความว่า “หากคุณเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศให้เขียนคำว่า #MeToo เพื่อตอบรับทวิตนี้” ปรากฏว่าคนนับล้านต่างตอบรับคำขอของเธอ รวมไปถึงนักร้องและเซเล็บชื่อดังอย่าง เลดี้ กาก้า, อเมริกา เฟอร์เรรา, โรส แมคโกวาน, อีแวน ราเชล วูด, เกเบรียล ยูเนียน และอื่น ๆ อีกมากมาย
อลิสสา ซึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมานับครั้งไม่ถ้วน เธอเคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Good Morning America เอาไว้ว่า การติดแฮชแท็ก #MeToo เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นทุกหนแห่ง ไม่ใช่เฉพาะในวงการฮอลลีวูด แล้วก็ไม่ได้เกิดกับนักแสดงหญิงเท่านั้น
อีกอย่าง การทำแคมเปญนี้ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงความบานปลายของปัญหานี้ด้วยว่ามีผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อมากมายแค่ไหน
3. คนดังระดับโลกกล้าเปิดเผยว่าเคยถูก "คุกคามทางเพศ"
ส่วนหนึ่งที่ทำให้แฮชแท็ก #MeToo กลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็วก็เพราะว่าเกิดการเปิดโปงคดีล่วงละเมิดทางเพศครั้งร้ายแรงในฮอลลีวูด เมื่อนักแสดงหญิงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แองเจลีนา โจลี่, กวินเนธ พัลโทรว, แอน แฮธอเวย์, เคท เบ็คคินเซล, คารา เดเลอวีน, แอชลีย์ จัดด์, อีวา กรีน ฯลฯ
กล้าตบเท้าออกมาประกาศตัวว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจาก "ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์" ผู้บริหารที่ทรงอิทธิพลยิ่งของวงการ
เคสของไวน์สไตน์ทำให้การล่วงละเมิดทางเพศถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และมีคนดัง ผู้บริหารในฮอลลีวู้ด และผู้บริหารอุตสาหกรรมอื่นๆ ถูกขุดคุยว่ากระทำการล่วงละเมิดทางเพศกันหลายคน อาทิ บิล โอเรียลลี นักข่าวและพิธีกรรายการทีวีชื่อดังของสหรัฐ รอย ไพรซ์ ผู้บริหาร Amazon Studios และผู้กำกับ เจมส์ โทแบ็ค เป็นต้น
4. กรณี "ปริญญ์" ในไทย เหยื่อโผล่แจ้งความอีกราย
ส่วนในไทยกับกรณี "ปริญญ์ พานิชภักดิ์" ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำการคุกคามทางเพศหญิงสาวหลายราย พบว่ามีเหยื่อทยอยออกมาแจ้งข้อหาแล้ว 5 ราย โดยรายล่าสุดคือสาวจากจังหวัดเชียงใหม่
หญิงสาวรายล่าสุดนี้ให้การว่า รู้จักกับนายปริญญ์ที่งานสัมมนาใน จ.เชียงใหม่ เคยแลกเบอร์ติดต่อกันไว้ ต่อมาเมื่อต้นปี 2564 นายปริญญ์ติดต่อมาว่าจะมาสัมมนาที่จ.เชียงใหม่อีก เรื่องคริปโทฯ ตนสนใจจึงเดินทางไปยังโรงแรมที่จัดงาน แต่ไม่พบว่ามีการจัดงานแต่อย่างใด และถูกนายปริญญ์ลวนลามกอดจูบ ตนจึงผลักนายปริญญ์ออก และวิ่งหนี แต่ไม่กล้าแจ้งความเพราะกลัวอิทธิพลของนักการเมือง
โดยวันนี้ที่เธอกล้าออกมาเปิดเผย เพราะอยากให้คนผิดรับโทษ ยืนยันว่า ที่ออกมาพูดครั้งนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแน่นอน