บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต

เปิดประวัติ - ความต่าง 2 มงกุฎประวัติศาสตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 องค์ประกอบและอัญมณีสำคัญบน มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด กับ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต มีครบทั้งเพชรคัลลินัน ทับทิมเจ้าชายดำ ไพลินราชวงศ์สจวต

มงกุฎ เป็น 1 ใน เครื่องราชกกุธภัณฑ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรมานานหลายร้อยปี และเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษ ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงให้สาธารณชนเข้าชม ณ หอคอยแห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดึงดูดผู้เข้าชมมากกว่าล้านคนต่อปี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 กำหนดมีขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินเตอร์ กรุงลอนดอน ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 ระหว่างเวลา 11.00-13.00 น. ตรงกับเวลา 17.00 - 19.00 น.ในประเทศไทย

ตามประกาศสำนักพระราชวังบักกิงแฮม มีมงกุฎสำคัญ 2 องค์ที่ ‘กษัตริย์ชาลส์ที่ 3’ ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St. Edward’s Crown) และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต (The Imperial State Crown)

 

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และ มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St. Edward’s Crown) องค์ปัจจุบันทำขึ้นในศตวรรษที่ 17 สำหรับ ‘กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2’ ในปี 1661 เพื่อทดแทนมงกุฎในยุคกลางซึ่งถูกหลอมไปในปี 1649 ระหว่างเกิดสงครามกลางเมืองในอังกฤษ ปี 1642-1652

สันนิษฐานกันว่า มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์เดิม มีอายุย้อนไปถึงนักบุญแห่งราชวงศ์ในศตวรรษที่ 11 คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี หรือนักบุญเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี (Edward the Confessor) กษัตริย์แองโกลแซกซอนองค์สุดท้ายของในราชวงศ์เวสเซกซ์แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ

ในศตวรรษที่ 17 สำนักพระราชวังได้มอบหมายให้ เซอร์ โรเบิร์ต ไวเนอร์ (Sir Robert Vyner) ช่างทองและนายธนาคารผู้มั่งคั่งในยุคนั้น เป็นผู้ประดิษฐ์ มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ‘กษัตริย์ชาร์ลส์ ที่ 2’ ในปี 1661

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต ลักษณะไม้กางเขนแพตตี และสัญลักษณ์ดอกลิลลี บนมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด

แม้ไม่ได้จำลองแบบมาจากมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดยุคกลางทุกรายละเอียด แต่ก็ยึดตามต้นแบบที่ประดับด้วย ไม้กางเขนแพตตี (crosses-pattée) จำนวน 4 กางเขน สลับกับ สัญลักษณ์ช่อดอกลิลลี (fleurs-de-lis) จำนวน 4 ช่อ เช่นกัน

กางเขนแพตตี เป็นสัญลักษณ์รูปแบบหนึ่งของกางเขนคริสเตียน ซึ่งมีลักษณะของแขนแคบเข้าตรงช่วงกลางของกางเขน โดยจะเริ่มจากเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้ง และจะค่อย ๆ กว้างออกที่บริเวณช่วงปลายทั้งสี่ด้าน พบหลักฐานการใช้สัญลักษณ์กางเขนแพตตีในงานศิลปะยุคกลางตอนต้น

ขณะที่สัญลักษณ์ช่อดอกลิลลี ปรากฏอยู่ในตราสัญลักษณ์เป็นทางการของราชวงศ์อังกฤษเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต ซุ้มโค้ง พระมาลากำมะหยี่หุ้มขอบด้วยแถบขนเออร์มิน และยอดของมงกุฎ

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมีลักษณะเป็นซุ้มโค้งแบบศิลปะบาโรก 2 องค์ที่ต่อขึ้นจากกางเขนแพตตีองค์ด้านหน้าและด้านข้างไปจรดกางเขนซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน

เหนือกึ่งกลางซุ้มโค้งที่ตัดกันประดับลูกโลกซึ่งรองรับกางเขนแพตตีซึ่งอยู่บนยอดสูงสุดของมงกุฎ

องค์มงกุฎทั้งหมดทำด้วยทองคำแท้ หนัก 2.23 กิโลกรัม จานฐานมงกุฎถึงยอดกางเขนแพตตีองค์บนสุด สูง 30 เซนติเมตร บนกรอบทองคำทั้งหมดประดับด้วยทับทิม อะความารีน อเมทิสต์ แซฟไฟร์ โกเมน โทแพซ และทัวร์มาลีน รวมกันจำนวน 444 เม็ด

อีกหนึ่งองค์ประกอบของมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด คือมี 'พระมาลากำมะหยี่' อยู่ภายในซุ้มโค้งมงกุฎ ขอบพระมาลาหุ้มด้วยแถบขนเออร์มิน (พังพอนหางสั้นซึ่งมีขนสีขาว)

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต  มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St.Edward’s Crown)

หลังจากปี ค.ศ.1689 ไม่มีกษัตริย์อังกฤษพระองค์ใดทรงนำมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นเวลานานกว่า 200 ปี 

กระทั่งในปี 1911 ประเพณีนี้ได้รับการฟื้นฟูโดย ‘พระเจ้าจอร์จที่ 5’ และยังคงดำเนินต่อตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมทั้งในปี 1953 (พ.ศ. 2496) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดบนพระเศียรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเช่นเดียวกัน และทรงเลือกใช้ภาพโครงร่างมงกุฎนี้บนตราแผ่นดินและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น ๆ ในเครือจักรภพเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจของพระนาง

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2565 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมนำมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดออกจากหอคอยแห่งลอนดอน เพื่อปรับขนาดก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ พระเจ้าชาลส์ที่ 3 

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ มหาวิหารเวสต์มินเตอร์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2566

 

