นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’
ชมนิทรรศการภาพวาดฉลอง 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตอินเดีย-อาเซียน ได้แรงบันดาลใจจากเมืองอุทัยปุระ รัฐราชสถาน
สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย โดยเอกอัครราชทูตนาเกช ซิงห์จัดนิทรรศการภาพวาดอันเป็นเอกลักษณ์โดยศิลปินจากอินเดียและประเทศอาเซียน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 31 ม.ค. - 5 ก.พ. นับเป็นภาพสะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มั่นคงของอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความสัมพันธ์ของผู้คนในภูมิภาค เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตอินเดีย-อาเซียนเมื่อปี 2565
ตามที่กระทรวงการต่างประเทศอินเดียใช้วาระสำคัญนี้จัดค่ายศิลปินอินเดีย-อาเซียน เป็นเวลา 10 วัน ณ เมืองอุทัยประ (Udaipur) รัฐราชสถาน เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นำศิลปินทัศนศิลป์ 20 คนจากอินเดียและอาเซียนมาร่วมกิจกรรมหลากหลาย ทั้งฟังบรรยาย ชมการสาธิต สัมมนา หารือ และทัศนศึกษา เพื่อสัมผัสศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอินเดีย สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงคุณค่าวัฒนธรรมประเพณีของชาติสมาชิกอาเซียนและอินเดีย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชนกับประชาชนตามนโยบาย Act East ของรัฐบาลอินเดีย
ระหว่างเข้าค่ายศิลปินทั้ง 20 คน รังสรรค์ชิ้นงานของตนเองที่ขณะนี้นำมาจัดแสดงอยู่ที่ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภัทรพร เลี่ยนพานิช ศิลปินชาวไทยผู้ร่วมโครงการ เล่าว่า ผลงานชื่อ Spirit of Asia ของตนนั้นได้แรงบันดาลใจจากปราสาทกลางน้ำในเมืองอุทัยปุระ
(Spirit of Asia)
“ศิลปะของเขากับเรานั้นไม่ต่างกันเลย วัฒนธรรมเราคล้ายกันอยู่แล้ว” ศิลปินเปิดฉากเล่าเรื่อง โดยส่วนตัวภัทรพรเน้นการสร้างงานสีน้ำ สีอะคริลิกแนวใสๆ จับลวดลายจากภาชนะใกล้ตัว ก่อนเข้าร่วมโครงการศิลปินรายนี้ไม่เคยไปอินเดียมาก่อน เมื่อได้ไปเยือนครั้งแรกพบว่า เป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ทำให้เขามีวัตถุดิบมาสร้างงานได้มากมาย
“ตอนอยู่โน่นกลางวันสร้างงาน กลางคืนเราก็เล็คเชอร์กัน ทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เราก็ได้แลกเปลี่ยน สร้างสรรค์งานกัน” สังคมอินเดียมีความเก่าใหม่ผสมผสานกันเอื้อในการทำงานศิลปะ
สำหรับ Spirit of Asia ภัทรพรได้แรงบันดาลใจจากเครื่องกระเบื้องอินเดียสีคราม น้ำเงิน และลวดลายบนปราสาทโบราณผสมผสานด้วยกลิ่นอายความเป็นเอเชีย เช่น ปลาคาร์พ ขนนกยูง พระจันทร์ ศิลปินจับแนวคิดเหล่านี้มาผสมผสานกัน งานของภัทรพรและเพื่อนๆ ศิลปินทั้งอาเซียนและอินเดียยังจัดแสดงให้ชมเป็นวันสุดท้าย (5 ก.พ.) ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ถึงเวลา 20.00 น. เพื่อประจักษ์แก่สายตาว่า ศิลปะเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน ศิลปะไม่มีพรมแดน ไม่มีการเมือง ศาสนา หรือความต่าง แต่เป็นสะพานแห่งความเข้าใจ ร้อยรัดผู้คน สร้างเสริมสันติภาพและความกลมกลืนอย่างได้ผลยิ่ง
(The Mascot โดย Dileep Sharma จากอินเดีย)
(Pancha Sila โดย Sone Khounpaseuth สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)
(Traditional Beauty โดย Aye Myat Soe เมียนมา)
(Oceans of Connectivity โดย Samrit Keo กัมพูชา)