"เทศกาลไหมไทย 2565" งานแสดงผ้าไทยร่วมสมัย-ลายอัตลักษณ์ ผ้าลายขิดนารีรัตนฯ
เทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) เชิญร่วมเป็นกำลังใจสุดยอดผลงานผ้าทอ เลือกซื้อหา ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ผลงานหัตถกรรมจากลวดลายพระราชทาน และผลงานจากศิลปินโอทอปชั้นสูง เพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนทั่วประเทศ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับผลงานหัตถกรรมไทย และสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกำหนดจัดงาน เทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) ขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2565 และวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ณ บริเวณหน้าเพลนารีฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โดยลักษณะงาน เทศกาลไหมไทย 2565 เป็นการจัดแสดงแบบผ้าไทยร่วมสมัย และผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค เนื่องในโอกาส เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในปี 2565 เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ผ้าไทยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมพระปณิธานและพระกรณียกิจของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงตั้งพระทัยสืบสาน รักษา ต่อยอดเผยแพร่ความงดงามของหัตถศิลป์ไทยตามพระราชปณิธานใน "สมเด็จย่า" ของพระองค์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" กล่าวในการแถลงข่าวการจัดงาน เทศกาลไหมไทย 2565 เมื่อวันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2565 ว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระวิริยะอุตสาหะในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย พระองค์ยังได้ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรักความเมตตา และหยิบยื่นเมล็ดพันธุ์ที่จะมาช่วยเหลือพวกเราอย่างต่อเนื่องต่อไป
"ยิ่งไปกว่านั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงซึมซับพระราชกรณียกิจที่งดงามของสมเด็จย่าของพระองค์ มาเป็นต้นแบบของความรัก ความผูกพัน และความตั้งใจที่จะพัฒนางานด้าน ศิลปะ และ ผ้าไทย และได้ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราเหมือนที่สมเด็จย่าของพระองค์ได้ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยมีพระดำริในการ ทรงสนับสนุน ส่งเสริม อนุรักษ์ผ้าไทย และงานหัตถศิลป์ไทยได้เป็นที่รู้จักสู่สากล พระองค์ท่านทรงปรารถนาที่จะเห็นพสกนิกรของพระองค์ ได้มีรายได้จากงานหัตถศิลป์หัตถกรรมในชุมชนของตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งชิ้นงานที่ผลิตจะเกิดความยั่งยืนได้ ต้องได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเสมือนหลักประกันว่า สิ่งเหล่านี้จะได้รับการสืบสาน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงพิจารณาการประกวดผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา
กิจกรรมภายในงาน เทศกาลไหมไทย 2565 แบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่
1.โซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ
จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างผ้าไทย พระราชทานโครงการศิลปาชีพฯ จนก่อเกิดประวัติศาสตร์การฟื้นฟูการทอผ้าไทยจนครบวาระ 50 ปี
และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน ต่อยอด และเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค จนก่อเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการดอนกอยโมเดล โครงการนาหว้าโมเดล
รวมทั้ง นิทรรศการหม่อนไหม และ นิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค
ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค
2.โซนออกบูทร้านค้า OTOP Luxury 4 ภาค
เป็น OTOP Luxury จากทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ จำนวน 100 บูท ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ, ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญพระราชทานต่างๆ
รวมทั้งร้านค้าของ ศิลปิน OTOP ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น “อาจารย์เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา” ศิลปินแห่งชาติจากบ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี, “อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย” แห่งบ้านจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์, “อภิชาติ พลบัวไข” หรือ“ผู้ใหญ่ต้น” แห่งบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี
3.โซนลานคำหอม (จำลอง)
เป็นโซนที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา เสด็จฯ มาพระราชทานรางวัลผ้าลายขิดนารีรัตน ราชกัญญารางวัลงานหัตถกรรม รางวัล Young OTOP รางวัลมหาดไทยผ้าไทยใส่ให้สนุก
การแถลงข่าวงานเทศกาลไหมไทย 2565 ณ โซนลานคำหอม (จำลอง)
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพสกนิกรไทยทุกคน ซึ่งไม่มีคนแผ่นดินไหนในโลกโชคดีเหมือนกับคนไทย เพราะตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยที่หายไปจากแผ่นดินไทยให้กลับคืนสู่ชีวิตของคนไทยและสังคมไทย
ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ทำให้เราได้รู้จักผ้าไทยถึงทุกวันนี้ และนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยมั่นในการสืบสานเพื่อทำให้ผ้าไทยไม่สูญหาย ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนถึงความเป็นชาติ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมความเป็นไทย
วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข, ศิริชัย ทหรานนท์, ธีระพันธ์ วรรณรัตน์, พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ กลุ่มดีไซเนอร์ผู้ร่วมทำให้ "ผ้าไทยใส่สนุก"
"สมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและมีความมุ่งมั่นในการสนองพระราชดำริ ผ้าไทยใส่สนุก ด้วยการจัดประกวดการออกแบบตัดเย็บผ้าไทยให้มีความหลากหลาย ใส่ได้ในทุกโอกาส ทุกช่วงวัย เช่น ชุดไปงานฉลองรับปริญญา ชุดไปงานแต่งงาน หรือใส่ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำให้เราได้เห็นว่าผ้าไทยสามารถตัดเย็บได้ทุกแบบ สามารถขยายผลเป็นชุดที่มีหลากสีสันได้
โดยจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมการประชุมสมาคมแม่บ้านสัญจร โดยมีประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัดเป็นผู้นำร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นจังหวัด ทั้งผู้นำกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สมาคมสตรี กลุ่มสตรีระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โรงเรียน มหาวิทยาลัย และทุกกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งเมื่อเราสามารถขับเคลื่อนการส่งเสริมผ้าไทยเหล่านี้ได้สำเร็จ จะทำให้เกิดกระแสความสนใจและความนิยมชมชอบ เกิดการกระตุ้นภาคการผลิต (ต้นน้ำ) จากปริมาณความต้องการผ้าไทย (กลางน้ำ) ที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลทำให้ปลายน้ำ คือ ช่างทอผ้า ได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่เพิ่มพูน ครอบครัวและลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน" ดร.วันดีกล่าว
อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์, สุทธิพงษ์ จุลเจริญ และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การประกวด ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาโดยตลอดและต่อเนื่องยาวนาน และมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสานด้วยพระอัจฉริยภาพ โดยทรงนำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคง และคัดเลือกผ้าที่สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้สีธรรมชาติ ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ว่า สิ่งเหล่านี้คือศิลปวัฒนธรรมความภาคภูมิใจของคนไทย
สำหรับผลงาน ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ปีนี้มีชิ้นงานส่งเข้าประกวด ประเภทผ้า 2,946 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 298 ชิ้น
ผลงานที่ผ่านเข้ารอบตัดสินระดับประเทศ ประกอบด้วย ประเภทผ้า จำนวน 61 ผืน และ ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 10 ชิ้น ซึ่งผู้เข้าประกวดได้นำเสนอแนวคิด เทคนิค และวิธีการทอผ้า ย้อมสีผ้า
ทั้งนี้ทุกท่านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดผลงานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปีนี้ จะได้เข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในงานเทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) ในวันที่ 17 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
การประกวดผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา
บุษกร วงศ์พัวพันธ์, พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์, ธีระพันธ์ วรรณรัตน์, กุลวิทย์ เลาสุขศรี
ขณะที่นาย กุลวิทย์ เลาสุขศรี กรรมการที่ปรึกษา โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และนาย ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ คณะกรรมการประกวดผ้าฯ เผยว่า ภายในงานยังได้จัดแฟชั่นโชว์ผลงาน 10 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้แก่ SIRIVANNAVARI Couture, KAI, TIRAPAN, PICHITA, PISIT, THEATRE, ASAVA, ISSUE, VATIT ITTHI และ WISHARAWISH รังสรรค์ผลงานสุดประณีตที่ได้แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
โดยนำ ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค มาตัดเย็บเป็นชุดที่มีดีไซน์ทันสมัย อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอกผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก สะท้อนมุมมองของผ้าไทยในอีกมิติหนึ่ง และเห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทยไว้อย่างสมบูรณ์
SIRIVANNAVARI Couture
แบรนด์ TIRAPAN
แบรนด์ PICHITA
งาน "เทศกาลไหมไทย 2565" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ พร้อมร่วมสนับสนุนอนุรักษ์ผ้าไทย และงานหัตถศิลป์ไทยได้ในงาน เทศกาลไหมไทย 2565 หรือ Thai Silk Festival 2022 ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม และวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ณ บริเวณหน้าเพลนารีฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์