มงกุฎอิมพีเรียลสเตต

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต

มงกุฎอิมพีเรียลสเตต (The Imperial State Crown) หรือ ‘มงกุฎแห่งรัฐจักรพรรดิ’ มีการสร้างทดแทนขึ้นหลายยุคสมัยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ซึ่งรุ่นล่าสุดนี้มีลักษณะคล้ายมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดอยู่ไม่น้อย 

โดยสร้างขึ้นในปี 1937 สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์จอร์จที่ 6 สมเด็จพระราชบิดาของ ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ มีต้นแบบจากมงกุฎที่ออกแบบสำหรับ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียในปี 1838 โดย Rundell, Bridge & Rundell บริษัทอัญมณีและช่างทองในลอนดอนสมัยนั้น

องค์มงกุฎมีฐานประดับด้วยกางเขนแพตตี (cross pattée) จำนวน 4 กางเขน สลับกับเฟลอ-เดอ-ลีส์ (fleur-de-lis) หรือช่อดอกลิลลีจำนวน 4 ช่อ

เหนือจากฐานมงกุฎขึ้นไปเป็นซุ้มโค้งจำนวน 4 โค้งตัดกัน ด้านบนจุดตัดเป็นลูกโลกรองรับกางเขนแพตตีซึ่งเป็นยอดสูงสุด ภายในตรงกลางมงกุฎเป็นพระมาลากำมะหยี่ที่มีขอบเป็นขนเออร์มิน 

องค์มงกุฎประดับอัญมณีหลายชนิด ประกอบด้วยเพชร 2,868 เม็ด, ไข่มุก 273 เม็ด, แซฟไฟร์ 17 เม็ด, มรกต 11 เม็ด, ทับทิม 5 เม็ด

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต ไพลินเซนต์เอ็ดเวิร์ดประดับบนกางเขนแพตตีตำแหน่งสูงสุด

อัญมณีที่มีชื่อเสียง ได้แก่อัญมณีที่ประดับบนกางเขนตำแหน่งสูงสุดของมงกุฎ เรียก St. Edward's Sapphire (ไพลินเซนต์เอ็ดเวิร์ด) ไพลินทรงแปดเหลี่ยม เจียระไนแบบ rose-cut เลียนแบบการแย้มบานของดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นรูปแบบการเจียระไนที่มีมาตั้งแต่ปีค.ศ.1520 ไพลินเม็ดนี้นำมาจากแหวน (หรือ จุลมงกุฎ) ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ

บนกางเขนแพตตีด้านหน้าของมงกุฎ ประดับอัญมณีสีแดงขนาดใหญ่ราว 170 กะรัต ชื่อ Black Prince's Ruby (ทับทิมเจ้าชายดำ) มีบันทึกว่า อัญมณีเม็ดนี้ขุดพบเมื่อราวศตวรรษที่ 14 ในเหมืองพลอยแห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันคือบริเวณประเทศทาจิกิสถาน

กษัตริย์ดอน เปโดร (Don Pedro) แห่งสเปน ได้มอบให้เป็นของขวัญแก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งเวลส์ หรือที่รู้จักกันในนามของ เจ้าชายดำ (Edward, the Black Prince) ในโอกาสที่ร่วมกันรบจนมีชัยเหนือศัตรู

ความจริงอัญมณีสีแดงเม็ดนี้ไม่ใช่ทับทิม แต่เป็นสปิเนล (Spinel) มีสีสันสวยงามหลากสี แต่สีซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดคือสีแดงที่มีความคล้ายทับทิม มีความแข็งเป็นรองแค่เพชร ทับทิม และไพลิน

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต ทับทิมเจ้าชายดำ และ เพชรคัลลินัน ที่ 2

หน้ามงกุฎบริเวณฐาน (ด้านล่างของทับทิมเจ้าชายดำ) ประดับ Cullinan II diamond หรือ ‘เพชรคัลลินัน ที่ 2’ 

เพชรคัลลินัน เป็นอัญมนีดิบขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบ หนัก 3,106.75 กะรัต (621.35 กรัม) มีความยาวประมาณ 10.5 ซม. (4.1 นิ้ว) ค้นพบเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1905 ในเหมืองพรีเมียร์ 2 ใกล้กับกรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ ได้รับการเจียระไนเป็น 9 เม็ดใหญ่ และ 96 เม็ดย่อย

เจ้าของเหมืองในเวลานั้นได้ถวายเพชรคัลลินันที่เจียระไนแล้ว คือ คัลลินัน ที่ 1 และ คัลลินัน ที่ 2 แด่ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงนำเพชรคัลลินันที่ 1 ซึ่งเป็นเพชรเจียระไนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกประดับไว้ ณ ส่วนยอดของ คทากางเขน (Sceptre with the Cross) หนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร และ เพชรคัลลินัน ที่ 2 ประดับไว้ ณ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต

บรมราชาภิเษก คิงชาลส์ ที่ 3 ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และ มงกุฎอิมพีเรียลสเตต ไพลินสจวต น้ำหนัก 104 กะรัต ด้านหลังมงกุฎอิมพีเรียลสเตต

บนขอบมงกุฎอิมพีเรียลสเตตด้านหลัง ประดับอัญมณี Stuart Sapphire (ไพลินสจวต) น้ำหนัก 104 กะรัต (20.8 กรัม) ตั้งตามชื่อราชวงศ์สจวตแห่งสกอตแลนด์

เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 6 พฤษภาคม 2566 สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะทรงสวม มงกุฎอิมพีเรียลสเตต ในการเสด็จพระราชดำเนินออกจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แสดงถึงการเสด็จขึ้นสู่การเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ

 

อ้างอิงและ credit photo :

  • AFP
  • เว็บไซต์ Historic Royal Palaces
  • เว็บไซต์ The British Monarchy