อ่านประวัติศาสตร์ผ่าน "เซรามิก" แห่งแหลมทอง และแดนอาทิตย์อุทัย "อาริตะ"
ตามรอยเส้นทางการค้าขายทางทะเลระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ไปกับนิทรรศการเซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย ชมเซรามิกโบราณ 97 ชิ้นจากเตาเผาเมือง "อาริตะ" เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย ชุดชามเบญจรงค์ พุทธศตวรรษ 19-21 ร่วมเวิร์คช็อปเซรามิกญี่ปุ่น
ดร.อายาโกะ ยามาโมโทะ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนทางด้าน เซรามิก ผ่านเส้นทางการค้าระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นว่ามีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
“เมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 เซรามิกของไทยเริ่มส่งออกไปที่ประเทศญี่ปุ่น และญี่ปุ่นได้เลียนแบบเซรามิกไทยใช้เป็นอุปกรณ์ในการชงชาด้วย ทำให้มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
ส่วนเซรามิกของญี่ปุ่นเริ่มส่งออกมาที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมากตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 ส่วนใหญ่เป็น เซรามิกที่ผลิตในเมืองอาริตะ และ เครื่องปั้นดินเผาคาราทสึ ในจังหวัดซากะ บนเกาะคิวชู ภาคใต้ของประเทศญี่ปุ่น
เมื่อปี พ.ศ.2533 พิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชูได้จัดนิทรรศการเรื่อง “เครื่องปั้นดินเผาฮิเซน (Hizen) ชื่อเดิมของจังหวัดซากะ ที่ส่งออกไปต่างประเทศ” ครั้งนั้นเราได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทยที่เอื้อเฟื้อเครื่องปั้นดินเผาจากประเทศไทยเป็นจำนวนมากร่วมจัดแสดง
ก่อนจัดนิทรรศการ เราได้สำรวจโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย พบเศษเซรามิก "อาริตะ" ใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และจากการสำรวจ วิจัยของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทยและพิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู ทำให้เราทราบว่าเครื่องถ้วยเซรามิกของซากะจำนวนมากถูกส่งมาที่ประเทศไทย
ขวดทรงแปรงตีชา เขียนสีลงยาเคลือบลายดอกโบตั๋น
ปัจจุบันเมือง อาริตะ ยังคงมีอุตสาหกรรมเซรามิกเป็นหลัก และสภาพเมืองยังคงรักษาบรรยากาศสมัยเอโดะเอาไว้ ด้วยเหตุนี้จังหวัดซากะจึงเป็นหมุดหมายที่คนรักเซรามิกเดินทางไปเยี่ยมเยือนมิได้ขาด
สำหรับโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาชิ้นสำคัญจาก พิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ขวดทรงแปรงตีชา เขียนสีลงยาเคลือบลายดอกโบตั๋น (พ.ศ.2193-2212) เครื่องปั้นดินเผาอาริตะ จังหวัดฮิเอ็น (ปัจจุบันคือจังหวัดซากะ)
เด็กชายจับปลาดุกด้วยน้ำเต้า
จานแบบครากเขียนลายครามรูปหงส์, ลายดอกเบญจมาศ ตรา VOC (พ.ศ.2213-2262), กระดาษวาดรูป
เครื่องกระเบื้องเคลือบสีขาวเคลือบใส ผลงานปัจจุบันของ อิโนะอุเอะ มันจิ ศิลปินแห่งชาติจังหวัดซากะ
เซรามิก เด็กชายจับปลาดุกด้วยน้ำเต้า เขียนสีบนเคลือบ (พ.ศ.2213-2252) จานแบบครากเขียนลายครามเป็นรูปหงส์และตรา VOC อักษรย่อ Vereenigde Oostindische ของบริษัท Dutch East India Company ที่เข้ามาค้าขายทำให้เซรามิกจากอาริตะเป็นที่รู้จักไปทั่วยุโรป(พ.ศ.2213-2262)
รวมไปถึงเครื่องกระเบื้องเคลือบสีขาวเคลือบใส ผลงานในยุคปัจจุบันของ อิโนะอุเอะ มันจิ ศิลปินแห่งชาติจังหวัดซากะ
เซรามิกแห่งสองสายใย (ญี่ปุ่น-ไทย)ในโลกพาณิชยวัฒนธรรม
โดยเครื่องปั้นดินเผาจากญี่ปุ่น 97 ชิ้น จะจัดแสดงร่วมกับเครื่องปั้นดินเผา 90 รายการจากแหล่งโบราณคดี-ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย แบ่งเนื้อหาเป็น 6 เรื่อง ได้แก่
1.น้อมสำนักพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง : เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม พ.ศ.2565
2.วิวัฒนาการเซรามิกแห่งสองสายใย (ญี่ปุ่น-ไทย)ในโลกพาณิชยวัฒนธรรม
3.ภูมิปัญญาชาวแหลมทองและชาวอาทิตย์อุทัย ในดิน-น้ำ-ลม-ไฟ “ปั้นดินทราย ฉาบไล้ด้วยน้ำ นำผึ่งลม โหมฟืนไฟในเตาเผา” บอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นและไทย
4.สูงสุดแห่งภูมิปัญญา : ภาพฉายาในพาณิชยวัฒนธรรมโลก สะท้อนเรื่องราวการค้า ศิลปะและวัฒนธรรมผ่านเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นและไทยที่ไปไกลยังต่างแดน
5.แรงบันดาลใจไม่หยุดยั้ง คือ พลังสร้างสรรค์ใหม่ โดยสืบทอดวัฒนธรรมและพัฒนากระบวนการผลิตสู่ความคิดใหม่
6.สำรับคาวหวาน อาหารญี่ปุ่น-ไทย ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมอาหารควบคู่กับภาชนะที่มีบทบาทสำคัญมาแต่อดีต
จานขนาดใหญ่เขียนลายครามลายปลาไน หรือ ปลาคาร์ปทะยานขึ้นน้ำตก (พ.ศ.2373-2412)
นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เซรามิกแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย : สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก เปิดให้ชม 14 กันยายน – 14 ธันวาคม 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันพุธ – อาทิตย์ เวลา 9.00 -16.00 น. โทร.0 2224 1333
สำรับอาหารสมัยเอโดะ
กิจกรรมประกอบนิทรรศการ
14 กันยายน 2565 เวลา 14.00 น. การบรรยายทางวิชาการเรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย : สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” โดย ยูกิ ซูซูตะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก)
มุมจำลองการเขียนลายลงบนเซรามิก
เวิร์คช็อปจากจังหวัดซากะ 14 – 16 กันยายน 2565
- กิจกรรมลงสีเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ทดลองลงสีบนจานอาหารอาริตะยากิ (จานที่ลงสีแล้วจะนำไปเผาอบให้สีอยู่ตัวแล้วนำส่งให้ภายหลัง) รับ 20 คนต่อวัน
- กิจกรรมทำเครื่องประดับจากเศษกระเบื้องจากเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ รับ 60 คนต่อวัน
เวิร์คช็อปจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
- กิจกรรมการขึ้นรูปชิ้นงานจาน 3 ครั้งๆ ละ 4 รอบ วันที่ 25 กันยายน, 9 และ 23 ตุลาคม 2565
- การเขียนสีใต้เคลือบ 3 ครั้งๆ ละ 4 รอบ วันที่ 6 และ 20 พฤศจิกายน, 4 ธันวาคม รับรอบละ 30 คน
เตาเผาจำลอง